SHARE

คัดลอกแล้ว

เร็วๆ นี้หลายคนคงมีโมเมนท์ขนลุกซู่กับวินาทีประวัติศาสตร์ ขณะที่ยานนิวเชพเพิร์ดทะยานพุ่งสู่ห้วงอวกาศ แน่นอนว่าชื่อของมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลกที่ร่วมการเดินทางอย่าง เจฟ เบโซส คงเป็นชื่อที่ไม่มีใครไม่รู้จักในนาทีนี้ (ถ้ายังไม่คุ้นหูแนะนำให้ฟังเพลงเบโซส โดย โบ เบิร์นแฮม ดู) และถ้าพูดถึงการท่องอวกาศแล้ว คงไม่มีใครมองข้ามชื่อของ อีลอน มัสก์ ชายผู้มั่งคั่งที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก (และอันดับ 1 ช่วงสั้นๆ ตอนเบโซสขึ้นยานไปนอกโลก)

มหาเศรษฐีเหล่านี้คือผู้กำหนดทิศทางเศรษฐกิจ การลงทุน และไลฟ์สไตล์ของคนสมัยนี้

แต่เพื่อเลี่ยงความจำเจ วันนี้เราลองเปลี่ยนบรรยากาศจากยุค 5G มาแต่งชุดย้อนยุค นั่งไทม์แมชชีน กลับไปเมื่อ 114 ปีที่แล้ว สมัยสหรัฐอเมริกาเริ่มตั้งไข่ทางเศรษฐกิจ ก่อนจะพัฒนาแบบก้าวกระโดดสู่ประเทศที่มีอิสระทางการเงินด้วยจีดีพีสูงที่สุด เส้นทางในการพัฒนานี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่เต็มไปด้วยอุปสรรคสุดหินที่ทำให้เศรษฐกิจประเทศหวิดล้มละลายหลายต่อหลายครั้ง

โชคยังดีของอเมริกาที่ยังมีเศรษฐีคนหนึ่งคอยปั๊มหัวใจกู้สัญญาณชีพให้ประเทศพ้นโคม่าจากวิกฤติการเงินครั้งประวัติศาสตร์ หากพร้อมไปเจอเขาแล้วล่ะก็ คาดเข็มขัดและเกาะไทม์แมชชีนให้มั่น เรากำลังจะเจาะเวลาย้อนอดีตไปส่องแผนกู้วิกฤติระดับชาติของราชาแห่งวอลสตรีท: จอห์น เพียร์พอนต์ มอร์แกน

“จักรพรรดิแห่งวงการการเงิน”
“นโปเลียนแห่งอเมริกา”
“ซีซาร์แห่งวอลสตรีท”

ล้วนเป็นสมญานามของหนึ่งในนักการเงินที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์อย่าง ‘จอห์น เพียร์พอนต์ มอร์แกน’ หรือ ‘เจ. พี. มอร์แกน’ พูดมาถึงตรงนี้หลายคนคงพอจะรู้แล้วว่าบุคคลนี้คือเจ้าของธนาคารทรงอิทธิพลที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในสหรัฐอย่าง ‘เจพีมอร์แกนเชส’ นั่นเอง

ไทม์แมชชีนของเราลงจอดพอดิบพอดีในปี 1907 ในห้วงเวลาที่สหรัฐกำลังอยู่ในช่วงที่ผู้คนรายได้น้อยแสวงหาความร่ำรวยในยุคตื่นทอง แต่มอร์แกนโชคดีที่เขามาเกิดในครอบครัวผู้ดีเก่าหรือพวก old money และด้วยความที่มีโอกาสเรียนรู้จากนักการเงินชั้นยอดรอบตัว เขาจึงได้อัปเลเวลพัฒนาความสามารถเรื่อยมา จนชื่อของเขาเป็นที่รู้จักในแวดวงวอลสตรีท

ตอนนั้นสหรัฐอยู่ใน ‘ยุคที่ฉาบด้วยทอง’ ซึ่งเป็นคำนิยามถึงสังคมที่เติบโตรวดเร็ว แม้ภายนอกจะดูสวยหรู แต่ทว่าภายในกลับซ่อนความข้นแค้นและช่องว่างทางสังคม สภาพสังคมและเศรษฐกิจแบบนี้คือปุ๋ยชั้นดีที่เร่งให้ความโลภที่ถูกกดไว้ภายในจิตใต้สำนึกงอกงาม

