Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ จัดเสวนาหัวข้อ “New Normal : New Coolture in Digital Age” เกี่ยวกับการสื่อสารผ่านออนไลน์ ทั้งด้านวัฒนธรรม การใช้ชีวิต การสื่อสาร การท่องเที่ยว กีฬา ฯลฯ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมบทบาทของไทยในเวทีโลก ในยุคหลัง COVID-19 โดยมีวิทยากรผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อออนไลน์ ได้แก่ เคน-นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร The Standard, แท็บ – รวิศ หาญอุตสาหะ เจ้าของ Podcast Mission to the Moon, วิศ – วิศรุต สินพงศพร เจ้าของเพจวิเคราะห์บอลจริงจัง และ มิ้นท์ – มณฑล กสานตกุล เจ้าของเพจและช่องยูทูป I Roam Alone

workpointTODAY ได้รวบรวมเรื่องราวแนวคิดการสร้างงานในแฟลตฟอร์มออนไลน์ของวิทยากรที่มีสื่อออนไลน์เป็นของตัวเอง เพื่อเป็นแนวทางสำหรับใครที่กำลังอยากสร้างพื้นที่การสื่อสารของตัวเอง หรืออยากพัฒนาสื่อที่มีอยู่ในดีขึ้น

แท็บ รวิศ หาญอุตสาหะ เจ้าของ Podcast Mission to the Moon เล่าถึงจุดเริ่มต้นก่อนจะเกิดเป็น Mission to the Moon คือเกิดจากช่วงเริ่มธุรกิจศรีจันทร์เมื่อ 5-6 ปีก่อน ที่ต้องการทีมมาร่วมงาน ขณะนั้นใช้วิธีลงประกาศตามเว็บไซต์จัดหางานพบว่าไม่มีคนสมัครเลย จึงพยายามคิดหาทางว่าจะทำอย่างไรที่จะให้ความเชื่อ ความคิดในการทำธุรกิจของเรา ส่งไปถึงคนภายนอกได้มากขึ้นและทำคนที่เชื่อมั่นในเราเข้ามาร่วมงานด้วย แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องเงินทุนโปรโมท จึงใช้วิธีเขียนบล็อก และนำมาโพสต์ลงบนเพจบนเฟซบุ๊ก โดยเริ่มลงสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ตอนนั้นมีคนกดถูกใจอยู่โพสต์ละประมาณ 5-10 คน ซึ่งทำแบบนี้อยู่ 6 เดือนก็ยังไม่มีคนมาสมัครงาน

“ตอนแรกจะเลิกแล้ว แต่มีบรรณาธิการที่เห็บบทความ มาชวนออกหนังสือหนังสือเล่มแรกชื่อ Marketing Everything เป็นบทความเกี่ยวกับการทำการตลาดก็ขายได้ แล้วเป็นที่มาของหนังสือเล่ม 2 คิดจะไปดวงจันทร์แต่ยังอยู่ที่ปากซอย หรือ Mission to the Moon ตามชื่อเพจมีจุดประสงค์เหมือนเดิมคือชวนคนมาร่วมงานกับศรีจันทร์ และมีคนสนใจมาร่วมงานกับเรามาขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดเราติดอันดับ 48 จาก 50 องค์กรที่คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานด้วยมากที่สุด แล้วจากนั้น Mission to the Moon ก็กลายเป็นบริษัทขึ้นมาเมื่อ 10 เดือนที่ผ่านมา เริ่มรับงาน มีลูกค้าเข้า และเราต้องการให้คนที่มี ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 มาร่วมแบ่งปันกัน คอนเทนต์ก็จะเป็นเรื่องการพัฒนาทักษะใหม่ๆ ในยุคนี้ จากเดิมมีแค่การเขียนก็เริ่มเป็นช่อง YouTube” รวิศกล่าว

