Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

จากกรณี  #nnevvy ที่เป็นกระแสร้อนแรงในทวิตเตอร์มาสักพักแล้วนั้น ถึงแม้กระแสจางลงไปแล้วไปในวันนี้ ผู้เขียน ในฐานะที่เขียนศึกษาเกี่ยวกับจีน และติดตามความเป็นไปของความสัมพันธ์ไทย-จีนมาโดยตลอด อยากจะลองมาชวนทุกคนให้คิดไปด้วยกันว่า #nnevvy สะท้อนอะไร และได้ทิ้งบทเรียนอะไรไว้ให้เราบ้าง 

ประเด็นนี้หากเทียบเป็นภาพยนตร์สักเรื่อง ตั้งแต่ตอนเปิดเรื่อง การพัฒนาความขัดแย้ง จุดสุดขั้น (climax) และตอนจบ ล้วนแล้วแต่ให้บทเรียนที่ต่างกันออกไป บทความนี้จะขอแยกวิเคราะห์ตามการพัฒนาของเรื่องราวดังกล่าว 

ตอนเปิดเรื่อง กับภาวะความหลงทางในการแปล (Lost in Translation)”

ความวุ่นวายเรื่องนี้เริ่มต้นจากการที่นักแสดงหนุ่มไทย วชิรวิชญ์ ชีวอารี หรือ ‘ไบร์ท’ จากซีรีส์ “เพราะเราคู่กัน” รีทวีตรูปพร้อมข้อความที่เรียกฮ่องกงว่า ‘ประเทศ’ ส่งผลให้แฟนคลับจีนไม่พอใจและคอมเมนต์โจมตีไบร์ท ต่อมานักแสดงหนุ่มออกมาขอโทษ เรื่องเหมือนจะซาลงไประยะเวลาหนึ่ง แต่ประเด็นความขัดแย้งใหม่ก็เกิดขึ้นจากจากการขุดประวัติแฟนของหนุ่มไบรท์ผ่านทางบัญชีทวิตเตอร์ของเธอ และนำไปสู่ดราม่า #nnevvy โดยประโยคที่สร้างปัญหา คือ ประโยคที่ไบร์ทไปคอมเมนท์ใต้รูปของแฟนสาวว่า “สวยจังเหมือนสาวจีนเลย” และแฟนสาวตอบคอมเมนต์เชิงเขินไปว่า “รายง่ะ” และชาวเน็ตจีนได้แปลคำว่า “รายง่ะ” เป็นคำว่า “what?” แล้วเข้าใจไปว่า นิวไม่พอใจที่ถูกหาว่าเหมือนสาวจีน ทำให้ความโกรธยิ่งเพิ่มทวีคูณเข้าไป เพราะคอมเมนต์ในภาพเดียวกัน นิวได้ตอบเพื่อนที่ถามว่า “แนวไหน” ไปว่าเป็นสไตล์ “สาวไต้หวัน” คอมเม้นท์นี้นำไปสู่กระแสความไม่พอใจในวงกว้าง #nnevvy ถูกพูดถึงใน Weibo ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหลักของจีนมากกว่า 1.4 ล้านโพสต์ และมียอดวิวมากกว่า 4.64 พันล้านวิวดราม่าเรื่องนี้ได้ลุกลามไปใหญ่โต จนเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นที่รู้จักกันในนาม 辱华事件 (กรณีการเหยียดจีน) 

จุดเริ่มต้นนี้ ทำให้เราได้เห็นในสิ่งที่เรียกว่า “ความหลงทางในการแปล” (Lost in translation) แม้คำว่า  “รายง่ะ” จะกร่อนมาจากคำว่า “อะไรอะ” ที่อาจจะแปลแบบตรงตัวได้ว่า “what?” ก็จริง แต่ถ้าเราพิจารณาไปพร้อมกับบริบทแล้วเราจะพบว่า “รายง่ะ” ตรงนี้ คือการตอบแบบเขิน ๆ น้ำเสียงของคำไม่ได้แฝงความโกรธเคืองมากพอที่จะแปลไปเป็นภาษาอังกฤษว่า “What?” 

