Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หลังจากที่สกุลเงินคริปโทเคอร์เรนซี่อย่าง ‘บิตคอยน์’ หรือ ‘อีเทอเรียม’ ได้เข้ามามีบทบาทในโลกทางการเงิน ซึ่งก่อให้เกิดพฤติกรรมใหม่ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การลงทุนในคริปโทฯ แทนการลงทุนรูปแบบเดิมอย่างทองคำ, หุ้น และพันธบัตรต่างๆ

หรือจะเป็นการที่บริษัท ร้านค้าต่างๆ เปิดรับชำระค่าสินค้าและบริการผ่านสกุลเงินคริปโทฯ เช่น ‘อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์’ บริษัทอสังหาฯ สัญชาติไทย ที่รับชำระเงินค่าซื้อบ้านหรือคอนโดฯ ด้วยคริปโทฯ  เป็นต้น

แต่ไม่ใช่เพียงแค่นั้น มุมมองของนักลงทุนที่เปลี่ยนไป รวมถึงการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีบล็อกเชน ได้ก่อให้เกิดตลาดและโอกาสใหม่สำหรับผู้ผลิตผลงานสื่อ ศิลปะ ความบันเทิง (Art & Entertainment) ผ่านสิ่งที่เรียกว่า ‘NFT’ (Non-Fungible Token)

อย่างที่หลายคนเห็นๆ กันมาบ้างก็คือ ปัจจุบันเริ่มมีการนำผลงานต่างๆ มาวางขายในรูปแบบ NFT ซึ่งสร้างความฮือฮาอย่างมากทั้งในแง่ของรูปแบบผลงานและรวมไปถึงมูลค่าที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนในตลาด ตัวอย่างเช่น

-มีม ‘Disaster girl’ หรือ สาวน้อยแห่งหายนะ ต้นฉบับรูปภาพมีม ‘Disaster girl’ หรือ ‘สาวน้อยแห่งหายนะ’ ซึ่งเป็นรูปของเด็กหญิงอายุ 4 ขวบที่กำลังยืนแสยะยิ้มอยู่ โดยมีฉากหลังเป็นอาคารที่กำลังถูกไฟไหม้ ถูกประมูลผ่านตลาด NFT ในราคาถึง 473,000 เหรียญสหรัฐฯ (ราว 14.7 ล้านบาท)

มีม ‘Disaster girl’ ที่ถูกประมูลผ่านตลาด NFT ในราคาถึง 473,000 เหรียญสหรัฐฯ

-ทวีตแรกของโลกจาก ‘แจ็ก ดอร์ซีย์’ ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของทวิตเตอร์ ที่ทวีตไว้ตั้งแต่ปี 2549 ถูกนำมาประมูลขายผ่าน NFT ในราคาถึง 2.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 90 ล้านบาท)

-หรือแม้กระทั่งในประเทศไทยที่มีการนำหน้าปกการ์ตูน ‘ขายหัวเราะ’ ฉบับแรกพร้อมลายเซ็นของ บก.วิธิต ในรูปแบบดิจิตอล ไฟล์ก็ถูกนักสะสมประมูลไปเมื่อเดือน เม.ย. 2564 ที่ราคาสูงถึงราว 1.07 ล้านบาทเลยทีเดียว

นอกเหนือจากผลงานที่ถูกกล่าวมาข้างต้น ในตลาดของ NFT ก็ยังมีรูปแบบงานอีกมากมายและมีมูลค่าที่แตกต่างกันไปตามประเภทผลงาน เรียกได้ว่าผลงานมีมูลค่าตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพันล้าน ก็มีให้เห็นในตลาดมาแล้ว

ดังนั้น เราจะพามาทำความรู้จักกับตลาดและอุตสาหกรรม NFT ให้มากขึ้น ว่ามีความน่าสนใจอย่างไร? และยังมีโอกาสอะไรบ้างที่ยังรอการค้นพบ?