ส่วน Podcast เริ่มทำมาตั้งแต่ก่อนตั้งบริษัท มีคนทำน้อยๆ คนฟังก็น้อยและตอนที่เริ่มทำก็คือเรากลัวตกยุค เลยตั้งปฏิญาณตัวเองว่าต้องเรียนรู้เรื่องใหม่ทุกวันวันละ 1 เรื่อง และเอาเรื่องนั้นไปเขียนเป็นบทความลงเพจ พบว่าเขียนไม่ไหวจึงหาแนวทางที่ใช้แรงน้อยกว่า ก็เกิดเป็น Podcast ที่ใช้การเล่า กินเวลาน้อยกว่า ทำมานาน 3 ปี รวมๆ ตอนนี้มีกว่า 1,000 ตอน ส่วนช่อง YouTube ก็เทำไม่นาน พบว่ามีอะไรสนุกๆ มากขึ้นพอได้เห็นหน้า

มิ้นท์ – มณฑล กสานตกุล เจ้าของเพจและช่องยูทูป I Roam Alone บอกว่า เริ่มทำ I Roam Alone จากความสนใจของตัวเองในเรื่องการเดินทางตั้งแต่อายุ 23 ปี เป็นช่วงที่เรียนจบปริญญาโท จนถึงตอนี้ก็ทำมาเกือบ 10 ปีแล้ว ตอนนั้นมีความตั้งใจว่าอยากให้การเดินทางเป็นงาน และการจะทำให้มันเป็นงานได้ จริงๆ ก็มีวิธีเยอะมาก เช่น สมัครงานนิตยสารท่องเที่ยว ทำสารคดี เพราะช่วงนั้นอินเทอร์เน็ตยังไม่เร็วและเข้าถึงได้มากเหมือนตอนนี้ ก็เลยเริ่มจากการไปสมัครงานก่อนแต่ไม่มีใครรับ

เลยถอยกลับมาคิดและไปบอกแม่ว่าจะทำโปรเจกต์ขอเวลา 1 ปี เพื่อทำให้การเดินทางท่องเที่ยวกลายเป็นงาน พอแม่อนุญาตก็เขียน Proposal ส่งแม่และแม่อนุญาต เพราะแม่คิดว่าถ้ามันไม่เป็นงานอย่างน้อยก็มีผลงานออกมา อาจจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความทรวงจำของตัวเราเอง ช่วงแรกๆ เลยเริ่มจากนำเรื่องราว ภาพ ที่เดินทาง เขียนลงบล็อกและลงพันทิป

“บทความแรกที่เขียนลงมีคนมาคอมเมนต์ 10 คน ดีใจมาก แล้วเรื่องต่อๆ มาก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แค่นี้ก็รู้สึกโอเคแล้ว การเดินทางครั้งแรกของ I Roam alone คือ ทรานไซบีเรีย ตอนนั้นตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเขียนลงให้ได้ทุกวัน มีทำภาพนิ่ง เขียนลงเว็บไซต์ แล้วลงเฟซบุ๊กไปเรื่อยๆ ถึงคนจะกดไลค์น้อย แต่เราก็เลยเอายอดไลค์นี้ไปขอแม่ว่าจำนวนคนกดไลค์ ขอเป็นจำนวนวันที่ได้เที่ยวได้ไหม เช่น คนกดไลค์ให้ 30 คน มิ้นท์ขอเที่ยวอีก 30 วัน เพราะตอนแรกไม่คิดว่าจะเยอะ และเวลาเดินทางก็คือไปเที่ยวเย็นกลับมาแต่งรูป เขียนบทความส่งให้แม่ตรวจ ส่งให้รุ่นพี่ที่คณะอักษรฯ ตรวจ ทำแบบนี้ทุกวันก็มีแซลมอนติดต่อมาเขียนหนังสือเป็นจุดเริ่มต้นของงานชิ้นแรกที่ได้เงิน และเขียนหนังสือเล่มแรกใช้เวลา 1 ปี เล่มต่อมาก็เดินทางและเขียนอีกใช้เวลาอีก 1 ปี เราก็รู้สึกว่านี่คืองานแล้วแม่ก็เลยให้ทำงานนี้ต่อเราก็เลยไม่ได้เข้าสู่ระบบการทำงานเหมือนคนอื่นเลย” มิ้นท์ เล่า

