SHARE

คัดลอกแล้ว

เหตุกราดยิงที่หนองบัวลำภูจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย workpointTODAY คุยกับนักอาชญาวิทยานักจิตวิทยานักกฎหมายถึงมุมมองด้านต่างๆ ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องการครอบครองอาวุธปืน ยาเสพติด การเยียวยาผู้เสียหายไปจนถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อป้องกันเหตุที่อาจจะเกิดซ้ำในอนาคต

แม้ล่าสุด พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้รับรายงานว่า นิติเวช รพ.อุดรธานี ชันสูตรเบื้องต้นไม่พบสารเสพติดในผู้ก่อเหตุ หรือ ภายใน 72 ชม. ที่ผ่านมาไม่มีการใช้สารเสพติด แต่ก็ยังคงต้องส่งพิสูจน์ซ้ำ เนื่องจากผู้ก่อเหตุเคยมีประวัติเสพยาเสพติด

📍 ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องแก้กฎหมายการครอบครองอาวุธตรวจสุขภาพจิตทหารตำรวจ

เรื่องแรกที่เราคุยคือเรื่องการตรวจสอบสุขภาพจิตของ ตำรวจ ทหาร เพราะอาจเป็นอาชีพที่มีความเครียดสูง นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ทนายความ มองว่า การตรวจสอบสุขภาพจิตของตำรวจทหารควรต้องมีการตรวจ ซึ่งเข้าใจว่าจิตแพทย์ที่เขามีอาจไม่พอกับกำลังพล แต่นั่นก็ไม่ใช่ข้ออ้างให้ปฏิเสธความรับผิดชอบ ดังนั้นผู้บังคับบัญชาต้องไปหาวิธีการหรือเงื่อนไขอะไรก็ได้ที่ชัดเจนว่าคนที่ถือปืนต้องมีจิตปกติ ตนเห็นว่าตั้งแต่ข่าวกราดยิงโคราชมาจนถึงปัจจุบันไม่มีอะไรแก้ไขเลย

ส่วนตัวมองว่าต้องมีการจัดระเบียบใหม่ ต้องมีความชัดเจนว่า ถ้าคุณถือปืนคุณมีจิตปกติหรือไม่ แต่อย่าเอามาบังคับใช้กับพลเรือนหรือคนทั่วไป ให้นำไปบังคับใช้เฉพาะในหน่วยงานทหาร ตำรวจ เพราะที่ผ่านมาไม่เห็นว่ามีคนทั่วไปก่อเหตุแบบนี้ แม้ว่ากระทรวงมหาดไทยจะเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องทะเบียนอาวุธปืนแต่การใช้หรือข้อยกเว้นให้ใช้ได้อยู่ในส่วนของทหาร ตำรวจ ดังนั้นทางหน่วยงานต้องไปหาข้อบังคับที่ครอบคลุมมาให้ได้ จะมาปฏิเสธความรับผิดชอบใดๆ ไม่ได้เลย

ส่วนกรณีอาวุธปืนที่ให้ตำรวจซื้อเองหลังจากออกราชการแล้วจะต้องทำอย่างไรต่อ ทนายรณณรงค์ ได้มองว่า ถือว่าปืนเป็นทรัพย์สินส่วนตัว ถึงจะออกจากราชการแล้วก็เป็นทรัพย์สินของเขา แต่ประเด็นสำคัญคือใบครอบครองอาวุธปืน เขายังมีสิทธิ์ได้ใช้อยู่หรือไม่ ซึ่งตำรวจจะต้องไปออกกฎระเบียบหรือต้องไปคุยกับทางมหาดไทยว่า ถ้าบุคคลคนนี้พ้นสภาพไปด้วยเหตุที่ไม่สมควร ยังสมควรให้ครอบครองอาวุธปืนได้อยู่ไหม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่อยากให้มหาดไทยเป็นคนออกระเบียบ เพราะถ้ามหาดไทยเป็นคนออกระเบียบมันจะครอบคลุมประชาชนทั้งหมดแทนที่จะใช้บังคับแค่กับ สตช. โดยตรง ควรใช้บังคับกับแค่ตำรวจทหารเท่านั้น

📍เกิดเหตุซ้ำเพราะเรารับมือกับเหตุการณ์ที่ผ่านมาไม่ดีพอ?