ในปีนั้น ‘นายธนาคารตระกูลไฮส์’ ร่วมมือกันเก็งกำไร โดยเอาหุ้นของธนาคารไปวางเพื่อกู้เงิน แล้วนำเงินที่ได้ไปซื้อหุ้นธนาคารอื่นเป็นทอดๆ ทำให้นายธนาคารกลุ่มนี้มีอำนาจควบคุมธนาคารหลายแห่ง และพวกเขายังปั่นหุ้นและราคาบริษัทเหมืองทองแดง ‘ยูไนเต็ดคอปเปอร์’ โดยเงินที่นำเงินฝากของประชาชนไปเก็งกำไร

นายธนาคารกลุ่มนี้วางแผนว่า เมื่อหุ้นส่วนใหญ่ของยูไนเต็ดคอปเปอร์อยู่ในมือของพวกเขาอยู่แล้ว พวกเขาจะควบคุมตลาดโดยการบีบสถานะชอร์ตผ่านการกว้านซื้อหุ้นที่เหลือให้มากที่สุด หลังจากนั้นพวกเขาจะบีบให้ผู้ยืมหุ้นคืนหุ้นที่ยืมไป โดยคาดว่าราคาหุ้นจะดีดตัวสูงขึ้นจากการกว้านซื้อ อีกทั้งผู้ยืมหุ้นจะหาหุ้นมาคืนไม่ได้ และจะต้องซมซานมาหาพวกเขา เมื่อถึงเวลานั้นจะตั้งราคาหุ้นเท่าไรก็ได้

หากเป็นไปตามที่พวกไฮส์คาด เรื่องคงจบที่พวกเขานอนตีพุงบนกองเงินสบายใจเฉิบ แต่พวกเขาอ่านตลาดผิดอย่างจัง! ผู้ยืมหุ้นเกิดหาหุ้นเหมืองทองแดงจำนวนมากได้จากแหล่งอื่นอย่างไม่คาดฝัน ส่งผลให้หุ้นเหมืองทองแดงดิ่งลงเหว ผู้คนแตกตื่น แห่ถอนเงินธนาคารที่เกี่ยวข้องจนเงินหมด เมื่อหาเงินมาคืนผู้ฝากไม่ได้ เหล่าพนักงานธนาคารต้องรับบทหมีสล็อต นับแบงค์อย่างช้าๆ ทีละใบ ทีละใบ จนคิวหน้าธนาคารยาวหลายกิโล

เหตุการณ์นี้กลายเป็นวิกฤติการเงินที่ส่งผลกระทบเป็นโดมิโน ธนาคารเจ๊งเป็นแถบ ตลาดหุ้นบางแห่งต้องปิดตัว วิกฤติสาหัสครั้งนี้ มีอัศวินขี่ม้าขาวเข้ามารับบทพระเอก ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากมอร์แกน

เขายื่นมือช่วยเหลือให้เงินกู้แก่ทรัสต์แห่งอเมริกาและตลาดหลักทรัพย์เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง แต่วิกฤติดูจะไม่จบลงง่ายๆ เมื่อมัวร์แอนด์สไล หนึ่งในบริษัทนายหน้าที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์อยู่ในภาวะเสี่ยงล้มละลาย และถ้าบริษัทนี้ล้ม หุ้นของบริษัท TC&I ที่เป็นหลักประกันก็ต้องดิ่งลงเหวไปด้วย

มอร์แกนได้เชิญนักการเงินผู้ทรงอิทธิพลร่วม 50 ชีวิตมาหาทางออกที่ห้องสมุดส่วนตัวของเขา ความวัวยังไม่ทันหาย ความกังวลเรื่องบริษัททรัสต์แห่งอเมริกาก็เข้ามาแทรก เนื่องจากเกิดปัญหาว่าบริษัทอาจไม่สามารถเปิดทำการได้ เพราะฝูงชนแห่มาถอนเงินต่อเนื่องมืดฟ้ามัวดิน

มอร์แกนขอให้ธนาคารและทรัสต์ใหญ่ที่ยังมั่นคง ช่วยลงทุนในกลุ่มคู่แข่งที่ตัวเล็กกว่า เพื่ออุ้มบริษัทเหล่านั้น แต่บริษัททรัสต์หลายเจ้ายังคงอึกอัก