จากนั้นเมื่อแฟลตฟอร์มเปลี่ยน อินเทอร์เน็ตเร็วขึ้น กระแสวีดิโอเริ่มมา มิ้นท์ต่อสู้กับกระแสมาตลอด เพราะไม่อยากทำวีดิโอ แต่มาวันหนึ่งเริ่มรู้สึกว่าเขียนไปเรื่อยๆ ก็เริ่มเบื่อ เลยลองเปิดใจทำวีดิโอ ซึ่งถือว่าเริ่มช้ากว่าคนอื่น คลิปแรกทำเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เป็นคลิปพากินที่เยาวราช ให้น้องข้างบ้านถ่ายให้ กลับมาตัดเอง พอโพสต์ลงไปคนดูเยอะมากเป็นล้าน ทั้งที่คลิปไม่ได้มีอะไรหวือหวา ซึ่งทำให้ค้นพบว่าสิ่งที่คนดูชอบไม่ใช่การเล่าเรื่องจากภาพที่สวยงาม แต่คนชอบความดิบ ความไม่ต้องเซทอะไร และคนเห็นว่าสิ่งที่เราเจอเป็นอย่างไร อะไรที่ตรงไปตรงมา เห็นอะไรเราเล่าเลย ไม่ต้องแต่งเยอะ คนก็จะชอบ ซึ่งมิ้นท์บอกว่าทุกครั้งที่ถ่ายจะใช้กล้องตัวเล็กๆ เพราะเน้นเล่าเรื่องราวเป็นหลัก ที่สำคัญตอนนี้มีรีวิวการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศที่เห็นภาพสวยๆ เยอะมากแล้ว แต่สิ่งที่คนดูได้จากเพจ I Roam Alone คือความเรียลริตี้ที่เห็นว่าเราคนธรรมดาไปที่นั่นแล้วเป็นอย่างไร ได้เห็นมิ้นท์ตกระกำลำบาก ซึ่งทำให้คนดูรู้สึกใกล้ชิดเหมือนเขาได้ไปกับเราด้วย

วิศรุต สินพงศพร เจ้าของเพจวิเคราะห์บอลจริงจัง เล่าว่า เขาคือพนักงานบริษัทคนหนึ่งที่ลุกมาสร้างคอนเทนต์ของตัวเองโดยที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก งานประจำที่ทำอยู่ตอนนี้คือเป็นนักข่าวที่ workpointTODAY หน้าที่หลักคือเขียนในเรื่องยากๆ ซับซ้อน ให้เข้าใจง่ายสำหรับคนอ่าน นอกจากนี้ก็มีเพจวิเคราะห์บอลจริงจังที่มีคนกดไลค์ก็ประมาณ 200,000 กว่า ซึ่งจะใช้ทักษะการเขียน โดยวิธีการคือเขียนบทความชิ้นละ 13-15 กระดาษ A4 แล้วโพสต์ลงเพจ

สำหรับจุดเริ่มต้นคือ ตอนเรียนอยากเป็นนักข่าวกีฬา พอเรียนจบก็สมัครงานเป็นผู้สื่อข่าวกีฬา และตั้งเป้าหมายไว้ว่าอยากเป็นผู้สื่อข่าวกีฬาที่คนในวงการยอมรับ ตอนนั้นทำงานที่สยามกีฬามีความหวังหนึ่งที่อยากทำคือ การได้เขียนลงหนังสือพิมพ์สตาร์ซอคเกอร์ ที่มีอยู่ 40 หน้า มีพื้นที่ให้คอลัมนิสต์ที่เก่งๆ ทำงานมานานคือเขาจะล็อกไว้แล้ว ซึ่งโอกาสที่จะได้เขียนน้อยมาก เพราะเขาบอกว่าต้องทำงาน 15-20 ปี แต่ตอนนั้นไม่สามารถรอไหวเพราะมีความคิดมากมายที่อยากถ่ายทอด แต่ไม่มีพื้นที่ สุดท้ายจึงหาช่องทางของตัวเองด้วยการเปดเพจชื่อ “วิเคราะห์บอลจริงจัง” ตั้งใจว่าจะเขียนเรื่องกีฬาเข้มข้น

