Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ลีลาการบริหาร Bangkok Dance Academy ของ หลอดไฟ-นวินดา วรรธนะโกวินท์ ปัจฉิมสวัสดิ์ ทายาทรุ่นสองที่ปักธงปั่นธุรกิจให้ยั่งยืนและยืนระยะในใจนักเต้นตลอดกาล

 

“ถามคนอายุ 30-40 ทุกคนรู้จัก Bangkok Dance Academy แต่พอถามเด็กรุ่นใหม่ไม่มีใครรู้จัก ถึงได้รู้ว่าเราไม่ได้โด่งดังเหมือนที่เคยเป็น” คุณหลอดไฟ-นวินดา วรรธนะโกวินท์ ปัจฉิมสวัสดิ์ ทายาทรุ่นที่สอง เล่าถึงจุดเปลี่ยนของแนวคิดในการบริหารธุรกิจ จากที่เคยเข้าใจว่า การบริหารโรงเรียนไม่ยากเพราะเป็นสิ่งที่คุ้นเคยตั้งแต่จำความได้ จนกระทั่งได้ลงมาคลุกคลีกับธุรกิจจริงๆ “เหมือนเริ่มจากศูนย์” เธอบอกเช่นนั้น

ย้อนกลับไปในปี 2533 คุณต้อย-วัลลภา ปัจฉิมสวัสดิ์ ตัดสินใจเปิดสถาบันสอนเต้นบัลเลต์ Bangkok Dance Academy และเป็นโรงเรียนสอนเต้นแห่งแรกของประเทศไทยที่เลือกปักหมุดในห้าง เพราะต้องการให้การเรียนเต้นเข้าถึงคนทุกชนชั้น

จนถึงวันนี้ Bangkok Dance Academy มีสาขาอยู่ในห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด 9 สาขา ตลอด 34 ปี ได้บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ สร้างสรรค์บุคลากรด้านการเต้นที่มีคุณภาพทัดเทียมระดับโลกให้กับวงการมากมาย

อ่านมาถึงบรรทัดนี้อาจคิดไปว่าการรับไม้ต่อจากผู้ก่อตั้งที่ได้ปูรากฐานธุรกิจไว้อย่างมั่นคงคงไม่ใช่เรื่องยาก แต่คุณหลอดไฟบอกว่า “ยุคนี้การทำโรงเรียนสอนเต้นท้าทายกว่ายุคแรก เพราะคู่แข่งเยอะ” 

ยุคเปลี่ยน เกมเปลี่ยน

ในช่วงเริ่มต้น Bangkok Dance Academy ถือเป็นธุรกิจที่อยู่ในน่านน้ำ Blue Ocean คู่แข่งน้อยสวนทางกับความต้องการที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเดิมเกมของคุณวัลลภาที่หวังจะทำให้ศิลปะการเต้นเข้าถึงคนทุกชนชั้น นอกจากจะยอมเสียค่าเช่าที่สูงเพื่อพาตัวเองมาอยู่ในพื้นที่ห้างให้คนเห็นและเข้าถึงได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังนำศาสตร์การเต้นที่หลากหลายมาสอน อาทิ แจ๊ส สตรีทแดนซ์ แท็ป จนทำให้ Bangkok Dance Academy ได้รับความสนใจและโด่งดังชนิดที่ว่าถ้าจะเรียนที่นี่ต้องต่อรอคิวถึง 2 ปี

“พอยุคเปลี่ยนมันกลายเป็นคนละเกมอย่างชัดเจน อย่างแรกคือมุมมองของคนที่มีต่อการเต้นเปลี่ยนไป พอกระแส Pop Culture เทรนด์เกาหลี รวมถึงความสำเร็จของเด็กไทยบนเวทีโลกทำให้วงการมันโตขึ้น ผู้ปกครองเริ่มเห็นลู่ทางอาชีพที่มั่นคง ถือเป็นเรื่องดีสำหรับวงการ แต่สิ่งที่ตามมาคือ คู่แข่งเพิ่มขึ้น นักเรียนของเราออกไปเปิดโรงเรียนเองก็เยอะ ซึ่งด่านที่ยากสุดคือเราเกือบหลงอยู่ในความสำเร็จเดิมๆ”

