SHARE

คัดลอกแล้ว

ก็เพราะเจ้าโควิด-19 ชีวิตผมจึงเปลี่ยน

ในชีวิตการเป็นครูแพทย์ขึ้นปีที่ 29 ของผม ไม่เคยคิดว่าจะต้องมีส่วนร่วมฝ่าวิกฤตสุขภาพของประเทศเป็นครั้งที่สาม

ครั้งแรกจากไข้หวัดหมูในปี พ.ศ. 2552 ครั้งที่สองจากน้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ. 2554 ซึ่งในทั้งสองครั้งผมทำหน้าที่ส่วนหนึ่งใน incident commanders ของภาควิชาอายุรศาสตร์ที่ผมสังกัดอยู่ พวกเราร่วมมือร่วมใจกันทั้งอาจารย์แพทย์ แพทย์ที่กำลังฝึกเป็นผู้เชี่ยวชาญ (เรสซิเดนท์และเฟลโลว์) นักศึกษาแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทุกระดับ จนสามารถนำพาศิริราชผ่านวิกฤตมาได้ดีทั้งสองครั้งโดยสูญเสียน้อยที่สุด

ที่สำคัญคือ เราไม่ทอดทิ้งคนของเราไว้ข้างหลัง ตาม “สปิริตศิริราช” ที่เราปลูกฝังต่อๆ กันมาจากรุ่นสู่รุ่นไม่มีจางหาย

ผมเหลือชีวิตราชการอีกไม่ถึงสามปี ตั้งใจจะใช้เวลาที่เหลือนี้ทำงานที่ตัวเองรัก คือ ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แพทย์รุ่นหลังเพื่อให้เขาเป็น “หมอที่เก่งและดี” ตามปณิธานเจ้าฟ้ามหิดลผู้ก่อกำเนิดระบบสาธารณสุขแผนใหม่ในแผ่นดินสยาม ควบคู่กับการดูแลผู้ป่วยและญาติเพื่อให้เขาพ้นทุกข์ในฐานะ “ผู้เยียวยาทั้งกาย ใจ และ จิตวิญญาณ” ไม่ใช่ ”ผู้ให้บริการทางการแพทย์”

จนกระทั่งวิกฤตการณ์โควิด-19 เข้ามาคุกคามประเทศไทยที่ผมรักยิ่งเมื่อปลายปีก่อน ทำให้ตอนแรกที่ตั้งใจจะเป็นแค่แรงใจแรงความคิดสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้เข้าเผชิญกับปัญหาโดยใกล้ชิด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิธีการบ่มเพาะทายาททางวิชาชีพเฉพาะไม่ว่าจะเป็น หมอ พยาบาล วิศวกร ผู้พิพากษา หรือ ทหาร

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยฯ

แต่เมื่อสถานการณ์สุกงอมตั้งแต่ต้นปลายเดือนก่อน ผมรู้สึกว่านอกจากหน้าที่เดิมที่ผมตั้งใจไว้ ยังอาจต้องเข้าไปช่วยทำอะไรอื่นๆ นอกรั้วศิริราชอีกมากเท่าทีหมอตัวเล็กๆ คนหนึ่งจะทำได้ เพราะ กลไกการรับมือสถานการณ์วิกฤตของประเทศนี้มันง่อยเปลี้ยหลังถูกความล้มเหลวทางการเมืองบ่อนเซาะมานับทศวรรษ

เริ่มจากการรณรงค์สาธารณะเรื่องความฉ้อฉลของนักการเมือง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และกลุ่มนายทุน ต่อการกระจายตัวของหน้ากากอนามัย ที่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไปมีไม่เพียงพอใช้งาน ในครั้งนั้นผมใช้หัวโขนนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำร่อง เพราะผมหวังพึ่งภูมิคุ้มกันจากการเป็นสมาคมแพทย์ซึ่งน่าจะเป็นสมาคมแพทย์สุดท้ายที่ถูกรับไว้ใต้ร่มบารมีของในหลวงรัชกาลที่เก้าผู้ล่วงลับ

พระองค์ทรงเป็นผู้สนับสนุนหลักในการยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกรไทย ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการสาธารณสุขที่บรรพบุรุษของท่านได้ปูทางไว้ ด้วยกระแสตอบรับที่ดี จึงนำไปสู่การรณรงค์ต่อเนื่องทั้งเรื่องความไม่พร้อมของภาครัฐในการเตรียมรับมือผู้ป่วยจากโควิด-19 ที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นแบบทวีคูณ การชักชวนให้ประชาชนทำ Social Lockdown และร่วมมือกับหน่วยงานสุขภาพเพื่อหยุดยั้งโควิด-19

