SHARE

คัดลอกแล้ว

การทำธุรกิจที่เป็นสินค้าฤดูกาล (Seasonal items) เป็นเรื่องยากตรงที่สินค้าไม่ได้เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ไม่ต่างอะไรกับการทำธุรกิจแบบกลุ่มตลาด Niche Market (เฉพาะกลุ่ม) ที่ต้องเข้าใจและจับจุดแข็งธุรกิจตัวเองให้ได้

แต่สำหรับ ‘น้ำอบนางลอย’ ไอคอนิกวันสงกรานต์ที่คนไทยนึกถึง ทำไมอยู่ในตลาดไทยได้นานถึง 110 ปี โดยที่ยังเป็นเบอร์หนึ่งตลอดกาลด้วย

วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับธุรกิจในตำนาน ‘น้ำอบนางลอย’ ผ่านการเล่าเรื่องของ ‘น็อต-ดิษฐพงศ์ ธ.เชียงทอง’ ทายาทรุ่นที่ 4 ของธุรกิจน้ำอบนางลอย

[ จุดเริ่มต้นน้ำอบนางลอย กลิ่นหอมจากในวัง ]

รุ่นบุกเบิก (รุ่นที่ 1) ก็คือ ‘แม่เฮียง’ หรือ ‘ย่าเฮียง’ เป็นผู้ริเริ่มน้ำอบที่มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ลอกเลียนแบบไม่ได้ โดยได้คิดค้นสูตรความหอมจากดอกไม้นานาชนิด พร้อมสมุนไพรไทยบางอย่าง และนำมาผสมผสานกับน้ำหอมของฝรั่งที่เป็นที่นิยมอย่างมากในสมัยก่อน

โดยสูตรที่เล่ามานั้นมาจากการดัดแปลงของย่าเฮียง หลังจากที่ได้รับการถ่ายทอดวิธีการปรุงน้ำอบไทยมาจากเพื่อนที่อยู่ในวัง

ด้วยความที่ในสมัยนั้นยังไม่มีการทำน้ำอบไทยในเชิงพาณิชย์เพราะเป็นสินค้าในครัวเรือน ทุกบ้านจะมีการทำน้ำอบไทยจากความชอบตัวเอง ใช้ดอกไม้ที่ต่างกัน กลิ่นจากสมุนไพรต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน แต่ย่าเฮียงได้สร้างแบรนด์และนำมาขายที่ตลาดนางลอย (ข้างวัดบพิตรภิมุข เขตจักรวรรดิ กรุงเทพฯ) จนได้รับการบอกเล่าปากต่อปากถึงความหอมของน้ำอบย่าเฮียงที่คนส่วนใหญ่ชอบ

ลูกค้าเริ่มคุ้นเคยชื่อเรียกว่า ‘น้ำอบไทยของแม่เฮียงที่ตลาดนางลอย’ ย่าเฮียงจึงนำมาตั้งเป็นชื่อแบรนด์ ‘น้ำอบไทยนางลอยของแม่เฮียง’

ย่าเฮียงได้เปลี่ยนรูปแบบการขายจากตวงน้ำอบ มาเป็นการบรรจุลงขวดแก้ว และเริ่มทำโลโก้ครั้งแรกตั้งแต่ยุคนั้นจนถึงปัจจุบัน

ส่วนรุ่นที่ 2 เป็นยุคของการขยายตลาด และเปิดตลาดในต่างจังหวัด โดยรุ่นที่ 2 กับ 3 จะเป็นการขยายตลาดในแต่ละจังหวัด เน้นการขนส่งไปล่วงหน้า และกระจายสินค้าไปจังหวัดต่างๆ ในภูมิภาคนั้นอีกที

ต้องพูดว่า ยุคนี้ทำให้รู้ว่าลูกค้าของน้ำอบนางลอยมาจากจังหวัดไหนบ้าง หรือจังหวัดใดที่มีการใช้น้ำอบไทยประกอบพิธีการต่างๆ มากกว่าที่อื่น โดยปัจจุบันเป็น ‘ภาคเหนือ – อีสาน’ ที่มีพิธีกรรมที่ต้องใช้น้ำอบไทยมากกว่าภาคอื่น รวมถึงกรุงเทพฯ

[ น้ำอบนางลอย มาร์เก็ตแชร์เบอร์ 1 ตลาดไทย ]

