SHARE

คัดลอกแล้ว

ความจริงที่น่ากลัวของอากาศร้อน

‘กรุงเทพฯ’ อาจสูญเสียมหาศาล

ถ้าร้อนขึ้นแค่ 1 องศาเซลเซียส

คนไทยคงคุ้นเคยกับอากาศร้อนไปแล้ว โดยเฉพาะในช่วงเดือน เม.ย. ของทุกปี แต่อากาศร้อนเป็นอันตรายกับเรามากกว่านั้น เพราะจากงานศึกษาล่าสุด ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม ไปจนถึงผลกระทบต่อชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก หากกรุงเทพฯ ร้อนกว่าเดิมแค่ 1 องศาเซลเซียส

นี่เป็นผลที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า มาจากภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ที่ทำให้โลกร้อน และส่งผลให้กรุงเทพฯ ร้อนตามไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งแม้ว่านี่จะเป็นการคาดการณ์ในอีกหลายสิบปีข้างหน้า แต่การออกแบบเมืองตั้งแต่วันนี้ จะเป็นกุญแจสำคัญ รับมือผลร้ายจากกรุงเทพฯ ร้อนได้

[‘ร้อนขึ้น’ และ ‘ร้อนนาน’ ปัญหากรุงเทพฯ ในอนาคต]

รายงานเรื่อง “พลิกโฉมกรุงเทพฯ ให้เย็นสบาย แก้ปัญหาความร้อนเพื่อมหานครที่น่าอยู่” ซึ่งจัดทำโดยธนาคารโลก ร่วมกับกรุงเทพมหานคร ซึ่งเพิ่งเผยแพร่เมื่อปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ศึกษาความร้อนในกรุงเทพฯ อย่างละเอียด

รายงานดังกล่าว เริ่มจากการตั้งหลักจากสถิติในอดีตว่า ระหว่างปี 2503-2543 กรุงเทพฯ มีวันที่อุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียสประมาณ 60-100 วันต่อปี

แต่ในอีกไม่ถึง 100 ปีต่อจากนี้ คือในปี 2643 กรุงเทพฯ อาจเผชิญกับวันที่อุณหภูมิสูงเกิน 35 องศาเซลเซียสเพิ่มขึ้นอีก 153 วันต่อปีในกรณีที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณปานกลาง

เช่นเดียวกับดัชนี WBGT (Wet Bulb Globe Temperature) ซึ่งใช้การคำนวณละเอียด ทั้งการวัดอุณหภูมิ ความชื้น รังสีจากดวงอาทิตย์ หรือรังสีจากพื้นผิวอื่นๆ

หากใช้ดัชนีนี้และใช้อุณหภูมิ 30.5 องศาเซลเซียสเป็นเกณฑ์ กรุงเทพฯ จะร้อนเกินเกณฑ์ถึง 290 วันในปี 2593 หรือในอีก 28 ปีข้างหน้า ถือเป็นแนวโน้มที่ กทม.จะ ‘ร้อนนาน’ กว่าเดิม

ส่วนแนวโน้ม กทม. ร้อนขึ้น การศึกษาฉบับนี้พบว่า ภายในสิ้นศตวรรษนี้ คืออีก 75 ปีข้างหน้า ถ้ามนุษยชาติเผชิญกับภาวะโลกร้อนในระดับปานกลาง กรุงเทพฯ ก็อาจจะร้อนขึ้นถึง 2.5 องศาเซลเซียส

แต่ถ้าภาวะโลกร้อนรุนแรงมาก กรุงเทพฯ อาจเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นไปอีก 4.5 องศาเซลเซียสทีเดียว

แม้การประเมินจะพูดถึง 75 ปีข้างหน้า ซึ่งอาจเทียบเท่ากับช่วงชีวิตของหลายๆ คน แต่ความน่ากังวลก็คือ การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิระหว่างทางก็มีอันตรายไม่แพ้กัน และเป็นอันตรายทั้งต่อเศรษฐกิจ สังคม และอันตรายต่อชีวิตคนกรุงเทพฯ ด้วย

[เสียหายหลายหมื่นล้าน คนตายเพิ่ม เพราะกรุงเทพฯ ร้อน]

ถ้าเราตั้งหลักใหม่ ไม่ต้องร้อนขึ้นถึง 2.5 หรือ 4.5 องศาเซลเซียส ตามการประเมินก่อนหน้านี้ แต่เอาแค่กรุงเทพฯ ร้อนขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะเกิดอะไรขึ้นกับเมืองหลวงแห่งนี้บ้าง

