SHARE

คัดลอกแล้ว

กรณีคนสำคัญทางการเมืองไทยถูกกล่าวหาว่าเชื่อมโยงกับขบวนการค้ายาเสพติด ครั้งที่รุนแรงและส่งผลต่อการเมืองไทยในช่วงต่อมามากที่สุด

คือ กรณีของนายณรงค์ วงศ์วรรณ นักการเมืองดังจากภาคเหนือ ที่ไม่เพียงทำให้เขาพลาดตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเป้าหมายสุงสุดของนักการเมือง แต่ยังเป็นตัวแปรหนึ่งให้เกิดความรุนแรงคือ เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ตามมา

พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี, พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผบ.ส.ส.และพล.อ.สุจินดา คราประยูร ผบ.ทบ. ประมาณ 1 เดือน ก่อนการยึดอำนาจ

ย้อนไปเมื่อปี 2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ที่นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสุงสุด ได้ยึดอำนาจ รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ จากนั้นให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยนายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธานร่าง ท่ามกลางการโจมตีว่าเปิดช่องให้มีการสืบทอดอำนาจ ให้มีนายกฯ คนนอกได้ แต่สุดท้ายก็มีผลบังคับใช้ และจัดให้มีการเลือกตั้ง เมื่อ 22 มี.ค. 2535

พรรคการเมืองที่ได้เสียงมากที่สุด คือ พรรคสามัคคีธรรม ที่มีนายณรงค์ วงศ์วรรณ นักการเมืองจากแพร่ ได้ ส.ส. 79 คน ตามด้วย พรรคชาติไทย 74 คน, ความหวังใหม่ 72 คน, ประชาธิปัตย์ 44 คน, พลังธรรม 41 คน, กิจสังคม 31 คน และที่เหลือคือพรรคที่ได้ ส.ส.หลักเดียว

แม้ ณรงค์ จะเป็นผู้ออกหน้านำพรรค แต่เป็นที่รับรู้กันว่า พรรคสามัคคีธรรม มี น.ต.ฐิติ นาครทรรพ เลขาธิการพรรค ที่มีความใกล้ชิดกับ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผอ.ทอ.) รองหัวหน้า รสช. เป็นคีย์แมนคนสำคัญในการรวบรวมนักการเมืองจากหลายพรรคมารวมกัน

พล.อ.สุจินดา คราประยูร และ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล (ภาพจาก wikipedia.org)

หลังผลการเลือกตั้งออกมา พรรคสามัคคีธรรม มีความเคลื่อนไหว จับมือกับพรรคกิจสังคม,ประชากรไทย,ชาติไทยและราษฎร เพื่อจะสนับสนุน พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผบ.ทบ. ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่บางกระแสหนุน พล.อ.อ.เกษตร ขึ้นรับตำแหน่ง

อย่างไรก็ตามกระแสโจมตีจากพรรคฝ่ายค้าน ประกอบกับการลั่นวาจาว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทั้งของ พล.อ.สุจินดา และ พล.อ.อ.เกษตร ก่อนหน้านั้น ทำให้ทั้งคู่ปฏิเสธ และได้ข้อสรุปว่า ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคือ นายณรงค์ วงศ์วรรณ

นิวยอร์คไทม์ รายงานข่าวเรื่องของ ณรงค์ วงศ์วรรณ

แต่ก็เกิดอุบัติเหตุกลางทาง ระหว่างแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2535 นักข่าวจากสิงคโปร์ได้สอบถามเรื่องที่นายณรงค์ มีชื่ออยู่ในบัญชีดำ ผู้มีส่วนพัวพันการค้ายาเสพติดของสหรัฐอเมริกา แม้นายณรงค์จะปฏิเสธ แต่ก็กลายเป็นกระแสไปไม่เฉพาะในประเทศไทย

ภาพ : wikipedia

ขณะที่การตอบคำถามของมาร์กาเร็ต ทัตไวเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ตามเวลาในสหรัฐ ได้ตอกย้ำให้เกิดการตีความเรื่องดังกล่าว โดยรับว่าได้เคยปฏิเสธการออกวีซ่าให้นายณรงค์จริง แม้จะไม่ระบุสาเหตุตรงๆ

(ส่วนหนึ่งของการถาม-ตอบ ในวันดังกล่าว)

ผู้สื่อข่าว : ช่วยบอกผลพวงจากความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและไทยในการได้นายกรัฐมนตรี ณรงค์ วงศ์วรรณ ที่ทางการสหรัฐเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าเฮโรอีนข้ามชาติ
ทัตไวเลอร์ : สิ่งที่บอกได้ก็คือความสัมพันธ์ของเรากับไทยและคนไทยมีมาอย่างแน่นแฟ้นยาวนาน ในเรื่องนี้ อย่างที่คุณทราบ วันก่อนเรายินดีที่ประเทศไทยกลับไปสู่กระบวนการทางรัฐธรรมนูญ ผ่านการเลือกตั้งในระบบรัฐสภาเมื่อวันที่ 22 มี.ค. ที่เสร็จสิ้นไปแล้ว พรรคการเมืองก็กำลังรวมกันตั้งรัฐบาลใหม่ และฉันก็ไม่ได้ตั้งเงื่อนไขข้อสงสัยอะไรจนกว่าพวกเขาจะมีโอกาสตั้งรัฐบาลจริงๆ
ผู้สื่อข่าว : ทำไมสหรัฐอเมริกาปฏิเสธวีซ่าของณรงค์
ทัตไวเลอร์ : วีซ่าของเขาถูกปฏิเสธเมื่อ ก.ค. 1991 ตามมาตรา 212(2)(C) ของ พ.ร.บ. ที่ว่าไม่สามารถออกวีซ่าให้คนต่างด้าวที่สถานกงสุลหรือสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทราบหรือสงสัยว่าขนของผิดกฏหมายไม่ว่าจะมาในรูปแบบใดก็ตาม หรือสงสัยว่าให้การช่วยเหลือ หนุนหลัง หรือสมรู้ร่วมคิด ในการขนของผิดกฏหมาย
ผู้สื่อข่าว : งั้นช่วยบอกชัดๆได้หรือไม่ว่าณรงค์ถูกยกเลิกวีซ่าเพราะขนของผิดกฏหมาย?
ทัตไวเลอร์ : ฉันบอกได้ว่าวีซ่าของเขาถูกยกเลิกเดือน ก.ค.1991 ตามมาตราที่กล่าวไปแล้วตามกฏหมายของเรา

