นาซ่า (NASA) แจ้งเลื่อนภารกิจส่งนักบินอวกาศสู่สถานีนานาชาติจากแผ่นดินอเมริกาครั้งแรกในรอบ 9 ปี ด้วยจรวดและยานอวกาศเอกชน เนื่องจากปัญหาสภาพอากาศ จากกำหนดเดิมที่ปล่อยตัวช่วงเช้ามืดวันที่ 28 พฤษภาคม เวลา 03.33 น. ไปเป็นวันที่ 31 พ.ค.เวลา 02.22 น. (ตามเวลาไทย) ณ ศูนย์อวกาศเคนเนดี รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เช่นเดิม
ก่อนหน้านี้ องค์การบริหารการบินอวกาศแห่งสหรัฐฯ หรือ นาซ่า (์NASA) กับบริษัท SpaceX บริษัทเอกชนด้วยเทคโนโลยีอวกาศของสหรัฐฯ ที่จับมือกันเพื่อร่วมส่งนักบินอวกาศชุดแรกขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ
เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ อธิบายว่า ภารกิจครั้งนี้มีชื่อว่า Demo-2 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Commercial Crew Program มีนักบินอวกาศชาวสหรัฐฯ 2 คน คือ “โรเบิร์ต เบห์นเคิน” และ “ดักลาส เฮอร์ลีย์” ไปกับยาน Crew Dragon ที่ติดบนยอดจรวดฟัลคอน 9 (Falcon 9) และกำหนดปล่อยขึ้นสู่อวกาศในวันนี้ เวลา 03.33 น. (ตามเวลาประเทศไทย) จากฐานปล่อยจรวด 39A ของศูนย์อวกาศเคนเนดี รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา
นักบินอวกาศทั้ง 2 คนนี้จะขึ้นไปปฏิบัติภารกิจต่อในสถานีอวกาศนานาชาติ ร่วมกับทีมนักบินอวกาศชุด Expedition 63 ที่ประจำสถานีอวกาศแห่งนี้อยู่แล้ว คาดว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจและกลับสู่พื้นโลกไว้ว่า ไม่เกินปลายเดือนกันยายน 2563
ภารกิจ Demo-2 จะช่วยปูพื้นฐานให้กับทางบริษัท SpaceX ทดสอบระบบการส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศ ตั้งแต่ฐานยิงจรวด ตัวจรวด ตัวยานบรรทุกนักบินอวกาศ และขีดความสามารถการปฏิบัติภารกิจในโครงการอวกาศ และยังเป็นครั้งแรกที่นักบินอวกาศของทาง NASA จะได้ทดสอบและฝึกใช้งานระบบยานอวกาศภาคเอกชน
Demo-2 เป็นก้าวสำคัญในวงการอวกาศสหรัฐฯ เนื่องจาก การนำนักบินอวกาศขึ้นไปปฏิบัติภารกิจในอวกาศเที่ยวล่าสุดที่ใช้จรวดและยานของสหรัฐฯ เป็นภารกิจ STS-135 ของยานขนส่งอวกาศแอตแลนติส เมื่อเดือน กรกฎาคม 2554 นับเป็นภารกิจครั้งสุดท้ายในการปฏิบัติงานของโครงการยานขนส่งอวกาศ (Space Shuttle) ของสหรัฐฯ ที่มีมาอย่างยาวนานถึง 30 ปี และ “ดักลาส เฮอร์ลีย์” นักบินอวกาศในโครงการ Demo-2 ก็เคยเข้าร่วมภารกิจ STS-135 ด้วย
หลังจากนั้น สหรัฐฯ ต้องร่วมมือกับรัสเซียมากขึ้น จากการใช้ยานอวกาศและจรวดโซยุซ (Soyuz) พานักบินอวกาศชาวสหรัฐฯ ไปปฏิบัติภารกิจในสถานีอวกาศนานาชาติ หากโครงการ Commercial Crew Program สำเร็จ จะทำให้วงการอวกาศสหรัฐฯ พึ่งพาตนเองได้มากขึ้น ลดการพึ่งพาทางรัสเซีย และเพิ่มบทบาทภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการอวกาศของประเทศ อีกทั้งสหรัฐฯ สามารถกลับมาเป็นคู่แข่งของรัสเซีย ในการเป็นตัวเลือกเพื่อพามนุษย์ขึ้นสู่อวกาศ ทั้งจากกลุ่มประเทศในยุโรป เอเชีย หรือแม้แต่การท่องเที่ยวอวกาศ (Space tourism) ของมหาเศรษฐี ที่กำลังผูกขาดโดยรัสเซียในปัจจุบัน
ขอบคุณภาพ: @NASA