นาดา ไชยจิตต์ นักปกป้องสิทธิความหลากหลายทางเพศขึ้นศาลกรณีถูกนายสัณห์สิทธิ์ เนาถาวร ส.ก.พรรคก้าวไกล เขตวัฒนา ฟ้องหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา เชื่อศาลให้ความเป็นธรรม โดยศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาวันที่ 21 ธันวาคม 2565
วันที่ 31 ตุลาคม 2565 นาดา ไชยจิตต์ นักปกป้องสิทธิความหลากหลายทางเพศ เดินทางไปยังศาลอาญารัชดาเพื่อเข้ารับการไต่สวนกรณี นายสัณห์สิทธิ์ เนาถาวร ส.ก.พรรคก้าวไกล เขตวัฒนา ฟ้องหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ปมมีการร้องเรียนว่านายสัณห์สิทธิ์คุกคามทางเพศและล่วงละเมิดทางเพศต่ออดีตลูกจ้าง LGBTQI
หลังเข้าไต่สวนต่อศาล นาดาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่าหลังไต่สวนตนรู้สึกคลายกังวล เนื่องจากข้อมูลที่โจทก์ให้กับศาล “ขัดแย้งกับพยานหลักฐาน” ที่ตนมี
“ยิ่งมั่นใจว่าทำหน้าที่ของประชาชนคนหนึ่ง ไม่สำคัญเลยว่าคนที่ละเมิดว่าไม่ว่าจะมีภาษีทางสังคมมากเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองแต่หากมีประเด็นในการเกี่ยวข้องกับการคุกคามทางเพศตนจะไม่นิ่งเฉย” เธอกล่าว
ทั้งนี้หนึ่งในหลักฐานที่เธอแสดงต่อศาลคือหนังสือแต่งตั้งของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวที่แต่งตั้งให้เธอเป็นคณะทำงานขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน ปี 2564 เพื่อยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาใส่ความตามความผิดประมวลกฎหมายอาญา เรื่องการหมิ่นประมาท
ข้อเรียกร้องของโจทก์ต่อการฟ้องคดีนี้ ไม่ได้เรียกเป็นการชดใช้ค่าเสียหาย แต่ขอให้ฝ่ายจำเลยทำหนังสือขอโทษและเผยแพร่ต่อหนังสือพิมพ์ 5 วันวันละ 1 ฉบับ นาดาประเมินว่าอาจต้องใช้เงินสูงถึงหลักล้าน
ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาวันที่ 21 ธันวาคม 2565
ก้าวไกลลงโทษแล้ว ปม “ก่อความเดือดร้อนรำคาญทางเพศ” ส่วนกรณีฟ้องหมิ่นฯ พรรคไม่มีสิทธิก้าวก่าย
หลังเข้าฟังการไต่สวน ผู้สื่อข่าว workpointTODAY ติดต่อ ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลในฐานะประธานคณะกรรมการวินัยพรรค เพื่อสอบถามท่าทีของพรรคต่อประเด็นดังกล่าว โดยณัฐวุฒิระบุว่าพรรคก้าวไกลได้รับทราบเรื่องการฟ้องผ่านทางจำเลยโดยได้มีการเชิญตัวโจทก์เข้ามาพูดคุยโดยเฉพาะเรื่องหลักการและเนื้อหาซึ่งพรรคไม่เห็นด้วยกับการใช้ประมวลกฎหมายอาญาในการฟ้องดำเนินการ โดยเฉพาะการฟ้องหมิ่นประมาทต่อบุคคลที่มาปกป้องสิทธิ
“อย่างไรก็ตาม สก.ยืนยันว่าการฟ้องคดีครั้งนี้เป็นการฟ้องนอกเหนือจากการโพสต์ในตอนแรกของคุณนาดา เป็นเรื่องหลังจากที่เกิดเรื่องแล้ว หลังการดำเนินการของพรรคแล้วยังมีการโพสต์ใด ๆ ต่าง ๆ ซึ่งเขาเองก็ยืนยันว่าเขาจำเป็นต้องทำ อย่างน้อยที่สุดเพื่อเป็นการปกป้องให้ครอบครัวได้เห็นและให้คนในพื้นที่ได้รับรู้ความจริงจากส่วนของเขา เขาบอกกับพวกเราว่าเขาขอใช้สิทธิในฐานะสิทธิส่วนตัวไม่ใช่ในฐานะสิทธิซึ่งเป็นส.ก.ในนามส.ก.พรรคก้าวไกล” ณัฐวุฒิยืนยันว่าได้มีการแจ้งถึงทางเลือกอื่นในการพิสูจน์ความจริง เช่นการให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นต้น “แต่หากถึงขนาดที่พรรคจะไปสั่งการ หรือมีมติให้เขาดำเนินการต่าง ๆ ก็คงไม่ได้”
ส่วนกรณีหากผลของคดีออกมา ส.ก.ก้าวไกลชนะหรือแพ้คดีนี้จะส่งผลใดต่อไป ณัฐวุฒิชี้ว่าหากปรากฎรายละเอียดที่คณะกรรมการสอบวินัยสอบไปไม่ถึง หากมีข้อเท็จจริงบางอย่างได้รับการพิสูจน์และถึงขนาดให้พรรคต้องทบทวนการลงโทษทางวินัยที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่นนั้นก็จะมีผล แต่ตนยังไม่เห็นรายละเอียด
มิถุนายน 2565 พรรคก้าวไกลเผยแพร่แถลงการณ์ลงโทษ “ทางวินัยร้ายแรงระดับที่สาม” โดย “ตัดสิทธิ์พึงมีบางประการในฐานะสมาชิกพรรคที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในพรรค และพรรคจะไม่เสนอรายชื่อสมาชิกคนดังกล่าว ให้ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองในสภากรุงเทพมหานคร ทั้งนี้กำหนดระยะเวลา 1ปี นับแต่วันที่คณะกรรมการวินัยและจรรยาบรรณมีคำวินิจฉัย (วันที่ 2 มิถุนายน 2565) เป็นต้นไป” และ “กำหนดให้มีการภาคทัณฑ์หากยังมีการกระทำความผิดในกรณีเดียวกันอีกพรรคจะดำเนินการลงโทษทางวินัยขั้นเด็ดขาด” จากการที่พรรคพบว่าตัวโจทก์ “เข้าข่ายก่อความเดือดร้อนรำคาญทางเพศด้วยวาจาและกระทบต่อความรู้สึกและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ร้องเรียนซึ่งเป็นการแสดงออกในทางที่ไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์และคุณค่าหลักที่พรรคยึดถือได้แก่การเคารพในความหลากหลายทางเพศเชื้อชาติศาสนาและความเท่าเทียมของมนุษย์”
นาดา ผู้เป็นตัวแสดงหลักในการเรียกร้องอันนำมาสู่การสอบสวนนี้ให้ความเห็นการลงโทษดังกล่าวของพรรคก้าวไกลว่า “เบาหวิว”
หลังจากเกิดเหตุดังกล่าว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ส่งเอกสารทำความเข้าใจประเด็นการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานให้พรรคก้าวไกล และคณะกรรมการสิทธิทนุษยชนแห่งชาติเชิญพรรคฯ เข้าสอบถามข้อเท็จจริงต่อการกระทำผิดสิทธิมนุษยชน ขณะที่ณัฐวุฒิกล่าวว่าหลังเกิดเหตุดังกล่าวก้าวไกลจัดการอบรมผู้สมัครส.ส.เรื่องความเท่าเทียมทางเพศสำหรับนักการเมืองและวางแผนจะจัดการทำความเข้าใจดังกล่าวในระยะยาว