SHARE

คัดลอกแล้ว

อัปเดตสถานการณ์และการปฏิบัติงานกรณีการปนเปื้อนวัสดุกัมมันตรังสี ‘ซีเซียม-137’ ในโรงงานหลอมโลหะ จังหวัดปราจีนบุรี ที่ประชุมคณบดีแพทย์ทั่วประเทศ แจงปริมาณซีเซียม-137 ที่สูญหายส่งผลกระทบต่อสุขภาพน้อย แต่ยังให้เฝ้าระวังเต็มที่ ให้รายงานผู้มีอาการหรือประวัติเข้ากันได้กับการรับรังสี ย้อนหลัง 3 เดือน

กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจในการเฝ้าระวังและตอบสนองกรณีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในพื้นที่เกิดเหตุ จังหวัดปราจีนบุรี

เจ้าหน้าที่ ปส. ได้ตรวจสอบเตาหลอมเหล็กและระบบการจัดการฝุ่นเหล็กมีผลการตรวจสอบ ดังนี้

1) พบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในเตาหลอมโลหะจำนวน 1 เตา จากเตาหลอมทั้งหมด 3 เตา ซึ่งผลการตรวจสอบพบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในระดับต่ำ (ระดับรังสี 0.07- 0.10 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง) ในขณะที่เตาหลอมโลหะหมายเลข 1 และหมายเลข 2 ไม่พบการปนเปื้อนของวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137

2) ไม่พบการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในชิ้นส่วนอุปกรณ์ถ่ายเทน้ำเหล็ก (ระดับรังสี 0.03-0.05 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง)

3) พบการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในระบบการดูดฝุ่น (Dust Filter) และระบบกรองฝุ่น (อัตราปริมาณรังสีเท่ากับ 1.2-1.7 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง) และมีฝุ่นจำนวนหนึ่งที่อยู่ในระบบกรองฝุ่นโลหะปนเปื้อนซีเซียม-137 จากการหลอมโลหะเมื่อวันที่ 18-19 มีนาคม 2566 ซึ่งขณะนี้รอให้ฝุ่นปนเปื้อนดังกล่าวเย็นลงและเตรียมบรรจุลงในถุงขนาดใหญ่ จากนั้นจะนำไปจัดเก็บในอาคารเก็บฝุ่นแดงปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 รวมกับ 24 ถุงที่ตรวจสอบพบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ก่อนหน้านี้

เจ้าหน้าที่ ปส. ได้ทำการตรวจวัดระดับปริมาณรังสีโดยใช้เครื่องสำรวจและระบุชนิดสารกัมมันตรังสีบริเวณหน้าดินในพื้นที่โรงงานพบว่าระดับปริมาณรังสีอยู่ในระดับเท่ากับระดับปริมาณรังสีในธรรมชาติ (0.03 – 0.05 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง) การตรวจวัดปริมาณรังสีรอบในสิ่งแวดล้อม ดำเนินการดังนี้

1. ตรวจวัดระดับปริมาณรังสีโดยใช้เครื่องมือวัดทางรังสีและติดตั้งในรถยนต์ โดยตรวจวัดระดับปริมาณรังสีในพื้นที่โรงงานที่เกิดเหตุ ผลการตรวจสอบพบว่า ระดับรังสีที่ตรวจวัดได้อยู่ในระดับรังสีในธรรมชาติ

2. ตรวจวัดระดับปริมาณรังสีโดยรอบพื้นที่โรงงานที่เกิดเหตุ ผลการตรวจสอบพบว่าระดับรังสีที่ตรวจวัดได้อยู่ในระดับรังสีในธรรมชาติ

3. ตรวจวัดปริมาณรังสีในสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่รอบบริเวณโรงงาน ในรัศมีระยะทางประมาณ 3 กม.

3.1) พื้นที่บริเวณหมู่บ้านโคกกระท้อน ม.10 ต.ลาดตะเคียน อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี

3.2) พื้นที่บริเวณหมู่บ้านซ่ง ม.3 ต.หาดนางแก้ว อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี

3.3) พื้นที่บริเวณบ้านหาดสูง ม.2 ต.หาดนางแก้ว อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี

3.4) พื้นที่บริเวณ อบต.หาดนางแก้ว ต.หาดนางแก้ว อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี

แนวทางการตรวจวัดและประเมินค่า CS-137 ที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย ดังนี้

1. การคัดเลือกผู้เข้ารับการตรวจวัดและประเมินค่าปริมาณรังสีจากภายในร่างกาย โดยพิจารณาจากความเสี่ยงที่ได้รับด้วยการบันทึกข้อมูลรายละเอียดการได้รับรังสี

2. การตรวจวัดและประเมินค่าปริมาณรังสีเบื้องต้น ณ บริเวณจุดเกิดเหตุ แบ่งเป็น

2.1) การตรวจสอบการเปรอะเปื้อนจากภายนอกร่างกาย

2.2) การตรวจวัดรังสีแกมมาด้วยเครื่องวัดรังสีที่อวัยวะแบบเคลื่อนย้ายได้

3. การยืนยันการได้รับรังสี โดยดำเนินการเก็บตัวอย่างจากปัสสาวะของกลุ่มเสี่ยงตามแนวทางการเก็บโดยกำหนดเวลา 24 ชม. แล้วนำมาตรวจวัดที่ห้องปฏิบัติการ ปส. ด้วยเครื่องวัดรังสีแกมมา