โควิด-19 เป็นอีกครั้งที่ทำให้ผมเห็นว่า กระทรวงสาธารณสุขเป็นองค์กรที่ไม่พร้อมตอบสนองต่อสถานการณ์วิกฤตสืบเนื่องจากปัญหาการเมืองภายใน จนผมได้รับการเชิญไปเข้าวอร์รูมย่อยในวันที่ 15 มีนาคมเพื่อให้ความเห็นต่อการเตรียมรับมือทางการแพทย์ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล เรามีหมอและคนเก่งๆ อยู่มากในที่ประชุม ทุกคนพยายามช่วยกันหาทางออกเพื่อคนกรุงเทพ และจะนำบทเรียนที่ได้ไปถ่ายทอดสู่ภูมิภาคสำหรับเตรียมการในระยะต่อไป

แต่ปัญหาที่สำคัญ คือ ขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน และไม่มีแม่ทัพที่รู้แจ้ง รู้จริง และเด็ดขาดเข้มแข็งแต่นั่นไม่ได้ทำให้พวกเราในที่นั้นหมดกำลังใจ เราพยายามคิดค้นรูปแบบการตั้งรับข้าศึกที่มองไม่เห็นตัวนี้กันอย่างเต็มความสามารถ ความช่วยเหลือจากภาควิชาชีพอื่น ภาคเอกชน และภาคประชาชนหลั่งไหลเข้ามามาก ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาเครื่องมือป้องกันตนเองของบุคคลากรโดยเฉพาะ PPE และ N95 การจัดเตรียมสถานที่ดูแลผู้ป่วยในทุกระดับความรุนแรง

การจัดเตรียมและดัดแปลงอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อให้มีใช้เพียงพอในประเทศ หรือ แม้กระทั่งการบริจาคเงิน อาหาร และอื่นๆ ให้โรงพยาบาลและบุคลากร ที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ คลิปภาพ เสียง และสื่อในทุกรูปแบบ ที่ถูกส่งมาเพื่อให้กำลังใจเราให้สู้ต่อไป ผมมักจะพูดในทุกเวทีอยู่เสมอๆ ว่า

“อุ่นใจเถิดประชาชนไทย บุคคลากรทางการแพทย์ไทยจะอยู่เคียงข้างท่าน เพื่อให้เราได้ผ่านเรื่องร้ายๆ นี้ไปพร้อมๆ กันให้ได้มากที่สุด”

ชีวิตผมเปลี่ยนไปมาก จากที่พยายามปลีกตัวจากโลกภายนอกอันวุ่นวายยุ่งเหยิง ต้องเข้ามารณรงค์สาธารณะผ่านไลน์ เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ ไม่รวมการออกทีวีและสัมภาษณ์วิทยุที่เรียงหน้ากันมาไม่ขาดสาย เดิมผมใช้เวลากับสื่อโซเชียลวันละไม่เกินหนึ่งชั่วโมง ส่วนใหญ่ก็เป็นงานมากกว่าเรื่องส่วนตัว

ขณะนี้ผมต้องใช้เวลามากกว่าครึ่งหนึ่งของช่วงเวลาที่ไม่ได้เข้านอน ส่วนหนึ่งถูกใช้ไปกับการเป็นที่ปรึกษาแพทย์รุ่นหลังที่รับมือโควิด-19 ทั้งในศิริราชและภายนอกตามจังหวัดใกล้เคียงที่เดินทางไปได้ไม่ยาก ส่วนที่เหลือแบ่งมาช่วยการบริหารจัดการระบบรับมือภายในศิริราชที่ปัจจุบันเริ่มเข้มแข็งขึ้นทุกวัน ที่สำคัญอีกประการคือ การระดมทุนเพื่อจัดหาอุปกรณ์ป้องกันตัวเองสำรองและจัดหาสวัสดิการให้ทีมแพทย์และพยาบาลโควิดศิริราช ที่เสียสละเข้าเป็นด่านหน้าเผชิญข้าศึกในการดูแลผู้ป่วยอย่างไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย

เพื่อให้คนส่วนใหญ่ของประเทศปลอดภัย นอนตาหลับ และสูญเสียน้อยที่สุด

“ชีวิตนี้น้อยนัก” หนังสือที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ เป็นเครื่องเตือนใจที่ดีสำหรับฆราวาสเพื่อให้ ทำทุกเวลาเพื่อความถูกต้อง เพื่อคนที่เรารัก และเพื่อประเทศชาติอันเป็นที่หวงแหนของเรา

บทความโดย นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยฯ

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า