SHARE

คัดลอกแล้ว

ในขณะที่ทั่วโลกกำลังลุ้นผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่นายโจ ไบเดนทำคะแนนนำอยู่ มีหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า นายไบเดนน่าจะมีแต้มต่อมากกว่าประธานาธิบดีทรัมป์ เพราะเป็นไปได้ที่เขาจะมีคณะผู้เลือกตั้งแตะ 270 คนพอดีจากการเก็บคะแนนที่รัฐเนวาดาที่ยังนับคะแนนไม่เสร็จ

แต่นายโจ ไบเดนจะไม่สามารถอุ่นใจได้เลย ถ้าเขาไม่ได้ 1 เสียงที่มาจากรัฐสีแดงอย่างเนบราสกา ซึ่งมีระบบคำนวณคณะผู้เลือกตั้งแตกต่างจากรัฐส่วนใหญ่ของประเทศ วันนี้ workpointTODAY จะอธิบายให้อ่านกันว่า ทำไม 1 เสียงจากรัฐเนบราสกาถึงมีความสำคัญขนาดนั้น

1️⃣ ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในขณะที่ workpointTODAY เขียนโพสต์นี้ นายโจ ไบเดนมีคะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งทั่วประเทศอยู่ในมือ 264 คะแนน ขาดอีก 6 คะแนน นายไบเดนก็จะเป็นว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไป

2️⃣ 6 คะแนนที่นายไบเดนต้องการถูกจับตาว่าน่าจะได้จากรัฐเนวาดา ซึ่งตอนนี้นายไบเดนมีคะแนนนำอยู่ แต่ยังไม่ประกาศผลอย่างเป็นทางการ

3️⃣ หากวิเคราะห์จากสถานการณ์นี้ เท่ากับว่านายไบเดนไม่ต้องลุ้นรัฐอื่นที่กำลังสูสี ไม่ว่าจะเป็นรัฐจอร์เจีย เพนซิลเวเนีย หรือนอร์ธ แคโรไลนา เพราะถึงอย่างไร นายไบเดนก็มีคะแนนแตะ 270 เสียง เป็นว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไปแล้ว

4️⃣ นายไบเดนจะไม่ได้รับชัยชนะง่ายดายขนาดนี้ ถ้าเขาไม่พลิกไปมีชัยชนะที่รัฐแอริโซนา วิสคอนซิน และมิชิแกน ซึ่งเมื่อ 4 ปีที่แล้วทั้ง 3 รัฐนี้เลือกประธานาธิบดีทรัมป์

ขณะเดียวกัน นายไบเดนจะต้องลุ้นหนักกว่านี้ หากเขาไม่ได้ 1 เสียงจากรัฐเนบราสกา ซึ่งมีจำนวนคณะผู้เลือกตั้ง 5 คนและเป็นฐานที่มั่นของพรรครีพับลิกันมาโดยตลอด แต่ด้วยลักษณะพิเศษของรัฐเนบราสกาที่ไม่ได้ใช้หลักการที่เรียกว่า Winner Takes All ทำให้มี 1 เสียงพลิกมาเป็นของเดโมแครต เติมเต็มให้นายไบเดนมีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งถึง 270 คนได้

5️⃣ ในการเลือกตั้งสหรัฐฯ รัฐเกือบทั้งหมดใช้หลักการ Winner Takes All ในการคำนวณจำนวนคณะผู้เลือกตั้ง อธิบายให้เข้าใจง่ายคือ ถ้าผู้มีสิทธิ์ในรัฐนั้นๆ เลือกพรรคไหนมากกว่า พรรคนั้นก็จะได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งไปทั้งหมด ไม่ว่าผลที่ออกมาจะชนะถล่มทลาย หรือทิ้งห่างคู่แข่งแค่นิดเดียว

ยกตัวอย่างรัฐวิสคอนซิน ซึ่งมีจำนวนคณะผู้เลือกตั้ง 10 คน ในการเลือกตั้งครั้งนี้ นายโจ ไบเดนทำคะแนนในรัฐวิสคอนซิน ชนะนายโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ถึง 30,000 คะแนน หรือชนะแค่ 0.6% แต่นายไบเดนก็ถือว่าชนะ และกวาดคณะผู้เลือกตั้งทั้ง 10 คนของรัฐวิสคอนซินไปทั้งหมดเลย

6️⃣ แต่ไม่ใช่ทุกรัฐที่ใช้หลักการนี้ มีอยู่ 2 รัฐในสหรัฐฯ คือรัฐเมน ซึ่งมีจำนวนคณะผู้เลือกตั้ง 4 คน และรัฐเนบราสกา มีคณะผู้เลือกตั้ง 5 คน ใช้การคำนวณคณะผู้เลือกตั้งแตกต่างออกไป