เธอเล่าว่า ราวๆ 8-9 ปี หลังสำเร็จการศึกษาศิลปบัณฑิต สาขาศิลปะการเต้นจาก Victorian College of the Arts and Melbourne Conservatorium of Music, The University of Melbourne ประเทศออสเตรเลีย เธอตัดสินใจกลับมาเมืองไทย แม้จะยังไม่ได้เข้ามารับไม้ต่อเต็มตัว แต่ก็เริ่มศึกษาตลาดจนพบความจริงว่า Bangkok Dance Academy ไม่ได้โด่งดังเหมือนที่เคยเป็น

“เวลาถามคนอายุ 30-40 ทุกคนรู้จัก Bangkok Dance Academy แต่พอถามเด็กรุ่นใหม่ไม่มีใครรู้จัก ยิ่งพอทำรีเสิร์ชจริงจังว่าเรามีตัวตนแค่ไหนในวงการเต้น มันไม่ได้เยอะเหมือนที่คิด เหมือนโดนตบหน้า และมันเป็นจังหวะที่เทรนด์การเต้นเปลี่ยนไป คนเต้นเพื่อไปเป็นศิลปินแต่ไม่พูดถึงการเต้นคลาสสิก เหมือนธุรกิจกำลังโดนจู่โจมด้วยกระแสที่ต้านไม่ได้ แต่เราก็ต้องปรับตัวโดยที่ยังรักษาตัวตนของโรงเรียนที่เน้นเรื่องเทคนิคพื้นฐาน เด็กอยากเรียนเต้น K-Pop ก็ต้องเก่งแบบรู้เทคนิคพื้นฐานนะ”

“ช่วงนั้นเราเริ่มทำการตลาดจริงจัง เริ่มจากการสื่อสารให้คนยุคใหม่รู้ว่าเราเป็นใคร จุดเด่นคืออะไร มีบุคลากรที่มีชื่อเสียงคนไหนบ้างที่จบจากที่นี่ ไปพร้อมๆ กับตอกย้ำภาพลักษณ์โรงเรียนสอนเต้นที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคการเต้น” 

บริหารธุรกิจภายใต้หมวกศิลปิน

“แม่ไม่เคยบังคับว่าต้องเรียนเต้นเพื่อกลับมาบริหารโรงเรียน แต่โรงเรียนแห่งนี้เป็นสิ่งที่คุณแม่สร้างมาและท่านก็สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพมากมายในวงการ ถ้าเราไม่กลับมารับไม้ต่อมันดูเห็นแก่ตัวเกินไป จึงตัดสินใจกลับมา”

ช่วงแรกเธอทำงานในฐานะอาจารย์สอน Creative Movement และ Contemporary Dance รวมถึงดูแลงานด้านอีเวนต์ต่างๆ เป็นการต่อยอดจากสิ่งที่รุ่นบุกเบิกเคยทำไว้ ช่วง 2-3 ปี นี้เธอปรับเข็มทิศใหม่ ลดบทบาทการเป็นครูและหันมาทุ่มเทกับการบริหารธุรกิจมากขึ้น

“การบริหารธุรกิจเริ่มจากศูนย์เพราะไม่ได้เรียนบริหารมา เคยคิดว่าไม่ยากเพราะรู้ว่าอะไรคือจุดอ่อน จุดแข็งของโรงเรียน แต่ด้วยความเป็นศิลปินมันก็ยากที่จะหาบาลานซ์ แต่ข้อดีของการเป็นศิลปินก็นำมาปรับใช้ได้ ชัดเจนที่สุดคือเวลาทำโปรเจกต์การแสดงหรือจัดเวทีการแข่งขัน ทุกงานหลอดไฟจะเป็นโปรดิวเซอร์เอง โครโรกราฟเอง ทำให้งานและการแสดงโดดเด่นกว่าคนอื่น เพราะมีความครีเอทีฟมากกว่า กลมกล่อมกว่า”

