SHARE

คัดลอกแล้ว

การพัฒนาประเทศไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคมหรือเศรษฐกิจให้ก้าวไปสู่ ‘โกลบอล’ และแข่งขันระดับโลกได้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งที่จำเป็นคือเรื่องการพัฒนาและสร้าง ‘นวัตกรรม’ ของไทยเราเองให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก

โดยส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดการสร้างนวัตกรรมขึ้นมาได้นั้น คือการวางนโยบายของรัฐบาล แล้วถามว่าที่ผ่านมา ‘นโยบายนวัตกรรม’ ของไทยก้าวไปถึงขนาดไหน รัฐไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้หรือเปล่า

รวมไปถึงว่าหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการพัฒนานวัตกรรมอย่าง ‘สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)’ หรือ NIA คาดหวังอะไรจากนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะได้จากการเลือกตั้งที่จะมาถึง TODAY Bizview คุยกับ ‘ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์’ ผอ.เอ็นไอเอ ในประเด็นนี้

[ ถ้าเป็นผู้นำนวัตกรรม พรรคการเมืองจะหาเสียงเรื่องนี้ ]

ดร.พันธุ์อาจ เล่าให้ฟังว่า ย้อนกลับไปในการเลือกตั้งเมื่อ 4-5 ปี ในสหรัฐอเมริกา จะเห็นว่านโยบายที่สองประธานาธิบดี คือ โดนัลด์ ทรัมป์ และ โจ ไบเดน นำมาหาเสียงในเวลานั้น ได้ถูกทรานส์ฟอร์มจาก trade war มาเป็น tech war คือนำนโยบายนวัตกรรมมาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งอย่างชัดเจน

โดยมีสาระสำคัญ 2 เรื่อง คือ ความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของอเมริกายังคงต้องมีอยู่ สองคือการพัฒนากฎหมายนวัตกรรมเพื่อพัฒนาธุรกิจ

โดยหลังไบเดนชนะได้ผ่านกฎหมายที่ชื่อว่า CHIPS and Science Act ซึ่งเข้าไปควบคุมธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้ทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ รั่วไหลไปในประเทศคู่แข่ง

เพราะฉะนั้นในสหรัฐฯ ภาพของนโยบายนวัตกรรมนั้นชัดว่าต้องทำให้สหรัฐอเมริกาต้องคงสถานะความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมอย่างชัดเจน โดยใช้เครื่องมือทั้งทางนิติบัญญัติและเครื่องมือด้านบริหารจัดการ

ส่วนฝรั่งเศส สมัยประนาธิบดีมาครง ก็ประกาศเลยว่าถ้าเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งจะตั้งกองทุนนวัตกรรม ซึ่งพอเข้ามาปุ๊บก็ตั้งกองทุนขึ้นมาซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 20,000 ล้านยูโร โดยเลือกสนับสนุนสาขานิวเคลียร์ พลังงานทางเลือก และอวกาศ

ขณะที่เกาหลีใต้ที่ถือเป็นประเทศเอเชียที่พัฒนานวัตกรรมมากมาย แต่จริงๆ เกาหลีไม่ได้มีนโยบายที่ชัดเจน

ส่วนญี่ปุ่นปัญหาคือเขาเปลี่ยนนายกฯ บ่อย ก็อาจจะไม่ได้ชัดเจนมาก แต่นโยบายของญี่ปุ่นในเรื่องนวัตกรรมนั้นค่อนข้างจะเป็นการเปลี่ยนวิธีคิด คือ นายกฯ สองคนล่าสุดให้ความสำคัญเรื่องสตาร์ทอัพมาก โดยประกาศเลยว่าปีงบประมาณแต่ละปีจะมีเงินลงทุนด้านสตาร์ทอัพประมาณพันล้านเหรียญ

เพราะฉะนั้นนโยบายของญี่ปุ่นคือชัดเลยว่านวัตกรรมไม่ได้มาจากบริษัทขนาดใหญ่ แต่อยากจะสนับสนุนคนรุ่นใหม่ซึ่งมันเป็นเรื่องของแรงจูงใจ

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าประเทศไหนที่มีสถานภาพเป็นผู้นำก็จะชูนโยบายด้านนวัตกรรมขึ้นมา

[ ของไทยยังไม่ชัด ]