ส่วนเหตุที่เกิดขึ้นสองสามปีที่ผ่านมา เหตุการณ์กราดยิงส่วนใหญ่จะเป็นตำรวจ ทหารที่ก่อเหตุ ตนคิดว่าเรารับมือกับสถานการณ์การกราดยิงที่โคราชได้ไม่ดีพอ และไปยกย่องคนก่อเหตุให้เป็นฮีโร่ ไปช่วยเหลือญาติ ช่วยครอบครัวเขา มันเลยทำให้เคสนี้อาจจะไปถอดแบบมาจากโคราช เห็นว่าเป็นฮีโร่ก็เลยลงมือทำ

เราต้องกลับมาถามคำถาม ทั้งสื่อมวลชน สังคม ต้องกลับมาถามว่า เราจะยังให้ค่าให้ราคาญาติผู้ก่อเหตุทำไม ควรตัดสิทธิ์ในการได้เงินเยียวยาทุกด้าน ต้องไม่ได้แม้แต่บาทเดียว เพื่อให้รอบหน้าถ้าคนที่คิดจะก่อเหตุกราดยิงอีกจะได้รู้ว่า ครอบครัวคุณที่ยังอยู่จะเจออะไรบ้าง เราอาจจะพูดขัดหลักสิทธิมนุษยชน แต่รอบนี้มันแตกต่างจากเคสปกติทั่วไป

📍โดนคดี เรื่องยาเสพติด สภาพจิตใจอาจไม่ปกติ แต่ทำไมยังสามารถครอบครองอาวุธปืนได้อีก?

ทางด้าน รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล นักอาชญาวิทยา ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการ คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต ให้สัมภาษณ์ในรายการ workpointTODAY LIVE ว่าเหตุครั้งนี้ ประเด็นแรก อดีตข้าราชการตำรวจที่ถูกให้ออกจากราชการแล้ว แต่ยังมีอาวุธปืนมาใช้ก่อเหตุยิงประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้

ประเด็นที่สอง การติดตามประเมินสภาพจิตใจเขาหลังจากถูกให้ออกจากราชการ ซึ่งแน่นอนในหน่วยงานตำรวจถือว่าทำเต็มที่ในการดำเนินการทางวินัยและอาญาในการดำเนินคดีฟ้องศาล แต่หลังจากออกจากราชการแล้วควรมีหน่วยงานมาดูต่อเรื่องสุขภาพจิต ความพร้อมในการครอบครองอาวุธปืน แม้ว่าจะเป็นปืนที่ซื้อด้วยเงินส่วนตัว แต่คำถามคือถ้าเขาโดนคดีเรื่องยาเสพติด สภาพจิตใจอาจไม่ปกติ แต่ทำไมยังสามารถครอบครองอาวุธปืนได้อีก ตรงนี้เป็นเรื่องที่ต้องถอดบทเรียน

เมื่อถามว่ากรณีของผู้ก่อเหตุที่เป็นอดีตตำรวจ และเมื่อเดือนก่อน มีทหารก่อเหตุในกรมยุทธศึกษาทหาร และยังมีเหตุทหารกราดยิงที่โคราช ในมุมมองนักอาชญาวิทยาเรื่องนี้สะท้อนอะไร

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ บอกว่า ตำรวจ ทหาร และหน่วยงานความมั่นคงถูกฝึกเรื่องการใช้อาวุธปืนอยู่แล้ว ฉะนั้นจะมีความชำนาญในการใช้อาวุธมากกว่าประชาชนทั่วไป แต่ว่านอกเหนือจากการใช้อาวุธปืนเป็นแล้ว เขาจะต้องมีการถูกปลูกฝังจิตสำนึกในการใช้อาวุธปืนที่ถูกต้องเพื่อปกป้องดูแลตัวเอง สังคม ชุมชน ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เขาจะไม่มีการสอนให้ใช้อาวุธปืนมาทำร้ายคนอื่นโดยเฉพาะประชาชนผู้บริสุทธิ์ อันนี้เป็นประเด็นที่สำคัญ

