ไทยยังเผชิญวิกฤติฝุ่น PM 2.5 กทม. เกินค่ามาตรฐาน 70 พื้นที่ ปลัด กทม. ขอความร่วมมือ Work from Home พร้อมสั่งคุมเข้มรถควันดำ แนะประชาชนได้รับผลกระทบปรึกษาปัญหาได้ที่คลินิกมลพิษทางอากาศ
นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามในหนังสือถึงหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร กำชับให้ปฏิบัติตามมาตรการเพื่อควบคุมฝุ่นละอองอย่างเคร่งครัด เพื่อบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพอนามัยของประชาชน จึงให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความเข้มงวดดำเนินมาตรการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2566 ดังนี้
- เข้มงวดตรวจวัด ตรวจจับรถยนต์ควันดำทุกประเภทร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแผนที่กำหนด
- ประสานสถานีตำรวจท้องที่ อำนวยการจราจรและกวดขันห้ามจอดรถในถนนสายหลักสายรองตลอดเวลา
- ขอความร่วมมือทำงานหรือปฏิบัติงานในที่พัก (Work From Home) ใช้รถเท่าที่จำเป็น ไม่ขับ…ช่วยดับเครื่อง
- ประชาสัมพันธ์ประชาชน ให้บำรุงรักษาเครื่องยนต์และลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว
- ควบคุมสถานประกอบกิจการในพื้นที่ ไม่ให้ปล่อยมลพิษอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
- ขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ทำ Big Cleaning บริเวณสถานที่ก่อสร้างและแพลนท์ปูน รวมถึงงดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองจากการก่อสร้างทุกประเภท
- เข้มงวดตรวจตราควบคุมไม่ให้มีการเผาขยะหรือการเผาในที่โล่งทุกประเภท
- ทุกสำนักงานเขตทำ Big Cleaning บริเวณที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่เขต และเพิ่มความถี่ในการล้างและดูดฝุ่นถนน ฉีดล้างต้นไม้ ใบไม้ และทำความสะอาดป้ายรถเมล์อย่างต่อเนื่อง
- ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ พร้อมแนะนำวิธีป้องกันสุขภาพอนามัยจากฝุ่นละออง PM 2.5 ให้กับประชาชนและแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ผ่านช่องทางแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ AIRBKK หากประชาชนเห็นแหล่งกำเนิดมลพิษ สามารถแจ้งเบาะแสผ่านทางแอปพลิเคชัน Traffy Fondue
- ออกหน่วยบริการสาธารณสุขและหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ คลินิกมลพิษทางอากาศดูแลสุขภาพประชาชน
- ดำเนินการตามมาตรการลดฝุ่นละออง PM 2.5 ในโรงเรียนอย่างเคร่งครัด และลดผลกระทบต่อสุขภาพของนักเรียนในโรงเรียน
สำหรับผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจที่มีสาเหตุมาจากฝุ่น PM 2.5 ส่วนใหญ่จะมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หอบหืดเฉียบพลัน หรือหลายอาการร่วมกัน ซึ่งต้องได้รับคำแนะนำและการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ สามารถเข้ารับการปรึกษาได้ที่คลินิกมลพิษทางอากาศ โดยทางคลินิกฯ จะคัดกรองอาการ ให้คำแนะนำและให้การรักษา รวมถึงการซักประวัติเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุและให้ข้อแนะนำในการปรับพฤติกรรมต่างๆ ให้เหมาะสม หากมีอาการรุนแรงสามารถเข้าสู่ระบบการรักษาที่โรงพยาบาลได้ทันที
คลินิกมลพิษทางอากาศ โรงพยาบาลสังกัด กทม. 6 แห่ง เปิดให้บริการในเวลา 8.00-15.00 น. หรือขอรับคำปรึกษาผ่านสายด่วนสุขภาพสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร โทร. 1646 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
- โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ
- โรงพยาบาลกลาง
- โรงพยาบาลตากสิน
- โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
- โรงพยาบาลสิรินธร
- โรงพยาบาลราชพิพัฒน์
ฝุ่น PM2.5 ปกคลุม กทม. 70 พื้นที่
ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร สรุปผลการตรวจวัด PM2.5 วันที่ 9 มี.ค. 2566 เวลา 05.00-07.00 น. ตรวจวัดได้ 56-99 มคก./ลบ.ม. ค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร 69.1 มคก./ลบ.ม. ค่า PM2.5 มีแนวโน้มลดลง แต่ยังคงเกินมาตรฐานทุกพื้นที่ โดยอยู่ในระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ และอยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
ณ เวลา 07.00 น. ตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ได้ 56-96 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) โดยมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับเมื่อวานในช่วงเวลาเดียวกัน และพบว่าเกินมาตรฐาน (มาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) จำนวน 70 พื้นที่
เตือนพายุฤดูร้อน 12-16 มี.ค. 2566
กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือน ฉบับ 1 เรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทย มีผลกระทบในช่วงวันที่ 12 – 14 มี.ค. 2566 เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้
ขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน ประกอบกับคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มี “พายุฤดูร้อน” เกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้
ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายดังกล่าวที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง เกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย