SHARE

คัดลอกแล้ว

อัลเฟรด โนเบล ภาพจาก th.wikipedia.org

หลายๆ ท่านคงรู้จัก “รางวัลโนเบล” เป็นอย่างดี ที่มอบให้กับบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ 6 สาขาด้วยกัน ประกอบด้วย ฟิสิกส์ , เคมี , แพทย์ , สันติภาพ , วรรณกรรม และเศรษฐศาสตร์ (เพิ่มเข้าภายหลัง)

โดยสาขาที่ถูกจับตามองมากที่สุดก็คือ “สันติภาพ” ทำให้รางวัลนี้ได้รับการจดจำในภาพลักษณ์มุ่งส่งเสริมการสร้างสันติสุขให้มวลมนุษยชาติ ซึ่งก็เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ “อัลเฟรด โนเบล” ผู้ก่อตั้ง

แต่อีกสิ่งที่น่าสนใจก็คือ ชายผู้หนึ่งที่ร่ำรวยในระดับมหาเศรษฐีจากการค้าอาวุธสงคราม ร่วมถึงเป็นผู้คิดค้น “ไดนาไมต์” มีโรงงานผลิตระเบิดมากกว่า 10 แห่งในประเทศต่างๆ เป็นที่เกลียดชังราวกับปีศาจร้าย จนได้รับฉายาว่า “พ่อค้าแห่งความตาย”

แต่ก่อนเสียชีวิต เขากลับทำพินัยกรรมยกทรัพย์สมบัติจำนวนมหาศาล ให้นำไปก่อตั้งมูลนิธิและรางวัลอันทรงเกียรติ เพื่อมอบให้กับบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ในด้านต่างๆ โดยมี “สันติภาพ” เป็นสาขาที่โดดเด่นจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของรางวัลดังกล่าวมาจนถึงทุกวันนี้

ซึ่งหากไม่มีผู้หญิงที่ชื่อว่า “เบอร์ธา คินสกี”
โลกนี้อาจไม่มีรางวัลโนเบล ก็เป็นได้

ภาพจาก nobelprize.org

ธุรกิจค้าความตาย

อัลเฟรด โนเบล เกิดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ.1833 (พ.ศ.2376) ที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน หลังจากพ่อของเขาไปตั้งโรงงานผลิตระเบิดและอาวุธสงครามในประเทศรัสเซีย ก็ทำให้ฐานะของครอบครัวร่ำรวยขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้โนเบลได้รับการศึกษาที่ดีตั้งแต่วัยเด็ก พอเรียนจบด้านวิศวกรรมเครื่องกล จากประเทศสหรัฐอเมริกา เขาก็กลับมาช่วยธุรกิจของครอบครัว

ซึ่งนอกจากความรู้ด้านวิศวกรรมเครื่องกล การผลิตวัตถุระเบิดแล้ว โนเบลยังสนใจในด้านอักษรศาสตร์ จนพูดได้ถึง 5 ภาษา ได้แก่ สวีเดน , รัสเซีย , อังกฤษ , ฝรั่งเศส และเยอรมัน เขาจึงเป็นกำลังสำคัญของครอบครัวในการขยับขยายโรงงานไปยังประเทศต่างๆ ทำให้กิจการเติบโตอย่างรวดเร็ว

แต่จากการที่โรงงานของเขาหลายแห่ง รวมถึงเรือบรรทุกสินค้าที่ลำเลียง “ไนโตรกลีเซอรีน” (ส่วนประกอบสำคัญในการผลิตระเบิด) เกิดระเบิดบ่อยครั้ง โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่โรงงานแห่งหนึ่งของโนเบลเกิดระเบิดขึ้น ส่งผลให้น้องชายและคนงานเสียชีวิตจำนวนมาก จึงเป็นแรงผลักดันให้เขาคิดหาวิธีที่จะทำให้ไนโตรกลีเซอรีนระเบิดได้ยากขึ้น เพื่อให้การผลิตและขนส่งเป็นไปอย่างปลอดภัย จนเป็นที่มาของอาวุธมหาประลัยชนิดใหม่ที่ชื่อว่า “ไดนาไมต์”  

