รัฐบาลเมียนมาขู่ผู้ชุมนุมที่เลือกประท้วงด้วยวิธีสันติ อาจโดนข้อหากบฎที่มีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต
วันที่ 25 ม.ค. 2565 สำนักข่าวเอเอฟพี (AFP) รายงานว่า รัฐบาลทหารเมียนประกาศเตือนผู้ที่ออกมาประท้วงด้วยการทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการตบมือ การเคาะหม้อและกระทะ การบีบแตรรถ รวมถึงการกระทำอื่นๆ ที่เป็นการทำลายความมั่นคงของรัฐ อาจถูกตั้งข้อหาเป็นกบฎได้
แถลงการณ์ของรัฐบาลทหารเมียนมาระบุว่า ผู้ที่เข้าร่วมประท้วงด้วยการส่งเสียงดัง หรือเผยแพร่ข้อความโฆษณาชวนเชื่อ ที่เป็นการต่อต้านกองทัพ มีโอกาสที่จะถูกโดนข้อหากบฎภายใต้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย
นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจเมื่อ 1 ก.พ. ปีก่อน ได้มีประชาชนจำนวนมากออกมาประท้วงตามท้องถนน จนกองทัพต้องใช้ความรุนแรงในการปราบปราม ทำให้มีพลเรือนเสียชีวิตแล้วเกือบ 1,500 ราย
โดยผู้คนในหลายเมืองทั่วประเทศต่างพยายามส่งเสียงเพื่อประท้วงเป็นระยะๆ โดยวิธีที่นิยมใช้คือการเคาะหม้อและกระทะ ซึ่งเป็นไปตามความเชื่อว่าสามารถขับไล่สิ่งชั่วร้ายได้
บางส่วนใช้วิธีหยุดทำกิจกรรมทุกอย่างเพื่อประท้วง หรือที่เรียกว่า ‘ประท้วงเงียบ’ จนทำให้ถนนหนทางในหลายเมืองมีแต่ความว่างเปล่าในวันสิทธิมนุษยชนสากลเมื่อ 10 ธ.ค. ที่ผ่านมา
การกระทำเหล่านี้นับเป็นการก่อกบฎในสายตาของรัฐบาลทหารเมียนมาด้วยเช่นกัน ซึ่งข้อหานี้มีโทษตั้งแต่จำคุก 3 ปี ไปจนถึงโทษประหารชีวิต ซึ่งเมียนมาไม่ได้มีการบังคับใช้มาแล้วเป็นเวลาหลายทศวรรษ
แถลงการณ์ฉบับนี้ออกมาหลังจากที่กลุ่มทุนด้านพลังงานอย่าง TotalEnergies และ Chevron ประกาศว่าจะถอนตัวออกจากเมียนมา หลังจากที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนออกมากดดันให้ตัดเส้นทางการเงินที่เชื่อมกับทางคณะรัฐประหาร
อย่างไรก็ตาม คาดว่าทางการเมียนมาจะยังคงได้รับรายได้จากก๊าซธรรมชาติต่อไป ถึงแม้บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านั้นจะถอนตัว แต่ก็เป็นการเปิดช่องให้บริษัทอื่นๆ เข้ามาทำหน้าที่แทน
จอห์น ซิฟตัน ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนภาคพื้นเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) ออกมาเรียกร้องให้กลุ่มปตท. จากประเทศไทย และ POSCO ของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานหลักที่ยังทำกิจการอยู่ในเมียนมา ให้ส่งสัญญาณเพื่อสนับสนุนการออกมาตรการกดดัน
นายซิฟตันระบุว่า ผู้นำรัฐประหารจะไม่ยอมหยุดความโหดร้ายและการกดขี่ เว้นแต่รัฐบาลประเทศอื่นๆ จะใช้มาตรการกดดันทางเศรษฐกิจมากกว่านี้