Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ในโลกที่เต็มไปด้วยข่าวสารหมุนรอบตัวเราจนเลือกเสพแทบไม่ทัน จึงไม่แปลกที่จะมีบทความ เว็บเพจหรือวิดีโอประเภทสรุปข่าวที่จับประเด็นและใจความสำคัญของแต่ละเหตุการณ์มาขมวด ย่อยให้กระชับและเข้าใจง่ายเกิดขึ้นมากมาย

แต่ถึงอย่างนั้น การ ‘สรุปข่าว’ ก็ยังต้องอาศัยทักษะการขมวดประเด็นที่แข็งแรง แม่นยำ และทำการบ้าน ค้นคว้าข้อมูลอย่างละเอียด ซึ่งเป็นสิ่งที่ เนม-รติศา วิเชียรพิทยา บล็อกเกอร์สาวเจ้าของชาแนลสรุปข่าว NailName ทางยูทูบที่มียอดผู้ติดตามกว่าแสนคน เอกลักษณ์อย่างหนึ่งในการสรุปข่าวของเธอ -นอกจากเจ้าเหมียวหน้าตาน่ารักแล้ว- คือความกระชับและตรงประเด็น ชนิดที่อาจจะมากกว่าคนทำงานเป็นนักข่าวอาชีพด้วยซ้ำไป จนเราเผลอสรุปไปก่อนหน้าได้เจอเธอว่า รติศาอาจจะเรียนจบด้านสื่อสารมวลชนมา

แต่แท้จริงไม่ใช่อย่างนั้น เธอจบคณะวิทยาศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยทำงานเป็นเกมมาสเตอร์เกมออนไลน์ เป็นเด็กเสิร์ฟในออสเตรเลีย สร้างค่ายแนะแนวการศึกษา Foxxy Camp – ค่ายคุณจิ้งจอก และการทำชาแนลสรุปข่าวใน NailName ก็เป็นอีกหนึ่งงานของเธอ

ทั้งหมดนี้คงจะเกิดขึ้นไม่ได้หากว่ารติศาไม่ได้สนใจประเด็นรอบตัวเป็นทุนเดิม แต่มากกว่านั้น เธอยังลงมือทำจนมันงอกงามเป็นผลงานชิ้นสำคัญในชีวิตด้วย

ชาแนล NailName นี่ถือกำเนิดขึ้นมาได้ยังไง เป็นคนชอบอ่านข่าวอยู่แล้วหรือเปล่า

เราเป็นคนชอบอ่าน อ่านหนังสือนิยายเล่มแรกตอนอนุบาลสาม แล้วก็ชอบเล่นเฟซบุ๊กมากกว่าอินสตาแกรม เพราะอินสตาแกรมไม่มีตัวอักษร เราชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์อยู่แล้ว แล้วเอาจริงๆ ถ้าเราอ่านบ่อยๆ จะพบว่าโครงสร้างประวัติศาสตร์ของประเทศจะคล้ายๆ กัน คือรัฐบาลแย่ คนออกมาประท้วง ถ้าชนะก็ได้เสรีภาพ ถ้าแพ้ก็อย่างที่เห็น

แต่ความแตกต่างที่น่าสนใจของแต่ละประเทศคือ แต่ละประเทศมีปัจจัยที่แตกต่างกัน ไทยเป็นประเทศที่ประท้วงขึ้นยากเพราะว่าเราสมบูรณ์ ชีวิตมีกิน แต่ทางยุโรปนี่ต้องประท้วงเพราะไม่งั้นจะอดตายแน่ๆ

