SHARE

คัดลอกแล้ว

ซองฮเยคโยกลับมาแล้ว ใน ‘Now, We Are Breaking Up’ หลังจากหายไปจากจอถึง 3 ปี หลังจากซีรีส์เรื่อง ‘Encounter’ เมื่อปี 2018 และเป็นการกลับมาที่ร้อนแรงพอสมควรกับ Viu Original Series เรื่องนี้ที่ประเดิมตอนแรกด้วยเรต 19+ โดยซงฮเยคโย รับบท ฮายองอึน ดีไซน์เนอร์แบรนด์แฟชั่น วัย 38 ที่มี one night stand หรือความสัมพันธ์แบบข้ามคืนกับช่างภาพหนุ่ม ก่อนจะได้กลับมาพบกันอีกครั้งในฐานะคู่หมายของเจ้านายตัวเอง

นอกจากความสวยของ ซงฮเยคโย กับ ความหล่อปรอทแตก เท่และแสนดีของ จางกียงในบท ยุนแจกุก ช่างภาพจากเมืองปารีสแล้ว อย่างหนึ่งที่ทำให้ ‘Now, We Are Breaking Up’ สนุกคือตัวละครผู้หญิงทั้งหลายในเรื่องและความ 19+ นิด ๆ ของเนื้อหาที่สะท้อนภาพชีวิตจริงของผู้หญิงเกาหลีได้อย่างดีในหลายแง่มุม

เช่นเรื่อง One night stand หรือความสำคัญแบบข้ามคึน ที่จริงนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราได้เห็นนางเอกของเรื่องมีความสัมพันธ์รูปแบบนี้ อย่างใน ‘Search: WWW’ ที่จางกียงเคยรับบทนำเมื่อปี 2019 พระเอกนางเอกก็เร่ิมต้นความสัมพันธ์ในรูปแบบนี้ หรือใน ‘My Secret Romance’ นางเอกกับพระเอกก็มีอะไรกันตั้งแต่ตอนแรกเช่นกัน แต่ความต่างของเรื่องอื่น ๆ กับกับ ‘Now, We Are Breaking Up’ คือความสัมพันธ์คืนเดียว แบบไม่ผูกมัดในเรื่องนี้ถูกเล่นให้เป็นเหมือนส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ของนางเอก ดูเป็นเรื่องค่อนข้างธรรมดา ต่างกับบางเรื่องที่ดูเหมือนจะเป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นตอนเมา และพอตื่นขึ้นมาตอนเช้าก็ต้องหนีไปก่อนอีกฝ่ายจะตื่น

Penthouse

เกาหลีใต้ดูค่อย ๆ เปิดกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ ในเรื่องเซ็กส์และฉากรักบนจอ ทำให้มีซีรีส์เรตอาร์ที่เน้นเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่ที่มีกระแสมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ‘Misty’ หรือ ‘Secret Affair’ แต่หลังจาก World of Married Couple ที่มีเรต 19+ ไ้ด้เรตติ้งอันดับ 1 ของละครช่องเคเบิ้ลในเกาหลี ก็ดูเหมือนจะมีละครเรต 19+ ผ่านจอบ่อยขึ้น อย่างในปีนี้เราก็ได้ดู Penthouse ที่เป็นชู้กันข้ามชั้นข้ามบ้านไปมาจนวุ่นวายแบบยาว ๆ ต่อเนื่องอีก 2 ซีซั่น หรือ Nevertheless ที่ชวนไปดูผีเสื้อกันเสียหลายตอน การที่มีฉากพวกนี้ให้เห็นมากขึ้นอาจจะสะท้อนให้เห็นว่าเกาหลีเริ่มขวยเขินกับเรื่องเซ็กส์น้อยลง

