SHARE

คัดลอกแล้ว

กรมควบคุมโรค-ปศุสัตว์ ยกระดับการติดตามสถานการณ์โรคไข้หวัดนก เน้นเฝ้าระวังผู้มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกป่วยตาย หลังพบเด็กอายุ 11 ปี เสียชีวิตจากสายพันธุ์ H5N1 ในประเทศกัมพูชา

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขประเทศกัมพูชาออกมายืนยันพบผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนกเป็นรายแรกในรอบ 9 ปีของประเทศกัมพูชา ว่า กรมควบคุมโรคได้ติดตามสถานการณ์การระบาดในประเทศกัมพูชาอย่างใกล้ชิด พบข้อมูลว่า ผู้ป่วยเสียชีวิตจากเชื้อสายพันธุ์ H5N1 1 ราย เป็นเพศหญิง อายุ 11 ปี อาศัยในจังหวัดไพรแวง ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกัมพูชา

เริ่มป่วยวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 เริ่มแรกมีอาการไข้สูง ไอ และเจ็บคอ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลท้องถิ่น มีอาการหายใจติดขัดก่อนถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงพนมเปญและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ขณะที่ข้อมูลย้อนหลังจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546–2557 พบผู้ป่วยจากเชื้อ H5N1 ในประเทศกัมพูชา จำนวน 56 ราย มีผู้เสียชีวิต 37 ราย สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ H5N1 ทั่วโลก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 – 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 พบผู้ติดเชื้อรวม 868 ราย เสียชีวิต 457 ราย ใน 21 ประเทศ โดยเมื่อปี พ.ศ. 2565 พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ H5N1 ทั้งสิ้น 4 ราย (ประเทศสเปน 2 ราย สหรัฐอเมริกา 1 ราย และจีน 1 ราย)

ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2540 โรคไข้หวัดนก H5N1 มีรายงานการติดต่อสู่คนเป็นครั้งแรกที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง

  • ไทยเคยมีผู้ป่วยไข้หวัดนก 25 ราย เสียชีวิต 17 ราย เมื่อปี 2549

จากข้อมูลการเฝ้าระวังของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สถานการณ์ผู้ป่วยไข้หวัดนก H5N1 ในประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อรวม 25 ราย (รายแรกในปี พ.ศ. 2546 และรายสุดท้ายในปี พ.ศ. 2549) มีผู้เสียชีวิต 17 ราย

ปัจจุบันยังไม่พบรายงานผู้ป่วยจากระบบการเฝ้าระวังฯ แต่เรายังคงเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์จากหลาย ๆ ประเทศอย่างใกล้ชิดและกรมควบคุมโรคได้สั่งการให้ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศยกระดับการตรวจคัดกรองโรคในผู้เดินทาง โดยทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่กักกันโรคปศุสัตว์ ที่ด่านกักกันสัตว์ที่บริเวณพรมแดนระหว่างประเทศที่พบการระบาดของไข้หวัดนก

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค

  • ทำความรู้จัก ‘โรคไข้หวัดนก’

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า โรคไข้หวัดนก” เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ (Influenza A) ที่พบในสัตว์ปีก เชื้อมีหลายสายพันธุ์ และบางสายพันธุ์สามารถติดต่อสู่คนได้ เช่น H5 และ H7 สามารถพบเชื้อได้ในสิ่งคัดหลั่งของสัตว์ปีกจากจมูก ปาก ตา และมูลของสัตว์ปีก

ระยะฟักตัวโดยเฉลี่ย 2–5 วัน แต่อาจยาวนานได้ถึง 17 วันหลังได้รับเชื้อ

โรคนี้สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีเชื้อ และจากการสัมผัสอุปกรณ์หรือสิ่งของที่อาจปนเปื้อนเชื้อ

ส่วนใหญ่หากสัตว์ปีกติดเชื้อไวรัสกลุ่มที่ก่อโรครุนแรง (Highly Pathogenic Avian Influenza; HPAI) เช่น เชื้อสายพันธุ์ H5N1 ชนิดรุนแรง อาจทำให้พบสิ่งคัดหลั่งออกมาจำนวนมาก

คนสามารถรับเชื้อผ่านทางการหายใจเอาสิ่งคัดหลั่งที่ฟุ้งกระจายเป็นละอองฝอยในอากาศเข้าไป รวมถึงการนำมือที่สัมผัสเชื้อมาลูบจมูก ตา หรือปาก สำหรับการรายงานการติดต่อระหว่างคนสู่คน พบว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยและอยู่ในวงจำกัดที่สัมผัสกันอย่างใกล้ชิดเท่านั้น