ในภายหลัง ข้อความนี้ได้มีการแปลใหม่โดยบทความหนึ่งใน Weibo โดยได้เชิญนักศึกษาไทยที่อาศัยอยู่ที่จีนเป็นเวลา 4 ปีให้มาแปลบทสนทนานี้อีกครั้ง การแปลครั้งนี้อิงกับบริบทมากขึ้น จึงสื่อคำว่า “รายง่ะ” ด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนลง และระบุคำอธิบายที่ชัดเจนว่า คำว่า “สาวไต้หวัน” ในที่นี้ มีความหมายครอบคลุมแค่สไตล์การแต่งตัวและการถ่ายภาพของสุภาพสตรีตามพื้นที่ต่าง ๆ เช่น สาวปักกิ่ง สาวเซี่ยงไฮ้ สาวไต้หวัน สุภาพสตรีในแต่ละพื้นที่ต่างมีสไตล์การแต่งตัวและการถ่ายภาพที่แตกต่างกัน การใช้คำว่า “สาวไต้หวัน” ไม่ได้มีนัยทางการเมืองที่การสนับสนุนจุดยืนที่ไต้หวันเป็นประเทศแต่อย่างใด 

เหตุการณ์นี้อาจจะตอบคำถามในใจใครหลายคนได้ว่า ในขณะที่ AI ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีแอปพลิเคชันหรือเครื่องแปลออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นทุกวัน มนุษย์เรายังจำเป็นต้องเรียนภาษาอีกหรือไม่…จากกรณีนี้ เราเห็นได้ชัดเลยว่า การแปลภาษาที่แปลเพียงเนื้อหา แต่ตัดความรู้สึก และวัฒนธรรมที่อยู่เป็นฉากหลังออกไป สามารถแปลงไปสู่ความเข้าใจผิดระหว่างคนสองชาติได้ 

การเรียนภาษานั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อการ “แปลภาษา” เพียงเท่านั้น แต่เรายังเรียนภาษาควบคู่กับวัฒนธรรม และใช้ภาษาในฐานะเครื่องมือสร้างความเข้าใจระหว่างคนต่างวัฒนธรรมด้วย 

ไม่ว่าโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม…ภาษามีความละเอียดอ่อน และยืดหยุ่น เปลี่ยนแปลงความหมายไปตามบริบทและผู้ใช้ ในกรณีที่เกิดขึ้น หากคนแปล “รายง่ะ” และ “สาวไต้หวันไง” มีความเข้าใจในบริบทและความยืดหยุ่นของภาษาไทยมากกว่านี้ เข้าใจอารมณ์ขันของคนไทยกับการใช้ภาษาของวัยรุ่นไทยมากกว่านี้ สงครามน้ำลายครั้งนี้อาจไม่ลุกลามเป็นประเด็นใหญ่ตั้งแต่แรกก็เป็นได้ 

ปรากฏการณ์นี้อาจแสดงให้เราเห็นว่า ตราบใดที่โลกยังมีการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างคนจากหลายประเทศ การเรียนภาษาเพื่อเข้าใจมนุษย์ในวัฒนธรรมที่ต่างกันก็ยังก็ยังคงจำเป็นอยู่นั่นเอง 

การพัฒนาความขัดแย้ง กับภาวะน้ำท่วมปากทางการเมือง (Political Inarticulation)”

