SHARE

คัดลอกแล้ว

ปี 2565 ที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งปีที่เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน ความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ปะทุขึ้นหลังการเดินทางเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ รวมไปถึงสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีที่ตึงเครียดขึ้นถึงขั้นสุดนับตั้งแต่ปี 2560 จากชนวนไฟสงครามที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ได้เคยขู่ไว้เมื่อครั้งอยู่ในตำแหน่งว่า จะจัดการกับเกาหลีเหนือว่าจะต้องเจอกับ ‘ไฟและความเดือดดาล’ หากยังไม่หยุดทำในสิ่งที่เป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ อย่างการเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

คำขู่ดังกล่าว นอกจากจะไม่สร้างประโยชน์ใดๆ ให้กับคาบสมุทรเกาหลีที่ยังคงร้อนระอุมาอย่างต่อเนื่อง ยังดูเหมือนจะยิ่งเป็นการท้าทาย กระตุ้นให้ นายคิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ เร่งความเร็วในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์มากขึ้นไปอีก

ล่วงมาถึงปี 2565 ความตั้งใจของผู้นำเกาหลีเหนือที่จะสร้างความก้าวหน้าด้านนิวเคลียร์ เริ่มปรากฏชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการที่นายคิม ประกาศตัวเป็นรัฐติดอาวุธนิวเคลียร์ พร้อมกับอนุมัติให้ทหารสามารถยิงอาวุธนิวเคลียร์ได้ทุกที่หากมีภัยคุกคามเข้ามาในประเทศ 

เดินหน้าพัฒนานิวเคลียร์อย่างดุเดือด  

สำนักข่าวบีบีซี เผยแพร่บทวิเคราะห์ เกี่ยวกับการพัฒนานิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ชี้ว่า เกาหลีเหนือมีความเคลื่อนไหวสำคัญมาตลอดปี 2565 ทั้งจากการเดินหน้ายิงทดสอบขีปนาวุธอย่างไม่หยุดหย่อนมาตั้งแต่ต้นปี จนทำให้ปีที่แล้ว ถือเป็นปีที่เกาหลีเหนือยิงทดสอบขีปนาวุธมากสุดในประวัติศาสตร์ เริ่มตั้งแต่ขีปนาวุธพิสัยใกล้ ที่พัฒนามาเพื่อมุ่งโจมตีเป้าหมายในเกาหลีใต้ ตามมาด้วยขีปนาวุธพิสัยกลางที่โจมตีไกลถึงญี่ปุ่น จนมาถึงปลายปี ได้มีการยิงทดสอบขีปนาวุธ ‘ฮวาซอง 17’ (Hwasong 17) ซึ่งเป็นขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) ที่คาดกันว่ามีพิสัยยิงไกลถึงแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯ 

นอกจากนี้ นายคิมยังลดกฎเกณฑ์การใช้อาวุธนิวเคลียร์ลงเพื่อเปิดโอกาสให้กองทัพสามารถใช้อาวุธได้หากมีความจำเป็น หลังจากที่เขาประกาศให้เกาหลีเหนือเป็นรัฐติดอาวุธนิวเคลียร์เมื่อเดือน ก.ย. โดยมีการระบุอย่างชัดเจนว่า อาวุธเหล่านี้ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อใช้ในการป้องกันสงครามอีกต่อไป แต่สามารถนำมาใช้ในเชิงรุกเพื่อเอาชนะศัตรูหากมีภัยคุกคามเข้ามาในประเทศ 

ในวันสุดท้ายของปี 2565 นายคิมยังประกาศเจตนารมณ์อย่างชัดเจนในที่ประชุมสรุปการดำเนินการตลอดปีของคณะกรรมการกลางพรรคแรงงานว่า เป้าหมายปี 2566 ของเกาหลีเหนือคือ การเร่งขยายคลังแสงนิวเคลียร์ของประเทศแบบทวีคูณ และพัฒนาขีปนาวุธรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากสหรัฐฯ และเกาหลีใต้