“อีกสิ่งหนึ่งที่มันช่วยได้คือ ทักษะการคุยกับคน โรงเรียนสอนเต้นมันเป็นธุรกิจที่มีเรื่องความรู้สึกมาเกี่ยวข้องเยอะ ทุกคนมีความเป็นศิลปินในตัว จึงต้องมีความเข้าอกเข้าใจคนที่อยู่รอบตัวว่าเขาต้องการอะไร จะสื่อสารกับนักเรียน ครู ผู้ปกครอง ต้องพูดแบบไหน เราจะสวมหมวกศิลปินเพื่อจัดการกับพาร์ทนี้ แต่ถ้าเป็นเรื่องตัวเลขการเงินของบริษัทจะให้น้องสาวดูแล เพราะเขาจบมาทางด้านบริหาร” 

เดินเกมแบบทายาทรุ่นสอง ตัดสิ่งเก่า ต่อยอดสิ่งดี สร้างสิ่งใหม่ 

ตลอด 2 ปีที่เธอสวมหมวกนักบริหารทำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า อะไรคือสิ่งที่ต้องต่อยอดให้ดียิ่งขึ้น อะไรควรโละ และสิ่งที่จะสร้างใหม่ในยุคของเธอคืออะไร

“เรื่องที่ต้องปรับแน่ๆ คือระบบบัญชีหรืองานเอกสารที่ยังใช้กระดาษ เอาทุกอย่างเข้าสู่ดิจิทัลทั้งหมด การทำการตลาดก็ต้องปรับ ถึงเราจะสู้ด้วยคุณภาพแต่การตลาดแบบปากต่อปากอย่างเดียวไม่พอ เราต้องพูดในมุมของเราให้คนได้เห็นว่าเราคือโรงเรียนสอนเต้นที่ให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรและจุดเด่นมีอะไรบ้าง”

“มีหลายเรื่องที่คุณแม่วางรากฐานไว้อย่างดีมากๆ โดยเฉพาะแก่นของความเป็น Bangkok Dance Academy ทั้งระบบการสอนและพันธกิจการสร้างคนผ่านการเต้น”

หลักสูตร Commonwealth Society of Teachers of Dancing (CSTD) จากประเทศออสเตรเลีย ที่ปัจจุบันมีโรงเรียนสอนเต้นในไทยกว่า 60 แห่งที่ใช้หลักสูตรนี้มี Bangkok Dance Academy เป็นโรงเรียนแรกที่นำเข้ามาใช้

“เมื่อก่อนเราก็ใช้หลักสูตร Royal Academy of Dance ซึ่งเป็นหลักสูตรสำหรับการเรียนการสอนบัลเลต์อย่างเดียว แต่ศาสตร์การเต้นมันมีมากกว่านั้น ช่วงที่กำลังตัดสินใจว่าจะนำหลักสูตร CSTD มาใช้แทนหรือไม่ ก็มีเคสหนึ่งซึ่งเป็นนักเรียนของเราทางอังกฤษตัดสิทธิ์สอบเพราะเขาไม่มีแขน พอถามทาง CSTD ปรากฏว่าเขาให้สอบ คุณแม่จึงตัดสินใจนำหลักสูตรนี้เข้ามาเพราะเชื่อว่าโลกการเต้นมันต้องกว้างขึ้นและเปิดโอกาสให้ทุกคนอย่างเท่าเทียม หลังจากที่เราใช้หลักสูตรนี้อยู่ประมาณ 15 ปี ก็เปิดแพร่หลายให้ทุกโรงเรียนที่สนใจนำไปใช้ ให้เขารู้ว่าการเต้นไม่ได้มีแค่บัลเลต์ ทุกคนเลยเต้นได้หลากหลายขึ้น เพราะแม่ไม่ได้มองแค่การเติบโตของโรงเรียนแต่มองทั้งประเทศ” 

หรือโครงการโซโลอีสต์ (Soloist) ที่คุณวัลลภาตั้งขึ้น โดยคัดเลือกเด็กที่มีศักยภาพในการเต้นและมุ่งมั่นในเส้นทางนี้ เพิ่มชั่วโมงเรียนบัลเลต์เป็น 20 ชั่วโมงต่ออาทิตย์