บทถัดมาคือ ขั้นตอนการพัฒนาความขัดแย้ง เมื่อชาวเน็ตจากไต้หวันและฮ่องกงมาร่วมสนับสนุนชาวเน็ตไทย อาจสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะน้ำท่วมปากทางการเมืองซึ่งแม้จะเกิดขึ้นด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างกัน แต่เป็นสภาวะร่วมของหลายประเทศหรือดินแดนในแถบเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงเกิดเป็นเหตุการณ์ยืมปากคนอื่นมาพูดความในใจของตนเอง คนไต้หวัน คนฮ่องกงรุ่นใหม่ผู้ยึดถืออัตลักษณ์ที่ตัดขาดจากจีนแผ่นดินใหญ่บางส่วนอาจรู้สึกอึดอัดและไม่พอใจเวลาที่ถูกเรียกว่า “คนจีน” แต่ก็เข้าใจดีว่า รัฐบาลท้องถิ่นของตนก็ทำอะไรได้ไม่มากนัก เพราะจีนได้ออก “กฎหมายต่อต้านการแบ่งแยกดินแดนจีน” ในปี ค.ศ.2005 ซึ่งมาตราที่ 8 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ในกรณีที่ไต้หวันประกาศเอกราชจากจีน จีนสามารถใช้วิธีที่ “ไม่สันติ” เพื่อรักษาบูรณภาพของดินแดนของตนได้ เพราะฉะนั้น เมื่อชาวเน็ตไทยจู่โจมชาวเน็ตจีนด้วยการนำประเด็นอ่อนไหว เช่น การกล่าวว่าไต้หวันและฮ่องกงเป็นประเทศ​ จึงได้รับการสนับสนุนจากชาวเน็ตไต้หวันและฮ่องกงเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกัน ชาวเน็ตไทยก็มี “เรื่องบางเรื่อง” ที่วิจารณ์ไม่ได้และความไม่พอใจ “บางอย่าง” ที่ระบายออกไม่ได้เช่นกัน เราทำได้ก็เพียงการ “ยืมปาก” ชาวเน็ตจีนมาระบายความในใจ นี่เลยเป็นเหตุผลว่า ทำไม ไฟจุดเล็ก ๆ จึงลามทุ่งได้แค่ชั่วข้ามคืน หลายคนอาจมองว่าปัญหานี้เป็นเพียง “น้ำผึ้งหยดเดียว” แต่ที่จริงแล้ว เหตุการณ์ครั้งนี้น่าจะเป็นการปะทุของเชื้อเพลิงที่สะสมมานานเสียมากกว่า 

จุดสุดขั้น (Climax) กับ การปะทะทางโลกทัศน์ (Clash of Perspectives)

บทสุดท้ายของดราม่าเรื่องนี้คือ แถลงการณ์ของสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชน​จีนประจำประเทศไทยบนเฟซบุ๊ก เมื่อเวลา 20:01 ในวันที่ 14 เมษายน ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นจุดสุดขั้นของเรื่องนี้ แถลงการณ์ฉบับนี้ถูกพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางบนโลกออนไลน์

ในความร้อนแรงของปฏิกิริยาที่มีต่อแถลงการณ์ฉบับนี้ผู้เขียนคิดว่ามีข้อสังเกตสองประการที่น่านำมาวิเคราะห์เพราะแสดงให้เห็นถึงการปะทะทางโลกทัศน์ (Clash of Perspective) ในแง่ความเข้าใจต่อแถลงการณ์และสามารถคิดต่อไปถึงความเข้าใจต่อความสัมพันธ์ระหว่าง “ตัวบุคคล” กับ “รัฐ” ในมุมมองที่แตกต่างกัน

ข้อสังเกตประการแรก คือ ประโยคที่ว่า “คนบางกลุ่ม” บนโลกออนไลน์ใช้โอกาสนี้ทำให้เรื่องขยายใหญ่โตลุกลามออกไป พยายามวางแผนมุ่งร้ายเพื่อให้ผู้คนผิดใจกัน” คำถามคือ “คนบางกลุ่ม” ที่ระบุในแถลงการณ์หมายถึงใคร

เมื่อเลื่อนลงไปอ่านคอมเมนต์ มีชาวไทยจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจว่า สถานทูตหมายถึงเป็น “คนไทย” ที่ “ทำให้เหตุการณ์ขยายและขัดแย้ง” และเข้าใจว่าสถานทูตออกแถลงการณ์ “ข่มขู่” คนไทย แต่เมื่อเข้าไปดูในเว็บ people.cn ซึ่งเป็นเว็บไซต์รวมแหล่งข่าวกระแสหลักของจีน รวมถึงข่าวของ Global times ที่ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลจีน และมีจุดยืนไปในทิศทางเดียวกันกับรัฐบาลจีน เราก็สามารถเข้าใจว่า “คนบางกลุ่ม” ในที่นี้หมายถึงใคร 

ในช่วงเช้าของวันที่ 15 เมษายน people.cn ได้ลงบทความชิ้นหนึ่งที่ “วิเคราะห์” ว่าคนที่มา “ด่า” คนจีนในเน็ตนั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่คนไทย แต่เป็นกลุ่มคนที่เรียกว่า “ไถตู๋” (台独) หรือ “กั่งตู๋” (港独)หรือคนไต้หวันและฮ่องกงที่ต้องการแยกประเทศ การวิเคราะห์ข้างต้นวางอยู่บนเหตุผล 4 ประการ ดังนี้ 

1) หลังจากเริ่มเกิดสงครามน้ำลาย ก็มีการลงทะเบียนบัญชีผู้ใช้ใหม่เป็นจำนวนมาก และเนื้อหาใน meme ที่บัญชีผู้ใช้เหล่านี้สร้างขึ้นมาเพื่อลบหลู่จีนนั้น ถูกต้องและชัดเจน “เกินกว่า” ที่จะมาจากฝีมือชาวเน็ตไทย น่าจะต้องเป็นคนที่คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมของชาวเน็ตในจีนเป็นอย่างดี 

2) มีมเหล่านี้วิจารณ์รัฐบาล และสถาบันสำคัญของไทยเกินขอบเขต ถ้าเป็นคนไทย จะรู้ว่าการวิจารณ์สถาบันมีโทษหนัก จึงไม่น่าจะเป็นการกระทำของคนไทย 

3) โพสต์วิจารณ์จีนบางโพสต์ที่ใช้ภาษาจีนเขียนเป็นจีนตัวเต็ม ซึ่งเป็นตัวอักษรที่ใช้กันแพร่หลายในฮ่องกงและไต้หวัน 

4) ประเทศไทย รวมถึงประเทศในเอเชียอาคเนย์มีความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองและสังคมของประเทศแถบเอเชียตะวันออกค่อนข้างน้อย ประชาชนเข้าใจ concept คำว่า “จีนแผ่นดินใหญ่” “ไต้หวัน” และ “ฮ่องกง” อย่างค่อนข้างจำกัด…

บทวิเคราะห์นี้ ถูกต้องแค่ไหน ผู้เขียนขอให้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้อ่าน  แต่เราจะเห็นได้ถึงความพยายามของสถานเอกอัครราชทูตจีนที่จะควบคุมความเสียหาย (Damage control) ไม่ให้เกิดแก่ความสัมพันธ์ไทย-จีนโดยรวม โดยการหา “แพะ” หรือบุคคลที่สามมารับผิด เป็นตรรกะที่เห็นได้บ่อยทั้งจากพฤติกรรมของรัฐจีนและการดำเนินนโยบายการต่างประเทศในการเมืองจีนร่วมสมัย เพื่อให้รัฐจีนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับรัฐอื่นดำเนินต่อไปได้ ยิ่งกว่านั้น การควบคุมความเสียหายยังเห็นได้จากการที่เว็บไซต์ทางการของสถานทูตจีนในไทย และหนังสือพิมพ์ที่เป็นกระบอกเสียงหลักของรัฐบาลจีนอย่าง China Daily ก็ไม่ได้พูดถึงเหตุการณ์ครั้งนี้แต่อย่างใด

เราจึงอาจอนุมานได้ว่าแถลงการณ์และบทวิเคราะห์ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นความพยายามของรัฐจีนที่จะควบคุมความเสียหายแก่ความสัมพันธ์ไทย-จีนโดยการโยนความผิดไปให้บุคคลที่สาม แต่เนื่องจากใช้คำที่มีความหมายค่อนข้างกำกวม เลยนำไปสู่ความเข้าใจผิดของคนไทยบางส่วน ที่คิดว่าเป็นการข่มขู่พลเมืองชาวไทย 

