ปลัดกระทรวงสาธารณสุขแจงข้อดี กำหนดยาบ้าเกิน 1 เม็ดเป็นผู้ค้า ป้องกันไม่ให้คนเข้าถึงยาเสพติด เผยพรุ่งนี้ (2 ก.พ. 2566) เสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการฯ ส่วนใครจะเป็นผู้ค้าหรือผู้เสพ ให้เป็นดุลยพินิจตำรวจ ย้ำต้องดูทั้งการครอบครองและพฤติการณ์
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ป.ป.ส. ครั้งที่ 1/2566 ที่มีนายวิษณุ เครืองาม เป็นประธาน ว่าในที่ประชุมไม่ได้หารือประเด็นที่กำหนดให้การครอบครองยาบ้าเกิน 1 เม็ดเป็นผู้ค้า แต่นายวิษณุได้มอบหมายให้มาชี้แจงเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนสนใจ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 107 ของประมวลกฎหมายยาเสพติดที่ให้อำนาจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในการออกร่างกฎกระทรวง หลักการ มีอยู่ 2 ส่วน คือ เวลาที่พบผู้มียาเสพติดในครอบครองก็ต้องแยกว่า เป็นผู้เสพ ผู้ใช้ หรือผู้ติด หรือเป็นผู้ที่ค้า ซึ่งผู้ที่ค้าเป็นที่ทราบกันว่าจะมีโทษรุนแรง ตรงนี้กฎหมายกำหนดวิธีการไว้ 2 ส่วน คือ
1. ให้ดูตามจำนวนเม็ด ซึ่งตรงนี้เป็นอำนาจของรมว.สาธารณสุขในการกำหนด
2. คือต้องดูพฤติกรรมประกอบด้วย ซึ่งตรงพฤติกรรมนี้จะเป็นแนวทางที่รมว.ยุติธรรมเป็นคนกำหนด
สำหรับจำนวนเม็ด กฎหมายหลายฉบับเขียนไว้ไม่เป็นตัวเลขเดียวกัน บางกฎหมายเขียน 5 เม็ด บางกฎหมายเขียน 15 เม็ด ซึ่งเมื่อมีร่างประมวลกฎหมายอาญาฉบับใหม่ ต้องมาทบทวนอีกทีว่าเป็นอย่างไร โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้ประชุมคณะกรรมการบำบัดและรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ตั้งแต่เดือน ต.ค. และมีคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ประชุมตั้งแต่เดือน พ.ย.ที่ผ่านมา
และมีประชุมคณะกรรมการด้านการแพทย์ ร่วมกันระหว่างกรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์ มีข้อสรุปที่เห็นตรงกัน ว่า การมียาเสพติด เดิมที่กำหนดไว้ว่ากี่เม็ด ก็เลยทำให้ผู้ค้านำไปเป็นจุดอ่อน บางคนเป็นผู้ค้า พกไป 4 เม็ด ก็อ้างไปว่าเป็นผู้เสพ อย่างนี้เป็นต้น ก็เลยเกิดปัญหา ว่าเราจะกำหนดกี่เม็ด เราก็ไม่สามารถป้องกันหรือควบคุมให้ประชาชนปลอดภัยในยาเสพติดได้ ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นว่า น่าจะกำหนดปริมาณที่ค่อนข้างต่ำ คือ ขณะนี้จะกำหนดไว้เป็น 1 เม็ด โดยพรุ่งนี้จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการของกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้ง
นพ.โอภาส กล่าวว่า ถึงข้อดีของการกำหนดไว้ไม่เกิน 1 เม็ด คือ ทำให้ประชาชนเกิดความระมัดระวัง และเห็นว่า ยาเสพติดนั้นอันตรายและไม่เสพ และอีกข้อคือ ทำให้เราสามารถมีผู้ที่ติดยาเสพติดเข้าสู่การบำบัดรักษาได้ง่ายขึ้น ซึ่งการบำบัดรักษาแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ สีแดง เป็นผู้ที่ติดรุนแรง จะต้องดูแลโดยสถานพยาบาลเฉพาะทาง กลุ่มสีเหลือง เป็นผู้เสพที่มีอาการปานกลาง ในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้เปิดครบทุกจังหวัดแล้ว และกลุ่มผู้เสพที่มีอาการน้อย ที่เรียกว่า ผู้ใช้ จะได้รับการดูแลในศูนย์บำบัดระดับชุมชน
เพราะฉะนั้น การกำหนดยาเสพติดที่เป็นจำนวนน้อย จะทำให้สังคมตระหนักว่า ไม่ควรมียาเสพติดเลย อีกทั้ง เมื่อไปกำหนดว่า มีจำนวนกี่เม็ดทำให้บางคนเข้าใจว่า มีกี่เม็ดก็ได้ ตำรวจไม่จับ ดังนั้นการกำหนดร่างกฎกระทรวงดังกล่าว เพื่อให้สังคมให้ระมัดระวัง และป้องกันไม่ให้เข้าถึงยาเสพติด
ส่วนเรื่องบำบัดรักษา ยืนยันว่า ไม่มีปัญหา และไม่มีผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล เพราะจะกระจายการรักษาผู้ป่วยอาการน้อยไประดับชุมชน
ตำรวจเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจวินิจฉัยว่ามียาบ้าเกิน 1 เม็ด เป็นผู้ค้าหรือผู้เสพ
ส่วนการพิจารณาการเป็นผู้เสพหรือผู้ค้าอยู่ที่ดุลยพินิจของใครนั้น นพ.โอภาส กล่าวว่า ตำรวจจะเป็นผู้พิจารณาว่า จะเป็นผู้เสพหรือผู้ค้า ซึ่งต้องดูทั้งสองส่วน คือจำนวนการครอบครองและพฤติการณ์ ส่วนที่สังคมกังวลว่า จะมีการยัดยาเสพติดนั้น ก็ต้องช่วยกันสอดส่อง และเชื่อว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีวิธีปฏิบัติที่ระมัดระวังอยู่แล้ว
ส่วนความกังวลว่าลดจำนวนเม็ดลง จะทำให้ห้องขังเพียงพอหรือไม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในส่วนกระทรวงสาธารณสุข คำนึงว่า มีจำนวนครอบครองยาเสพติดเท่าไร ถึงจะกระทบกับประชาชนและสังคม ส่วนเมื่อที่ประชุมคณะกรรมการของกระทรวงสาธารณสุขเห็นชอบแล้วนั้น จะเสนอเข้าสู่ประชุมครม.เลยหรือไม่นั้น ขอให้ถามรมว.สาธารณสุข และดูการประชุมในวันพรุ่งนี้ก่อน