SHARE

คัดลอกแล้ว

‘วัยรุ่น’ กับการวิ่งตามความฝันและความสำเร็จมักจะอยู่คู่กันเสมอในภาพจำของใครหลายคน แต่อย่างไรก็ตาม ‘ความฝัน’ และ ‘เส้นชัยที่วัดความสำเร็จ’ ของวัยรุ่นส่วนมากกลับถูกขีดเขียนขึ้นโดยคนอื่น ทั้งพ่อแม่ ญาติพี่น้อง รวมไปถึงค่านิยมของสังคมที่เติบโตมา

แล้วจะแปลกมั้ย? ถ้าวัยรุ่นปัจจุบันไม่คิดที่จะตั้งหมุดหมายชีวิตไปที่ ‘เส้นชัย’ หรือความคาดหวังที่ไม่ใช่ของตนเอง? แถมยังเกิดเทรนด์การใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ที่ความสำเร็จและความร่ำรวยเริ่มถูกมองข้าม ค่านิยมของการทุ่มเททำงานหนักเริ่มหมดไป ใครที่หา Work-Life Balance ได้และมีความสุขกับชีวิตถึงจะเป็นคนเก่ง

เหตุผลเบื้องหลังเทรนด์เหล่านี้คืออะไร? วันนี้ TODAY Bizview จะพาคุณมาวิเคราะห์และลองมองโลกผ่านสายตาของวัยรุ่นสมัยใหม่ไปด้วยกัน

[ ความกดดันแรก : เก้าอี้ดนตรีแห่งความสำเร็จ ]

อายุเท่าไหร่ต้องมีอะไรบ้าง? บ้าน รถ แต่งงาน ยิ่งไปกว่านั้นคือ ต้องรีบรวยก่อนใคร! เป็นเจ้าของกิจการ เป็นนายตัวเอง เราจะเป็นอิสระทางการเงินได้เมื่อไหร่? คุณเคยมีคำถามเหล่านี้อยู่ในหัวหรือไม่?

ไหนจะคำพูดติดปากในสังคม เช่น “เก็บเงินล้านแรก” “อายุน้อยร้อยล้าน” “CEO Mindset” ในขณะเดียวกันกับที่มีหนังสือพัฒนาตัวเองตีพิมพ์กันออกมาไม่หยุดหย่อน และอาชีพ “ไลฟ์โค้ช” ก็ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด จนทำให้เราหลงคิดไปว่า ‘ความสำเร็จเป็นเรื่องปกติ’ แต่คนที่ไม่สำเร็จต่างหากที่เป็นคนไม่ปกติ

ที่กล่าวมาข้างต้นคือบางส่วนในบริบทสังคมที่สะท้อนออกมาจากค่านิยมของชาวเอเชียที่ทำให้เราเผลอเอาคุณค่าของความเป็นคน ไปผูกติดอยู่กับความสำเร็จโดยไม่รู้ตัว

จนทำให้ทั้งวัยรุ่น และแม้แต่วัยอื่นๆ เองก็เริ่มหลงลืมความจริงที่ว่า “เก้าอี้ของคนสำเร็จไม่ได้มีพอสำหรับทุกคน” และโอกาสในความสำเร็จที่เริ่มจากศูนย์ ในยุคข้าวยากหมากแพงก็ริบหรี่เหลือเกิน

การเลือกเส้นทางผิดเพียงครั้งเดียวอาจหมายถึงความล้มเหลวทั้งชีวิต และถูกตราหน้าว่าหมดคุณค่าในสังคมไปได้ จึงไม่แปลกที่มีคนจำนวนมากเลือกเดินทางสายกลาง ไม่ต้องโดดเด่น แต่ก็ใช้ชีวิตไปได้แถมยังมีความสุขอีกด้วย

[ ความกดดันที่สอง : ขยัน อดทน ตั้งใจเรียน ไม่ได้การันตีผลลัพธ์ ]

เมื่อการลงมือทำจากศูนย์เป็นไปได้ยาก ใบปริญญาจึงกลายมาเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่การเลื่อนสถานะทางสังคมได้

ความกดดันจากรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายจึงถาโถมเข้ามาตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งการต้องแบกความสถานะ ‘ฮีโร่ของบ้าน’ ในการพลิกชีวิตที่ติดลบของคนทั้งครอบครัวให้กลับมาบวกได้ จึงเป็นน้ำหนักที่เกินกว่าคนหนึ่งคนจะรับไหว

ต้องผ่านการช่วงชิงเกียรตินิยม และความเป็นที่หนึ่งแทบตาย แต่เมื่อกำลังจะเข้าสู่วัยทำงานก็กลับค้นพบว่า เกรด 4 มันไม่ได้การันตีความสำเร็จใดๆ เลย