ประเด็นถัดมาคือคำแถลงการณ์ที่ว่า “หลักการจีนเดียวเป็นจุดยืนที่รัฐบาลและประชาชนชาวไทยยึดมั่นมาเป็นเวลานาน” แล้วมีชาวเน็ตไทยไปคอมเมนต์ในทำนองที่ว่าการกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นเพียงการคาดเดา(assume) เพราะยังมีคนบางส่วนที่อาจจะไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้เพียงแต่ไม่ถูกรวมอยู่ในคำว่า “ประชาชนชาวไทย” (General public of Thailand) ในแถลงการณ์เท่านั้นเองคอมเมนต์นี้น่าสนใจมากในแง่ที่ว่าเป็นข้อความที่แสดงให้เห็นถึงโลกทัศน์และความเข้าใจต่อความสัมพันธ์ระหว่าง “ประชาชน” กับ “รัฐ” ที่ต่างกันระหว่างจีนกับไทยและก็อาจเป็นสาเหตุเดียวกันนี้เองที่ทำให้คนจีนคิดว่าการวิจารณ์รัฐบาลหรือชนชั้นนำจึงจะทำให้ชาวเน็ตไทยรู้สึกเจ็บปวดแต่ผลที่ออกมากลับตรงกันข้าม 

นักวิชาการด้านจีนศึกษาหลายท่านได้ให้ข้อสังเกตว่าความสัมพันธ์ระหว่าง “ประชาชน” กับ “รัฐ” ในโลกทัศน์แบบจีนนั้นดำเนินในรูปแบบที่ “ประชาชนคงอยู่เพื่อรับใช้ผลประโยชน์ของรัฐ”เพราะฉะนั้นจุดยืนของรัฐบาลจึงเท่ากับจุดยืนของประชาชนไปอย่างไม่ต้องสงสัยและเพื่อสนับสนุนข้อสรุปดังกล่าวผู้เขียนอยากจะยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ไอดอลสาวชาวไต้หวันคนหนึ่งในวงเกิร์ลกรุ๊ปสัญชาติเกาหลีโบกธงชาติสาธารณรัฐจีนในมิวสิกวิดีโอในช่วงปลายปี 2015 และเกิดเป็นกระแสต่อต้านในจีนแผ่นดินใหญ่จนถึงขั้นเกิดการรวมตัวของชาวเน็ตจีนโดยการจัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการ” ของเว็บไซต์จีนเว็บไซต์หนึ่งเพื่อโจมตีหน้าเฟซบุ๊กของนักการเมืองชาวไต้หวันและสำนักข่าวของไต้หวันที่มีจุดยืนโน้มเอียงไปในทางสนับสนุนเอกราชของไต้หวันโดยเว็บไซต์จีนดังกล่าวมีการรวบรวมคนผ่านการเข้ากลุ่มใน Wechat ซึ่งมีชาวเน็ตเข้าไปให้ความร่วมมืออย่างล้นหลามโดยมีการตั้งเป็นศูนย์บัญชาการมีการแบ่งทัพแบ่งหน้าที่ในการโจมตีอย่างชัดเจนเหตุการณ์ในครั้งนั้นจบลงด้วย “ชัยชนะอย่างงดงาม” เพราะเฟซบุ๊กของสำนักข่าวหลายแห่งต้องลบโพสต์ข่าวออกไปในที่สุด 