“ในฐานะที่เราเป็นโรงเรียนสอนเต้นแบบคลาสสิก จึงให้ความสำคัญกับการฝึกฝนเชิงเทคนิค โดยเฉพาะพื้นฐานของการเต้น ย่อยังไง ยืดยังไง ศิลปินและนักเต้นที่เก่งๆ ล้วนต้องเรียนเทคนิคพื้นฐานด้วยกันทั้งนั้น ยิ่งถ้าคุณต้องการจะเดินทางสายนี้มันมีอะไรที่ต้องเรียนรู้อีกมาก”

Bangkok Dance Academy ยังเป็นโรงเรียนสอนเต้นแรกๆ ที่เปิดโอกาสให้เด็กทุกคนได้แสดงบนเวทีจริงและเฟ้นหาเวทีการแข่งขันเพื่อขัดเกลาทักษะที่หาไม่ได้ในห้องเรียน

“ทุกปี Bangkok Dance Academy จะจัดการแสดงใหญ่การกุศล เราต้องการสร้างเวทีให้นักเรียนทุกคน การขึ้นเวทีคือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ฝึกการปรับตัว การทำงานกับผู้อื่น ในขณะที่การแข่งขัน มันคือเกมการเรียนรู้ จะรู้แพ้ รู้ชนะ พอเด็กได้แข่งทุกปี ลงแข่งในหลายประเภท เขาเริ่มรู้แล้วว่าจะควบคุมสถานการณ์ตรงหน้ายังไง จัดการความตื่นเต้นอย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นทักษะที่หาไม่ได้จากในห้องเรียน”

นอกจากนั้นทางสถาบันยังมอบทุนให้นักเรียนไปทำงานและแสดงร่วมกับคณะ QL2 Dance Inc. ซึ่งเป็นคณะคอนเทมโพรารี่ที่ฝึกให้เด็กมีส่วนร่วมในการออกแบบท่าเต้น คิด และเสนอไอเดียว่าอยากจะสื่อสารอะไร เป็นระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งทุนดังกล่าวดำเนินการต่อเนื่องมากว่า 20 ปี คุณหลอดไฟบอกว่าเป็นโปรเจกต์ที่สถาบันภูมิใจและจะทำต่อเนื่องอย่างแน่นอน

“หลอดไฟเองก็เคยไปโครงการนี้และมันทำให้เราเข้าใจว่า Contemporary Dance หรือการเต้นร่วมสมัย มันคือการเคลื่อนไหวที่เน้นให้ผู้เรียนดึงความคิดความรู้สึกออกมาสร้างสรรค์เป็นท่าเต้น เราชอบวิธีคิดแบบนี้และรู้สึกว่ามันจะช่วยให้เด็กของเราพัฒนาไปได้ไกลกว่าการเป็นนักเต้นที่เก่งเทคนิค เรามองไปถึงว่าแนวคิดแบบนี้เป็นสิ่งที่เด็กไทยต้องการ ทุกวันนี้ยังมีเด็กที่ไม่กล้าคิดต่าง ไม่กล้าถาม ถ้าคุณตั้งคำถาม คุณผิด ถ้าคุณไม่เดินตามมาตรฐานสังคม คุณผิด มันกำลังหล่อหลอมให้เด็กเชื่อว่า แตกต่างไม่ได้ ถ้าคิดแบบนั้นประเทศก็จะไม่สนุก การที่เราเสริม Contemporary Dance เข้าไป มันเป็นการท้าทายให้เด็กคิดนอกกรอบ ให้เขากล้าสื่อสารและเป็นตัวของตัวเอง แต่ยังอยู่ในความเคารพกับศิลปะการเต้น นี่เป็นสิ่งที่เราจะเสริมเข้าไปในโรงเรียนและวงการการเต้น”

ส่วนเรื่องการขยายสาขาคุณหลอดไฟบอกว่า ยังไม่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้แน่นอน “ตอนนี้คงจะโฟกัสไปที่การพัฒนาองค์รวมของโรงเรียน ทำให้เป็นพื้นที่เปิดมากขึ้น หาจุดศูนย์รวมในแบบของเราเพื่อให้เติบโตไปพร้อมกันทั้งวงการ เหมือนยุคที่คุณแม่นำหลักสูตรเข้ามาใช้ร่วมกัน หรือหาเวทีการแข่งขันเพื่อยกระดับมาตรฐานให้กับวงการ หลอดไฟก็คงจะมองแนวทางที่มันครีเอทีฟมากขึ้น ให้เด็กได้มีโอกาสคิดเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น”