ตลาดแรงงานปัจจุบันมีการแข่งขันสูง มีตำแหน่งที่เปิดรับลดลงเกือบ 50% แถมยังต้องการสกิลที่สูงขึ้น โดยคนที่ไม่เคยมีงานทำมาก่อนเลยเมื่อปลายปี 64 กว่าครึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคนที่เรียนจบระดับอุดมศึกษาทั้งสิ้น

แล้วถึงจะหางานทำได้ ก็ไม่ได้ตรงกับทักษะที่เรียนมา อย่างกรณีอาชีพไรเดอร์ก็มีสัดส่วนของคนจบปริญญาตรีอยู่ราว 20% สะท้อนถึงระยะเวลา 4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัย เป็นช่วงเวลาที่เสียไปอย่างสูญเปล่า รวมไปถึงความสำเร็จที่ได้มาในวัยเรียนก็หมดความหมายทันทีเมื่อมาเจอกับชีวิตวัยทำงาน

[ ความกดดันที่สาม : ค่าครองชีพสูง รายได้ไม่สูงตาม ]

หนึ่งชีวิตในปัจจุบันที่ไม่ได้มีมรดกหนุนหลังไว้ ต้องมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยราวๆ 21,000-23,000 บาทต่อเดือน หนำซ้ำผลกระทบจากเงินเฟ้อเอย ราคาพลังงานขึ้นสูงเอย เศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ขั้นต่ำของค่าข้าวและค่าเดินทางต้องปรับตัวขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่รายได้ของคนกลุ่มนี้กลับไม่โตตาม

“ไม่เลือกงานไม่ยากจน” วลีนี้ไม่สามารถใช้ได้กับปัจจุบันอีกต่อไปแล้ว ถึงประหยัดให้ตายก็ไม่มีเงินเหลืออยู่ดี

ถ้าอยากให้รายได้โตตาม ก็ต้องย้ายเข้าไปทำงานในย่านที่ความเจริญกระจุกตัว ยิ่งถ้ามีข้อจำกัดด้านเวลา ก็ยิ่งทำให้โอกาสในการต่อรองกับนายจ้างก็ลดน้อยลงไปอีก รีบคว้าไว้ก็โดนกดค่าจ้าง แต่ถ้าไม่ทำตอนนี้ก็ไม่รู้จะได้งานอีกเมื่อไหร่

ช่วงแรกของงานใหม่ เงินเดือนใหม่ เหมือนชีวิตจะสดใส แต่ถ้าเอาสุขภาพจิตและเวลาชีวิต 3-4 ชั่วโมงต่อวันบนรถสาธารณะมาแลกไม่ไหว ก็ต้องซื้อรถหรือเช่าห้องพักอยู่ใกล้ที่ทำงาน

ส่วนต่างของรายได้กับร่ายจ่ายก็ถูกบีบให้บางเหมือนเดิม ยิ่งเป็นงานในประเภทอาชีพอิสระ ฟรีแลนซ์ เช่นไรเดอร์ ที่ดูเหมือนจะรายได้ดี แต่สุดท้ายเราก็กลับกลายเป็นสินค้าหนึ่ง เนื่องจากธุรกิจสมัยใหม่เน้นที่การลดต้นทุนในทุกด้าน สวัสดิการและความเสี่ยงในชีวิตก็ถูกผลักมาให้เป็นเรื่องส่วนบุคคล

ในปัจจุบันโดยเฉลี่ยแล้ว ประชาชนกว่าครึ่งไม่ว่าจะวัยไหนหาเงินได้แค่ 70-80% ของรายจ่ายเท่านั้น ไม่ว่าจะมองทางไหน ชีวิตก็ดูติดลบตัวแดงอยู่ตลอดเวลา ค่าจ้างต่ำ สวัสดิการต่ำ อำนาจต่อรองต่ำ คุณภาพชีวิตถูกจัดลำดับชั้นตามเงินในกระเป๋า ใครทำงานหาเงินได้เยอะถึงจะสามารถซื้อสิ่งดีๆ ให้กับชีวิตได้

[ แค่ ‘ไม่ตาย’ ก็ถือเป็นรางวัลแล้ว ]

มีเพียง 15% ของคนที่เกิดในครอบครัวระดับล่างของสังคมไทยที่สามารถเลื่อนขั้นสถานะทางสังคมของตนเองได้ คนที่เหลือก็ได้แต่ถูกสั่งให้วิ่งตามความฝันที่สวยงามแต่ว่างเปล่า จนเริ่มหมดแรงแล้วหันมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราจะเครียดกับงานขนาดนี้ไปเพื่ออะไร?” หรือ “คนอื่นไปถึงไหนต่อไหนแล้ว ทำไมเรายังอยู่แค่นี้?”