ด้วยลูกบ้าเฉพาะตัวของมอร์แกน เขาจึงจัดการปิดประตูขังนักการเงินทั้งหมดในห้องสมุด เก็บกุญแจไว้กับตัว แล้วไปเล่นไพ่รอจนกว่าจะได้ข้อสรุป

ขณะที่นายธนาคารต่างเหนื่อยล้าสะสมจากการถกเถียง บรรยากาศภายนอกนั้นกลับตรงข้ามอย่างสิ้นเชิง สื่อต่างตั้งแคมป์เพื่อรอฟังผลการเจรจานี้อย่างกระตือรือร้น และในที่สุดเหล่าผู้นำบริษัททรัสต์ก็ตกลงที่จะช่วยออกเงิน 25 ล้านดอลลาร์เพื่ออุ้มบริษัทที่อ่อนแอ ทำให้ธนาคารไม่ต้องล้ม มอร์แกนได้กอบกู้วิกฤติทางการเงินของประเทศไว้ได้ผ่านการทำหน้าที่เป็นทั้งคนกลางไกล่เกลี่ยและโจรลักพาตัวในคราเดียว

ด้าน TC&I ก็ได้บริษัทยูเอสสตีลของมอร์แกนเข้ามาซื้อ อะไรๆ ดูเหมือนจะจบแฮปปี้เอนดิ้ง แต่ปัญหาอยู่ที่ประธานาธิบดีรูสเวลต์ เป็นศัตรูตัวฉกาจของการผูกขาด ดังนั้นหากจะให้รูสเวลต์อนุมัติการควบรวมกิจการของยูเอสสตีลที่มีส่วนแบ่งมาร์เก็ตแชร์ถึง 60% ให้ทันเวลาก่อนตลาดหลักทรัพย์จะเปิดในเช้าวันถัดมา ย่อมเป็นเรื่องยาก ดังนั้นยูเอสสตีลจึงได้ส่งคนนั่งรถไฟด่วนไปเข้าพบประธานาธิบดี

เข็มวินาทีไม่เคยหยุดหมุน เหลือเวลาเพียงชั่วโมงเดียวก่อนตลาดหลักทรัพย์จะเปิด คนจากยูเอสสตีลพยายามวิ่งเต้นทุกวิถีทางจนจัดการประชุมเร่งด่วนกับรูสเวลต์ได้สำเร็จ ด้วยสถานการณ์อันบีบคั้น ประธานาธิบดีจำใจผ่อนปรนให้มีการควบรวมกิจการได้ก่อนที่ตลาดจะเปิด เพื่อช่วยไม่ให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจไปมากกว่านี้

หนังสือพิมพ์ต่างลงข่าวการรับมือกับวิกฤติของมอร์แกน พร้อมกับสถาปนาว่าเขาคือฮีโร่แห่งวอลสตรีทที่ลงดาบฟาดฟันความหายนะทางการเงินได้อย่างไม่มีใครเสมอเหมือน

อย่างไรก็ดีมอร์แกนไม่ใช่กัปตันอเมริกา ถึงเขามีคุโณปการต่อบ้านเมือง แต่บางคนก็บอกว่าเขาทำไปเพราะผลประโยชน์มหาศาล ทั้งจากดีลที่ได้ซื้อ TC&I ไปในราคาไม่สูง และการผ่อนปรนจากกฎหมายห้ามผูกขาดเชอร์แมน

เมื่อเขาเดินลับไปและเสียงเชียร์จากฝูงชนค่อยๆ เงียบลง เสียงกระซิบว่า เจ.พี.มอร์แกน คือเจ้าของสหรัฐอเมริกาตัวจริงผ่านการผูกขาดก็เริ่มจะดังขึ้น

หากใครเคยเล่นบอร์ดเกมส์โมนอโพลี ที่แปลตรงตัวว่าเกมส์แห่งการผูกขาด คงจะคุ้นเคยกับเพนนีแบ็ก ตัวการ์ตูนประจำเกมส์ที่เป็นลุงหนวดขาวใส่หมวก ซึ่งแรงบันดาลใจเบื้องหลังก็คือ เจ.พี. มอร์แกนนั่นเอง