การวัฒนธรรมและทัศนคติของผู้หญิงที่ค่อย ๆ เปิดกว้างขึ้น และกระแสสตรีนิยมมีมาตลอด เนื่องจากกระแสเรื่องสิทธิสตรีในเกาหลีใต้เริ่มมากตั้งแต่ยุค 1920s ถ้าใครเคยดูซีรีส์เก่า ๆ อาจจะเคยเจอนางเอกใน My Name is Kim Samsoon ปี 2005 พูดเรื่องใช้ถุงยางบนหน้าจอ หรือเจอตัวละครแบบเพื่อนนางเอกแซ่บ ๆ บ้าง แต่กระแสเฟมินิสต์กลับมาปะทุตั้งแต่คดีฆาตกรรมผู้หญิงในห้องน้ำที่คังนัมในปี 2016 ตามมาด้วย  #MeToo movement ในปีถัด ๆ มา ที่ผู้หญิงออกมาประนามการคุกคามและประทุษร้ายทางเพศเป็นกระแสไปทั่วโลกทำให้ยุคทองของเฟมินิสต์ได้กลับมาอีกครั้งในเกาหลีใต้ พ่วงด้วยกระแสการเรียกร้องสิทธิให้กับกลุ่ม LGBTQI+ ด้วย

My Name is Kim Samsoon

บทความหนึ่งของ The Guardian ทีตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2017 ว่าด้วยมุมมองเรื่องเซ็กส์ในเกาหลีใต้ที่เริ่มเปลี่ยนไประบุไว้ว่า วัฒนธรรมที่มีมาอย่างยาวนานว่าเซ็กส์เป็นเรื่องต้องห้ามกำลังหายไป แทนที่ด้วยการมีความสัมพันธ์แบบสบาย ๆ ที่ไม่ได้โฟกัสเรื่องการแต่งงานเท่าเดิม และก็มีจำนวนคนไข้ที่ขอคุมกำเนิดมากขึ้น

ดูเหมือนว่าสังคมจะเปิดกว้างขึ้น เปิดกว้างระดับที่ชีวิตจริงคนเกาหลีมี One night stand กับง่ายเหมือนในซีรีส์ไหม? รายงานปีนี้ของ ‘World Journal of Men’s Health’ ระบุว่ามีเพียง 13.1% ของกลุ่มตัวอย่าง 2500 คนบอกว่าใน 12 เดือนที่ผ่านมาพวกเขาเคยมีเหตุการณ์ทางเพศ (sexual event) กับ คนที่ไม่ได้คบจริงจัง (casual partner) และในจำนวนนั้นมีผู้หญิงอยู่ ประมาณ 9.38% เท่านั้น

ถ้าอย่างนั้นคนเกาหลีคิดว่าคบกันนานเท่าไหร่ถึงจะมีอะไรกันได้? เซอร์เวย์ของปีนี้จาก Statista ก็ระบุไว้ว่า 52.6% ของผู้ชาย และ 34.4% ผู้หญิง จะมีอะไรกับแฟนหลังคบกัน 1 เดือนหรือน้อยกว่านั้น แต่ก็ยังมี 4.1% ที่บอกว่าจะไม่มีอะไรกันจนจะแต่งงาน ฉะนั้นก็อาจจะสรุปได้ว่า ถึงแม้ว่าจะมีอะไรกันได้เร็วพอสมควร แต่พวกเขาก็อาจจะยังต้องการความสัมพันธ์ที่ชัดเจนอยู่ไม่ใช่ว่า เจอกันปุ๊ปไปด้วยกันได้เลยปั๊ปอย่างในซีรีส์

เอาจริง ๆ แค่จะให้คนมีอะไรกันยังดูจะยาก เพราะมีรายงานของมหาวิทยาลัยยอนเซระบุว่าจากกลุ่มตัวอย่าง 2,182 คนในกรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้มีคนกว่า 36% ที่ไม่ได้มีอะไรกับใครมาปีนึงแล้ว

แต่อย่างหนึ่งที่เหมือนกับในซีรีส์แน่ ๆ คือทัศนคติของฮายองอึน นางเอกที่เห็นว่างานมาอันดับหนึ่ง ส่วนความรักความสัมพันธ์เป็นเรื่องที่เสียมากกว่าได้ อย่างนี่เธอพูดไว้ในเรื่องว่า

‘รางวัลเป็นชิ้นเป็นอันที่มองเห็น และจับต้องได้ทำให้หัวใจฉันเต้นแรงกว่าผู้ชายเยอะ ตั้งแต่ความเหนื่อยล้าของฉัน เริ่มชนะฟีโรโมนในตัว ฉันก็ปล่อยให้ตัวเองใจเต้นไม่ได้อีก’