โดย นายอันคิต พันดา ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธนิวเคลียร์จากมูลนิธิคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ (Carnegie Endowment for International Peace) ได้วิเคราะห์ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ว่า เป้าหมายของนายคิมในการเร่งขยายคลังแสงนิวเคลียร์ของประเทศ อาจรวมถึงการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีที่มีขนาดเล็กลง เพื่อนำมาใช้สู้กับเกาหลีใต้ นั่นหมายความว่า เกาหลีเหนือจะต้องผลิตระเบิดนิวเคลียร์ขนาดเล็ก เพื่อให้สามารถบรรจุลงในขีปนาวุธที่มีขนาดเล็กได้ แต่ที่ผ่านมา ยังไม่มีหลักฐานว่าพวกเขาสามารถผลิตระเบิดเหล่านั้นได้แล้ว แม้การข่าวจะเฝ้าจับตามาตลอดในปี 2565 แต่พบว่าไม่ได้มีการทดสอบอาวุธชนิดนี้เกิดขึ้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ปี 2566 อาจจะยังเป็นปีที่ดีสำหรับคาบสมุทรเกาหลี 

ส่วนความเคลื่อนไหวอื่นๆ อย่างเรื่องของดาวเทียมสอดแนม ที่เกาหลีเหนือออกมาประกาศว่าจะส่งขึ้นสู่วงโคจรในช่วงฤดูใบไม้ผลิ หรือการทดสอบขีปนาวุธ ICBM ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และถูกอ้างว่าสามารถยิงไปได้ไกลถึงแผ่นดินสหรัฐฯ จนถึงตอนนี้ยังไม่มีอะไรน่ากังวลมากกว่าขีปนาวุธรุ่นปัจจุบันที่พวกเขามีอยู่ 

นายพันดา อธิบายว่า หากจะสันนิษฐานความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นใน 2566 นี้ เกาหลีเหนืออาจจะเดินหน้าทดสอบ ปรับแต่ง และขยายคลังแสงนิวเคลียร์อย่างแข็งกร้าวเพื่อต่อต้านการคว่ำบาตรของประชาคมโลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ปรากฏให้เห็นมาตั้งแต่เข้าปีใหม่เพียงไม่กี่ชั่วโมง พวกเขาก็เริ่มทำการยิงทดสอบขีปนาวุธแล้ว และการยิงขีปนาวุธที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ อาจจะไม่ใช่ยิงเพื่อทดสอบอีกต่อไป แต่จะเป็นการฝึกซ้อมใช้งานขีปนาวุธ เนื่องจากเกาหลีเหนือกำลังเตรียมการใช้ขีปนาวุธหากมีความขัดแย้งเกิดขึ้น 

การเจรจานิวเคลียร์น่าจะยังไม่เกิดขึ้น

สำหรับคำถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการเจรจาปลดอาวุธนิวเคลียร์ บีบีซีระบุในบทวิเคราะห์ว่า ดูเหมือนในขณะนี้จะเกิดขึ้นยาก หลังการเจรจานิวเคลียร์ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2562 พังลง เนื่องจากที่ผ่านมา นายคิม จอง อึน แสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าเขาไม่ต้องการที่จะกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจาใดๆ อีกต่อไป และยังมีภารกิจอีกหลายอย่างที่เขาต้องการทำ 

อย่างไรก็ตาม ยังมีบางทฤษฎีที่เชื่อว่า การเจรจาปลดนิวเคลียร์อาจจะเป็นไปได้ แต่ต้องรอจนกว่าที่นายคิมจะบรรลุเป้าหมายสูงสุด ซึ่งก็คือการพิสูจน์ให้โลกรับรู้ได้อย่างประจักษ์ว่า เกาหลีเหนือสามารถทำลายล้างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ได้ เมื่อนั้น นายคิมอาจจะกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจาตามเงื่อนไขที่เขาวางไว้ 