กรณีนี้อาจต่างจากการกราดยิงที่โคราช คือ ตอนนั้นยังรับราชการทหารอยู่ และใช้อาวุธปืนราชการ แต่กรณีนี้ออกจากราชการตำรวจแล้ว และไม่ได้ใช้อาวุธปืนของทางราชการในการก่อเหตุ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ เราต้องมาดูช่องโหว่ ช่องว่าง ว่าทำไมคนคนหนึ่งยังสามารถใช้อาวุธปืนมาไล่ยิงประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้อีก เราน่าจะต้องมาทบทวนมาตรการ

ส่วนปัญหากรณีตำรวจซื้อปืนเองเป็นปัญหาเชิงระบบ กรณีให้บุคคลคนหนึ่งไม่เฉพาะตำรวจ ทหาร สามารถครอบครองอาวุธปืนอย่างถูกกฎหมาย แต่ประชาชนทั่วไปก็เช่นกัน หมายความว่า ตอนที่ขออนุญาตซื้ออาวุธปืน มีการตรวจสอบสภาพจิตใจแค่ไหน สมมติว่าสภาพจิตใจปกติ แต่ผ่านไป 10 15 20 ปีโดยเฉพาะคนที่พฤติกรรมเสี่ยง มีปัจจัยเสี่ยงของการใช้อาวุธปืนไปทำร้ายบุคคลอื่น เช่น มีการใช้สารเสพติดมาเป็นระยะเวลานาน การมีความเครียด ความกดดัน ถูกกดให้ออกจากงาน เหล่านี้อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เขานำปืนที่ได้รับการอนุญาตมาอย่างถูกต้องมาทำร้ายคนอื่นก็ได้

หมายความว่าต้องไปดูผู้ที่ครอบครองอาวุธปืน โดยเฉพาะตำรวจ ทหาร ที่ถูกให้ออกจากราชการ ถูกดำเนินคดี โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับการฆ่า ยาเสพติด อาจต้องได้รับการพิจารณาว่า ควรไหมที่จะครอบครองอาวุธปืนต่อ หรือควรถูกยึดไป ก็ต้องมีมาตรการทางกฎหมายต่อไป นั่นหมายความว่าก็ต้องมีการแก้กฎหมายตรงนี้เรื่องอาวุธปืน

📍5-10 ปีที่ผ่านมา ยาเสพติดยังเป็นปัญหาอันดับหนึ่งของประเทศไทย

เมื่อถามว่า ยาเสพติดอาจเป็นประเด็นหลักในการก่อเหตุครั้งนี้ ในฐานะนักอาชญาวิทยามองว่าสถานการณ์ยาเสพติดในไทยเป็นอย่างไร

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ บอกว่า จากข้อมูลที่ตนวิเคราะห์พบว่า 5-10 ปีที่ผ่านมา ยาเสพติดยังเป็นปัญหาอันดับหนึ่งของประเทศไทย ในเรือนจำประมาณ 80% เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และบางส่วนมีการทำความผิดอย่างอื่นพ่วงด้วย เช่น วิ่งราวทรัพย์

ประการต่อมาต้องมาวิเคราะห์สาเหตุที่ยังแก้ปัญหายาเสพติดไม่ได้อย่างเป็นรูปธรรม แน่นอนว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เป็นปัญหาทั่วโลก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในประเทศไทยเราอาจต้องมาดูเรื่องนี้มากขึ้น

อีกกรณีหนึ่งที่เราต้องมาถอดบทเรียนทั้งกรณีที่อดีตข้าราชการตำรวจ ทำไมยังมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองได้ ในเมื่อเขาเกี่ยวข้องกับสารเสพติดมีพฤติกรรมก้าวร้าว เราควรต้องมีการแก้ไขกฎหมายอย่างไรหรือไม่ คนที่มีพฤติกรรมเหล่านี้ควรจำกัดเรื่องการเข้าถึงอาวุธ