ทั้งสองรัฐนี้ใช้หลักที่เรียกว่า split electoral votes ทำให้ผลการเลือกตั้งของทั้งสองรัฐนี้ มีโอกาสที่จะไม่ได้เทไปพรรคใดพรรคหนึ่ง

โดยหลักการ split electoral votes ที่รัฐเมนและเนบราสกาใช้ มีวิธีคำนวณดังต่อไปนี้
◼️ คณะผู้เลือกตั้ง 2 คน มาจากผลการเลือกตั้งรวมทั้งรัฐ แบบเดียวกับหลักการ Winner Takes All
◼️ คณะผู้เลือกตั้งที่เหลือ (รัฐเมน 2 คน / รัฐเนบราสกา 3 คน) จะมาจากคะแนนนิยมในแต่ละเขตที่มีการแบ่งเอาไว้

7️⃣ รัฐเมนเริ่มใช้หลักการนี้ตั้งแต่ปี 1969 โดยให้เหตุผลว่าการแบ่งเขตจะช่วยสะท้อนความต้องการของประชาชนได้มากขึ้น ขณะที่รัฐเนบราสกาบังคับใช้หลัก split electoral votes ในการเลือกตั้งเมื่อปี 1992 หลังมีนักการเมืองท้องถิ่นรณรงค์ให้รัฐเนบราสกาใช้หลักการนี้ตามรัฐเมน หวังให้ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มาสนใจรัฐเนบราสกามากขึ้น จากเดิมที่ทุกคนประเมินว่า รัฐนี้ต้องเป็นของพรรครีพับลิกันจึงไม่มีใครให้ความสำคัญ

การแบ่งคณะผู้เลือกตั้งตามเขตในรัฐเนบราสกา ทำให้ทั้งสองพรรคการเมืองสนใจมากขึ้นจริงตามคาด โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้ แม้ทั้งนายโจ ไบเดน และนายโดนัลด์ ทรัมป์ จะไม่ได้มาหาเสียงด้วยตัวเอง แต่นายโจ ไบเดนส่งภรรยามาหาเสียง เช่นเดียวกับฝ่ายประธานาธิบดีทรัมป์ที่ส่งลูกชายมาขอคะแนนจากรัฐเนบราสกา โดยเฉพาะในเขตเลือกตั้งที่ 2 ของรัฐเนบราสกาที่มีผลการเลือกตั้งไม่แน่นอน

8️⃣ สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ เขตเลือกตั้งที่ 2 ของรัฐเนบราสกา ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เมืองโอมาฮาและพื้นที่ใกล้เคียง เทคะแนนให้กับนายโจ ไบเดนและพรรคเดโมแครต ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่เขตเลือกตั้งนี้ลงคะแนนสวนความนิยมของรัฐเนบราสกาที่เลือกพรรครีพับลิกัน

โดยในครั้งแรกเกิดขึ้นในการเลือกตั้งปี 2008 เขตเลือกตั้งที่ 2 ของรัฐเนบราสกา เคยเลือกนายบารัค โอบามามาแล้ว ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 44 ปี ที่พรรคเดโมแครตได้คะแนนจากรัฐเนบราสกา ซึ่งถูกมองว่าเป็นรัฐสีแดง อย่างไรก็ตามเมื่อ 4 ปีที่แล้วเขตเลือกตั้งที่ 2 นี้เลือกประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก่อนที่การเลือกตั้งครั้งนี้จะพลิกไปเลือกนายไบเดน

9️⃣ หากไม่มี 1 เสียงจากรัฐเนบราสกา เส้นทางสู่ทำเนียบขาวของนายโจ ไบเดนจะยิ่งเหนื่อยขึ้น เพราะถ้าใช้เกณฑ์เดิมคือนับรัฐเนวาดาให้เป็นของโจ ไบเดน เท่ากับว่าเขาจะมีคะแนนในมือ 269 เสียง ไม่ถึง 270 เสียง ไม่สามารถประกาศชัยชนะได้ ต้องลุ้นอีกอย่างน้อย 1 รัฐที่ตอนนี้ส่วนใหญ่มีคะแนนสูสี

ขณะที่ผลการเลือกตั้งรวมทั้งรัฐเนบราสกา ประธานาธิบดีทรัมป์มีคะแนนนำนายโจ ไบเดนกว่า 180,000 คะแนน หรือคิดเป็นเกือบ 20% ทีเดียว ซึ่งที่ผ่านมานักการเมืองจากพรรครีพับลิกันจะพยายามแก้กฎหมายให้รัฐเนบราสกากลับไปใช้หลักการ Winner Takes All เหมือนรัฐส่วนใหญ่ แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า