แล้วทำไมมอร์แกนถึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการผูกขาดล่ะ คำตอบคือ เพราะเขาแทบจะเป็นเจ้าของประเทศผ่านการผูกขาดแล้วจริงๆ น่ะสิ โดยรูปแบบการผูกขาดของมอร์แกนนั้นมีลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งเรียกว่า การผูกขาดแบบมอร์แกนไนซ์เซชั่น (Morganization)

ตัวอย่างที่ชัดเจนของการผูกขาดแบบมอร์แกนไนซ์เซชั่น คือ ธุรกิจรถไฟ ที่ในตอนนั้นถือเป็น 60% ของตลาดหลักทรัพย์ โดยมอร์แกนเริ่มจากการกำจัดคู่แข่งด้วยการเทคโอเวอร์บริษัทการรถไฟที่อ่อนแอ โดยใช้วิธีกดราคา จนบริษัทคู่แข่งล้มละลายแล้วเข้าเคลมบริษัทเหล่านั้น

จากนั้นก็ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานในบริษัทให้มั่นคง ทำงบการเงินให้น่าเชื่อถือขึ้น จัดการบริหารหนี้ที่มีโดยการรีไฟแนนซ์ ออกหุ้นใหม่สู่ตลาดเพื่อเพิ่มทุน และต่อมาจึงทำการควบรวมบริษัทเหล่านี้เข้าด้วยกันจนกลายเป็นผู้เล่นใหญ่ที่แข็งแกร่ง ก่อนส่งคนที่เขาเชื่อถือไปนั่งบอร์ดบริหารเพื่อยึดอำนาจเหนือตลาดระยะยาว ด้วยวิธีนี้เองทำให้มอร์แกนเป็นเจ้าของเส้นทางการเดินรถไฟถึง 1 ใน 3 ของประเทศ

หลังเข้าซื้อบริษัทเหล็กอันดับหนึ่งอย่างคาร์เนกี้สตีล เขาใช้มอร์แกนไนซ์เซชั่นเข้ารวบกิจการตั้งแต่แหล่งวัตถุดิบจนถึงผลผลิต เป้าหมายของมอร์แกน คือการก่อตั้งอาณาจักรเหล็กของตนเอง ภายใต้ชื่อ ยูเอสสตีล(US Steel) ซึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ครองส่วนแบ่งตลาด 60-70% นี้ ผลิตทุกอย่างเองทั้งหมด ไล่ตั้งแต่ ตะปู ไปจนถึงยานพาหนะในการขนส่งเหล็ก ทั้งเรือบรรทุกและรถไฟ

แน่นอนว่าการครองตลาดแบบควบหมดเช่นนี้ ส่งผลให้ต้นทุนการขนส่ง ทรัพยากรและแรงงานของยูเอสสตีลมีราคาต่ำกว่าเจ้าอื่นๆ เพราะการผูกขาดฉบับมอร์แกนนั้นเป็นการเป็นการผูกขาดทั้งแนวนอนและแนวตั้งอย่างสมบูรณ์แบบ ไม่น่าแปลกที่ตัวมอร์แกนจะกลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งการผูกขาด

ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะไม่พยายามแทรกแซงการผูกขาดของมอร์แกนเลย คู่ปรับตลอดกาลของมอร์แกน อย่างประธานาธิบดีรูสเวลล์ ได้ประกาศการไต่สวนว่ากิจการรถไฟของมอร์แกนในแง่การละเมิดกฎหมายป้องกันการผูกขาด ทำให้บริษัทกิจการรถไฟนี้ถูกศาลฎีกาสั่งให้แยกกิจการ ถือได้ว่านี่คือหมุดหมายที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเริ่มเอาจริงในการใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาดเป็นครั้งแรก

การแทรกแซงของรัฐครั้งนี้ ทำให้มอร์แกนถึงกับออกปากแช่งให้รูสเวลต์โดนสิงโตงาบตอนไปล่าสัตว์เลยทีเดียว

ถึงมอร์แกนจะคิดๆ แล้วแค้นรัฐบาลสุดขีดสุดฤทธิ์สุดเดช นี่ก็ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่เขาโดนรัฐบาลไต่สวนเรื่องอำนาจที่ล้นฟ้า ในปี 1912 คณะกรรมการพูโจ (Pujo Committee) ไต่สวนมอร์แกนอีกครั้ง