เล่าอย่างไรให้แตกต่างและโดดเด่น

เราว่าถ้ามันน่าสนใจก็เล่า ถ้าไม่น่าสนใจก็เล่า

และสิ่งหนึ่งที่เราไม่อยากได้คือ ตอนเราทำคลิปไปสักพัก มันจะมีอีกช่องนึงทำคล้ายๆ เรา แต่เราดูคลิปเขาไม่ได้เพราะเสียงเขากับวิธีเล่า เขาเคยเอาภาพนักเรียนโดนตัดผม ภาพเดียวเล่าไปยี่สิบนาที เราไม่อยากทำคลิปที่มันเยิ่นเย้อ น่ารำคาญ สรุปมาเลยได้ไหม เราเป็นคนขี้รำคาญ แล้วรู้สึกว่าอะไรที่มันเยอะเกินไปคนดูเขาก็ไม่ได้อยากรู้ไง เราไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง เราไม่จำเป็นต้องรู้ว่ารอบอกลุงพลเท่าไหร่ เราแค่อยากรู้ว่าลุงพลเป็นใคร เขารู้สึกยังไงกับน้องชมพู่ แค่นั้น เราไม่ได้อยากรู้ว่าอาหารจานโปรดของน้องคืออะไร เราตัดเรื่องพวกนี้ทิ้งหมดเลย

แล้วอีกอย่างคือ ในสำนักข่าวใหญ่ๆ เขาชอบใส่วันที่ เราว่าไม่จำเป็น มันจำยาก มันเหมือนเวลาเราฟังเลกเชอร์สักอย่างแล้วอาจารย์พูดทุกอย่าง เราจะโฟกัสกับทุกอย่างและไม่รู้เรื่องในช่วงหลังๆ เพราะสมาธิหลุดแล้ว เอาพลังงานไปใช้กับการทำความเข้าใจ จำเวลาช่วงแรกหมดแล้ว ของเราพยายามตัดอะไรที่ไม่จำเป็นทิ้ง อย่างวันที่ บอกแค่ว่าปลายปี ต้นปี คนไม่ได้อยากรู้ว่าวันที่เท่าไหร่ แต่คนอยากรู้ว่าเกิดเหตุการณ์นี้แล้วเกิดอะไรต่อ แล้วอะไรที่เราอ่านจากข่าวแล้วรู้สึกว่าไร้สาระก็จะไปพูดให้คนอื่นฟังทำไม คือมันก็มีนะ คนดูเขาก็ทักท้วงมาบ้างว่าหลุดประเด็นนี้หรือเปล่า แต่ก็นั่นแหละ คือรู้ แต่ไม่ใส่ไปน่ะ (หัวเราะ)

เอาให้กับคนที่พูดไม่รู้เรื่องฟังให้เขาเข้าใจ เป้าหมายของการเล่าเรื่อง

(คิด) รอบตัวเรามีคนเป็นวิศวะเยอะ แฟนเราก็เป็นวิศวะ และเรารู้สึกว่าวิศวะนี่เป็นสิ่งมีชีวิตที่พูดไม่รู้เรื่อง เราเลยเอามาเป็นเกณฑ์ว่าจะไม่อธิบายอะไรแบบนี้

แต่ว่าทักษะที่สำคัญที่เราคิดว่าเด็กรุ่นนี้ไม่ค่อยมี หรือไม่มีในกลุ่มวิศวะรอบๆ ตัวเราคือการเรียงลำดับ เรื่องที่เราเล่าในคลิปมันไม่ได้ลึกกว่าคนอื่นนะ สำนักข่าวออกข่าวลึกกว่าที่เราสรุปอีก แต่ว่าเราจัดลำดับเรื่องให้เข้าใจง่ายได้ หาความเชื่อมโยงของแต่ละเรื่อง

การบ้านต้องทำเยอะ ตอนทำรีเสิร์ชข้อมูลคือช่วงที่นานที่สุด หมดไปประมาณหกชั่วโมง อัดคลิปจริงๆ แค่ 40 นาทีเองมั้ง แล้วเอามาตัด ซอยย่อยได้

จังหวะไทมิ่งที่เหมาะสม ช่วยผลักดันให้แจ้งเกิดในโลกออนไลน์ได้เร็ว

ฟลุก (หัวเราะ) คือมันมาจากคลิปที่สรุปดราม่า ฌอน บูรณะหิรัญ ช่วงแรกๆ เราพยายามทำคลิปแบบวันเว้นวัน แรงเยอะเพราะความจนมันน่ากลัว (หัวเราะ) ปรากฏว่าหลังจากอัดคลิปฌอนเสร็จ แฟนเราก็บอกว่าไม่ไหวละ หยุดทำงานกันก่อน เครียด ไปเที่ยวระนองกันเจ็ดวัน แล้วคลิปฌอนออกมาตั้งแต่วันที่เราไประนองวันที่สอง