ภาพความสำเร็จของ ‘Bangkok Dance Academy’ ต่อจากนี้

“คุณแม่เคยพูดว่า รู้ใช่ไหมว่าทำโรงเรียนเต้นมันไม่รวยนะ ตอนนั้นไม่เข้าใจเพราะเราก็อยู่มาได้ตั้ง 30 กว่าปี แต่พอเข้ามาจับธุรกิจจริงจังถึงเข้าใจว่าธุรกิจนี้มันไม่น่าจะรวยได้ ต้องหาลู่ทางในการเพิ่มคุณค่าควบคู่ไปกับสิ่งที่อยากจะทำต่อเพื่อพัฒนาเด็ก ในยุคของแม่กำไรคือ การสร้างบุคลากร สร้างเยาวชนที่เก่งและเติบโตในสังคม แต่ยุคของเราอาจมองเรื่องการทำธุรกิจมันไปต่อได้อย่างยั่งยืน กำไรไม่ต้องมากแค่ให้สามารถทำสิ่งนี้ต่อไปได้”

Bangkok Dance Academy มีตัวตนความเป็นคุณแม่ชัดเจนมากๆ อยู่แล้ว ตัวหลอดไฟเองเคารพและตื่นเต้นมากว่าแม่สร้างสิ่งนี้ขึ้นมาได้อย่างไรที่อิมแพคคนทั้งประเทศในด้านการเต้นได้ขนาดนี้ ถึงแนวทางการบริหารจะเปลี่ยนไปบ้างแต่อัตลักษณ์ยังอยู่ ความตั้งใจในการพัฒนาคนอย่างลึกซึ้งมันจะคงอยู่ตลอดไป ทักษะที่ได้จากการเต้น ทักษะความเป็นผู้นำ นักแก้ปัญหา ความมั่นใจ เขาจะสามารถนำไปใช้ได้ตลอดชีวิตไม่ว่าจะทำงานด้านไหน กล้าพูดได้เลยว่านักเรียนที่จบไปกว่า 80% จะเป็น Someone ในสังคมแน่นอน เพราะเขาได้รับการขัดเกลา ทุกคนจะพบสิ่งที่ตัวเองถนัดและทำได้ดี” 

เชื่อหรือไม่? ศิลปะการแสดงของไทยจะกลายเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ทำได้ แต่คนไทยต้องกล้ากว่านี้ คนไทยเทคนิคดี แต่ขาดความคิดสร้างสรรค์ ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้เรายังวิ่งตามคนอื่น เราเรียนการเต้นแบบยุโรป หลักสูตรก็เอามาจากเขา อย่างทุกวันนี้วงการบันเทิงก็มีกลิ่นอายความเป็นเกาหลี ทั้งๆ ที่เรามีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นมาก แต่อาจจะยังไม่กล้าลอง ปัจจัยภายนอกก็มีส่วน ถ้ารัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญช่วยกันผลักดัน มีเม็ดเงินสนับสนุน เหมือนที่เกาหลีสร้าง K-Pop เชื่อว่าคนไทยพัฒนาได้อีกไกล”

“แต่การจะพัฒนาวงการเต้นไม่ใช่แค่เรื่องของหลักสูตรมันต้องพัฒนา Ecosystem มองง่ายๆ ทุกวันนี้ธุรกิจโรงเรียนยังเป็นธุรกิจต่างคนต่างทำ แต่แอบมองกันอยู่ห่างๆ ยังไม่เหมือนธุรกิจแนวอื่นที่หลายองค์กรจับมือกันเพื่อหาแนวทางสร้างการเติบโตทั้งวงการ นี่ก็เป็นเป้าหมายและความหวังหนึ่งของเราด้วยที่อยากจะเห็นทุกคนในวงการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยกันยกระดับวงการและสร้างนักเต้นของไทยให้โดดเด่นบนเวทีโลกได้” คุณหลอดไฟ กล่าวทิ้งท้าย

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า