4. หากการได้รับรังสีปริมาณสูง ปส. จะประสานงานกับหน่วยงานด้าน Biodose เช่น โรงพยาบาลรามาธิบดี ในการส่งต่อผู้ป่วยและวิเคราะห์ความผิดปกติของเซลล์ร่วมกัน

5. การติดตามผลกระทบที่เกิดจากการได้รับสารรังสีเป็นระยะ

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ตั้งศูนย์ปฏิบัติการซีเซียม-137

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 พร้อมเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวง อว. เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ดร.เอนก เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัด อว. ที่เกี่ยวข้องดูแลความปลอดภัยของประชาชน และดูแลไม่ให้มีการปนเปื้อนของซีเซียมในสิ่งแวดล้อม ทั้งดิน น้ำ อากาศ ดังนี้

1. กำหนดให้ถือเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยขั้นสูง และได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าที่เพื่อดูแลสถานการณ์ในส่วนที่ อว. เกี่ยวข้องในพื้นที่เกิดเหตุ โดยร่วมมือกับจังหวัดและหน่วยงานอื่นอย่างใกล้ชิด

2.กำหนดพื้นที่ปฏิบัติการเป็นวง วงที่ 1 โรงงานที่เกิดเหตุและที่ตรวจพบสารรังสี วงที่ 2 พื้นที่ใกล้เคียงกับโรงงานที่ตรวจพบสารรังสี วงที่ 3 อำเภอและจังหวัดปราจีนบุรี วงที่ 4 พื้นที่อื่นๆ โดยให้แต่ละวงมีมาตรการที่ชัดเจนตามข้อมูลทางวิชาการ

3. ให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ตรวจสอบการปนเปื้อนของกัมมันตรังสีซีเซียมฯ ในสิ่งแวดล้อม ทุกจุดและทุกวงดังกล่าว ทั้งดิน น้ำ อากาศ และให้รายงานผลการตรวจในทันที 

4. ตรวจเช็กเพื่อยืนยันข้อมูลย้อนหลังของจุดตรวจทุกจุดภายในประเทศ และประสานงานกับเครือข่ายต่างประเทศเพื่อตรวจสอบจุดตรวจในต่างประเทศด้วย

นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้มหาวิทยาลัยที่มีโรงเรียนแพทย์เข้าไปช่วยติดตามและดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ที่สำคัญ กระทรวง อว. ยังได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ซึ่งพร้อมประสานข้อมูลและบูรณาการการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

“ตนได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานในสังกัด อว. ต้องช่วยกันเร่งแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าโดยทันที และต้องควบคุมไม่ให้สถานการณ์ขยายออกไป รวมถึงหาวิธีป้องกันเพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก

ศ.พิเศษ ดร.เอนก กล่าวว่า ได้มีการเก็บตัวอย่างน้ำ ดิน ในบริเวณโรงงานโดยรอบมาวิเคราะห์ และไม่พบว่าปนเปื้อน ขณะที่การตรวจวัดระดับรังสีไม่พบการฟุ้งกระจายในอากาศในอาคาร และไม่มีการปนเปื้อนออกมาภายนอก ซึ่งขณะนี้สารกัมมันตรังสีซีเซียมถูกบรรจุในถุงบิ๊กแบ็ก ซึ่งถูกควบคุมและจำกัดพื้นที่แล้ว ส่วนสุขภาพของประชาชน ได้มีการเข้าไปตรวจสอบพนักงานภายในโรงงานกว่า 70 คน ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง โดยได้เก็บปัสสาวะและเลือดเพื่อตรวจหาสารกัมมันตรังสีตามวิธีมาตรฐาน และจากการตรวจสอบประวัติสุขภาพย้อนหลัง 1 เดือนของประชาชนใน จังหวัดปราจีนบุรีจากรายงานของโรงพยาบาลต่างๆ ไม่พบประชาชนรายใดมีอาการสุ่มเสี่ยงว่าเจ็บป่วยจากการได้รับสารกัมมันตรังสี

ที่ประชุมได้เห็นชอบกับแนวทางจัดการปัญหาของคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ การปฏิบัติงานของทางจังหวัดปราจีนบุรี รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 รวมถึงการดูแลความปลอดภัยของประชาชนและดูแลการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมทุกจุดและทุกพื้นที่รัศมีโดยรอบ ทั้งดิน น้ำ อากาศ ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ได้สั่งการเฝ้าระวังอย่างสูงสุด เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับอันตรายจากสารกัมมันตรังสี

ขณะที่นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้รับรายงานจาก นพ.สุรินทร์ สืบซึ้ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข จังหวัดปราจีนบุรี ถึงการตรวจตรวจเลือดคนงานโรงงานถลุงเหล็กที่หลอม

จำนวน 70 คน เพื่อเฝ้าระวังว่าค่าเม็ดเลือดขาว ค่าเกล็ดเลือด ค่าการทำงานของตับและไตเป็นปกติ โดยนัดตรวจซ้ำอีกครั้งในวันที่ 5 เม.ย. 2566 ส่วนการตรวจหาซีเซียมในปัสสาวะโดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ยังต้องรอผลในอีก 2 สัปดาห์

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า