ผู้ตรวจการแผ่นดิน แจง ผู้ได้รับบำนาญพิเศษรับเบี้ยผู้สูงอายุได้ ชี้เป็นเงินคนละก้อน ไม่เหมือนบำนาญปกติ จี้หน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งแก้ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน
วันที่ 5 ก.พ. 2564 พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกรณีการเรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ได้รับซ้ำซ้อนกับเงินบำนาญพิเศษ อาทิ นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิต กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย นางแก้วกาญจน์ วสุพรพงศ์ รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง กรมบัญชีกลาง น.ส.ทิวาพร ผาสุข ผู้อำนวยการกองบริหารการรับ-จ่ายเงินภาครัฐ กระทรวงการคลัง พล.ต.อรรถพล แผ้วพาลชน หัวหน้าอัยการทหาร กระทรวงกลาโหม และนางอภิญญา ชมพูมาศ รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ
พล.อ.วิทวัส กล่าวภายหลังการประชุมว่า ตามที่นายศรีสุวรรณ จรรยา ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนขอให้พิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหากรณีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง มีหนังสือแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในหลายจังหวัดเรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เนื่องจากได้รับเงินบำนาญพิเศษตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ก่อนแล้ว ทำให้ผู้สูงอายุที่ถูกเรียกคืนเงินดังกล่าวเดือดร้อนกันทั่วประเทศนั้น วันนี้ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและหาทางออกร่วมกัน โดยเห็นว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 ที่มีการกำหนดเงินบำนาญพิเศษเป็นลักษณะต้องห้ามการรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วย ทั้งที่ตามระเบียบการจ่ายเงินผู้สูงอายุก่อนหน้านี้ไม่ได้กำหนดไว้ อีกทั้งเงินบำนาญพิเศษเป็นคนละก้อนกับเงินบำนาญปกติ เพราะการจะได้รับเงินบำนาญพิเศษจะต้องเกิดจากการที่ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติแล้วเกิดความพิการ ทุพลภาพ หรือเสียชีวิต ซึ่งในกรณีที่ทุพลภาพยังได้รับบำนาญตามปกติและได้รับบำนาญพิเศษ และตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ 2494 ยังกำหนดว่า ในบำนาญพิเศษที่จ่ายให้กับบิดามารดาให้ได้รับตลอดชีวิต ดังนั้นจึงเห็นว่าผู้สูงอายุที่ได้รับเงินบำนาญพิเศษมีสิทธิที่จะได้รับเบี้ยผู้สูงอายุด้วย
พล.อ.วิทวัส กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมจึงมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการปรับปรุงแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 อาศัยอำนาจตามมาตรา 33 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 โดยให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน โดยหวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการโดยไม่ชักช้า นอกจากนี้ยังเห็นว่า ควรแก้ไขบทเฉพาะกาลให้ผู้ที่ได้รับเงินไปแล้วโดยสุจริต ไม่ต้องไปเรียกเงินคืนจากบุคคลนั้นๆ โดยเทียบเคียงกับคำพิพากษาศาลฎีกาหมายเลขคดีที่10850/2559 ซึ่งถือว่าเป็นลาภมิควรได้ แต่ได้รับเงินไว้โดยสุจริต จึงไม่ต้องคืนเงินดังกล่าว ส่วนกรณีบุคคลที่ได้รับบำนาญพิเศษและได้นำเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมาคืนภาครัฐแล้วนั้น ก็ถือว่าท่านแสดงสิทธิเจตนารมณ์ที่จะมาคืน ไม่ได้อยู่ในฐานะที่เดือดร้อน หรือเป็นผู้มีรายได้น้อย แสดงว่ามีเจตนาว่าจะไม่รับเงินก้อนนี้ แต่หากมีการแก้ไขระเบียบดังกล่าวแล้ว ผู้สูงอายุที่ได้รับบำนาญพิเศษก็อาจจะขอรับสิทธิรับเบี้ยผู้สูงอายุหลังจากนั้นได้ แต่คงไม่สามารถขอรับเงินที่มีการคืนไปแล้วได้