อธิบายง่ายๆ NFT คืออะไร

ก่อนเจาะลึกไปยังอุตสาหกรรมนี้ เราอาจต้องมาทำความรู้จัก NFT กันก่อน

NFT หรือ Non-Fungible Token คือเหรียญคริปโทฯ ที่ไม่สามารถทำซ้ำหรือเลียนแบบได้

กล่าวง่ายๆ คือ หากสกุลเงินคริปโทฯ ทั่วไปอย่างเช่นบิตคอยน์สามารถแลกเปลี่ยนไปมาได้โดยไม่จำกัดสกุล โดยขอเพียงแค่เหรียญมีมูลค่าเท่ากัน ก็สามารถแลกเปลี่ยนกันได้ตามปกติ (เหมือนเราเอาแบงก์ 100 แลกแบงก์ 20 ได้ 5 ใบ ขอแค่มูลค่าเท่ากัน)

แต่ NFT จะเกิดจากการที่เรานำผลงานที่สร้างสรรค์ เช่น รูปภาพ, รูปวาด, รูปถ่าย, วิดีโอ, กราฟิก หรืออื่นๆ มาเปลี่ยนให้เป็นเหรียญภายใต้ระบบบล็อกเชน ทำให้งานดังกล่าวมีอยู่เพียงชิ้นเดียว (หรือถูกจำกัดจำนวนแบบจำกัด) ไม่สามารถทำซ้ำได้อีกต่อไป

และนั่นทำให้เจ้าของเหรียญ NFT ดังกล่าวถือครองสิทธิ์ความเป็นเจ้าของผลงาน ซึ่งจะสามารถเก็บสะสมไว้หรือขายต่อเปลี่ยนมือก็ย่อมทำได้

ดูไปดูมา ก็อาจคล้ายๆ กับการสะสมของต่างๆ ทั่วไปอย่างพระเครื่อง, นาฬิกา, ภาพวาด หรือโมเดลคลาสสิกต่างๆ เพียงแต่เปลี่ยนจากสิ่งของที่จับต้องได้มาเป็นเหรียญคริปโทฯ ที่อยู่บนโลกออนไลน์ ซึ่งถูกสนับสนุนและเข้ารหัสผ่านระบบบล็อกเชนแทน

นั่นจึงเป็นที่มาว่า มูลค่าที่เกิดขึ้นจากงาน NFT นั้นแทบไม่แตกต่างจากของสะสมอื่นบนโลกเลย แถมยังมีข้อดีหลักๆ คือ ถูกขโมยได้ยาก และจะไม่เสื่อมสลายหายไป

อีกทั้งยังทำการซื้อขายเปลี่ยนมือได้รวดเร็ว  ยกเว้นเสียแต่ว่าเราจะลืมรหัสเข้าสู่วอลเล็ตที่เก็บสะสมเหรียญของผลงานเท่านั้น

แล้วตลาดอุตสาหกรรม NFT สร้างรายได้และทำเงินได้อย่างไร?

ในที่นี้จะแบ่งการสร้างรายได้เป็นออกเป็น 2 ส่วนตามกลุ่มผู้ผลิตผลงาน นั่นก็คือ ศิลปิน และบริษัท/องค์กร

ศิลปิน สร้างสรรค์ผลงานภายใต้แนวคิดที่ไร้ขีดจำกัด

ศิลปินจะนำผลงานที่ตัวเองสร้างขึ้น เช่น รูปภาพ, รูปเคลื่อนไหว, วิดีโอ นำมาทำการ ‘Mint’ หรือที่เรียกง่ายๆคือ การแปลงผลงานจากออฟไลน์เข้าสู่ระบบบล็อกเชนให้กลายเป็นรูปแบบเหรียญ NFT ผ่านทางแพลตฟอร์มผู้ให้บริการหลากหลายเจ้า เช่น Opensea, Bekerywap, foundation

โดยจะต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือ ‘Gas fee’ ซึ่งมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละเจ้า สำหรับการ Mint ผลงานและวางขายงานบนเว็บไซต์นั้น

ซึ่งหลังจากที่ผลงานผ่านเข้าสู่ระบบ ศิลปินสามารถเลือกที่จะวางขายงานแบบกำหนดราคาครั้งเดียว หรือเปิดให้ผู้สนใจประมูลผลงานก็ได้ โดยผู้ขายก็จะได้รับเงินหลังจากหักค่าธรรมเนียมต่างๆ ในรูปแบบเหรียญคริปโทฯ นั่นเอง