“ตอนแรกที่เปิดเพจ กิจวัตรประจำวันของผม คือ ตื่นตี 5 เขียนบทวิเคราะห์ ใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง และโพสต์ตอนเที่ยง และไปทำงานออฟฟิศบ่ายโมง เลิกงาน 4 ทุ่ม เข้านอนเที่ยงคืน แล้วตื่นตี 5 มาเขียนอีก เป็นแบบนี้มาประมาณ 1 ปี พบว่าคนกดไลค์เพจ 4,000 คน โพสต์หนึ่งคนกดถูกใจ 60-70 คน เราก็มาถามตัวเองว่าเราเหนื่อยขนาดนี้ คุ้มไหมกับยอดไลค์ 4,000 ก็เลยหาวิธีทำให้ยอดไลค์เพิ่มขึ้น อ่านงานของต่างประเทศ พบว่า เรื่องการเขียนที่เราทำอยู่ล้าหลังไปไกลแล้ว คนไม่มีใครอ่าน บทความยาวเป็น 10 หน้ากระดาษ A4 ใครจะอ่าน เขาบอกว่ายุคนี้ต้อง Infographic หรือ คลิปสั้นๆ เราก็มาถามลูกเพจว่าเปลี่ยนแนวดีไหม ทำวีดีโอดีไหม แต่ ลูกเพจบอกว่าเพจแบบนั้นมีเยอะแล้ว แต่การเขียนกีฬาเข้มข้นแบบที่ผมทำมีน้อย เรียกว่าแทบไม่มีเลยด้วยซ้ำในประเทศไทย ก็เห็นว่า 4,000 คนที่เรามีอยู่ คือคนที่ชอบในงานเขียนของเราจริงๆ เลยคิดว่าจะเจาะกลุ่มนี้ ผมเชื่อในทฤษฎี Niche Market แค่เสี้ยวเดียวของคนทั้งหมด ขอแค่เป็นคนที่ชื่นชอบการอ่าน มีใจรักกีฬา แค่นี้ก็พอไม่ต้องสนใจว่าคนจะกดถูกใจเยอะ เรายึดมั่นในสิ่งที่เราทำ จนถึงตอนนี้ในเพจไม่มีวีดิโอเลยสักชิ้นเดียว ปีต่อมายอดเพจก็ขึ้นเป็น 1 แสน 2 แสน เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ เวลามีดรามาเรื่องกีฬา ที่ต้องการคำอธิบาย คนก็จะนึกถึงเรา ผมเชื่อว่าทักษะอย่างเดียวถ้าเราพัฒนามันให้ดีมันก็จะเลี้ยงเราได้ ผมพัฒนาทักษะนี้มาตลอด ตอนนี้พิมพ์หนังสือของตัวเองออกมาแล้ว 4 เล่ม” วิศรุต กล่าว

สำหรับทักษะการเขียนในปัจจุบัน วิศรุตบอกว่ายังสามารถเชื่อมกับทุกอย่างได้ โดยยกตัวอย่าง กรณีธนาคารกสิกรไทยซึ่งติดต่อทางเพจวิเคราะห์บอลจริงจัง เขียนบทวิเคราะห์เปิดดีลจ้าง BLACKPINK มาเป็นพรีเซ็นต์เตอร์ โดยใช้ทักษะความสามารถในแบบของเพจในการอธิบาย ซึ่งเป็นการประชาสัมพันธ์อย่างหนึ่ง หรืองานเขียนวิเคระห์ LINE MAN ควบรวมกับ Wongnai ก็ถือว่าทักษะการเขียนพอจะหล่อเลี้ยงให้เราอยู่ได้

“ปัจจุบันผมไม่ต้องรอเวลา 15-20 ปี ในการไต่เต้า เราไม่ต้องรอคิวจากรุ่นพี่แค่เราหาทักษะที่เราถนัด และเหมาะกับเรา หาแฟลตฟอร์มที่เราถนัด มองกลุ่มเป้าหมายของเราให้ชัด แล้วก็ทำสิ่งนั้นอย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้เรามีตัวตน มีบทบาทในวงการที่เราอยู่ได้เหมือนกัน” วิศรุต กล่าว

นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร The Standard กล่าวว่า เขาเรียนจบเภสัชศาสตร์ แล้วไปทำงานด้านนิตยสาร a day โดยทำงานวงการสิ่งพิมพ์แล้วรู้สึกว่าสิ่งพิมพ์กำลังจะตายและเห็นว่าคนเข้ามาอยู่ในออนไลน์มากขึ้น เราเลยเข้ามาทำความรู้จักกับโลกในอนาคต ซึ่งตอนนี้ The Standard ช่วงแรกเริ่มจากมองในตลาดว่ายังขาดอะไร และอะไรที่จำเป็นต้องมีเพื่อมาคิดว่าเราจะทำคอนเทนต์อะไร และแน่นอนว่าอยากทำคอนเทนต์ที่ดีมีสาระ สร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เริ่มทำการศึกษาด้วยตัวเอง และมองมองเห็น 2 อย่าง คือ ฝั่งซ้ายสุดเป็นรุ่นพี่ที่ทำหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ นิตยสารมาก่อน แล้วลงมาเล่นสนามข่าวออนไลน์ จุดแข็งของเขาคือ มีความน่าเชื่อถือสูงมาก มีนักข่าวลงพื้นที่จริง เขามีประวัติศาสตร์อันยาวนาน แต่สิ่งที่เขายังไม่เล็งเห็นความสำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมมองเห็นให้ความสำคัญมาก คือ ความสร้างสรรค์ แล้วการที่จะให้คนสนใจระหว่างโลกออนไลน์ กับสื่อเก่า ก็ต่างกัน การสื่อสารไม่เหมือนกัน วิธีการไม่เหมือนกัน ส่วนอีกฝั่ง คือ ฝั่งขวาสุด เป็นสื่อใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น อีเจี๊ยบ อีจัน จ่าพิชิต ช่วงนั้นเกิดขึ้นมาเยอะมาก หรือแม้กระทั่งเพจที่เป็นทางการ ซึ่งมองเห็นข้อดี คือ มีความสร้างสรรค์สูง และสร้าง Engagements ให้คนมีจุดเด่นของตัวเองชัดมาก แล้วนำสิ่งที่ค้นพบมาวิเคราะห์ก่อนเปิดสำนักข่าว

“สำหรับตัวเองการจะสร้างสำนักข่าวจริงจัง มันใช้เวลา หมายความว่า ความน่าเชื่อถือก็ต้องสะสม เลยอยากทำอะไรที่อยู่ตรงกลาง ในตอนนั้นยังไม่มีคนทำ เอาความน่าเชื่อถือมาผสมกับความสร้างสรรค์ เป็นสมการใหม่ เราเรียกว่า “Creative News” ข่าวเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งช่วง 6 เดือนแรกล้มลุกคลุกคลานมาก เราใช้ทุนจดทะเบียนเรา 30 ล้านบาท มีพี่ๆ จาก a day มาช่วยกันทำและมีต้นทุนพนักงานอีก 80 คนที่ต้องแบกรับ ช่วงเดือนที่ 2 รายได้เข้ามาแค่ 50,000 บาท ก็เริ่มคิดว่าจะไปรอดไหมในทางนี้ คนจะมาอ่านอะไรที่มีสาระมากๆ ในออนไลน์เหรอ แต่เชื่ออย่างหนึ่งว่าจะมีคนที่ตื่นเช้ามาแล้วไม่ได้อยากอ่านข่าวอาชญากรรม ไม่ได้อยากใบ้หวย ดูดวง ซึ่งหากเป็นต่างประเทศข่าวแบบนี้จริงๆ มันคือข่าวแท็บลอยด์ แต่ของไทยกลับด้านคือกลายเป็นข่าวกระแสหลักที่สื่อทีวีเล่นกันทุกช่อง เราจึงอยากทำข่าวที่เป็นโครงสร้างและเชิงลึก ซึ่งในหลายประเทศมี แต่ข่าวแบบนี้จะอยู่ในไทยค่อนข้างยาก เพราะคนยังเชื่อเรื่องเรตติ้งต้องทำทุกอย่างตามกระแส แต่เราอยากทำให้ต่างออกไป เลยตั้งสำนักข่าวขึ้นมาโดยเจาะกลุ่มคนเมือง ยึดอยู่ 2 คำ ที่คือ Opinion Leader และ Urban young Adult  เราก็เจาะคนเมืองก่อน ซึ่งเป็นคนทำงานทั่วๆ ไป เขาอยากอ่านข่าวที่เป็นเชิงโรงสร้างมากกว่า และเราอยากสื่อสารกับคนที่มีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม เราต้องชัดว่าจะสื่อสารกับใคร เพราะตอนนี้คำว่า Mass จบลงไปแล้ว” นครินทร์ กล่าว