ในที่นี้ ผู้เขียนจะไม่ขอตัดสินว่าการกระทำดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่ เพราะคำตอบคงต่างออกไปตามเกณฑ์ที่ใช้ตัดสิน แต่กระทำดังกล่าวอาจช่วยสนับสนุนข้อสรุปที่ว่า “ประชาชนคงอยู่เพื่อรับใช้ผลประโยชน์ของรัฐ” นั้นได้หลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของโลกทัศน์ของชาวจีน ทำให้สำหรับชาวเน็ตจีนกลุ่มนี้ จุดยืนของรัฐคือจุดยืนของตน และความคิดที่ว่า “รัฐเป็นสิ่งที่ละเมิดมิได้และเป็นสถาบันที่ต้องปกป้อง” นั้นกลายเป็นค่านิยมและสิ่งที่พึงกระทำ ความเข้าใจต่อความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและรัฐเช่นนี้ทำให้ชาวเน็ตจีนเริ่มวิจารณ์รัฐบาลและชนชั้นนำของไทยเพื่อเอาคืน โดยคิดว่าการวิจารณ์รัฐบาลและชนชั้นนำของไทยจะทำให้ชาวไทยเจ็บช้ำเช่นกัน 

แต่กลับกันในความเข้าใจของคนไทยบางกลุ่มที่ยึดถือคุณค่าแบบประชาธิปไตยที่มีนิยามว่า “การปกครองของประชาชนโดยประชาชนเพื่อประชาชน” นั้น  จุดยืนของรัฐบาล อาจไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งเดียวกันกับจุดยืนของคนไทย “ทุกคน” ดังนั้นจึงเกิดเป็นการตอบโต้จากชาวเน็ตไทยต่อสถานทูตจีนในประเด็นเรื่องการใช้คำว่า “ประชาชนชาวไทย” (General public of Thailand) ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น 

และในประเทศไทย อย่างน้อยก็ในปัจจุบัน ประชาชนต้องเสียภาษีจึงคาดหวังว่ารัฐบาลจะคงอยู่ หรืออย่างน้อยก็มีหน้าที่คงอยู่เพื่อรับใช้ผลประโยชน์ของประชาชน ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่ประชาชนรู้สึกว่าไม่เป็นเช่นนั้น การวิพากษ์วิจารณ์รัฐในขอบเขตของกฎหมายเป็นสิทธิที่ประชาชนพึงมี รัฐไม่ได้เป็นสิ่งที่ละเมิดมิได้ หรือเป็นองคาพยพที่ต้องปกป้อง ดังนั้นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐจึงถือว่าเป็นเรื่องปกติของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และเมื่อการวิพากษ์วิจารณ์รัฐเป็นเรื่องปกติ การที่ชาวเน็ตจีนมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐไทย คนบางส่วน โดยเฉพาะชาวเน็ตไทยในทวิตเตอร์จึงไม่ได้รู้สึกเจ็บช้ำน้ำใจแต่อย่างใด

แถลงการณ์ของสถานทูตคอมเมนต์ของชาวไทยรวมถึงผลตอบรับของชาวเน็ตไทยต่อการวิจารณ์รัฐของชาวเน็ตจีนอาจเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าเรามีแนวโน้มที่จะเข้าใจสิ่งแวดล้อมภายนอกผ่านความเข้าใจที่มีต่อตนเองและปฏิสัมพันธ์กับคนต่างวัฒนธรรมผ่านโลกทัศน์ของเราเองซึ่งบางครั้งนำไปสู่การโจมตีที่ผิดจุดหรือความเข้าใจที่ผิดฝาผิดตัวก็เป็นได้ 

ตอนจบ: คอยดูกันต่อไป (wait and see)

ในฐานะผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับจีนและติดตามความเป็นไปของความสัมพันธ์ไทยจีนมาโดยตลอดผู้เขียนได้แต่หวังว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้จะไม่ไปกระทบกับความสัมพันธ์โดยรวมและหวังว่าจะไม่มีแถลงการณ์ใหม่ๆออกมาเติมเชื้อเพลิงให้ไฟที่กำลังจะมอดแต่ในขณะเดียวกันก็หวังว่าจากเหตุการณ์ครั้งนี้คนทั้งสองประเทศจะมีความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้นต่อความสัมพันธ์ไทย-จีนและตื่นตัวต่อประเด็นปัญหาตามสภาวะที่เกิดขึ้นจริงอย่างปราศจาก “มายาคติ” และ “อคติ” 

บทความโดยพัทธจิต ตั้งสินมั่นคง
Assistant Professor, School of Social Sciences, Waseda University
กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า