ส่วนผู้ซื้อก็จะได้รับสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของงานในรูปแบบคริปโทฯ NFT ซึ่งสามารถเก็บสะสมหรือขายต่อเพื่อเปลี่ยนมือได้ทำกำไรได้ แต่ลิขสิทธิ์ผลงานจะยังถือเป็นของศิลปินผู้สร้างตราบเท่าที่ยังไม่ได้มีข้อตกลงอื่นใดกำหนด

ตัวอย่างผลงาน NFT โดดเด่นที่สร้างมูลค่า ที่เป็นที่นิยมในต่างประเทศที่เป็นที่รู้จัก คือ

-ผลงานชุด ‘Cryptopunk’ ซึ่งเป็นผลงานภาพสไตล์ 8 บิทย้อนยุคที่อยู่ในรูปแบบชาวพังก์ที่มีคาแร็กเตอร์แตกต่างกันออกไปมากกว่า 1,000 รูปแบบ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยรูปที่มีมูลค่าสูงสุดที่ถูกประมูลไปในราคาปัจจุบันที่  7.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (236 ล้านบาท) และมีมูลค่ารวมผลงานทั้งชุดที่ถูกประมูลไปแล้วไม่ต่ำกว่า 437 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (13,642 ล้านบาท)

ส่วนผลงานของศิลปินไทย ก็เริ่มได้รับความสนใจทั้งในกลุ่มของดารานักร้องที่มีความสามาถในการสร้างผลงานศิลปะ ตัวอย่างเช่น

-ติ๊ก ชีโร่ นำผลงานรูปวาดของตัวเองสู่ระบบของ Opensea และถูกประมูลไปที่ราคาราวๆ 20,000 บาท

-ยังโอห์ม ศิลปินแร็ปเปอร์ชื่อดัง ได้นำผลงาน NFT ภาพเคลื่อนไหวพร้อมเสียงให้นักสะสมได้ร่วมทำการประมูล และถูกปิดประมูลไปในราคาราว 150,000 บาท

NFT marketplace แหล่งรวบรวมผลงานศิลปินบนโลกออนไลน์

นอกจากกลุ่มศิลปินที่มีชื่อเสียงในวงการต่างๆ ที่กล่าวมา ยังมีผลงาน NFT จำนวนมากที่ถูกวางขายและนำเสนอผ่านช่องทางกลุ่มเฟซบุ๊กในรูปแบบของมาร์เก็ตเพลซ เช่นกลุ่ม ‘NFT and Crypto art Thailand’ ซึ่งมีสมาชิกกว่า 20,000 คน และมีทั้งผู้สร้างผลงาน รวมไปถึงนักประมูล นักสะสมรวมอยู่ในกลุ่มด้วย

โดยผลงานที่ถูกนำเสนอ มาจากทั้งศิลปินหน้าใหม่ๆ รวมถึงกลุ่มศิลปินที่มีผลงานด้านศิลปะที่เคยออกสู่สาธารณะและเป็นที่รู้จักในสื่อต่างๆ อย่างเช่น ผลงานจากผู้สร้างแอนิเมชั่นเรื่อง ‘ยักษ์’ หรือผลงานจากนักเขียนการ์ตูนหลายๆ รายก็สามารถหาชมได้จากในกลุ่มเช่นกัน

ส่วนการประมูลหรือซื้อขายก็ทำผ่านแพลตฟอร์มที่ผู้วางขายกำหนดไว้ เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีผู้ให้ความสนใจไม่น้อย และมีแนวโน้มที่ผลงานจะมีเพิ่มขึ้นในอนาคตจากความนิยมในสกุลเงินคริปโทฯ เป็นหลัก

บริษัท/องค์กร สร้างรายได้ผ่านการขายลิขสิทธิ์ และการสร้างคอมมูนิตี้ใหม่ในพื้นที่ของตัวเอง