ผู้คิดค้นระเบิดไดนาไมต์

“ไนโตรกลีเซอรีน” เป็นของเหลวที่ระเบิดได้ง่ายมาก เพียงแค่กระทบกระทั่ง หรือโดนความร้อน โนเบลพยายามทดลองครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อให้ของเหลวชนิดนี้ระเบิดได้ยาก แต่ก็ไม่เป็นผล กระทั่งวันหนึ่งเขาได้ทำไนโตรกลีเซอรีนหกลงบนพื้นดินทราย

ซึ่งด้วยสัญชาตญาณของนักวิทยาศาสตร์ที่ช่างสังเกต โนเบลจึงนำดินทรายบริเวณนั้นมาแยกธาตุ แล้วเขาก็ค้นพบว่า เมื่อผสมดินทรายเข้ากับไนโตรกลีเซอรีน จะทำให้เกิดการระเบิดได้ยากขึ้น เเละยังมีอานุภาพการทำลายล้างมากกว่าเดิมอีกหลายเท่า

จากการค้นพบดังกล่าวก็ทำให้กิจการของโนเบลเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีการนำสิ่งประดิษฐ์นี้ไปใช้อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นการทำเหมืองแร่ , ขุดอุโมงค์ , รวมถึงการขุดคลองปานามา ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ที่ได้จากไดนาไมต์

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไดนาไมต์ที่เขาคิดค้นขึ้น มักถูกนำไปใช้ในการทำสงคราม ทำลายล้างผลาญชีวิตเพื่อนมนุษย์เป็นส่วนใหญ่ แม้สิ่งประดิษฐ์ใหม่จะทำให้โนเบลร่ำรวยมหาศาล แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ยิ่งเป็นที่จงเกลียดจงชังมากขึ้น โนเบลจึงมีชีวิตอยู่อย่างมหาเศรษฐีผู้เปลี่ยวเหงา เก็บตัว และแทบจะไม่ปรากฏกายในงานสังคมใดใด หากไม่จำเป็นจริงๆ

“เบอร์ธา คินสกี” หรือ “นางฟอน ซุตเนอร์” ภาพจาก nobelprize.org

ความรักของโนเบล

ตามชีวประวัติแล้ว ถึงแม้เขาไม่เคยแต่งงาน ไม่มีลูก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่เคยมีความรัก หากแบ่งเป็นช่วงใหญ่ๆ มีเรื่องนี้เข้ามาเกี่ยวพันกับชีวิตเขาถึง 3 ครั้งด้วยกัน

ความรักครั้งแรกของโนเบล เกิดขึ้นในวัยหนุ่ม ขณะใช้ชีวิตในฝรั่งเศส โดยเขาได้พบรักกับหญิงสาวชาวสวีเดน แต่ต่อมาเธอป่วยเป็นวัณโรค และเสียชีวิตลง

ความเจ็บปวดครั้งนั้นทำให้โนเบลยิ่งหมกมุ่นกับการทำงาน กับการคิดค้นระเบิด จนแทบไม่สนใจเรื่องอื่นๆ กระทั่งอีกหลายปีให้หลัง โนเบลก็รู้สึกพึงพอใจ “เบอร์ธา คินสกี” หญิงสาวชาวออสเตรียน

ส่วนครั้งที่ 3 ช่วงที่เขาเข้าสู่วัยชรา ได้อยู่กินกับหญิงสาววัย 18 ปี ที่ชื่อ “โซฟี เฮส” ซึ่งจะบอกว่าเป็นความรัก ก็กล่าวได้อย่างไม่เต็มปากเต็มคำนัก เนื่องจากทั้งคู่ต่างโหยหาการเติมเต็ม แต่นานวันไปโนเบลก็พบว่ากลับรู้สึกเว้าแหว่ง หรือขาดแคลนหนักเข้าไปอีก

ความรักที่ยิ่งใหญ่

ส่วนความรักที่ยิ่งใหญ่ ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของมูลนิธิและรางวัลโนเบลนั้น ก็คือในช่วงที่เขาอยู่ในวัยกลางคน เป็นหนุ่มใหญ่วัย 43 ปี ที่ตกหลุมรัก “เบอร์ธา คินสกี” เลขานุการของตัวเอง วัย 33 ปี