ราคาที่ต้องจ่ายอันดับแรก คือค่าจ้างแรงงานที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น

รายงานของ กทม.และธนาคารโลกให้สถิติในปี 2562 ว่า มีคนทำงานประมาณ 1.3 ล้านคนในกรุงเทพฯ ที่ทำงานกลางแจ้งอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์

หากอุณหภูมิในเมืองเพิ่มขึ้นเพียง 1 องศาเซลเซียส อาจทำให้ผลิตภาพแรงงานลดลงประมาณ 3.4% นำไปสู่การสูญเสียค่าจ้างแรงงานมากกว่า 44,000 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อระบบโครงสร้างพื้นฐานด้วย คือ หากอุณหภูมิในเมืองเพิ่มขึ้นเพียง 1 องศาเซลเซียส อาจทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นราว 17,000 ล้านบาทต่อปี ความร้อนที่รุนแรงยังส่งผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เช่น ถนน ซึ่งต้องได้รับการซ่อมแซมบ่อยขึ้น ส่งผลให้เกิดภาระทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม

การคาดการณ์ที่น่ากลัวยิ่งไปกว่านั้น คือในรายงานชิ้นนี้ประเมินว่า ค่าใช้จ่ายทางสังคมภาพรวม หากอุณหภูมิกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส อาจเท่ากับเราต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายทางสังคมสูงถึง 35,000-52,000 ล้านบาทเลย

และถ้าสถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก สมมุติถ้ากรุงเทพฯ ร้อนขึ้น 2 องศาเซลเซียส จะมีค่าใช้จ่ายทางสังคมที่เพิ่มขึ้นมาถึง 80,500-104,000 ล้านบาททีเดียว

แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คืออุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุก 1 องศาเซลเซียส ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้คนกรุงเทพฯ เสียชีวิตจากอากาศร้อนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

สถิติในปี 2562 พบว่ามีคนในกทม.เสียชีวิต ที่มีความเชื่อมโยงกับอากาศร้อน 421-1,174 คน

แต่ถ้าอากาศในกรุงเทพฯ ร้อนกว่าเดิมแค่ 1 องศาเซลเซียส อาจทำให้คนกรุงเทพฯ ตายสูงขึ้นเป็น 1,248-2,333 คน

และยิ่งกว่านั้น ถ้ากรุงเทพฯ ร้อนขึ้น 2 องศาเซลเซียส จะมีคนกรุงเทพฯ ตายเพราะความร้อนสูงถึง 2,363-3,814 คน

[กลางกรุงร้อนกว่านอกเมือง ภัยร้ายจากป่าคอนกรีต]

กลุ่มเสี่ยงจากกรุงเทพฯ ร้อน หนีไม่พ้นเด็กและผู้สูงอายุ ไปจนถึงผู้มีรายได้น้อย ที่ขาดโอกาสเข้าถึงพื้นที่เย็น และพื้นที่สีเขียว ซึ่งแต่ละเขตในกรุงเทพฯ ร้อนไม่เท่ากันด้วย

งานวิจัยชิ้นนี้ได้ยกแผนที่ 50 เขตของกรุงเทพมหานคร แล้วระบายพื้นที่สีแดงเข้ม-อ่อน ตามเกาะความร้อน ซึ่งเป็นชื่อเรียกปรากฎการณ์ที่พื้นที่เขตเมืองมีอุณหภูมิและมลพิษทางสิ่งแวดล้อมสูงกว่าบริเวณโดยรอบ แล้วพบว่า พื้นที่ใจกลางเมือง มีเกาะความร้อนสูงกว่าพื้นที่รอบนอก

ยกตัวอย่าง เช่น เขตปทุมวัน บางรัก ราชเทวี และพญาไท เป็นพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูงกว่าพื้นที่โดยรอบเฉลี่ยถึง 2.8 องศาเซลเซียส เนื่องจากมีอาคารสูงและพื้นผิวคอนกรีตหนาแน่นที่สะสมความร้อนและระบายออกช้า

ขณะที่เขตรอบนอก เช่น ดอนเมือง สายไหม หนองจอก หรือบางเขน ความรุนแรงของเกาะความร้อนน้อยกว่า ซึ่งก็เป็นเพราะมีพื้นที่โล่งและพื้นที่สีเขียวมากกว่า