ในกรณีของเมืองไทย ดร.พันธุ์อาจ บอกว่านโยบายนวัตกรรมยังไม่ถูกนำมาใช้หาเสียงอย่างชัดเจน ถึงแม้ว่าบางพรรคจะมีผู้นำหรือแคนดิเดตเป็นเฮดด้านนวัตกรรม แต่ก็ต้องไปดูว่านวัตกรรมไม่ใช่ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น นวัตกรรมในสหรัฐฯ หรือฝรั่งเศสล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่มากกว่าดิจิทัลแพลตฟอร์มทั้งนั้น เป็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา งานวิจัย หรือการทำบริษัทเทคฯ ที่สามารถคอนโทรลการเปลี่ยนแปลงโลกได้

นโยบายนวัตกรรมของไทยจะพูดรวมกันทั้งนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ถามว่าดีไหม คือไทยเรายังมองว่านวัตกรรมต้องมาจากการวิจัย พัฒนา แล้วเกิดเป็นนวัตกรรม

แต่ปัญหาจริงๆ แล้วประเทศไทยมีบริษัทที่ทำนวัตกรรมยังไม่เยอะพอ โดยบริษัทเหล่านั้นเป็นบริษัทใหญ่ ที่เป็นหัวเรือผลักดันให้อันดับนวัตกรรมไทยสูงขึ้น เพราะเขาลงทุนจริง มีทรัพยากร

แต่บริษัทเหล่านั้นก็ไม่ไปอยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์กับยานยนต์ ดันไปอยู่ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น พลังงานทางเลือก อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เช่น แป้ง น้ำตาล อย่างอุตฯ แป้งตอนนี้เรียกได้ว่ามาถึงจุดที่ร่วมลงทุนกับบริษัทต่างชาติในในระดับสูง

รวมๆ แล้วเรียกได้ว่าบริษัทใหญ่ในไทยมีศักยภาพสูงมาก ปัญหาของเราคือเอสเอ็มอีกับสตาร์ทอัพ เลยต้องไปทํางานกับบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งเหมือนกับญี่ปุ่นและเกาหลี

[ พื้นที่นวัตกรรมอย่ากระจุกอยู่แค่กรุงเทพฯ ]

ขณะที่นโยบายของไทยในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น EEC หรือ BCG เน้นไปที่การดึงการลงทุนจากต่างชาติ ทำให้นวัตกรรมจำเป้นต้องทำงานร่วมกับบริษัทใหญ่อย่างไม่มีทางเลือก ยังไม่รวมว่าไม่ควรให้การพัฒนานวัตกรรมกระจุกตัวอยู่แค่กรุงเทพฯ อย่างประเทศจีนที่แม้จะไม่มีการเลือกตั้ง แต่นโยบายนวัตกรรมเขาชัดเจน เมืองนวัตกรรมของเขากระจายไปทั้งเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง กวางตุ้ง และเซินเจิ้น

“ของเมืองไทย เราไม่สามารถปล่อยให้ กทม. โตไปเรื่อยๆ โดยไร้ทิศทางโดยที่ไม่มีพื้นที่อื่น เพราะไม่อย่างนั้นเด็กจบใหม่มากมายต้องย้ายเข้ามา กทม. เท่านั้นเพื่อที่จะสร้างสตาร์ทอัพหรือเอสเอ็มอีได้”

เขาหวังว่าในบรรดาตัวเลขเอสเอ็มอีที่จดทะเบียนในระบบ 3 ล้านราย ขอเพียงไม่กี่หมื่นราย หรือไม่ถึง 2% ที่เป็นผู้สร้างนวัตกรรมได้ เท่านี้ก็ถือว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จแล้ว

โดยการเป็นบริษัทผู้สร้างนวัตกรรมที่ ดร.พันธุ์อาจหมายถึง ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นการต้องเป็นผู้วิจัยและพัฒนาตั้งแต่ต้นจนได้นวัตกรรมขึ้นมา บางธุรกิจไปทำเรื่อง AI ขั้นสูง หรือทำควอนตั้มคอมพิวเตอร์ ซึ่งอันนั้นอาจจะเป็นจำนวนน้อย แต่บางบริษัทอาจจะเก่งเรื่องนวัตกรรมการบริการก็ได้ ทุกอย่างอยู่ที่การดีไซน์ แต่สุดท้ายก็บาลานซ์กันระหว่างบริษัทเทคฯ เข้มข้นและเทคฯ เซอร์วิส

“เทคฯ เข้มข้นไม่มีก็ไม่ได้ แต่ไม่ได้บอกว่าต้องสร้างเยอะมาก อเมริกาก็สร้างไม่เยอะเช่นกัน อย่างเช่น Defense Tech เขากําหนดเลยว่าบริษัทไหนเข้าโปรแกรมได้หรือไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องความลับทางการค้าและเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เป็นเรื่องในประเทศ ถามว่าเมืองไทยต้องทํา Defense Tech มั้ย ก็ต้องทํา”