ปรากฏว่าวันที่ปล่อยคลิป คือวันที่ฌอนออกมาแก้ตัวเรื่องเงินพอดี ทุกคนเลยเสิร์ชหาชื่อเขาแล้วมันก็กลายเป็นคีย์เวิร์ดแนะนำขึ้นมาในยูทูบ แล้วเราปล่อยคลิปสรุปวันนั้นพอดี

เหมือนล่าสุด มีเรื่อง #แบนเนชั่น ใช่ไหมคะ คนอื่นเขาก็ทำกันไปตั้งนานละ เราเพิ่งจะมาทำคลิปสรุป ทีนี้เราปล่อยคลิปออกมาในวันที่กนก (รัตน์วงศ์สกุล) ออกมารวบรวมเรื่องผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนเนชั่นพอดี คนเลยมาดูคลิปสรุปเราด้วย

ความตั้งใจตั้งแต่วัยเด็กกับการเรียนวิทยาศาสตร์

ตั้งแต่เด็กก็อยากเรียนคณะวิทยาศาสตร์มาตลอด เราถามแม่ว่าคณะวิทยาศาสตร์นี่จบไปทำงานอะไรนะ แม่บอกอย่าไปเรียนเลย ตกงาน เราเลยบอกแม่ว่ามันต้องมีสักงานสิ ซึ่งพอจบมาก็ไม่ได้ทำงานใกล้เคียงกับสายที่จบเลย (หัวเราะ) ไม่ได้เข้าห้องแล็บอีกเลย

คือประมาณตอนอนุบาล 3 ครูให้เอารูปอาชีพต่างๆ ไปโรงเรียน เพราะตอนนั้นเหมือนมีเรียนเรื่องอาชีพ คนก็เอาอาชีพหมอ ทันตแพทย์ไป ทีนี้มันมีเด็กคนหนึ่งร้องไห้ บอกว่ารูปโดนขโมย แล้วครูก็ไปตามหาว่าใครกันที่ขโมยไป สรุปคือเด็กในห้องที่ลืมเอารูปของตัวเองมาเลยไปขโมยของคนอื่น แล้วรูปนั้นเป็นรูปสีซีเปีย เป็นรูปนักวิทยาศาสตร์อยู่กับเครื่องแก้ว เราเห็นก็รู้สึกว่าเท่จังเลย แล้วเด็กคนนั้นก็บอกว่านั่นน่ะคือพ่อเขา เราเลยรู้สึกว่านักวิทยาศาสตร์นี่เท่จังว่ะ อยากเป็นมั่ง ไร้สาระมั้ย (หัวเราะ)

ส่งต่อประสบการณ์ แนะแนวการทำงานและการเรียน แรงผลักดันหลักของชีวิต

ตอนมหาวิทยาลัยเราเป็นเด็กกิจกรรม ทำกิจกรรมเยอะมาก แล้วตอนนี้เราทำค่าย Foxxy Camp – ค่ายคุณจิ้งจอก ซึ่งเป็นค่ายแนะแนวกิจกรรม เรามีหุ้นส่วนที่เรียนทันตแพทย์ ก็สร้างค่ายแนะแนวให้น้อง เช่น ถ้าน้องอยากเข้าคณะสถาปัตย์ ก็ให้น้องเขาลองตัดโมเดล เพื่อที่จะให้น้องรู้ว่าจริงๆ แล้วเราอยากเข้าสถาปัตย์จริงไหม และมีพี่เก่าที่มีประสบการณ์ทำงานแล้วมาเลคเชอร์ให้

คือเราคิดว่าค่ายของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะชอบเอาคนที่ยังเรียนอยู่มาพูด มาจัดเป็น Open House ซึ่งมันไม่ได้บอกไงว่า ตอนเรียนจบไปแล้วน้องต้องเจออะไรบ้าง ถ้าเจอคนไข้ปากเหม็นนี่ต้องทำยังไง ของเราเลยเน้นเป็นว่า เราไม่ได้อยากให้น้องรู้ว่าน้องอยากเรียนอะไร แต่อยากให้น้องรู้ว่า เวลาจบไปแล้วน้องจะชอบงานที่ตัวเองทำไหม