สำหรับ The Standard ใช้เวลาประมาณ 1 ปี ถึงได้เห็นภาพว่าคนก็เริ่มเข้าใจสิ่งที่เพจยึดและลูกค้าเริ่มเข้าใจเรา และในเพจมีคนที่สนใจกลุ่มนี้เยอะ มาถึงตอนนี้เราก็เริ่มขยายเพราะแพลตฟอร์มมีมากขึ้น นครินทร์ บอกว่าโดยส่วนตัวแล้วหลังโควิด โลกการสื่อสารออนไลน์มีความซับซ้อนมากขึ้น โลกมีความแบ่งแยกย่อย คนที่โตมากับยุคออนไลน์เริ่มเติบโตขึ้น และเริ่มจะกลายเป็นกลุ่มหลัก ทั่วโลกเรามีหลายวัฒนธรรม ที่มีกฎหมายไม่เหมือนกัน พฤติกรรมคนไม่เหมือนกัน และเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ Twitter YouTube TikTok ก็คนละแบบ และมันไม่ได้แบ่งกลุ่มตามผู้ใช้ เพราะคนหนึ่งคนยังใช้แต่ละแฟลตฟอร์มในรูปแบบที่แตกต่างกัน

“โจทย์สำคัญของการทำออนไลน์ ต้องเข้าใจธรรมชาติของโลกแฟลตฟอร์มนั้นๆ แล้วปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกับแฟลตพอร์ม อย่าเอาของชิ้นเดียวกัน ไปวางในแฟลตฟอร์มที่แตกต่างกัน มีการทำวิจัยเกี่ยวกับการตลาดออกมาที่บอกว่า การที่คนนำของไปใช้ใหม่ในแฟลตฟอร์มที่แตกต่างกัน มักจะไม่ประสบความสำเร็จ อย่างน้อยคุณควรรีไซเคิลจะทำให้มีมูลค่าสูงขึ้น เราก็พัฒนาไปในทิศทางแบบนี้ และโลกหนึ่งที่เรามองว่าไม่เหมาะกับงานข่าวของ The Standard เลย คือโลกของ TikTok ผมไม่สามารถเต้นแล้วเล่าข่าวได้ และกลุ่มคนใน TikTok ก็ไม่ตรงกับเรา เลยยอมเสียแฟลตฟอร์มนี้ไปแล้วก็ไปลงทุนกับแพลตฟอร์มอื่นแทน ส่วนที่เห็นเป็นกอบเป็นกำมากที่สุดคือ YouTube พฤติกรรมคนใช้งานเหมือนการดูทีวี ตามช่องไหนก็ดูช่องนั้น” เขาเล่า

เมื่อก่อนงานเขียน เราส่งให้บรรณาธิการ ตีพิมพ์แล้วจบ เราไม่เห็นฟีดแบคจากคนดู แต่ปัจจุบันมันเห็นชัดเจนออกมาเป็นตัวเลข ดังนั้นการทำงานของคนทำสื่อใหม่ คือนอกจากจะต้องออกแบบสร้างสรรค์ แล้วยังต้องฟังจากเสียงของคนที่เราสื่อสาร เพื่อนำมาวิเคราะห์ปรับปรุงงานของเราซึ่งต้องทำอย่างต่อเนื่องเพราะเป็นโลกที่ไม่หยุดนิ่ง

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า