น็อต-ดิษฐพงศ์ ได้เล่าว่า “ในสมัยก่อนคนไทยนิยมใช้น้ำอบกับร่างกาย เหมือนเป็นน้ำหอมที่คนสมัยนี้ใช้กัน”

“น้ำอบนางลอย เป็นกลิ่นหอมที่คนไทยส่วนใหญ่ชอบ ทำให้กลิ่นกระจายไปทั่วในหลายบ้าน พูดง่ายๆ ก็คือ เราเป็นคนเปิดตลาดกลิ่นนี้มา 110 ปีแล้ว มันก็เลยทำให้เรากลายเป็นสัญลักษณ์ของน้ำอบไทยที่คนไทยคุ้นเคย”

และด้วยความที่เป็นคนแรกๆ ที่เปิดตลาด ‘น้ำอบไทย’ ขณะที่ครัวเรือนอื่นก็ทำน้ำอบกัน แต่กลิ่นที่ย่าเฮียงเป็นคนคิดค้นกลับได้รับการยอมรับ ทำให้น้ำอบนางลอยมีส่วนแบ่งการตลาดในปัจจุบันมากที่สุด ราวๆ 70-80%

“เราไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าน้ำอบไทยเจ้าอื่นในตลาดตอนนี้มีสัดส่วนรายได้เท่าไหร่ แต่คิดว่าเราเป็นเบอร์ 1 ในตลาดไทย ด้วยสัดส่วนมาร์เก็ตแชร์ 70-80%”

ขณะที่รายได้หรือยอดขายของน้ำอบไทยนางลอย ช่วงหลังโควิด-19 อาจจะยัง ‘ทรงๆ ไม่หวือหวา’ โดยปี 2567 ยอดขายอยู่ที่ประมาณ 7-8 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้นทีละนิด แต่ยังไม่เท่ากับช่วงก่อนที่จะมีโควิด-19

“ยอดขายตอนนี้ บวกลบกันแล้วก็ไม่เกิน 10% ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ บางสถานการณ์อาจจะกระทบเราเล็กน้อย ถ้าไม่กระทบตรงๆ กับวันสงกรานต์อย่างโควิด-19 น้ำอบนางลอยก็ยังขายได้บ้างเรื่อยๆ”

“ตอนนี้เราคาดหวังแค่ให้รายได้ของเราเท่าเดิม อย่างน้อยคือ 7-8 ล้านบาท เพื่อให้เรายังคงรันธุรกิจต่อไปได้ แต่ความคาดหวังของผู้ประกอบการทุกคน ยอมรับว่าก็เป็นเรื่อง การเพิ่มรายได้ที่มากขึ้น ซึ่งปีนี้เราจะพยายามทำการตลาดผ่านโซเชียลของเราเองมากขึ้น และที่ผ่านมาก็มีการ collab กับคนอื่นบ้าง แต่ก็หวังว่าจะมีองค์กรใหญ่ขึ้น หรือแบรนด์ที่มีชื่อเสียงสนใจเรา และได้ร่วมงานกัน”

ปัจจุบัน ‘ฮีโร่โปรดักส์’ นอกเหนือจากน้ำอบนางลอย ในฐานะที่เป็นทายาทรุ่นที่ 4 เขาพยายามต่อยอดโปรดักส์ใหม่ๆ เพื่อทำให้แบรนด์สดใสขึ้น และสร้างการรับรู้กับกลุ่มลูกค้ามากขึ้น โดยสินค้าที่ขายดียังเป็นน้ำอบไทยที่เป็น ‘พระเอก’

ส่วนสินค้า ‘นางเอก’ ก็มีหลายตัวด้วยกัน เช่น

-แป้งหินร่ำ

-ดินสอพอง

-เทียนอบขนม

-เทียนหอม

-ยาดม

-ยาหม่อง

-เแอลกอฮอล์เจล

[ วันสงกรานต์ 70% ยอดขายมาจากน้ำอบไทย ]

วัฏจักรการขายสินค้าของ ‘น้ำอบไทยนางลอย’ ค่อนข้างสั้น เพราะมีช่วง period แค่เกือบๆ 3 เดือนในการส่งสต็อกสินค้าให้กับร้านค้าพาร์ทเนอร์ ก็คือ เดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน (ครั้งเดือนเมษายน)

จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ น็อต-ดิษฐพงศ์ อยากโฟกัสไปที่การสร้างสินค้าที่สามารถเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันลูกค้าได้ เช่น ยาหม่อง, ยาดม, เทียนหอม ฯลฯ และอย่างล่าสุดที่ collab ร่วมกับ ‘ปากาม้าไทยแลนด์’ ผ้าขาวม้ากลิ่นน้ำอบไทยนางลอย เพื่อให้เข้ากับเทศกาลไหว้ผู้ใหญ่อย่างวันปีใหม่ไทยนั่นเอง

โดยรายได้หลักๆ ในช่วงวันสงกรานต์มากถึง 70% ยังอยู่ที่ ‘น้ำอบไทย’ ส่วน 30% เป็นยอดขายมาจากสินค้าประเภทอื่น

“ยอดขายในช่วงวันสงกรานต์จำนวนพีคๆ เลยก็น่าจะประมาณ 4,000-5,000 ขวดต่อวัน หรือประมาณ 300 โหล แต่ถ้าไม่ใช่ช่วงสงกรานต์บางวันเราแทบขายไม่ได้เลยสักขวด อาจจะเพราะร้านของเราอยู่ในกรุงเทพฯ และวัฒนธรรมในกรุงเทพฯ ไม่ได้แข็งแรงเท่าต่างจังหวัด”

[ ญี่ปุ่นมีโรงสาเก = ไทยมีโอ่งผลิตน้ำอบไทย ]

ความกังวลของธุรกิจน้ำอบไทยนางลอย แม้ว่าตอนนี้จะย่างเข้าสู่ปีที่ 111 แล้ว และยังโชคดีที่คนไทยให้ความสำคัญกับวันสงกรานต์ และเราก็เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขององค์การยูเนสโก ในปี 2566 รวมถึงรัฐบาลพยายามผลักดัน Soft Power

แต่คำถามก็คือ เราจะช่วยกันอนุรักษ์ความเป็นไทย สินค้าไทย และภูมิปัญญาของคนไทยได้มากแค่ไหน เพราะทุกวันนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่มาไทยในวันสงกรานต์และเที่ยวสนุกสนานแค่เล่นน้ำ และปาร์ตี้

แต่ถ้ากรุงเทพฯ และแต่ละจังหวัด ใช้ประโยชน์จากเทศกาลนี้ ผลักดันของดีของคนไทย สินค้าคนไทย รวมทั้งน้ำอบไทย หากได้รับการสนับสนุนอย่างถูกต้อง น้ำอบนางลอยก็คงอยู่ต่อไปได้อีกนาน

น็อต-ดิษฐพงศ์ ได้พูดถึง ‘ความฝันที่ยิ่งใหญ่’ ของเขาและธุรกิจน้ำอบนางลอยว่า เขาอยากให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในระดับโลก

“ผมอยากให้น้ำอบนางลอยตัวดั้งเดิมอยู่ได้นานที่สุด ขณะเดียวกันก็อยากให้ตัวแบรนด์เติบโตเป็นที่รู้จักระดับโลก”

“เราอาจจะไม่จำเป็นต้องมียอดขายสูงที่สุดก็ได้ แต่ทุกคนต้องรู้จักเรา”

“ผมอยากให้คนอื่น (นักท่องเที่ยวต่างชาติ) เวลาที่มาไทยแล้วนึกถึงเรา เหมือนเวลาที่เราไปต่างประเทศต้องไปดูวัฒนธรรมของเขา เช่น เวลาที่ไปญี่ปุ่นก็ต้องไปดูโรงสาเก หรือ ไปสวิตเซอร์แลนด์ต้องไปดูช็อกโกแลต อะไรแบบนี้”

“อยากให้คนนึกถึงเรา มาดูการผลิตน้ำอบของคนไทย ไม่ต้องมาด้วยโปรดักส์ก็ได้ แต่อยากให้มาด้วยความที่เป็น 100 ปีของเรา”

ถึงแม้ว่าสินค้าน้ำอบไทยนางลอยจะมีข้อจำกัดหลายอย่าง เป็นทั้งซีซั่นนัลโปรดักส์ และก็เป็นสินค้าเฉพาะกลุ่มด้วย ทั้งยังเป็นสินค้าที่จะอยู่ในช่วงเทศกาล หรือพิธีกรรมสำคัญๆ เท่านั้น แต่อย่างน้อยทายาทรุ่นที่ 4 ก็มองว่า ‘ความดั้งเดิม’ ของธุรกิจนี่แหละที่เป็นจุดแข็งของธุรกิจ ทำให้เกิดความแตกต่าง ซึ่งมันคือหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจยุคนี้

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า