สองหน่วยงานที่มีการลงโทษไปแล้ว นโยบายทางอาญานโยบายของรัฐเองจะต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างไรหรือไม่ ที่จะมาดำเนินการต่อหลังออกจากราชการแล้ว เช่น การประเมินสภาพจิตใจหรือสภาพสมาชิกที่อยู่ในชุมชนหรือคนรอบข้างเขา เยียวยาพูดคุยกับเขาให้ลดความเครียด ความกดดันอย่างไรหรือไม่ ที่จริงแล้วถ้าเขาก่อเหตุลักษณะแบบนี้ ถูกดำเนินคดีออกจากราชการ ความจริงเขาก็รับสารภาพรับโทษ วันหนึ่งก็กลับเนื้อกลับตัวกลับมาทำดีได้เป็นคนดีของสังคมได้ เพราะคนที่โดนคดีอาญา ก่อคดีฆ่าคนตาย พยายามฆ่า วันหนึ่งก็ออกจากคุกมา กลับตัวกลับใจก็ได้ ตรงนี้เป็นประเด็นที่เราต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบมาดูกันต่อ

ประการต่อมาปัญหาของอาวุธปืนกระสุนปืนในสังคมไทยนอกจากคดีนี้แล้ว ก่อนหน้านี้ก็มีคดีอาวุธปืนอื่นๆ เราจะมีมาตรการในการควบคุมอาวุธปืนทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมายอย่างไรบ้าง

📍”กราดยิงไม่ใช่เรื่องไกลตัวของประเทศไทย

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ บอกว่า ตอนนี้เรื่องกราดยิงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว เราเคยได้ยินจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ในยุโรป เกิดเหตุกราดยิงแต่ปรากฏว่าวันนี้เกิดในเมืองไทย ไม่ใช่ครั้งแรก ไม่ใช่ครั้งที่สอง ซึ่งหมายความว่าหน่วยงานผู้รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร หน่วยงานความมั่นคง มหาดไทย ต้องมาดูในเรื่องของการทำงานบูรณาการประสานงานกันกับภาคเอกชนภาคประชาชน และขณะเดียวกันภาคเอกชน ภาคประชาชนก็ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ สมมติว่าวันหนึ่งเกิดเหตุ จะรับมืออย่างไรอย่างที่บอกว่า วิ่ง ซ่อน สู้ เพื่อเอาตัวรอดจากสถานการณ์แบบนี้ ในทางปฏิบัติทำได้จริงมากน้อยเพียงใด

📍สร้างกลไกป้องกันฉุกเฉินในชุมชน ทุกคนต้องร่วมกัน

ซึ่งเรื่องยาเสพติดและการปฏิบัติเพื่อเอาตัวรอดจากสถานการณ์เช่นนี้ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น และผอ.ศูนย์คุณธรรม มีมุมมองคล้ายๆ กัน โดยมองว่า ยาเสพติดกำลังโหมโรงเข้ามา แล้วทำให้ยิ่งแย่หนักเข้าไปอีก ซึ่งบุคคลคนนั้นถ้าสุขภาพทางจิตไม่ดี แต่ได้รับการเยียวยาดูแลเยียวยาทันที และอยู่ในกลไกเฝ้าระวัง กรณีที่จะมีเหตุอะไรเกิดขึ้น วันนั้นดูแล้วมีสัญญาณที่ไม่ดี จะนำมาสู่กลไกป้องกันฉุกเฉินทันที

โดยกลไกป้องกันฉุกเฉินนั้น ชุมชนแต่ละชุมชนต้องไปออกแบบกันเอง ให้เข้ากับชุมชนตัวเอง เช่น ผู้นำท้องถิ่นมีการกำหนดพื้นที่ ทำแผนที่ในชุมชนของตนเอง ว่ามีพื้นที่ใดเป็นพื้นที่เปราะบางอ่อนไหว อย่างหลักสากลโลก คือ โรงเรียน สถาบันการศึกษาทุกแห่ง โรงพยาบาล สถานปฏิบัติธรรม และแหล่งชุมชนที่มีคนรวมตัวอยู่เยอะ ล้วนเป็นจุดเปราะบาง และเมื่อเป็นจุดเปราะบาง จะมีการสร้างระบบเฝ้าระวัง การตรวจอาวุธ หรือแม้กระทั่งการซ้อมแผนฉุกเฉิน ซึ่งต้องเป็นนโยบายทั่วประเทศ เพราะสมัยนี้ระบบอินเทอร์เน็ต เป็นสังคมที่ไร้พรมแดน อย่างเหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในต่างประเทศและมันอาจจะมาเกิดขึ้นที่ประเทศเราก็ได้ อย่างเรื่องกราดยิงไม่เคยมีมาก่อน แต่กลับมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่โคราชและต่อเนื่องมาถึงกรณีนี้ ซึ่งก็ช็อกโลก เป็นเหตุการณ์ที่เศร้าสลด ดังนั้นตนเห็นว่า ควรต้องมีการซ้อมแผน วางแผนปฏิบัติการการเฝ้าระวังและการหยุดเหตุการณ์ทันที