คงมีชาวเกาหลีใต้หลายคนที่คิดแบบนี้ เพราะมีข่าวจาก Korea Times บอกว่าปี 2020 คนเกาหลีใต้ในช่วงวัย 30 ยังอยู่เป็นโสดกันกว่า 42.5% และถ้าหากนับแค่ผู้หญิงในวัย 30+ จะมีหญิงโสดอยู่ 33.6%ในบทความบอกว่าบริษัททำสถิติคาดว่าเพราะเรื่องโรคระบาดและสภาพเศรษกิฐเป็นหนึ่งในส่วนที่ทำให้คนแต่งงานช้าลงไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าเราดูสถิติรวมตั้งแต่ก่อนหน้านั้นก็จะเห็นว่ามีผู้หญิงจำนวนน้อยลงเรื่อย ๆ ที่ เชื่อว่าเกิดมาต้องแต่งาน โดยเปอร์เซ็นร่วงจาก 62% ในปี 2008 เหลือแค่ 44% ในปี 2018

ฮายองอึน จึงอาจจะเป็นตัวแทนของคนในกระแส #NoMarriage หรือ ไม่แต่งงาน ด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่น ไม่อยากเสียโอกาส เสียหน้าที่การงานเพราะบริษัทหลายที่มีการบีบให้ออกหลังจากพนักงานท้องหรือมีลูกเพราะไม่อยากจ่ายค่าจ้างระหว่างลาคลอด หรือพอแต่งงานแล้วต้องทั้งเลี้ยงลูกและทำงานหาเงินไปด้วย ซึ่งเมื่อมีลูกแล้วหางานทำยากก็ต้องยอมไปทำงานรายได้ต่ำและเมื่อผู้หญิงเองก็เลี้ยงดูตัวเองได้ดี การมีแฟน การแต่งงานก็อาจจะดูไม่ใช่เรื่องน่าสนใจอีกต่อไป จนหลายคนนิยามว่าการมีลูกเป็นความหรูหราที่พวกเขาไม่สามารถจ่ายได้

บางคนไปไกลกว่าการไม่แต่งงานสู่การเข้าร่วม 4B Movement ซึ่งเป็นกระแสการปฏิเสธ 4 อย่างที่เคยถูกมองว่าจำเป็นสำหรับการเกิดเป็นผู้หญิง ชื่อสี่บีมันมีความหมายจากคำที่ออกเสียงขึ้นต้นด้วยเสียง B สี่อย่าง คือ ไม่แต่งงาน (비혼) ไม่มีความสัมพันธ์โรแมนติก (비연애) ไม่มีลูก (비출산) และ ไม่มีเซ็กส์ (비섹스)

หญิงสาวชาวเกาหลีชื่อ Bonnie Lee เคยอธิบายเรื่องนี้ไว้ในการสัมภาษณ์ที่ตีพิมพ์อยู่หลายที่ ทั้ง Daily Mail, Straits Time, และ South China Morning Post ว่าทำไมสำหรับเธอและผู้หญิงอีกหลายคน การแต่งงานมีลูกไม่ใช่เรื่องที่ดีอีกต่อไป และอะไรทำให้พวกเธอลุกขึ้นมาต่อต้านแนวคิดแบบปิตาธิปไตยในประเทศ เพราะสังคมคาดหวังให้ผู้หญิงอยู่บ้าน ดูแลลูก และครอบครัวของสามีโดยที่แทบไม่มีความช่วยเหลืออะไรจากรัฐ และความเก่ง ความก้าวหน้าในอาชีพอาจจะกลายเป็นไร้ค่าเมื่อแต่งงานและก้าวเข้าสู่การเป็นแม่บ้าน หรือถึงจะฝืนทำงานต่อการที่แต่งงานมีลูกมักเป็นปัญหากับการเลื่อนตำแหน่งทำให้ชีวิตติดหล่ม  ปัญหาเหล่านี้ นอกจากนี้บางคนยังมองว่าการอยู่ในความสัมพันธ์เป็นความเสี่ยงอย่างการโดนปล่อยคลิปแอบถ่ายหลังจากที่เลิกกันกับแฟนเก่า