ฝ่ายของ ณรงค์ เชื่อว่ามีขบวนการของฝ่ายตรงข้ามที่สกัดไม่ให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรี เขาประกาศกับสมาชิกของพรรคว่า “จะสู้จนคอหักคาเวที” แต่สุดท้ายก็ต้องถอนตัวจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (ณรงค์ วงศ์วรรณ บารมีไม่ถึง “ดวงดาว” โดย “ชน บทจร” ใน thepeople.co )

ที่สุดเก้าอี้นายกรัฐมนตรีก็กลับมาที่ “บิ๊กสุ” สุจินดา คราประยูร ผบ.ทบ. ที่ต้อง “เสียสัตย์เพื่อชาติ” รับตำแหน่ง และต่อมาเกิดการประท้วงลุกลามบานปลายจนกลายเป็นจลาจลและมีการสลายการชุมนุมจนเกิดเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ”

น่าสนใจตรงที่ว่า หากกล่าวหาว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2534 เปิดช่องเพื่อให้สืบทอดอำนาจ ทำไม นายทหาร รสช. ไม่รับตำแหน่งเองตั้งแต่ต้น แบบที่ พล.อ.สุนทร ประธาน รสช. เคยกล่าวไว้ว่า “สุไม่เอาก็ให้เต้” ซึ่งหมายถึงถ้า “สุ” พล.อ.สุจินดา ไม่รับตำแหน่งนายกฯ ก็ให้ “เต้” พล.อ.อ.เกษตร รับไปแทน แต่กลับเลือกให้เป็น นายณรงค์ วงศ์วรรณ

ซึ่งนายณรงค์ วงศ์วรรณ ก็เป็น 1 ใน 22 รัฐมนตรี ที่ถูกตรวจสอบว่าร่ำรวยผิดปกติ ส่อเค้าทุจริต ซึ่งเป็นเหตุผลข้อแรกในการยึดอำนาจ แต่ต่อมาก็หลุดข้อกล่าวหา และกลายมาเป็นผู้นำพรรคสามัคคีธรรม ที่อยู่ภายใต้การสนับสนุนของ พล.อ.อ.เกษตร

ทั้งนี้ในเวลาต่อมามีบางฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า มีความจงใจของบางฝ่ายให้นายณรงค์ เกิดเรื่องอื้อฉาว เพื่อจัดฉากให้ พล.อ.สุจินดา สามารถก้าวขึ้นสู่นายกรัฐมนตรีได้อย่างสง่างาม

พล.อ.สุจินดา กล่าวถึงเรื่องนี้ในเวลาต่อมากับ วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหาร เมื่อปี 2543 และตีพิมพ์ในหนังสือเล่มสำคัญคือ บันทึกคำให้การฯ สุจินดา คราประยูร กำเนิดและอวสาน รสช. ว่า “ความจริงคุณณรงค์ วงศ์วรรณ จะเป็นนายกฯ ก็เป็นได้ เราไม่น่าจะไปตื่นเต้นเลย อเมริกันจะขึ้นบัญชีดำ อะไรก็เรื่องของเขา แต่เพราะตอนนั้นมันเป็นเกมของนายทหารบางคน แต่ไม่อยากเปิดเผยชื่อ”

พล.อ.สุจินดา บอกกับวาสนาด้วยว่า ไม่เคยนึกอยากจะเป็นนายกฯ เลย แต่เหตุการณ์มันบีบ

สำหรับ ณรงค์ วงศ์วรรณ แม้จะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็น รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของ พล.อ.สุจินดา นั่นเอง ร่วมกับนักการเมืองอีกหลายคนที่เคยถูก รสช.ยึดทรัพย์ ซึ่ง พล.อ.สุจินดา ชี้แจงว่า นักการเมืองเมื่อได้รับเลือกตั้งจากประชาชนมาแล้วถือว่าประชาชนยอมรับ จะปฏิเสธไม่ให้เขามาเป็นรัฐมนตรีไม่ได้

ส่วนข้อกล่าวหา เรื่องนายณรงค์ พัวพันกับการค้ายาเสพติด ต่อมามีการฟ้องดำเนินคดีกับหนังสือพิมพ์ ฐานหมิ่นประมาทและผิดพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 ต่อศาลจังหวัดแพร่ โดยระบุว่า โจทก์มิได้ค้ายาเสพติด ไม่เคยค้าเฮโรอีน ไม่เคยมีชื่ออยู่ในบัญชีดำของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศออสเตรเลีย และเรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท ที่สุดศาลฎีกาตัดสินให้นายณรงค์ชนะคดี โดยให้จำเลยร่วมกันใช้เงิน 5 ล้านบาท

แหล่งข้อมูล
– บันทึกคำให้การ สุจินดา คราประยูร กำเนิดและอวสาน รสช. โดย วาสนา นาน่วม สนพ.มติชน
– เบื้องลึก เบื้องหลัง พฤษภา 35 ประชาธิปไตยเปื้อนเลือด โดย รุ่งมณี เมฆโสภณ สนพ.บ้านพระอาทิตย์

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า