ราเชล มินยอง ลี นักวิเคราะห์ด้านเกาหลีเหนือที่ทำงานให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ มานาน 20 ปี กล่าวถึงสถานการณ์ในขณะนี้ว่า ปีที่แล้ว เกาหลีเหนือหันกลับไปเข้าใกล้จีนกับรัสเซียมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นได้ที่พวกเขากำลังเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศ และหากพวกเขาไม่ได้มองว่าสหรัฐฯ มีความจำเป็นต่อความมั่นคงและความอยู่รอดอีกต่อไป อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อลักษณะและรูปแบบการเจรจานิวเคลียร์ในอนาคต

คาบสมุทรเกาหลีจะตึงเครียดมากขึ้นกว่าเดิม

ความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นมาตั้งแต่เดือน พ.ค. ปีที่แล้ว หลังจากที่นายยุน ซอกยอล ประธานาธิบดีคนใหม่ของเกาหลีใต้ เข้ารับตำแหน่ง โดยนายยุนเป็นผู้นำที่ถูกมองว่าเป็นสายแข็งกร้าวในเรื่องความมั่นคงของชาติ และได้เคยประกาศจะใช้ไม้แข็งกับเกาหลีเหนือมาตั้งแต่หาเสียงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี เพราะเชื่อว่าวิธีการที่ดีที่สุดในการหยุดเกาหลีเหนือก็คือการตอบโต้ด้วยกำลังทางทหาร

ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่เกาหลีใต้ได้ประธานาธิบดีคนใหม่ สถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีจึงเป็นไปด้วยความผันผวน ท่ามกลางการยั่วยุไปมาระหว่างฝ่ายเกาหลีเหนือ กับเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ที่เริ่มกลับมาดำเนินการซ้อมรบร่วมครั้งใหญ่ ซึ่งได้สร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลเปียงยาง จนมีการยิงขีปนาวุธตอบโต้ออกมาเป็นระยะๆ ขณะที่ฝ่ายพันธมิตรสองประเทศตอบโต้ด้วยการส่งเครื่องบินรบบิกเฉียดชายแดน และยิงปืนใหญ่ลงสู่ทะเล

ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี 2565 สถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง เมื่อเกาหลีเหนือส่งโดรน 5 ลำรุกล้ำน่านฟ้ากรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ ทำให้กองทัพเกาหลีใต้ยิงสกัด แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความท้าทายให้กับกองทัพเกาหลีใต้อย่างมาก เพราะทำให้เกิดคำถามและสร้างความกังวลในหมู่ประชาชนถึงจุดอ่อนในการป้องกันตนเองขึ้นมา ซึ่งโดยปกติ ชาวเกาหลีใต้จะไม่ได้ใส่ใจอะไรกับการดำเนินการทางทหารของเกาหลีเหนือ 

แชด โอ’แคร์รอลล์ ซีอีโอโคเรียริสก์กรุ๊ป (Korea Risk Group) ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ที่จับตาความเคลื่อนไหวของเกาหลีเหนือ เปิดเผยกับบีบีซีว่า เขาคิดว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้ ปี 2566 มีโอกาสเกิดการเผชิญหน้ากันโดยตรงระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ และสถานการณ์อาจรุนแรงจนถึงขั้นมีการสูญเสีย 

“การตอบโต้จากฝ่ายเหนือหรือฝ่ายใต้ อาจบานปลายจนถึงจุดที่เราอาจได้เป็นการยิงตอบโต้กันจริงๆ ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม” โอ’แคร์รอลล์ระบุ โดยอธิบายว่า ความผิดพลาด หรือการคำนวณผิดเพียงครั้งเดียว อาจทำให้สถานการณ์พลิกกลับอย่างไม่คาดคิด 