แม้ว่าพื้นที่กลางเมือง จะมีคนอยู่อาศัยน้อยกว่าพื้นที่รอบนอก เพราะกลางเมืองเป็นย่านที่ทำงาน ย่านศูนย์กลางเศรษฐกิจ มากกว่าย่านที่อยู่อาศัย

แต่ไม่ใช่ว่าย่านกลางเมืองแบบนี้ ไม่มีคนอยู่เลย กลับกัน พื้นที่กลางเมืองมีสัดส่วนผู้อยู่อาศัยหนาแน่น มากกว่าพื้นที่นอกเมืองอีก คืออยู่กันกระจุกตัว แถมยังมีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวน้อยกว่าพื้นที่นอกเมือง

[แผนรับมือกรุงเทพฯ จากจุดเติมน้ำถึงการออกแบบเมืองใหม่]

แม้ว่ากรุงเทพมหานครจะเริ่มดำเนินมาตรการหลายด้าน เช่น แผนปฏิบัติการรับมือคลื่นความร้อน ระบบแจ้งเตือนระดับความร้อน และโครงการพื้นที่สีเขียว แต่ก็ยังมีโอกาสในการพัฒนาเพิ่มเติม ทั้งด้านการขยายขอบเขตมาตรการ การจัดสรรทรัพยากรเพื่อลดความร้อน และนโยบายระยะยาว

รายงานฉบับนี้เสนอว่า มาตรการระยะสั้น เช่น ระบบแจ้งเตือนความร้อนที่ครอบคลุมมากขึ้น หรือการจัดตั้ง cooling center และจุดบริการน้ำดื่มในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น อาจช่วยลดผลกระทบได้ทันที

ส่วนนโยบายระยะยาว เช่น การขยายโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวและสีน้ำเงิน (Green and Blue Infrastructure) ตลอดจนการบูรณาการประเด็นเกี่ยวกับสภาพอากาศเข้าสู่การวางแผนเมือง การแบ่งโซนที่ดิน การขนส่ง กฎหมาย ข้อบังคับอาคาร และระบบสาธารณสุข

รายงานฉบับนี้ยังเสนอว่า การรับมือกับความร้อนในเมืองจำเป็นต้องมีความต่อเนื่องในการบริหารจัดการ การจัดสรรงบประมาณ และความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน

โดยผู้มีอำนาจตัดสินใจอาจพิจารณาจัดตั้ง “คณะทำงานพิเศษด้านความร้อนในเมือง” เพื่อบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงาน ลดความซ้ำซ้อนภารกิจ และพัฒนาแหล่งเงินทุนที่ยั่งยืน เช่น กองทุนพัฒนาความสามารถในการรับมือความร้อน เพื่อให้โครงการลดความร้อนในเมืองสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่นแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงฝ่ายบริหาร

[หลายเมืองใหญ่ขยับ โมเดลที่ กทม.ต้องตามให้ทัน]

ปัจจุบันหลายเมืองทั่วโลกเริ่มมาตรการลดเมืองร้อนแล้ว เช่นในกรุงปารีสของฝรั่งเศส ที่ออกข้อกำหนดอาคารที่มีโซลาร์เซลล์ แนวต้นไม้สีเขียวเพื่อลดความร้อน ไปจนถึงการกำหนดพื้นที่สีเขียว 50-65% ในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เหมือนเป็นโซนนิ่ง

หรือในเมืองอัห์มดาบาด ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่ร้อนที่สุดของอินเดีย ได้พัฒนาระบบเตือนภัยเป็นสีๆ คือสีเหลือง ถ้าร้อนเกิน 41 องศาเซลเซียส สีส้ม คือร้อนเกิน 43 องศาเซลเซียส และสีแดงคือร้อนเกิน 45 องศาเซลเซียส

อีกตัวอย่างใกล้บ้านเราคือสิงคโปร์ ซึ่งมีตัวอย่างคลาสสิก ตั้งแต่การปลูกต้นไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นยุทธศาสตร์เพื่อควบคุมอุณหภูมิเมือง รวมถึงการทุ่มงบวิจัยเพื่อให้สิงคโปร์เย็นขึ้น ผ่านการสำรวจข้อมูลจากชาวบ้าน การออกแบบอาคาร นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งเซนเซอร์เก็บข้อมูลรายจุดอีกด้วย

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า