โดยระหว่างที่โนเบลดูแลโรงงานผลิตระเบิดในประเทศฝรั่งเศส คินสกีก็ได้มาสมัครงานเป็นเลขานุการ ซึ่งจากการที่เธอพูดได้หลายภาษา อีกทั้งชื่นชอบบทกวีและวรรณกรรมเหมือนกับโนเบล ทำให้ทั้งคู่สนิทสนมกันอย่างรวดเร็ว

นอกจากเรื่องงานแล้ว เขามักขอคำปรึกษาจากเธอในเรื่องอื่นๆ ด้วย ไม่เว้นแม้แต่เรื่องส่วนตัว และคินสกีก็มีคำแนะนำที่ดีสำหรับเขาเสมอ โนเบลจึงให้ความเป็นกันเองกับเธอเกินฐานะลูกจ้าง ปฏิบัติกับคินสกีราวกับเพื่อนสนิท

และหลังจากต้องอึดอัดเก็บความในใจมาพักใหญ่ โนเบลก็เอ่ยความรู้สึกที่มีต่อเธอ แต่เมื่อคินสกีบอกตามตรงว่า เธอมีคนรักอยู่แล้วที่ออสเตรีย ทำให้โนเบลปวดร้าวราวหัวใจกำลังแหลกสลาย

แม้เขาจะเจ็บปวดและผิดหวัง แต่ก็ยังคงปฏิบัติกับเธออย่างให้เกียรติในฐานะเพื่อนสนิท กระทั่งเขามีธุระต้องเดินทางกลับสวีเดนอย่างเร่งด่วน ระหว่างนั้นคินสกีก็ได้แต่งงานกับ บารอน ฟอน ชุตเนอร์ คนรักของเธอ และย้ายกลับออสเตรียพร้อมกับสามี

กำเนิดรางวัลโนเบล

แม้หญิงสาวอันเป็นที่รัก จะแต่งงานและกลับไปใช้ชีวิตในบ้านเกิด แต่โนเบลกับคินสกี ก็ยังเขียนจดหมายติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอ ความสัมพันธ์ของทั้งคู่เป็นมิตรภาพที่งดงาม บริสุทธิ์ ไม่มีร่องรอยด่างพร้อยใดใด

โดยคินสกีขอร้องให้โนเบลก่อตั้งกองทุนเพื่อสันติภาพขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่า อีกทั้งเธอยังเขียนนวนิยายต่อต้านสงคราม และทุ่มเททำงานด้านการรณรงค์เพื่อสันติภาพอย่างต่อเนื่อง

ตลอดระยะเวลาที่ทั้งคู่ติดต่อกันผ่านจดหมายร่วม 20 ปี แม้โนเบลไม่ได้ก่อตั้งกองทุนเพื่อสันติภาพตามที่เธอร้องขอ แต่หลังจากเขาเสียชีวิตลงจากอาการเส้นเลือดในสมองแตก เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ.1896 (พ.ศ.2439) ขณะอายุ 64 ปี พินัยกรรมของเขาก็ระบุว่า ให้นำเงินส่วนใหญ่มาก่อตั้งมูลนิธิและรางวัลโนเบล โดยมี “สาขาสันติภาพ” รวมอยู่ด้วย

ซึ่งจากการคัดสรรผู้เข้ารับรางวัลในสาขาต่างๆ อย่างพิถีพิถัน ทำให้รางวัลนี้เป็นที่ยอมรับ ทรงอิทธิพล และเปี่ยมมนตร์ขลังมาจนถึงทุกนี้ โดย “เบอร์ธา คินสกี” หรือ “นางฟอน ซุตเนอร์” ผู้ที่ทำให้เขาได้รู้จักความรักที่ยิ่งใหญ่ และมิตรภาพอันงดงาม ก็ได้รับรางวัลนี้ในสาขาสันติภาพ เมื่อปี ค.ศ.1905 (พ.ศ.2448) หรือหลังจากโนเบลเสียชีวิตไป 9 ปีเเล้วนั่นเอง

 

แหล่งข้อมูล

“ดวงหน้าในอดีต” ผู้เขียน : หลวงวิจิตรวาทการ

“อัลเฟรด โนเบล และรางวัลโนเบล” ผู้เขียน ปราณี  ทินกร , คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“อัลเฟรด โนเบล : Alfred Nobel” จาก สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

“อัลเฟรด โนเบล” จาก th.wikipedia.org

www.nobelprize.org

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า