“บางพรรคการเมืองบอกว่าไม่ต้องมีเกณฑ์ทหาร จะไปลดงบซื้ออาวุธ ผมบอกเลยนะว่ามันเป็นไปไม่ได้ ในสภาพแวดล้อมทุกวันนี้มันกําลังจะเปลี่ยนผ่านจากการรบแบบเดิมไปสู่การรบด้วยไซเบอร์ ดังนั้น ถ้าคุณไม่มีทรัพยากรพวกนี้ (อาวุธ) คุณก็ต้องซื้อหมด แต่ถ้าเกิดว่าเรามีสตาร์ทอัพด้าน Defense Tech มันไม่ดีกว่าเหรอ ไม่งั้นยังไงก็ต้องซื้อ (อาวุธ) เป็นไปไม่ได้ที่จะเอาเงินไปทำอย่างอื่น”

“หรือหากมองในเรื่องนวัตกรรมการเมือง ที่ของไทยเราเองก็ยังดูไปไม่ถึงไหน โดยหน่วยงานอย่าง กกต. นั้นเคยมีโครงการที่ลงทุนศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้เครื่องลงคะแนนเสียง ซึ่งศึกษามาแล้วหลายรุ่นแต่ก็ไม่รู้ว่าโครงการนี้เงียบหายไปไหนแล้ว”

[ ประเทศไทยงบน้อยเกินไป ให้ใช้แบบเบี้ยหัวแตก ]

ดร.พันธุ์อาจ ย้ำถึงปัญหาการสร้างนวัตกรรมของไทยว่าส่วนหนึ่งมาจากเงินที่อุดหนุนงานวิจัยและพัฒนาของภาครัฐน้อยเกินไป

“เวลาเราพูดถึงแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มันบอกอะไร ท้องอิ่มก่อน แล้วในที่สุดสังคมเป็นยังไง ปัญหาเต็มไปหมดเลย

“เพราะฉะนั้นนวัตกรรมมันไม่ใช่การตอบคําถามเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ตอบเรื่องสังคม ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมกัน การเมืองด้วย เพราะเมื่อทรัพยากรหาย แย่งทรัพยากรน้ำกัน เกิดการรุกล้ำที่ดินของชาวบ้าน การประมงเหนือเขื่อน ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นในประชากรกลุ่มรากหญ้าทั้งนั้น

“ดังนั้น ถ้านโยบายเป็นนโยบายนวัตกรรมของเรา แล้วเอาไปตอบในเรื่องสิ่งที่เรียกว่า ‘กินได้ใกล้ตัว’ แต่ตอนนี้ (นโยบายหาเสียง) เป็นเรื่องของการแจกสตางค์ คือถือว่าให้น้ำหนัก (กับนวัตกรรม) ต่ำมากถ้าเทียบกับที่ผ่านมา

“พอให้งบต่ำมาก ก็อยากให้เขามาคิดวิเคราะห์ใหม่ หรือว่าให้น้ำหนักใหม่ เพราะงบที่ได้มาก็กระจายใช้แบบเบี้ยหัวแตก โครงการหนึ่งได้น้อย และอาจทำได้ไม่ต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกัน เอกชนรายใหญ่เขาจ่ายไปเลย 8,000 ล้านบาท เรียกได้ว่ามีการลงทุนอย่างจริงจัง

“เราอยากได้บริษัทนี้เยอะๆ เพราะพอถึงเวลาที่เราอยากจะพัฒนาหรือกำหนดเรื่องอะไรต่ออะไร แต่ทรัพยากรรัฐไม่มี มันก็เหมือนฝันไปเรื่อยๆ”

[ จุดประเด็น 3C บ่งชี้อนาคตไทย ]

แม้ปัจจุบันไทยจะมีบริษัทขนาดใหญ่ด้านอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารที่เติบโตในระดับโลก แต่เรายังไม่ประสบความสำเร็จในการจารึกว่าบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลกที่ทำนวัตกรรมด้านเกษตรและอาหารอยู่ในประเทศไทย กลับถูกจารึกว่าเราคืออู่ข้าวอู่น้ำของโลก

ต่างจากสวิตเซอร์แลนด์แม้จะเป็นประเทศขนาดเล็ก ไม่มีทางออกทะเล แต่กลับขายซอสแม็กกี้ไปทั่วโลก นี่คือศักยภาพของการสร้างอาณาจักรธุรกิจด้วยนวัตกรรม แล้วค่อยมาลงที่ว่าจะแก้ปัญหาระยะสั้นอย่างไรด้วยนวัตกรรม