ยิ่งคำถามเหล่านี้ไม่ได้รับคำตอบที่ดีพอ สุดท้ายพวกเขาก็จะรู้สึกหลงทาง ท้อแท้ และไม่มีแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต เหลือเป้าหมายในชีวิตการทำงานไว้เพียงแค่ “ไม่ตาย” ก็เป็นรางวัลแล้ว

ซึ่งถ้าสิ่งที่กล่าวมาคือสถานการณ์ที่คุณกำลังเผชิญอยู่ คุณไม่ได้กำลังโดดเดี่ยวเพียงลำพัง

กลุ่มวัยรุ่นในประเทศจีนเองก็มีเทรนด์ ‘ป่านล่าน’ (摆烂) หรือที่แปลว่า ‘ปล่อยให้เน่าไป’ ซึ่งเป็นความตลกร้ายต่อสถานการณ์คล้ายๆ ในบ้านเราที่กล่าวมา

เทรนด์นี้เชื่อว่า ‘ชีวิตไม่ได้มีคุณค่าหรือความหมายอะไร’ ให้ชีวิตไปเรื่อยๆ ให้โชคชะตามันพาไป ไม่ทะเยอทะยาน ไม่แคร์เรื่องความไม่สำเร็จ เมื่อเจอสถานการณ์เลวร้ายก็แค่ยอมรับมัน ไม่ต้องพยายามไปเปลี่ยนแปลงอะไร อย่างมากก็แค่โพสต์รูปลงโซเชียลมีเดียและติด #เหนื่อย และ #ช่างมันเถอะ เท่านั้น

ส่วนที่ญี่ปุ่นเองก็มี ‘Satori Generation’ ซึ่งเป็นชื่อเรียกกลุ่มคนที่ “ไม่อยากรวย” เพราะมีนิสัยไม่ชอบความกดดันและไม่อยากรับมือกับความผิดหวัง คนกลุ่มนี้จึงเน้นใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ มากกว่าจะตั้งเป้าหมายในอนาคต

ที่น่าสนใจคือคนกลุ่มนี้ไม่ได้มีความต้องการในการซื้อสิ่งของที่มีราคาสูงเลย ถ้าต้องซื้อรถยนต์หรือบ้านก็ยอมรับได้กับการซื้อในราคาขั้นต่ำเพื่อใช้ในการอยู่รอดเท่านั้น

[ แค่ค่านิยมใหม่ชั่วคราว หรือปัญหาระยะยาวของชาติ ]

อย่างที่เราก็พอคุ้นกันอยู่บ้างว่าชาติตะวันตกมีค่านิยมต่อความสำเร็จที่ตรงกันข้ามกับชาติเอเชีย เอเชียเน้นความพยายาม ขยัน อดทน ความเก่ง ไม่ล้มเหลว

แต่ชาติตะวันตกเน้นที่ความฝัน แรงบันดาลใจ หรือนี่อาจจะเป็นค่านิยมของชาวเอเชียที่กำลังวิวัฒนาการไปจากเดิมก็ได้

สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าเทรนด์เหล่านี้จะเป็นแค่กระแสชั่วคราวหรือไม่ ในส่วนของภาครัฐก็ควรต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบเชิงเศรษฐกิจไว้ด้วย

รวมถึงเราทุกคนในสังคมก็ควรปรับความเข้าใจเพื่อจะสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างลงตัวเช่นกัน

แล้วคุณล่ะ มองทางออกของเรื่องนี้ไว้อย่างไร?

อ้างอิง:

https://prachatai.com/journal/2022/08/100231

https://decode.plus/20220401/

https://thestandard.co/bachelor-degree-job-finding-crisis/

https://www.nationtv.tv/original/378837833

https://waymagazine.org/what-is-the-difference-between-the-old-generation-and-this-generation/

https://voicetv.co.th/read/BJ8qHeIVf

https://thegrowthmaster.com/growth-mindset/rhythm-of-life

https://sumrej.com/why-young-people-dont-buy-car-or-house/

https://brandinside.asia/why-new-gen-no-better-life-than-parents/

https://th.hrnote.asia/recruit/211217-working-experience-gen-z/

https://adecco.co.th/th/knowledge-center/detail/global-workforce-of-the-future-1

https://www.unlockmen.com/quarter-life-crisis/

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า