อาการที่พบ ได้แก่ มีไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก ปวดเมื่อยตัว ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หายใจลำบาก และอาจพบอาการท้องเสีย อาเจียน ปวดท้อง หรือชักเกร็งได้ อัตราป่วยตาย ร้อยละ 53 และยังมีอาการอื่น ๆ ที่พบได้ เช่น เยื่อบุตาขาวอักเสบอย่างอ่อน อาการทางเดินหายใจส่วนต้นคล้ายไข้หวัดใหญ่ จนถึงปอดอักเสบเสียชีวิต

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค

คำแนะนำเพื่อลดความเสี่ยงสำหรับประชาชน

1) หากมีอาการไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก หรือผู้ป่วยปอดบวม ให้รีบพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติสัมผัสโรค หรือแจ้งประวัติการเดินทาง

2) หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีอาการป่วยและตาย หากไปที่ตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิต ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ รวมทั้งพื้นผิวที่สัตว์เหล่านั้นอยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค

3)ห้ามนำสัตว์ปีกที่ป่วยตายไปรับประทานหรือให้สัตว์อื่นกิน ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

4) หากต้องสัมผัสกับสัตว์ปีกในระยะที่มีการระบาดในพื้นที่ ให้สวมหน้ากากอนามัย และสวมถุงมือ

5) รับประทานเนื้อไก่และไข่ที่ปรุงสุก

6) ปฏิบัติตามหลักสุขอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ ทุกครั้งหลังการสัมผัสสัตว์ปีกและสิ่งคัดหลั่งของสัตว์ปีกด้วยสบู่และน้ำ และใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า จมูก ตา และปาก หรือหยิบจับอาหารรับประทานด้วยมือเปล่าหลังการสัมผัสสัตว์ปีกหรือสิ่งแวดล้อมที่อาจปนเปื้อนเชื้อ

สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ควรเน้นการเฝ้าระวังผู้ป่วยทางเดินหายใจ โดยหากผู้ป่วยมีอาการทางเดินหายใจรุนแรงควรสอบถามประวัติสัมผัสสัตว์ปีกด้วย และกลุ่มก้อนผู้ป่วยทางเดินหายใจ

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์

  • ปศุสัตว์ ยกระดับเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก ชะลอการนำเข้าสัตว์และซากสัตว์ปีกจากประเทศที่เกิดโรคไข้หวัดนก 

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังโรคสัตว์ปีกตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวด จากที่มีข่าวว่า เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 กระทรวงสาธารณสุขกัมพูชาออกแถลงการณ์ยืนยันการตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกชนิด A สายพันธุ์ H5N1 โดยผู้ป่วยและเสียชีวิตเป็นเด็กหญิงวัย 11 ปี จำนวน 1 ราย โดยกรมปศุสัตว์ได้เตรียมความพร้อมในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคไข้หวัดนกเข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เข้าตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกอย่างใกล้ชิด สุ่มเก็บตัวอย่างสัตว์ปีกในพื้นที่เสี่ยงเช่น พื้นที่ตามแนวชายแดน พื้นที่นกอพยพ พื้นที่นกวางไข่ พื้นที่มีการเลี้ยงสัตว์ปีกหนาแน่น เป็นต้น นอกจากนี้ยังเข้มงวดการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ปีกภายในประเทศ รวมถึงให้ชะลอการนำเข้าสัตว์และซากสัตว์ปีกจากประเทศที่เกิดโรคไข้หวัดนก

สำหรับการเลี้ยงสัตว์ปีกในระบบฟาร์ม ให้เข้มงวดความปลอดภัยทางชีวภาพขั้นสูงสุดเช่น การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในโรงเรือนและบริเวณโดยรอบอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง สัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มต้องรักษาระบบความปลอดภัยภายในฟาร์ม ควบคุมการเข้า-ออกฟาร์ม ให้ฉีดพ่นยานพาหนะทุกคัน เป็นต้น รณรงค์ทำความสะอาดและพ่นยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงต่าง ๆ ตลอดจนผลักดันระบบการเลี้ยงสัตว์ปีกให้เข้าระบบมาตรฐาน GAP หรือ GFM รวมถึงประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายในประเทศ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตลอดจนหน่วยงานระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวต่อว่า เมื่อมีรายงานการพบโรคไข้หวัดนกในประเทศเพื่อนบ้าน กรมปศุสัตว์จึงยกระดับมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคอย่างเข้มงวด พร้อมขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกสังเกตอาการสัตว์อย่างใกล้ชิด หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ อย่านำสัตว์ปีกไปจำหน่ายจ่ายแจก หรือนำไปประกอบอาหารโดยเด็ดขาด ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที เพื่อให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ลงพื้นที่ตรวจสอบและดำเนินมาตรการควบคุมโรคทันที

หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดใกล้บ้าน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ (สคบ.) กรมปศุสัตว์ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ โทร. 063-225-6888 หรือแจ้งผ่าน Application : DLD 4.0 ได้ตลอดเวลา

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า