และแม้จะไม่ระคายยักษ์ใหญ่มากนัก แต่การที่ภาครัฐกล้ากระตุกหนวดเสือที่เปรียบเหมือนลาสบอสแห่งวงการ ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีต่ออนาคตของตลาดเสรีสหรัฐ การไต่สวนของคณะกรรมการพูโจนี้เอง ที่ปูทางสู่การก่อตั้งธนาคารกลางสหรัฐ และการเก็บภาษีเงินได้ที่ช่วยลดช่องว่างในสังคม

บทเรียนสำคัญที่คนในยุคนี้อย่างเราได้จากการส่องชีวิตนักธุรกิจชั้นเซียน เจ.พี.มอร์แกน คือได้เรียนรู้วิสัยทัศน์ของคนเก่งที่เก๋าเกมส์ ผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาจนมองออกว่าต้องวางแผนเดินหมากอย่างไรถึงจะแก้เกมส์ได้อย่างแยบยล

ชายคนนี้ไม่เคยจะหยุดกระหายความก้าวหน้า ไม่ว่าแท้จริงแล้วแรงจูงใจของเขาคือเงิน หรือการเป็นเจ้าตลาดที่มีอำนาจผูกขาดสูงสุดก็ตาม แต่แม้เวลาจะล่วงเลยไปกว่าร้อยปี ชื่อของ เจ.พี. มอร์แกน ก็ยังเป็นอมตะบนถนนวอลสตรีทเส้นนี้

อย่างไรก็ดี ในอดีตการผูกขาดตลาดทำได้ไม่ยากนักหากเทียบกับทุกวันนี้ ปัจจุบันรัฐบาลในหลายๆ ประเทศได้มีการตรวจสอบและปราบธุรกิจผูกขาดด้วยยาขนานแรง ทำเอาธุรกิจหลายเจ้าที่กำลังจะอยู่ในขาขึ้นโดนสกัดดาวรุ่งจนเซ

สำหรับประเทศไทย มีข่าวดีในเรื่องการผูกขาดตรงที่ว่าในที่สุดเราก็มีการจัดตั้งคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หรือ กขค. ขึ้นในปี 61 ส่วนข่าวที่น่าหัวเสียสำหรับหลายคน คงไม่พ้นการที่มติเสียงข้างมากอนุญาตให้ยักษ์ใหญ่อย่างซีพีควบรวมกิจการเทสโก้โลตัสในปี 63 โดยไม่ถือว่าเป็นการผูกขาด ทั้งที่การควบรวมนี้มีส่วนแบ่งทางการตลาดในโมเดิร์นเทรดถึง 69.3%

คณะกรรมการเสียงข้างมากที่อนุมัติให้รวมธุรกิจนั้นให้เหตุผลง่ายๆ ว่า การควบรวมเทสโก้ไม่ถือว่าผูกขาดแต่เป็นการ ‘เพิ่มอำนาจตลาด’ เฉยๆ เพราะไม่ได้เป็นผู้ประกอบธุรกิจรายเดียวในตลาด

ปัญหาที่ทำให้คนวิพากษ์วิจารณ์กรณีซีพีควบเทสโก้นี้ มาจากความจริงที่ว่า ในประเทศที่ปกครองแบบประชาธิปไตยในโลกตลาดเสรีปัจจุบัน การที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งจะถือว่าผูกขาดแบบเป๊ะๆ นั้นแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะต่อให้มีคู่แข่งทางการค้าไม่กี่เจ้า แต่ก็ถือว่ามีอยู่บ้าง การจะถือครองเป็นเจ้าตลาดที่ผลิตสินค้าและบริการแต่เพียงผู้เดียวนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก

ถึงอย่างนั้น การที่ซีพีรวมกับเทสโก้ก็ยึดส่วนแบ่งตลาดไปแล้วเกือบ 70% ขณะที่คณะกรรมการเคาะว่าไม่ผูกขาด แต่มีเงื่อนไขให้ปฏิบัติตามบางประการ

มาวิเคราะห์ดูกันดีกว่าว่าเงื่อนไข 7 ข้อของการควบรวมครั้งนี้สมเหตุสมผลเพียงใด

ข้อ 1 ห้ามควบรวมธุรกิจอีกภายในระยะเวลา 3 ปี หากมองในทางปฎิบัติ ไม่น่าจะมีการควบรวมเร็วๆนี้อยู่แล้ว เพราะเพิ่งปิดดีลยักษ์เบอร์นี้ไปหมาดๆ อีกทั้งการควบรวมธุรกิจก็ต้องแจ้ง กขค. ซึ่งถ้าทาง กขค. ไม่เห็นว่าสมควรก็ปัดตกได้อยู่ดี ควรโฟกัสเรื่องควบคุมการขยายสาขาในอนาคตมากกว่า