📍อาชีพที่มีความเสี่ยงสูงต้องมีระบบประเมินความเครียด

รศ.นพ.สุริยเดว มองว่า เหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีหลังที่คนก่อเหตุเป็นทหาร ตำรวจนั้น ไม่อยากให้ไปเฉพาะเจาะจงกับอาชีพเพราะเดี๋ยวจะกลายเป็นว่าเรากำลังเพ่งเล็งอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ แต่จะขอใช้คำว่าอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง เราต้องยอมรับว่าว่าอาชีพบางอาชีพอยู่ในความเสี่ยงจริงและอยู่ในความเครียดจริง

โดยอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงอาจจะต้องประเมินดูบุคลากรภายในแต่ละอาชีพจะว่ามีความเครียดสะสมไหม สุขภาวะทางจิตเป็นอย่างไร และอาจจะต้องมีหน่วยงานที่เป็นศูนย์กลางตั้งภายในอาชีพนั้น ยกตัวอย่างเช่น กรณีตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติอาจจะมีศูนย์กลางหรืออาจจะมีเซนเตอร์ในการที่จะสามารถเข้าสู่กระบวนการดูแลสภาวะทางจิตใจและน่าจะเป็นนโยบายที่ครอบคลุมทั้งหมดแล้วสร้างระบบเฝ้าระวังด้วย

อย่างไรก็ตาม กลไกการเฝ้าระวังที่ดีที่สุดคือครอบครัว จะทำได้ดีกว่าเพื่อนร่วมงานเพราะบางทีอยู่ในที่ทำงานก็มีความตึงเครียดกันทุกคน แต่เวลาที่กลับไปอยู่บ้านก็จะเห็นพฤติกรรมบางอย่าง เช่น ก้าวร้าวหรือไม่ หรือสามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างปกติดีหรือไม่ หรือว่ามีอะไรที่เป็นเหตุให้สงสัยหรือไม่ ซึ่งกรณีครอบครัวจะกลายมาเป็นกรณีของการส่งเสริมและเฝ้าระวังสุขภาวะทางจิตและทุกอาชีพที่มีความเสี่ยง ควรจะสร้างกลไกพวกนี้ขึ้นมากับการเข้าถึงบริการสุขภาวะทางจิตในการคัดกรองและรวมทั้งเฝ้าระวัง

นอกจากนี้อาจจะมีแบบประเมิน อย่างกรณีศูนย์คุณธรรมเองมีแบบประเมินความเครียด แบ่งเป็น สีเขียว เหลือง แดง เพื่อประเมินความเครียด โดยกลไกนี้นอกจากใช้ในที่ทำงานแล้ว ให้เกิดขึ้นที่ครอบครัวและเปิดเพิ่มไปในระบบชุมชนด้วย ให้ชุมชนช่วยเป็นหูเป็นตา ให้เป็นหน้าที่ของทุกคนในการที่จะไม่อยู่เฉย ถ้าเห็นว่ามีคนที่มีพฤติกรรมความเสี่ยงที่อยู่ในชุมชนของเรา และเขาไม่ได้เข้าสู่กระบวนการรักษาหรือไปคุยแล้วเขาไม่ได้สนใจด้วย น่าจะต้องบังคับให้เข้าสู่การบำบัดเข้าสู่กระบวนการรักษาได้หรือไม่

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า