ผ่านไปแล้วเกินกว่า 24 ชม. จากเหตุแผ่นดินไหวที่ศูนย์กลางอยู่ที่เมียนมา และแรงสั่นสะเทือนเป็นวงกว้าง จนรับรู้อย่างได้ชัดเจน โดยเฉพาะบริเวณตึกสูงใน กรุงเทพฯ จนนำมาสู่เหตุไม่คาดคิด ตึกสูง 30 ชั้นที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างพังถล่ม และมีตัวเลขผู้สูญหายเบื้องต้นอีก 47 คน
ในขณะที่ สื่อทางการเมียนมา รายงานราว 14.00 น. ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตทะลุหลักพัน ไปอยู่ที่ 1,002 คนแล้ว และมีผู้บาดเจ็บอีก 2,376 คน แต่เมื่อยังคงพบสัญญาณชีพผู้ติดค้าง เจ้าหน้าที่ทั้งสองประเทศ จึงยังคงเดินหน้า ภายใต้ ‘ภารกิจค้นหาผู้รอดชีวิต’ อย่างสุดความสามารถ
รายการพิเศษของ สำนักข่าว TODAY ไม่กี่ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ วานนี้ (28 มี.ค.) มีโอกาสพูดคุยกับ ศ.ดร. สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ
[รอยเลื่อนสะกาย ไม่เคยสงบ]
“รอยแตกของแผ่นเปลือกโลก ที่มีขนาดยาวมาก ผ่ากลางประเทศเมียนมา ตั้งแต่เหนือสุด ยันใต้สุด” ยิ่งรอยเลื่อนยาวเท่าไหร่ ความรุนแรงมากเท่านั้น เป็นคำอธิบายแรก ของ อ.สันติ ต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น
อ. สันติ เล่าว่า รอยเลื่อนดังกล่าว เคยก่อให้เกิดแผ่นดินไหว มาแล้วหลายสิบครั้ง อย่าง ปี 1902 เกิดแผ่นดินไหวแมกนิจูด 8.0 ปี 1934 แผ่นดินไหวแมกนิจูด 7.3 แมกนิจูด จนสร้างความเสียหายในหลายเมืองของเมียนมา
“ครั้งนี้เขาแค่มาตามนัด โลกไม่ได้ดุขึ้น รอยเลื่อนสะกายไม่ได้เกรี้ยวกราดขึ้น ทุกอย่างยังเหมือนเดิมเป็นวัฏจักร”
อ.สันติ อธิบายต่อว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่เมืองพะโค เมียนมา ในปี 1934 แผ่นดินไหวแมกนิจูด 7.3 เป็นตัวอย่างสำคัญ ครั้งนั้น อ.ปริญญา นุตาลัย และนักวิจัยด้านแผ่นดินไหว เคยทำแผนที่ไว้ ว่าการกระจายตัวของผลกระทบหน้าตาไม่ต่างจากเดิม คือ ภาคเหนือทั้งหมด ภาคกลางตอนบน จนถึงกรุงเทพฯ
[สึนามิ 47 ถึง แผ่นดินไหว 68]
จากเหตุการณ์นี้ เชื่อว่า หนึ่งองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นในวงกว้าง คือ แผ่นดินไหว ไม่ใช่ภัยพิบัติที่คาดการณ์ได้ แต่นั่น ไม่ใช่ข้ออ้างของการวางแผนตั้งรับอย่างเดียว ตามความเห็นของ อ.สันติ
“เราประเมินนิสัยของรอยเลื่อนแต่ละตัวได้ ว่าเขาเกิดได้สูงสุด ใหญ่สุด โหดร้ายสุดเท่าไหร่ ถ้าเราเอาตัวแปรนั้นมาใช้ในการออกแบบก่อสร้างอาคาร เราก็จะอยู่กับอาคารนั้นมีความสุขและปลอดภัย”
อ. สันติ ย้ำว่า การสร้างสิ่งปลูกสร้างที่มั่นคง เพื่อเป็นเกราะป้องกัน อย่างในประเทศญี่ปุ่น จึงเป็นวิธีรับมือระดับหนึ่งในเหตุการณ์เหล่านี้ “เราเข้าใจสะกายมากพอสมควรแล้ว ถ้าเรามีตังค์มากพอ มีงบมากพอ เราจะสามารถสร้างสิ่งปลูกสร้างที่ต้านทานสะกายได้เต็มที่ ไม่ใช่แค่ระดับหนึ่ง”
การเฝ้าระวังถัดไป คือ
- รอยเลื่อนสะกายไม่ทำให้เกิดสึนามิ
- ไม่กระตุกต่อมรอยเลื่อนอื่นๆ ของไทย ทั้งรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ไม่เกี่ยวกันเลย
“รอยเลื่อนพวกนี้ต้องเฝ้าระวังอยู่แล้ว เพราะเขามีตัวต้นอยู่จริง แต่ต้องเฝ้าระวังตามอดีตพฤติกรรมของเขา ว่าถ้าไม่ได้ดุร้ายมาก ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทุ่มงบประมาณเกินไป”
เพื่อไม่ให้ตื่นตระหนกเกินไป อ.สันติ อธิบายว่า 10 อันดับแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดทั่วโลก เกิดจากแนวขอบแผ่นเปลือกโลกตาม วงแหวนแห่งไฟ หรือ Ring of Fire ทั้งสิ้น โดย วงแหวนแห่งไฟ คือ กลุ่มภูเขาไฟใต้น้ำที่ยังคงคุกรุ่นอยู่ กระจายอยู่โดยรอบของมหาสมุทรแปซิฟิก ขณะที่สิ่งที่ไทยเผชิญครั้งนี้ คือ รอยร้าวภายในแผ่นเปลือกโลก อันเนื่องมาจากแผ่นเปลือกโลกชนกัน
ที่ผ่านมา เหตุภัยพิบัติอันเนื่องมาจากแผ่นดินไหวแมกนิจูด 9.2 ที่คนไทยเคยประสบ คือ สึนามิ 26 ธ.ค. ปี 2547 ซึ่ง อ.สันติ ระบุว่า สร้างผลกระทบรุนแรงที่สุด เท่าที่จะคาดหมายได้แล้ว
อ.สันติ จึงย้ำว่า การเกิดแผ่นดินไหวแมกนิจูด 7.7 คราวนี้ จึงไม่ต่างกับเครื่องย้ำเตือนว่า ห้ามลืมนำตัวแปรเหล่านี้ เข้าไปเป็นตัวแปรในคิดวางแผนในการสร้างสิ่งปลูกสร้าง ตั้งแต่ต้น