SHARE

คัดลอกแล้ว

ความเหลื่อมล้ำในสังคม ที่หลายๆ คนต้องผจญกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากการเลิกจ้าง กลายเป็นคนตกงานไม่มีรายได้ ลุกลามไปถึงปัญหาภายในครอบครัว การหย่าร้าง ปัญหาสุขภาพจิตและสุขภาพกาย ปัญหาจากสิ่งเสพติด สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลผลักดันให้หลาย ๆ ชีวิตต้องออกมาจาก “บ้าน” ที่เคยอบอุ่น กลายเป็นคนไร้บ้าน อาศัยหลับนอนในพื้นที่สาธารณะ เช่น สถานีขนส่ง สวนสาธารณะ ริมคลอง ข้างถนน ใต้สะพานลอย

ปัญหานี้ถูกซ่อนตัวอยู่ในมุมอับของสังคมมาช้านาน โดยจากข้อมูลสถิติการแจงคนไร้บ้านปี 2562 เป็นการสำรวจครอบคลุมทุกพื้นที่ทุกจังหวัดในประเทศไทย พบว่ามีจำนวนคนไร้บ้านทั้งหมด 2,719 คน โดยเฉพาะจากความเปราะบางตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้สถิติของคนไร้บ้านเพิ่มมากขึ้น อย่างในกรุงเทพฯ มีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 30

จึงเป็นที่มาของกิจกรรมสำคัญ ในวันที่ 23 พ.ค. 2566 นำโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรุงเทพมหานคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีครือข่าย ได้รวมพลังกันเปิดโครงการแจงนับคนไร้บ้าน One Night Count ลงพื้นที่สำรวจ เก็บข้อมูลเบื้องต้นจำนวนคนไร้บ้าน ปี 2566 ภายในคืนเดียว พร้อมกัน 77 จังหวัด

ความร่วมมือกันในครั้งนี้ นับเป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันทางด้านประชากรกลุ่มเฉพาะ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. มีเป้าหมายและเจตนารมณ์การทำงานที่สอดคล้องกันเป็นไปตามพระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557 เพื่อนำไปสู่การจัดทำสถานการณ์ทางประชากรและวิเคราะห์สถานการณ์ทางประชากร ทั้งในทางมิติวิชาการ มิติวัฒนธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของคนไร้บ้าน ซึ่งจะนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอทางนโยบาย ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ประชากรของคนไร้บ้านในประเทศและเพื่อ “ป้องกัน แก้ไข ฟื้นฟู และพัฒนาคุณภาพชีวิต” ของกลุ่มเป้าหมาย คนเร่ร่อนและคนไร้บ้านให้สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ด้วยตัวเองอันเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดและยกระดับชีวิตของผู้คนเหล่านั้นได้อย่างแท้จริง

 “One Night Count” แจงนับเพื่อยกระดับชีวิตคนไร้บ้าน

นายอนุกูล ปิดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า กลุ่มคนไร้บ้าน เป็นกลุ่มประชากรที่สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมและสุขภาพ จำเป็นต้องมีการคุ้มครองทางสังคม และสร้างพลังทางสังคม การแจงนับคนไร้บ้าน (One Night Count) มอบหมายให้ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 77 จังหวัด และเจ้าหน้าที่ส่วนกลาง กองคุ้มครองสวัสดิภาพและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตลงพื้นที่แจงนับ 1 คืน เพื่อนำฐานข้อมูลมาขับเคลื่อนนโยบายระดับพื้นที่ ระดับประเทศ เตรียมแผนผลักดันนโยบายการเข้าถึง สิทธิสุขภาพ สวัสดิการต่าง ๆ ศักยภาพเข้าถึงที่อยู่อาศัย และอาชีพ ออกแบบระบบการคุ้มครองดูแลและจัดบริการสวัสดิการสังคมอย่างตรงจุด

One Night Count เป็นการแจงนับคนไร้บ้านเพื่อที่จะหาตัวเลขที่แท้จริงเพื่อนำไปกำหนดเป็นข้อเสนอนโยบายในการขับเคลื่อนการดูแลคนไร้บ้าน โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ถือว่ามีจำนวนค่อนข้างมาก เป็นการเริ่มต้นของทุกภาคีรวมตัวกัน ส่วนสาเหตุที่ต้องเป็น One Night Count เพราะกิจกรรมนี้จะเริ่มตั้งแต่ 20.00 น. เป็นเวลา คนไร้บ้านจะกลับมาที่พักจุดเดิม ๆ มารวมตัวกันเพื่อพักผ่อน จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ได้ข้อมูลเป็นตัวเลขที่คาดเดาได้ใกล้เคียงที่สุด แล้วนำไปประเมินมิติต่าง ๆ เพื่อให้ทราบความต้องการของพวกเขา อะไรที่เขาต้องการ สิทธิอะไรที่ยังขาดอยู่  และทำงานร่วมกันเพื่อออกแบบสวัสดิการ รวมถึงครอบครัวเขาต้องการสนับสนุนอะไร เราต้องทำงานเชิงยั่งยืน เพื่อให้คนเหล่านี้กลับมาแข็งแรงเหมือนพวกเรา