ในขณะที่กลุ่มศิลปินต่างๆ จะต้องสร้างสรรค์ผลงานโดยใช้ความสามารถของตัวเองเป็นหลักในการทำรายได้

แต่กลุ่มบริษัทหรือองค์กรต่างๆ กลับมีวิธีการที่แตกต่างออกไปในการสร้างรายได้จาก NFT และยังถือเป็นกลุ่มที่สร้างอิมแพคต์ต่อตลาด NFT เป็นอย่างมาก

โดยเฉพาะในตลาด NFT ต่างประเทศ ทั้งในรูปแบบกีฬา, เกม หรือแม้กระทั่งการทำงานผ่านระบบเวอร์ชวล ซึ่งมีมูลค่าสูงมากและมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นอย่างไม่หยุด ตัวอย่างเช่น

-NBA ขายโมเมนต์และความประทับใจผ่านคลิปวิดีโอ

NBA หรือสมาคมผู้ดูแลการจัดแข่งขันบาสเก็ตบอลลีกภายในสหรัฐฯ ได้มีการนำคลิปวิดีโอไฮไลต์ของนักกีฬาที่แข่งขันในสนาม ทั้งอดีตและปัจจุบัน มาวางขายในรูปแบบ NFT ที่เรียกว่า ‘NBA Topshot’

โดยมีการเปิดประมูลช็อตทำคะแนนสวยๆ จากนักกีฬาดังๆ อย่าง เลบรอนด์ เจมส์ และไมเคิล จอร์แดน โดยมีมูลค่าที่ถูกประมูลสูงถึง 245,000 เหรียญสหรัฐฯ (7.6 ล้านบาท) ซึ่งเป็นมูลค่าเพียงแค่คลิปเดียวเท่านั้น

และหากรวมมูลค่าทั้งตลาด Top shot ก็จะมีมูลค่ามากถึง 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 343,000 ล้านบาท)

นอกจากนี้ โมเมนต์ต่างๆ ของ NBA Top shot ยังถูกวางขายในรูปแบบการ์ดแพ็คแบบสุ่ม รูปแบบคล้ายๆ การสะสมการ์ดเกม ซึ่งผู้สะสมสามารถนำไปขายต่อได้อย่างอิสระผ่าน NFT Blockchain ได้เช่นกัน

-ครอบครองการ์ดนักฟุตบอลหายากและสร้างทีมฟุตบอลผ่านเกม Sorare

Sorare เป็นเกมแนวฟุตบอลแฟนตาซีที่ถูกสร้างขึ้นบนระบบบล็อกเชน ซึ่งผู้เล่นจะต้องทำการสุ่มหาการ์ดเพื่อนำมาแข่งขันกับเก็บคะแนนกับผู้เล่นอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งทาง Sorare ก็ได้มีการวางจำหน่ายการ์ดนักเตะชื่อดังในรูปแบบ NFT โดยเปิดประมูลผ่านแพลตฟอร์มของตัวเอง ทำให้นักสะสมมีโอกาสครอบครองการ์ดที่เป็น Rare หรือ limited ที่มีระดับต่างกัน โดยอาจจะมีเพียงใบเดียวในเกมและมีมูลค่าสูงมาก

เช่น การ์ด Unique ของคริสเตียโน โรนัลโด นักฟุตบอลซูเปอร์สตาร์ชื่อดังชาวโปรตุเกส ได้ถูกประมูลไปในราคาถึง 289,920 เหรียญสหรัฐ (ราว 9 ล้านบาท) นับว่ามีมูลค่าสูงและอาจจะสูงกว่าการ์ดนักฟุตบอลที่สะสมกันทั่วไปอย่างเทียบไม่ได้

-เป็นเจ้าของที่ดินบนระบบบล็อกเชนผ่านเกม Decentraland

‘Decentraland’ เกม VR ที่สร้างขึ้นบนอีเทอเรียมบล็อกเชน โดยผู้เล่นสามารถจ่ายเงินในรูปแบบคริปโทฯ สกุล ‘MANA’ เพื่อซื้อที่ดินเสมือนจริงในเกม และสร้างสรรค์เมืองให้เป็นไปตามที่ตัวเองต้องการ