ซึ่งเรื่องแรกตอบเรื่องของการแข่งขันทางการตลาด ส่วนเรื่องหลังตอบความสามารถทางการแข่งขันที่ทำได้ หลายประเทศทำแบบนี้ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อะไรที่เด่นอยู่แล้วต้องผลักดันให้เด่นในระดับโลกด้วย เอาเรื่องเด่นมาสู้เพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขันหรือ Competitiveness

ดร.พันธุ์อาจ ระบุเพิ่มเติมว่า การคอร์รัปชั่น เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่คนไทยให้ความสนใจ เพราะสังคมมองว่าคนจนเพราะถูกคอร์รัปชั่น ดังนั้น นโยบายเชิงนวัตกรรมต้องแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นและตอบคำถามเรื่องของประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาลได้ตั้งแต่การตรวจเงินแผ่นดิน การเอา Blockchain ไปใช้ ถ้ารัฐไม่ซื้ออุตสาหกรรมก็จะไม่เกิด

ปัจจุบันไทยไม่ได้ขาดฝั่งของผู้สร้างนวัตกรรม เพราะหากดูจาก global innovation index (GII) จะเห็นว่า อัตราส่วนการลงทุนเรื่องวิจัยและนวัตกรรมโดยภาคเอกชนไทยติดอันดับ 1 ของโลก นั่นคือเอกชนลงมากกว่ารัฐ สัดส่วนเอกชนลงไว้แล้วกว่า 80% อันตรายมาก คือรัฐจ่ายน้อยลงเรื่อยๆ เอกชนจ่ายมากขึ้นยังไงเขาก็รอด อย่าบอกว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่รอด รอดอยู่แล้ว แต่รอดในมือของบริษัทขนาดใหญ่

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งขยะทะเล ฝุ่นควัน PM 2.5 รถติด ปัญหาอุณหภูมิ ทะเลเปลี่ยน น้ำทะเลกัดเซาะ ทำให้การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Net Zero) เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ทุกภาคส่วนหันมาให้ความสำคัญ

แต่การใช้ชีวิตของคนในปัจจุบันยังเคยชินกับการสั่งเดลิเวอรี่ ทำให้ขยะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวต่อวัน การผลักดันให้ใช้รถ EV ไม่สามารถช่วยลดปัญหาฝุ่นควันได้ แม้ในอนาคตพื้นที่ กทม. จะใช้รถ EV สูงถึง 80% ฝุ่นควันก็ไม่หาย โดยมีกรณีศึกษาว่าการใช้รถไฟฟ้าไม่ได้หมายความว่า PM 2.5 จะลด เพราะว่าคุณยังใช้ถนนในการเดินทางเหมือนเดิม

ปัญหา climate change จึงเป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคน แต่ไกลตัวจากมุมที่ว่าจะต้องเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตยังไง เพราะฉะนั้นปัญหาสภาพแวดล้อมเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไขด้วยเช่นเดียวกัน

[ อยากเห็นแต่ละพรรคเสนอนโยบายนวัตกรรมจริงจัง ]

“ในฐานะของหน่วยงานเพื่อการส่งเสริมระบบนวัตกรรมแห่งชาติ อยากเห็นการนำเสนอนโยบายที่นำนวัตกรรมเป็นตัวตั้งอย่างแท้จริง อยากเห็นแคนดิเดต Innovation Minister ที่ไม่ใช่ทีมเศรษฐกิจทั่วไปมาแสดงจุดยืนและเจตนารมณ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นอีกวาระสำคัญระดับชาติ

อยากให้แต่ละพรรคลองสมมติบทบาทเสมือนว่าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนวัตกรรม แล้วลองดูว่าระบบที่มีอยู่เวิร์คหรือไม่ และจะดำเนินการอย่างไรต่อ รวมถึงหากเข้ามาในสภาได้แล้วอีก 4 ปีจะเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยนวัตกรรมอย่างไร หรือจะให้นวัตกรรมช่วยขับเคลื่อนประเทศไปอยู่อันดับไหนของโลก

โดยการดีเบตไม่เพียงแต่เป็นการแข่งขันหรือช่วงชิงคะแนนเท่านั้น แต่ยังเกิดประโยชน์ในมิติของประชาชนที่อาจจะได้แนวคิดไปพัฒนาธุรกิจ หรือทักษะความสามารถ ประโยชน์ต่อองค์กรธุรกิจ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐอื่นในการกำหนดนโยบายและแผนเชิงรุกเพื่อนำพาประเทศไปสู่จุดที่สูงขึ้น”

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: NIA เผย ‘ดัชนีนวัตกรรมไทย’ อยู่ที่ 3 ในอาเซียน

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า