“คนไร้บ้านไม่ได้เป็นปัญหาภาระของสังคม เพียงแต่เขาไม่ได้เข้าถึงสิทธิ เราพูดถึงวาทกรรม “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” หรือในส่วนของการขจัดความยากจน คนกลุ่มนี้ขาดโอกาสในเรื่องสิทธิทำให้เขาอยู่ในภาวะที่ไม่ได้รับสิทธิและโอกาสมีงานทำ การใช้ชีวิตปกติ จึงต้องมีการร่วมกันหลายภาคีเพื่อให้ทราบถึงความต้องการ ได้กลับไปใช้ชีวิตสอดคล้องกับความต้องการของเขา คนไร้บ้านมีความทับซ้อนในการขาดโอกาส ต้องมาดูว่าสิทธิอะไรบ้างที่เขาพึงมี เขายังไม่ได้สิทธิอย่างเรา ๆ ต้องทำให้เขาได้รับสิทธิเท่าเทียมกับเราทุกคน”

สสส. ผลักดันโมเดล “ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง” ให้คนไร้บ้านตั้งหลักชีวิต

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ความเปราะบางที่นำมาสู่การเป็นคนไร้บ้าน คือ เศรษฐกิจและครอบครัว จากการศึกษาโอกาสเกิดคนไร้บ้านหน้าใหม่เกี่ยวข้องทั้ง รายได้ รัฐสวัสดิการ พฤติกรรมการดื่ม ความพิการ การอยู่ในภาวะไร้บ้านเป็นเวลานาน ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาวะทางจิต สถานการณ์สุขภาพคนไร้บ้านพบ สูบบุหรี่สูงถึง 55% ดื่มสุรา 41% แต่ผู้เข้ารับบริการศูนย์พักพิงคนไร้บ้าน กลับมีอายุเฉลี่ยสูงกว่าคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ ในขณะที่ประชากรพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 30 อายุเฉลี่ยที่น้อยกว่าและสาเหตุที่ซับซ้อน อย่างปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาครอบครัว ปัญหาสังคม และสถานการณ์กดทับอย่างโควิด-19 เร่งปัญหาทุกอย่างให้มากขึ้น

แสดงให้เห็นว่า “นโยบายที่อยู่อาศัยมีความสำคัญ” สสส. ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย พัฒนาโครงการ “ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง” สสส. สนับสนุน 60 % คนไร้บ้านสมทบ 40 % ในอัตราค่าเช่า 1,700 – 2,200 บาท/เดือน โมเดลนี้ ต่อยอดโครงการนำร่อง “บ้านสวัสดิการที่อยู่อาศัยคนจนเมือง” ปรับพื้นที่ตึกร้างให้เป็นที่อยู่อาศัยราคาถูก โดย พม. และ กทม.อยู่ระหว่างการศึกษาให้คนไร้บ้าน หรือคนที่อยู่ในภาวะก้ำกึ่งต่อการไร้บ้าน สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิต ลดความเสี่ยงจากภาวะไร้บ้านถาวร คนไร้บ้านต้องตั้งหลักชีวิตได้ นี่คือเจตนารมณ์ของ สสส.

“การแจงนับ คือหัวใจที่ทำให้เขาเริ่มมีตัวตน จากการศึกษามาตั้งแต่ปี 2558 ทำให้เรามองเห็นตัวตนของเขา ก็นำมาสู่มาตรการต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในมาตรการที่เราพัฒนามาจากฐานข้อมูลเหล่านี้ คือ ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง เป็นการทดลองดู เพราะหลาย ๆ คนยังติดอุปสรรคทั้งการมีบ้านและการกลับไปหาครอบครัว การที่เรามีส่วนแชร์ให้เขาร่วมผ่อนในการเช่าที่พัก ในโมเดลที่ทำมาจึงประสบความสำเร็จดี หลายคนอาชีพก็มั่นคงขึ้น หลายคนก็เริ่มถอนตัวจากคนไร้บ้านไปได้ ซึ่งโมเดลนี้จะขยายออกไปทำในอีกหลาย ๆ ที่ ทุกคนต้องอย่าลืมว่าประชากรไทยไม่ได้เหมือนกัน มีกลุ่มที่เราเรียกว่า กลุ่มเปราะบาง กลุ่มแต้มลบในสังคม ที่ต้องเริ่มต้นจากหาแต้มให้เสมอกับคนทั่วไปก่อน ที่จะสร้างเสริมสุขภาพที่จำเป็นได้”