นอกจากนี้ยังสามารถเก็บค่าเข้าชมในรูปแบบเหรียญคริปโทฯ จากผู้เยี่ยมชมได้ด้วย โดยจากข้อมูลที่มีการซื้อขายที่ดินในเกม เคยมีพื้นที่ที่ถูกประมูลซื้อไปในราคาถึง 700,000 เหรียญสหรัฐฯ (21.9 ล้านบาท) เรียกได้ว่าซื้อที่ดินจริงๆ ก็ยังไหว

ไม่เพียงแค่นั้น แต่เทรนด์ในการซื้อขายที่ดินเสมือนจริงยังเกิดขึ้นในเกมรูปแบบเดียวกัน เช่น ไบแนนซ์ บริษัทผู้นำด้านการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลที่ประกาศซื้อโทเคนที่ดินจำนวน 4,012 รายการจากเกม ‘Sandbox’

เรียกได้ว่าเกิดตลาดใหม่ๆ ที่สามารถสร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรม NFT ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ และยังกลายมาเป็นอีกหนึ่งในตลาดการลงทุนที่สำคัญอีกสำหรับนักลงทุนและนักเก็งกำไรไปโดยปริยาย

NFT ประตูแห่งโอกาส และสิ่งที่ควรระวัง

สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าคุณจะเพิ่งรู้จักกับ NFT หรือแม้กระทั่งคิดที่จะเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจนี้ ทั้งศิลปินหรือกลุ่มนักสะสมผลงานเพื่อการลงทุน เชื่อว่านี่เป็นโอกาสและจังหวะที่ดีที่จะศึกษา ทำความเข้าใจ รวมไปถึงเป็นโอกาสดีสำหรับคนทุกๆ กลุ่ม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มศิลปินผู้สร้างผลงาน ที่มีโอกาสเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้จากฝีมือของตัวเองโดยไม่ยึดติดกับงานประเภทเดิมๆ

เรียกได้ว่าหากบุกเบิกพื้นที่และสร้างผลงานที่มีเอกลักษณ์ มีความยูนีค ผลงานย่อมเป็นที่ต้องการของตลาดนักสะสมได้ไม่ยาก

แต่ในขณะเดียวกัน แน่นอนว่าด้วยตลาดที่มีมูลค่าสูง ผู้เล่นและผู้แข่งขันก็ย่อมจะมีสูงตามไปด้วย เรียกได้ว่าจาก Blue Ocean อาจจะกลายเป็น Red Ocean ได้อย่างรวดเร็ว

และด้วยความผันผวนของสกุลเงินคริปโทฯ ก็สามารถส่งผลกระทบถึงมูลค่าตลาดงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนหรือศิลปินก็ควรจะติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด เพราะไม่มีตลาดไหนที่อยู่ได้อย่างยั่งยืนตลอดไป

แต่ที่น่าสนใจและยังต้องติดตามต่อก็คือ ตลาด NFT จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นไปอีกขนาดไหน? และเราจะได้เห็นผลงานอะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง

ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เห็นผลงานใหม่ๆ จากทั้งศิลปินชื่อดังอื่นๆ หรือบริษัทยักษ์ใหญ่เจ้าอื่นๆ ที่จะนำผลงาน NFT ออกสู่ตลาด เพื่อให้ผู้ที่สนใจมีโอกาสเป็นเจ้าของ

ลองจินตนาการว่าหากแกรมมี่นำไฟล์เสียงบันทึกเทปครั้งแรกของพี่เบิร์ด-ธงไชย มาวางขาย จะมีมูลค่าเท่าไหร่?

หรือแม้กระทั่งภาพวาดจากศิลปินแห่งชาติอย่าง อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ถ้าถูกนำมาทำในรูปแบบ NFT จะสร้างความฮือฮาและมีมูลค่ามากแค่ไหน? ย่อมเป็นสิ่งที่น่าสนใจและน่าติดตามรับชมอย่างแน่นอน

บทความโดย เขตต์คณิต คงชนะ

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า