เราพบว่าค่ายหมอเป็นค่ายที่เด็กมาแล้วพบว่าไม่อยากเป็นหมอที่สุด เพราะว่าเหมือนมาเพราะเรียนเก่ง อยู่ในโรงเรียนก็ดูเก่ง ก็เข้าหมอไว้ก่อนไหมเพราะพ่อแม่อยากให้เข้า แต่ถึงเวลาจริงๆ มีข้อสอบให้ลองทำ ก็พบว่าเราไม่ได้เก่งเลยนะ พอเทียบกับโลกภายนอก หรือพบว่าถ้าอยากเข้าหมอเราต้องฮึบกว่านี้อีกเยอะเลย แล้วคนที่เป็นหมอจริงๆ ก็จะมาพูดทั้งข้อดีและข้อเสียของการเป็นหมอ เช่น อยู่เวร 48 ชั่วโมง เสาร์-อาทิตย์นี่ไม่ต้องคิดถึงพ่อแม่เลย พ่อแม่รับได้ไหม แล้วน้องเขาก็จะเปลี่ยนใจเลย หรือมีเหตุผลมากพอจะไปพูดกับผู้ปกครองให้เขาเข้าใจ

เราคือเน้นการค้นหาตัวเองแหละ แต่ไม่ได้ให้มาฟังอย่างเดียว แต่ให้น้องลองทำด้วย เช่น แพทย์ ลองให้น้องตรวจสุขภาพ อย่างมาถึงก็ซักอาการคนไข้ แล้วถามว่าปกติคนไข้รู้ตัวไหมว่าป่วยตรงไหน อะไร เขาก็ไม่รู้หรอก ก็จะบอกว่าปวดท้อง ปวดตรงไหนก็ไม่รู้ ดังนั้น ทักษะที่สำคัญของหมอคือทักษะสื่อสาร แต่ว่าคนไม่ค่อยรู้ คนจะคิดว่าหมอก็ตรวจๆ ไป แต่ไม่จริงเลย หมอต้องสื่อสาร คอนแทคกับคนไข้ ต้องดูว่าจะรับมือยังไง แล้วเราก็อาจให้น้องๆ ลองใช้หูฟังของหมอดูนะ ลองจับชีพจร เป็นต้น

แฮชแท็กรายการสรุปข่าวที่ช่วยเปิดประตูชีวิต

ก่อนหน้ามาทำคลิปวิดีโอ สมัยเรียนจบใหม่ๆ เราไปสร้างสะพานที่หนึ่งกับค่ายวิศวกรอยู่สามเดือน ลงมาก็สมัครงานไม่ทันละเพราะชาวบ้านเขาสมัครไปหมดละ เลยได้ไปทำงานเป็น GM เกมออนไลน์ แต่ตอนนั้นเงินเดือนน้อยมากเลย แต่เราว่าสนุกดี จัดกิจกรรมในเกม ทำอาร์ตเวิร์ค ตอบคำถามลูกค้า รับโทรศัพท์ เราเลยได้ทักษะมาร์เก็ตติ้ง งานขายจากตรงนี้มา แต่ก็ซัฟเฟอร์นะ เพราะเพื่อนเราเป็นวิศวกรซะเยอะเพราะเรามักไปเข้าค่ายของพวกวิศวะเขา เพื่อนสตาร์ตด้วยเงินเดือน 40,000 บาท เคยไปเจอเพื่อนแล้วนั่งข้างๆ กัน เพื่อนบอก เฮ้ยมึง กูสตาร์ต 25,000 เอง ต่ำสุดในภาคแล้ว เราได้แต่แบบ… (หัวเราะ) แล้วพอหันไปดูเพื่อนที่จบคณะวิทยาศาสตร์มาด้วยกัน ก็ได้เงินเดือนแถวๆ 15,000 ทำกับราชการ