ข้อ 2 และข้อ 5 เน้นการช่วยเหลือ SMEs โดย กขค. มีแนวทางบังคับให้ซีพีและเทสโก้ซื้อสินค้า SMEs เพิ่มขึ้น ปัจจุบันนี้หากเราเข้า7-11 เราอาจเห็นชั้นวางสินค้าโอท็อปที่โผล่มาอย่างงงๆ มีสินค้าเช่น กระเทียมโทนดอง รังผึ้ง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคนส่วนมากที่เข้าเซเว่นน่าจะอยากได้ฟุตลองไบท์มากกว่ารังผึ้ง ดังนั้นเงื่อนไขนี้อาจไม่ได้ช่วยโอบอุ้มธุรกิจ SME เท่าใดนักเพราะไม่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค

ข้อ 3 ห้ามเทสโก้และซีพีแชร์ข้อมูลด้านการตลาดระหว่างกัน เงื่อนไขนี้เป็นเงื่อนไขที่หลายคนอ่านแล้วเกาหัว เนื่องจากเมื่อสองกิจการควบรวมกันแล้ว มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีความสัมพันธ์ทางนโยบายในฐานะที่เป็นกลุ่มเดียวกัน การที่ กขค.เคาะให้รวมกิจการได้ แต่ห้ามมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลภายในกันนั้น เป็นเรื่องที่ย้อนแย้งกันอยู่ เหมือนกับการห้ามไม่ให้คนเป็นสามีภรรยาแอบคุยกัน อีกทั้งไม่ได้ระบุว่าหากละเมิดแล้วจะมีโทษอย่างไร

ข้อ 4 การคงไว้ซึ่งเงื่อนไขระหว่างผู้ผลิตและผู้จำหน่าย 2 ปี ข้อนี้ต้องทำอยู่แล้ว แต่ประเด็นคือหากหมดระยะเวลา 2 ปีแล้ว ทิศทางที่มีต่อซัพพลายเออร์หลังจากนี้ควรจะเป็นอย่างไร

ข้อ 6 ให้รายงานผลการประกอบธุรกิจเป็นระยะเวลา 3 ปี ข้อนี้ต่อให้ไม่อยู่ในเงื่อนไขก็ต้องปฏิบัติอยู่ดี ไม่มีความจำเป็น

ข้อ 7 ให้ซีพีและเทสโก้เขียนการปฏิบัติทางการค้าที่ดีมาเผยแพร่ต่อประชาชน เงื่อนไขนี้ค่อนข้างหลวม เนื่องจากไม่ได้เป็นข้อบังคับตายตัวว่าหากเขียนแล้วไม่ปฏิบัติตาม จะมีผลกระทบอะไร อีกทั้งการให้เขียนโค้ดออฟคอนดัคเอง ดูจะอิสระไปสักหน่อย

เปรียบง่ายๆ กับการให้เด็กไปเขียนมาว่าจะเป็นเด็กดีได้ ต้องทำตัวอย่างไรบ้าง หากเด็กหญิงเอ เขียนในบันทึกเด็กดีว่า การเป็นเด็กดีคือการรับทำงานกลุ่มเองคนเดียวทั้งหมด โดยไม่เปิดโอกาสให้เด็กคนอื่นแสดงศักยภาพ เพราะเด็กหญิงเอมองว่าเป็นการกระทำที่ดี นั่นก็ไม่ได้แปลว่าการกระทำของหญิงเอนั้นถูกต้อง หรือหากเด็กหญิงเอเขียนแนวทางการเป็นเด็กดีข้ออื่นที่สมเหตุสมผลขึ้นมา เช่น การช่วยแม่เลี้ยงน้อง คุณครูก็ไม่สามารถตรวจสอบได้จริงๆว่าเด็กหญิงเอช่วยแม่เลี้ยงน้องจริงหรือไม่