จึงไม่น่าแปลกใจที่อัตราการเกิดของเกาหลีใต้ต่ำที่สุดในโลก เฉลี่ยแล้วมีเด็กเกิดเพียง 0.84 คน ต่อประชากรผู้หญิงในปีที่แล้ว ซึ่งคนเกิดน้อยก็อาจจะหมายความว่าเด็กรุ่นหลัง ๆ อาจจะต้องแบกรับการดูแลผู้สูงอายุจำนวนมากในอนาคต และอาจจะพ่วงมาด้วยการขาดแรงงานซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศอย่างแน่นอน ทั้งที่รัฐบาลเกาหลีพยายามสุดตัวทั้งลงแรงและงบประมาณ เพื่อสนับสนุนให้คนมีแฟน มีลูก มีการจัดนัดบอด เพิ่มเงินจูงใจและสวัสดิการที่ดีขึ้นและอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ก็ดูจะไม่ได้ผลเท่าไหร่

เมื่อเรารู้ข้อมูลทั้งหมดนี้เราอาจจะเห็นได้ว่า ‘Now, We Are Breaking Up’ กำลังบอกอะไรเราอยู่ด้วยตัวละครผู้หญิง ที่ไม่แคร์การมีความสัมพันธ์ แต่เราเดาได้ไม่ยากว่าเดี๋ยวเธอจะต้องได้เจอรักแท้แน่นอน มันอาจจะเป็นการให้ความหวังกับผู้หญิงในสังคมว่า แม้ว่าเธอจะอายุ 38 และมี one night stand มาก่อนก็ไม่ได้หมายความว่าเธอจะสิ้นหวังกับชีวิต เธออาจจะได้เจอรักแท้ก็ได้ แค่ก้าวออกไปมีความสัมพันธ์กับใครสักคนก่อนเถอะ คล้าย ๆ กับที่ อาจารย์ยอมยูชิกให้สัมภาษณ์ไว้กับ Insider ว่า เขาคิดว่าการพูดถึงเรื่องอัตราการเกิดเป็นเรื่องที่ไกลไปด้วยซ้ำ ถ้าคนยังไม่มีเซ็กส์กันเลยตั้งแต่แรก

ส่วนตัวละครอย่าง ยุนแจกุก พระเอกของเรา ก็อาจจะเป็นภาพที่เอามาโน้มนำแนวความคิดของผู้ชายเกาหลียุคใหม่บางส่วนที่กลับถอยหลังไปมีแนวความคิดแบบอนุรักษ์นิยมสวนกระแสความเท่าเทียมที่กำลังสะพัดไปทั่วโลก โดยมีหลายเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า ‘เฟมินิสต์’ กลายเป็นคำหยาบไปแล้วสำหรับบางกลุ่ม เช่นการที่ไอดอลอ่านหนังสือ ‘Kim Ji-young, Born 1982’ นิยายที่สะท้อนความลำบากของการเกิดเป็นผู้หญิงในเกาหลีใต้ ทำให้แฟนคลับชายหลายคนออกมาแบนเธอ หรือการที่นักกีฬาหญิงอย่าง อันซาน ที่คว้าเหรีญทองให้กับประเทศมากมายออกมาโดนประนามเพียงเพราะเธอไว้ผมสั้น ที่ทำให้เธอดูไม่เป็นผู้หญิงพอสำหรับบางคนเหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ตอนนี้เกาหลีใต้อาจจะต้องการตัวละครอย่างยุนแจกุก ที่ไม่ได้สนใจอายุ อดีตของผู้หญิงที่เขาคบ หรือหวาดกลัวว่าการที่เธอได้รับการศึกษาดี ทำงานเก่งจะข่มเขา มากกว่าครั้งไหน ๆ

Now, We Are Breaking Up จึงไม่ได้เป็นซีรีส์เรื่องราวความรักต่างวัยที่เกิดขึ้นเพราะความสัมพันธ์ชั่วข้ามคืนเท่านั้น แต่เหมือนเป็นแว่นขยายที่พาเราไปส่องเรื่องบนเตียงของชาวเกาหลีใต้ที่เกี่ยวพันไกลไปถึงอนาคตของชาติ เพราะเซ็กซ์อาจจะเป็นสิ่งที่เกาหลีใต้ต้องการมากที่สุดตอนนี้

 

อ้างอิง

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า