สถานการณ์ภายในอาจยังยากลำบาก 

ในส่วนของสถานการณ์ภายในเกาหลีเหนือ ราเชล มินยอง ลี มองว่า ปี 2566 จะเป็นปีที่ยากลำบากอีกปีสำหรับชาวเกาหลีเหนือ เนื่องจากพวกเขาต้องอยู่ภายใต้การปิดพรมแดนเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 มานานถึง 3 ปีแล้ว ทำให้ทุกอย่างต้องถูกระงับแม้แต่เรื่องการค้าขาย ซึ่งองค์กรด้านมนุษยธรรมหลายแห่งเชื่อกันว่า สถานการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารและยาอย่างรุนแรงขึ้นในเกาหลีเหนือ และก็ชัดเจนมากขึ้นเมื่อนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ เคยออกมาพูดถึงเรื่องวิกฤตการณ์ขาดแคลนอาหาร ในช่วงกลางปี 2564 

หลังจากนั้นในเดือน พ.ค. 2565 เกาหลีเหนือยอมรับว่าพบการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศครั้งแรก และไม่กี่เดือนถัดมา ก็ออกมาประกาศอ้างว่าสามารถควบคุมการระบาดได้แล้ว ต่อมาในปี 2566 

ความหวังของเกาหลีเหนือเริ่มกลับมาอีกครั้ง หลังจากที่จีนกำลังจะเปิดประเทศในปี 2566 นี้ โดยมีรายงานว่า รัฐบาลเปียงยางได้เร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนตามแนวชายแดน เพื่อเตรียมความพร้อมรับการเปิดประเทศของจีนแล้ว 

อย่างไรก็ตาม ลีมองว่า สถานการณ์ของเกาหลีเหนือยังคงมีความเสี่ยง แม้จะมีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้ว แต่ระบบสาธารณสุขในประเทศที่ยังอ่อนแอ อาจทำให้มีความเสี่ยงและพวกเขาก็รับรู้ดี ดังนั้นเธอจึงวิเคราะห์ว่า “หากไม่เกิดภาวะฉุกเฉินขึ้นจริงๆ เช่น เศรษฐกิจประเทศใกล้ล่มสลาย ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่เกาหลีเหนือจะตัดสินใจเปิดพรมแดนเต็มรูปแบบอีกครั้ง จนกว่าที่การระบาดจะสามารถควบคุมได้ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีน”

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งพัฒนาการสำคัญของเกาหลีเหนือที่กำลังถูกจับตา ซึ่งก็คือ ผู้ที่จะมาสืบทอดตำแหน่งผู้นำต่อจากนายคิม จอง อึน ซึ่งที่ผ่านมา แผนการสืบทอดตำแหน่งผู้นำของเกาหลีเหนือไม่เคยมีการเปิดเผยออกมา แต่เมื่อปีที่แล้ว นายคิมได้พาลูกสาวออกมาปรากฏตัวต่อประชาคมโลกเป็นครั้งแรก ว่ากันว่าเด็กหญิงคนดังกล่าวมีชื่อว่า ‘คิม จูแอ’ 

ภาพของเด็กหญิงคิม จูแอ ได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อของรัฐบาลเกาหลีเหนือ โดยเป็นภาพในขณะที่เธอเข้าร่วมงานกิจกรรมด้านทหาร และมีการเผยแพร่ออกมาอีกครั้งเมื่อวันปีใหม่ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้หลายคนจับตาว่า เด็กผู้หญิงคนนี้อาจจะเป็นผู้ที่ได้รับเลือกให้มาสืบทอดตำแหน่งต่อจากพ่อของเธอ

บีบีซีปิดท้ายบทวิเคราะห์ว่า สถานการณ์ในเกาหลีเหนือมักเป็นอะไรที่ไม่อาจคาดเดาได้ และในปี 2566 นี้ ก็คาดว่ายังคงมีอีกหลายเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ และจะเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนเหมือนกับปีที่ผ่านมาๆ 

 

ที่มา https://www.bbc.com/news/world-asia-64123657

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า