ทั้งนี้การที่เราวิเคราะห์เงื่อนไขการรวมดีลครั้งนี้ ไม่ได้มีจุดประสงค์จะด้อยค่าคำวินิจฉัยของ กขค. แต่เราตั้งใจชูประเด็นและปัญหาในเงื่อนไขการรวมกิจการ ว่ามีแง่มุมไหนบ้างที่ยังมีความย้อนแย้ง ควรได้รับการปรับปรุงให้แก้ปัญหาได้ถูกจุด เพื่อเพิ่มความโปร่งใสและประโยชน์ต่อผู้บริโภค

เพราะสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือการอนุมัติการควบรวมกิจการกระทบต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายอื่นอย่างแน่นอน เพราะในทางเศรษฐศาสตร์ การลดการแข่งขัน จะทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น คุณภาพและ ปริมาณมีความเป็นไปได้ที่จะลดลง ดังนั้นหากพูดว่าการควบรวมจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ก็คงเป็นเรื่องที่เชื่อได้ยาก

นอกจากนี้ ซีพีก็ถือว่าเป็นองค์กรที่จับธุรกิจในประเทศตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ลักษณะเดียวกับอาณาจักรธุรกิจของมอร์แกน ยกตัวอย่างเช่นเชนอาหาร ซีพีเป็นเจ้าของ ‘เจียไต๋’ ที่ให้ผลผลิตทางการเกษตรด้านพืชพันธุ์ต่างๆ และยังมีโรงเลี้ยงสัตว์ โรงแล่ของตนเอง

นอกจากจะมีกับข้าวพร้อมแล้ว ซีพียังเป็นเจ้าของ ‘ข้าวตราฉัตร’ ที่รับซื้อ – ขายข้าวทั้งในและส่งออกต่างประเทศ พอมีอาหารในมือครบมื้อ ซีพีก็ใช้การขนส่งจากโลจิสติกของตัวเอง กระจายสินค้าปลีกไปยังเซเว่น เทสโก้ และสินค้าส่งไปยังแมคโคร

อย่างไรเสีย เคสนี้เป็นเคสแรกๆ ของ กขค. และมติออกมา 4 ต่อ 3 ซึ่งถือว่าก้ำกึ่ง กรรมการเสียงข้างน้อยเองก็ไม่ได้ทำหน้าที่ด้อยเลยในการนำเสนอเหตุผลที่ไม่เห็นชอบต่อการอนุญาตให้รวมธุรกิจ ในอนาคตนั้นคงเป็นเรื่องที่ดีมากหาก กขค. สามารถปรับปรุง เช่น รับฟังข้อโต้แย้งของผู้บริโภค ผู้ประกอบการรายอื่น และคู่แข่งทางการค้า ซึ่งน่าจะทำให้ กขค. มีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น

ขยับมาส่องสงครามการผูกขาดที่อยู่ในกระแส ณ ขณะนี้บ้าง แม้ว่าจะไม่ใช่หมอลักษณ์ แต่ใครๆ ก็ฟันธงได้ว่าบริษัทมหาอำนาจอย่างแอปเปิ้ลกำลังดวงตก เพราะช่วงนี้โดนนานาบริษัท และรัฐบาลหลายประเทศพร้อมใจกันสอบสวนหรือฟ้องร้องในข้อหาผูกขาดรัวๆ ใครว่าการเป็นเจ้าตลาดและมีชัยชนะเหนือสงครามการผูกขาดจะเป็นเรื่องง่าย

ยิ่งช่วงหลังมานี้หลายๆ ประเทศมีการจับตามองบริษัทเทคยักษ์ใหญ่มากขึ้น ทำให้มีการไล่บี้หลายบริษัทในข้อหาผูกขาดตลาด ซึ่งแน่นอนว่า ‘แอปเปิ้ล’ ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ล่าสุดเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ‘โจ ไบเดน’ ได้ลงนามเพื่อส่งเสริมให้มีการแข่งขันเพิ่มขึ้นในระบบเศรษฐกิจสหรัฐ และเรียกร้องให้กวาดล้างพฤติกรรมต่อต้านการแข่งขันในภาคธุรกิจต่างๆ

โดยไบเดนได้ฟันดาบแรกลงกลางกระหม่อมแอปเปิ้ลพอดิบพอดี ด้วยร่างกฎหมาย Right to Repair ที่ป้องกันไม่ให้ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างแอปเปิ้ล ผูกขาดการซ่อมชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ เป็นการกระจายรายได้สู่ผู้ซ่อมอิสระ ลดภาระค่าซ่อม และลดอำนาจการผูกขาดของบิ๊กเทคด้วย

