ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีและการบริการดิจิทัล เข้ามามีบทบาทในการดำเนินงานเกือบทุกภาคส่วนของภาคธุรกิจ ทุกคนสามารถเข้าถึง และ เลือกใช้เทคโนโลยีจนเปรียบเสมือนอวัยวะชิ้นใหม่ หลายองค์กรเริ่มปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีทดแทนการทำงานเดิมๆ จนเกิดยุค Digital Transformation เพื่อยกระดับธุรกิจในสมรภูมิที่มีตัวเลขเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ
อาจกล่าวได้ว่าธุรกิจที่เกี่ยวกับระบบเทคโนโลยี และบริการดิจิทัล เป็นเครื่องมือสนับสนุนการเติบโตของทุกภาคอุตสาหกรรม ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ, การขยายศักยภาพองค์กร แรงงาน และ การพัฒนาสังคม
กระแสดังกล่าวทำให้ธุรกิจนี้ครองความอินเทรนด์ และสามารถเติบโตสวนทางกับธุรกิจอื่นๆ ที่กำลังอยู่ในช่วงขาลง จากปัจจัยเสี่ยงที่เป็นข้อจำกัดด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อาทิ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากความขัดแย้งที่มีผลต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์ หรือ อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่จะส่งผลต่อความต้องการสินค้าต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ
ข้อมูลจากบทวิเคราะห์ธุรกิจบริการดิจิทัลและซอฟต์แวร์ ศูนย์วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา พบว่า ในช่วงปี 2566-2568 ธุรกิจบริการดิจิทัลจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการเติบโตของผลประกอบการ โดยคาดว่าจะมีการเติบโตต่อเนื่องในอัตราเฉลี่ย 19-20% จากแนวโน้มการทำธุรกรรมของผู้บริโภคที่เน้นความสะดวกสบายและมุ่งสู่ระบบไร้สัมผัสผ่านออนไลน์บน Mobile platform ในช่วง Post-COVID รวมถึงการเร่งลงทุนปรับโครงสร้างองค์กรในภาคธุรกิจที่เน้นขับเคลื่อนมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น
สอดคล้องกับข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ที่ได้ประเมินธุรกิจบริการดิจิทัลของไทยในปี 2566 มีมูลค่าถึง 5.6 แสนล้านบาท หรือ เติบโตกว่า 20% จากการที่ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มพัฒนาเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบด้านบวกต่อภาคธุรกิจ และ พฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้มีการพัฒนาต่อยอดบริการใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองดีมานด์ที่เป็นลักษณะเฉพาะส่วนบุคคล ซึ่งการเติบโตนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับธุรกิจบริการดิจิทัลทั่วโลกเฉลี่ยกว่า 34% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
“สุธี อภิชนรัตนกร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แนท แอบโซลูท เทคโนโลยีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ NAT ผู้เชี่ยวชาญด้าน Infratech ในส่วนงานโครงสร้างระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร บริการด้านเทคโนโลยีครบวงจรแก่องค์กรชั้นนำของประเทศ กล่าวถึง กระแสการปรับตัวขององค์กรต่างๆ ว่า ในยุค Digital Transformation เริ่มมาจากการเก็บข้อมูลและเรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภค นำสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถเข้าถึงได้ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และเป็นหมุดหมายในพัฒนาศักยภาพองค์กรอย่างโดยเร่งด่วน เพื่อให้ทันต่อการแข่งขันในระดับอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยให้การดำเนินงานง่ายขึ้น ทดแทนบุคลากรและความยุ่งยากที่เกิดจากขีดความสามารถของมนุษย์ แต่หากบริษัทขาดความเข้าใจในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีอย่างถ่องแท้ และการมีโครงสร้างระบบที่ไม่แข็งแกร่งพอ อาจจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี
“สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ บริษัทควรศึกษาข้อมูลรอบด้าน ทั้งประโยชน์ของการใช้งาน พร้อมผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในภาคธุรกิจ กลุ่มลูกค้า และ อุตสาหกรรม รวมถึงการพิจารณาระบบการทำงานที่เหมาะสมต่อองค์กร งบประมาณ การพัฒนาบุคลากรเพื่อให้ทันต่อเทคโนโลยี และการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อเสริมสร้างความเสถียรของระบบ รวมถึงการติดตามผลการดำเนินงาน การดูแลรักษาระบบให้มีประสิทธิภาพ และ การปกป้องระบบให้มีความปลอดภัย”
นอกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที และ งานระบบเครือข่ายต่างๆ สิ่งที่จำเป็นถัดมาคือระบบการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบเครือข่าย และการดำเนินธุรกิจด้วยเทคโนโลยีอย่างคาดไม่ถึง
ข้อมูลจาก Statista ซึ่งเป็นผู้จัดทำข้อมูลการจัดอันดับตลาดและผู้บริโภคระดับนานาชาติ คาดการณ์มูลค่าตลาดด้าน Cybersecurity ของประเทศไทยจะมีการเติบโตมากขึ้นถึง 12% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2565-2570) และจะมีมูลค่าราว 518 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2570 แสดงให้เห็นการเติบโตของ Cybersecurity ที่เป็น New S-curve ใหม่ที่น่าจับตามอง และ จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต
การเปลี่ยนผ่านที่รวดเร็วจากยุคเก่าสู่ยุคดิจิทัล ส่งผลให้ธุรกิจและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการให้บริการระบบเทคโนโลยี บริการดิจิทัล และซอฟต์แวร์ต่างเนื้อหอม และมีความต้องการจากอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากมองในภาพรวมตลาดของประเทศไทย บริษัทผู้ให้บริการเทคโนโลยีก็มีอยู่หลากหลาย ตั้งแต่ในระดับสตาร์ทอัพขนาดเล็ก จนไปถึงระดับองค์กรที่ให้บริการเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่อง
“NAT ถือเป็นผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีให้กับลูกค้าองค์กรขนาดกลางจนไปถึงขนาดใหญ่ ครอบคลุมถึงกลุ่มภาครัฐ และ ภาคเอกชน เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์, กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน, กลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทที่มีความต้องการพัฒนาระบบพื้นฐานของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ด้วยการนำเสนอโซลูชั่นทางเทคโนโลยี (Solution Provider) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบและการบริหารงานให้ดียิ่งขึ้น
ปัจจุบัน บริษัทแบ่งการให้บริการออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มธุรกิจให้คำปรึกษา ออกแบบ จัดหา จำหน่ายอุปกรณ์พร้อมติดตั้ง และ รับเหมาวางระบบที่เกี่ยวข้องกับระบบ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology System Integration) 2. ธุรกิจให้บริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Other Services) โดย NAT ได้รับความไว้วางใจให้เป็นพันธมิตรทางธุรกิจขั้นสูงสุดกับบริษัทระดับโลก อาทิ เดลล์ เทคโนโลยีส์ (Dell Technologies)”
สำหรับการแข่งขันในตลาดธุรกิจจำหน่ายและวางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ สิ่งที่ NAT คำนึงถึงไม่ใช่เป็นการแข่งขันทางด้านราคา หากแต่เป็นการให้ความสำคัญด้านการนำเสนอโซลูชั่น ผลิตภัณฑ์ และ อุปกรณ์ที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดระบบสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับองค์กร รวมถึงบริการหลังการขาย และการรักษาความสัมพันธ์ที่ดี จะเป็นสิ่งที่บริษัทไม่เคยมองข้าม เพราะไม่ว่าเทคโนโลยีจะเติบโตไปไกลเท่าไหร่ ความไว้ใจของลูกค้าจะเป็นสิ่งสำคัญอยู่เสมอ