เรารู้สึกว่าไม่ใช่ละ มันไม่ตอบโจทย์การใช้เงินของเราละ เลยเปลี่ยนสาย แล้วมาเป็นแอดมินเกมมือถือ แล้วระหว่างนั้นก็เริ่มคิดว่าเพื่อนรอบตัวไปไกลจัง อยากไปต่างประเทศกับเขาบ้างว่ะ ก็ตัดสินใจไปเลย ตัดสินใจภายในสามเดือนเอง ไปสมัครลงเรียนดิโพลมา อ่านหนังสือสอบอย่างเครียด (เน้นเสียง) แล้วต้องสอบไอเอลให้ได้ เหมือนอ่านหนังสือไปแล้วยังไงก็ต้องไปสอบ ไม่อย่างนั้นจะเสียเวลาชีวิตเปล่าๆ มาก แต่เราเป็นคนเครียดง่าย ท้อง่าย แต่ไม่เคยถอยเลยนะ ถ้ากูจะเอา กูต้องได้สิ นิสัยไม่ดี (หัวเราะ)

เราไปอยู่ออสเตรเลียเจ็ดเดือน ทำงานไปด้วย เป็นเด็กเสิร์ฟ ทำงานในครัว ทำงานร้านนวด ทำทุกอย่างเลย วันที่กลับมาเพราะรู้สึกว่าอยู่นั่นมันไม่ได้อะไรแล้ว คือมันเป็นชีวิตที่สนุกนะ ได้เงินก็เยอะอยู่ เสิร์ฟเสร็จก็ไปปาร์ตี้ในร้านที่เบียร์ถูกที่สุดในเมือง (หัวเราะ) กลับมานอนแล้วตื่นบ่ายสามไปเสิร์ฟใหม่ เป็นอย่างนี้ทุกวัน ชีวิตมันไม่ต้องคิดอะไรดี แต่อยู่ไทยมันทำแบบนั้นไม่ได้ไง แต่เราจะให้ไปทำเสิร์ฟตลอดชีวิตก็ไม่ได้

มันเหมือนอยู่โน่นเราเป็นพลเมืองชั้นสอง เราไปทำความสะอาดให้บ้านคนอื่นซึ่งหลังใหญ่มากๆ แค่ไปนั่งโซฟาเขายังเกรงใจเลย ห้องเรายังไม่ถึงห้องน้ำเขาเลยมั้ง ก็เลยกลับไทย มาเรียนออกแบบภายในเพราะว่าอยาก แล้วก็ได้เรียนคอร์สสั้นๆ

หลังจากนั้นเราก็สมัครงานอีก แล้วก็เปลี่ยนงาน แล้วค่อยไปทำค่ายได้สักปีมั้ง มาเริ่มทำคลิปวิดีโอสรุปข่าวก็ตอนมีโควิดระบาดนี่เอง

เราว่าการทำยูทูบมันไม่ได้สามารถอยู่ได้ไปตลอดชีวิต ฉะนั้น เราอยากปั้นตัวเองให้เป็น iconic ที่ขายได้ด้วย รายการเราเลยพยายามทำให้ดูมีสาระมากขึ้น

ตอนทำยูทูบแรกๆ เรารู้สึกว่าเราเก่งนะ (หัวเราะ) แต่แค่รู้สึกว่าเอาความสามารถมาสร้างเงินไม่ได้ มันไม่เวิร์ค เลยอยากเอาความสามารถมาสร้างประโยชน์ แล้วเงินเนี่ยเป็นประโยชน์ที่เห็นชัด แต่ว่าเราก็ควรทำอย่างอื่นได้มากกว่านี้ ให้ความรู้คน ไปสร้างประโยชน์ให้คนอื่น ให้โลก

เราคิดว่าโลกนี้มันมีความรู้อีกหลายอย่างที่รู้แล้วมันทำให้เราเข้าใจเรื่องอื่นได้ แบบรู้เรื่องหนึ่ง กับเรื่องหนึ่งแล้วพอมารู้เรื่องนี้ตรงกลางมันจะเชื่อมกันได้ มันจะทำให้กระบวนการคิดของเรามันครบ มันครอบคลุมมากขึ้น

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า