ภาคีเครือข่ายกำลังหนุนพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง

ขณะที่ภาคีเครือข่ายในภาคการศึกษา รศ.ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า  “เราต้องการสังคมที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โครงการแจงนับคนไร้บ้านเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เป็นตัวอย่างที่ดีของพื้นฐานและแก่นสาระสำคัญที่สุดของการเป็นมนุษย์ นั่นก็คือการอยู่ร่วมกัน การให้เกียรติและเคารพกัน ให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพอย่างน้อยคือ สิทธิขั้นพื้นฐาน ส่วนบทบาทในภาคการศึกษา สถาบันฯได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นเก็บข้อมูล ยิงพิกัด GPS เพื่อให้ทราบตำแหน่งเชิงภูมิศาสตร์ในการเคลื่อนตัวของประชากรเป็นอย่างไรในอนาคต เช่น ในอีก 3 ปีข้างหน้ามีการแจงนับใหม่จะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงกระจุกตัวเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะส่งมอบให้กับกระทรวงพัฒนาสังคมฯ และพร้อมทำหน้าที่สนับสนุนทุกสิ่ง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และก้าวไปสู่อนาคตร่วมกัน”

ส่วนทางด้าน นางจตุพร โรจนพาณิชย์ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวว่า ภารกิจหลัก คือ การพัฒนาสังคมและจัดสวัสดิการสังคม สังคมสงเคราะห์ การคุ้มครองพิทักษ์สิทธิ์กลุ่มเป้าหมายเพื่อให้สวัสดิการสังคมให้แก่ผู้ไร้ที่พึ่งก็เป็นภารกิจหลักด้วยเช่นกัน ขอยืนยันในเจตนารมณ์ว่า ให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม และการเข้าถึงโอกาส เข้าถึงสวัสดิการของรัฐ อยากให้คนไร้บ้าน คนเร่รอนและกลุ่มเปราะบางทางสังคมทุกกลุ่มได้รับเท่าเทียมกับคนอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน  พร้อมพัฒนาการให้บริการทั้ง 5 มิติ สุขภาพ  ที่อยู่อาศัย การศึกษา อาชีพ รายได้ หรือการเข้าถึงสิทธิ์การเข้าถึงบริการของภาครัฐ

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า การยกระดับคนไร้บ้านเป็นเรื่องสำคัญ กทม. คงไม่สามารถที่จะทำได้เพียงลำพัง หากขาดความร่วมมือช่วยเหลือจากภาครัฐ และภาคีเครือข่าย ที่ผ่านมาเราก็มีกิจกรรมที่ทำร่วมกันอยู่ เช่น จุดสวัสดิการทำให้เห็นจำนวนผู้ไร้บ้านหน้าใหม่ จากสถาบันเอเชียศึกษาจุฬาฯ นำข้อมูลมาให้กับกรุงเทพมหานครได้เห็นว่า 70-80% เป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่ทั้งหมด ซึ่งจุดสวัสดิการมีส่วนช่วยดึงคนเข้าระบบได้มาก และในปีงบประมาณหน้า 2567 จะก้าวสู่สเตปที่ 2 ทำบ้านอิ่มใจ ที่สะพานรวมชาติ คาดว่าจะได้ประมาณ 200 คน เป็นที่อยู่อาศัยระยะเปลี่ยนผ่าน จะทำให้เราสามารถกลับไปสู่ชีวิตที่มั่นคงและทำให้ปริมาณคนไร้บ้านน้อยลงในที่สุด

เสียงสะท้อนจาก “คนไร้บ้าน” ทำให้หลายคนได้รับรู้ปัญหา อีกมุมหนึ่งของสังคม แรงงานที่ไร้ตัวตน ชีวิตของบางคน..ที่ไม่ได้มีต้นทุนชีวิต หรือ ต้นทุนชีวิตติดลบ ต้องผ่านประสบการณ์ความล้มเหลว เจ็บปวดทั้งทางกายและจิตใจ  จนต้องหลีกหนีจากครอบครัว หนีจากสังคมที่เคยอยู่ ออกมาผจญกับความยากลำบากตามที่สาธารณะต่างๆ มีชีวิตแบบวันต่อวัน การหยิบยื่นโอกาส สวัสดิการ และความต้องการที่พวกเขาเหล่านั้นต้องการจริง จะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนไร้บ้านหรือกลุ่มคนเปราะบางเหล่านั้น กลับมาเป็นประชาชนที่มีคุณภาพทัดเทียมกับคนในสังคมได้อีกครั้ง

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า