ในเดือนเมษายน แอปเปิ้ลก็เพิ่งโดนสอบสวนในกรณีผูกขาดการแข่งขันบนแพลตฟอร์มดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ซึ่งการสอบสวนนี้มีการขึ้นให้การของบริษัทผู้พัฒนาแอปสเกลใหญ่ต่างๆ ที่รู้สึกว่าถูกกูเกิ้ลเอาเปรียบ และเข้าข่ายการโดนผูกขาด เนื่องจากแอปและแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งรายใหญ่เช่น สปอตติฟาย ถูกแอปเปิ้ลหักส่วนแบ่งที่สูงมากถึง 30% จากรายได้ โดยที่แอปเปิ้ลเองก็มีแอปเปิ้ลมิวสิคเป็นบริการสตรีมมิ่งเพลงของตัวเอง

ด้วยการลงดาบที่จริงจังต่อการผูกขาดที่แตกต่างจากสมัยทรัมป์ลิบลับ เป็นไปได้ว่าในอนาคตอันใกล้ผู้บริโภคจะมีตัวเลือกในการดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นมากกว่าแค่แอปสโตร์หรือเพลย์สโตร์ นี่คือตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าหากภาครัฐมีมาตราการที่จริงจัง กล้าชนบริษัทใหญ่ ตรวจสอบการทำงานอย่างโปร่งใสให้เห็นเป็นตัวอย่าง ก็ย่อมสามารถควบคุมการผูกขาดได้ ส่งผลให้มีการกระจายรายได้มากขึ้น เป็นแรงผลักดันให้ประเทศพัฒนามากขึ้นด้วย

สุดท้ายแล้วใครที่มีความคิดว่าอยากทำธุรกิจ แต่ยังไม่กล้าเพราะขยาดกับสงครามการผูกขาด ก็ต้องขอบอกเลยว่าอย่าเพิ่งท้อ เพราะในปัจจุบันการทำธุรกิจนั้นสามารถถูกตรวจสอบได้ง่ายกว่าแต่ก่อน และในอนาคตกฎหมายที่ขัดขวางการผูกขาดน่าจะมีความชัดเจนและใช้งานได้จริงมากขึ้น

หากคิดจะทำธุรกิจ ต้องทำใจที่จะเจอการล้มเหลว ความผิดหวังระหว่างทาง แม้แต่ยักษ์ใหญ่อย่างมอร์แกนเองก็มีธุรกิจที่ขาดทุนจนล้มละลายมาแล้วเช่นกัน

ในตอนนั้น เมื่อมอร์แกนมาถึงจุดสูงสุดในการครอบครองอำนาจบนผืนแผ่นดิน เป้าหมายถัดมาของเขาคือน่านน้ำ ดังนั้นหนึ่งในธุรกิจของมอร์แกนคือบริษัทเดินเรือในมหาสมุทรแอตแลนติก ที่เป็นเจ้าของ “เรือที่ไม่มีวันจม” อย่าง ไททานิค ซึ่งเราต่างก็รู้ดีว่าจุดจบของมันเป็นอย่างไร และนั่นก็ทำให้บริษัทเดินเรือของมอร์แกนขาดสภาพคล่อง และไม่สามารถจ่ายหนี้พันธบัตรได้ สุดท้ายก็ต้องล้มละลายไป

แม้แต่ยักษ์ก็มีวันล้ม เช่นเดียวกันกับที่คนธรรมดาที่สามารถประสบความสำเร็จและเปลี่ยนโลกได้ ดังนั้นอย่ากลัวที่จะเริ่ม เพราะทุกอย่างที่ยิ่งใหญ่นั้นมาจากจุดเริ่มต้นเล็กๆเสมอ อย่างที่ปู่มอร์แกนเคยกล่าวไว้ว่า “ก้าวแรกของการไปยังจุดหมายใหม่ คือการตัดสินใจว่าคุณจะไม่อยู่ที่จุดหมายเดิม”

บทความชิ้นนี้เป็นผลงานของ ‘วาสิตา ทัพภะสุต’ จากทีม Founder Fellow ผู้เข้าประกวดการแข่งขันนักข่าวรุ่นใหม่ NEWSGEN by Dtac

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า