Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

การแพร่ระบาดของไวรัส “โคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019” เป็นไปอย่างกว้างขวางและรุนแรง จนองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ระหว่างประเทศ จึงถือเป็นภาวะวิกฤติที่โลกเผชิญอยู่ มิใช่เฉพาะประเทศจีนเท่านั้น !

ประเทศไทยอยู่ในสถานะที่ได้รับการแพร่ระบาดของโรคนี้ ในลำดับที่หนึ่ง หากไม่นับประเทศจีน ซึ่งเป็นต้นทางของโรคนี้ โดยไทยมีผู้ป่วยติดเชื้อ 19 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ส่งกลับบ้านได้แล้ว 7 คน และมีคนขับรถแท็กซี่1 คนที่ติดเชื้อ จากการรับส่งผู้โดยสารชาวจีน (https://www.bbc.com/thai/thailand-51321489) นับเป็นสถานการณ์ที่สร้างความหวั่นวิตก ให้กับประชาชนคนไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะนับตั้งแต่ การประกาศพบเชื้อไวรัสโคโรนา ที่แพร่ระบาดในจีน เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 เป็นต้นมา ยอดของผู้ติดเชื้อในไทยก็เพิ่มขึ้นตลอด เนื่องจากประเทศไทย เป็นจุดหมายการเดินทางท่องเที่ยว ทำธุรกิจของชาวจีนปีละกว่า 10 ล้านคน เราจึงพบชาวจีนในพื้นที่สาธารณะทั่วไป ทั้งรถโดยสาร ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร สนามบิน ฯลฯ
คำถามจึงเกิดขึ้นมากมายว่า รัฐบาลไทยมีมาตรการอย่างไร ต่อการแก้ไขภาวะวิกฤตินี้ ?

สิ่งแรกที่ต้องพิจารณาก็คือ รัฐบาลมองว่า การระบาดของไวรัสโคโรนานี้เป็น “ภาวะวิกฤติ” หรือไม่ ? ซึ่งหากดูจากการดำเนินการของรัฐบาล ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็น่าจะวิเคราะห์ได้ว่า รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ในระดับที่เป็นภาวะวิกฤตของชาติ ทั้งในด้านของการบริหารและการสื่อสาร !

ในด้านของการบริหารจัดการต่อกรณีนี้ มีเพียงกระทรวงสาธารณสุข ที่แถลงข่าวรายงานสถานการณ์ของจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต ในประเทศต่างๆ วันละ 1 ครั้ง ไม่มีศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ ( War Room ) ที่ทำหน้าที่บริหารจัดการแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการแต่อย่างใด

ในด้านของการสื่อสารทางการเมือง ก็มีเพียงรัฐมนตรีสาธารณะสุข นายอนุทิน ชาญวีระกูล ที่โพสต์เฟสบุ๊ค ในบัญชีส่วนตัว ตอบโต้การวิพากษ์วิจารณ์มาตรการของรัฐบาล อาทิ
“วันนี้เขายกเลิกไฟลต์จากอู่ฮั่นแล้ว สนามบินจะตั้งเครื่องตรวจคนไข้ ที่ GATE ของไฟลต์นี้หาสวรรค์วิมานทำไมล่ะคร้าบ คิดนิดนึงก่อนว่ากล่าวกันนะ ตอนนี้ยังควบคุมสถานการณ์ได้อยู่”

ในขณะที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกแถลงการณ์ในนามของรัฐบาล เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2563 เวลา 18.00 น. ในรายการโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับกรณีฝุ่น PM 2.5 และการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา โดยระบุว่า สถานการณ์ขณะนี้ ประเทศไทยควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนาได้ 100% และต่อมาในวันที่ 29 มกราคม 2563 ก็ได้กล่าวถึงกรณีนี้ว่า “ขณะนี้คนไทยในอู่ฮั่นมีความสุขดี”

การสื่อสารของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีสาธารณสุข ดังกล่าว ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบอย่างรุนแรง ในสื่อสังคมออนไลน์ มีการติดแฮชแท็ก #รัฐบาลเฮงซวย จนขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับหนึ่ง
จากการบริหารและการสื่อสารของรัฐบาล สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลมองกรณีของไวรัสโคโรนา เป็นปัญหาทั่วไป มิได้ยกระดับเป็นภาวะวิกฤติแห่งชาติ การจัดการในเรื่องของการอพยพคนไทยในอู่ฮั่นจึงเป็นไปอย่างล่าช้า ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ต่างอพยพคนของตนเอง ออกไปก่อนหน้านี้อย่างเร่งด่วนแล้ว

ประการสำคัญคือมาตรการการบริหารจัดการภาวะวิกฤตินี้ สหรัฐอเมริกา ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณะสุข ไปแล้วเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2563 โดยห้ามชาวต่างชาติที่เดินทางไปประเทศจีนในช่วง 2 สัปดาห์เข้าประเทศ ส่วนชาวอเมริกันที่เดินทางมาจากมณฑลหูเป่ย จะถูกกักตัวเพื่อดูอาการเป็นเวลา 14 วัน ทั้งนี้สหรัฐอเมริกา มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา จำนวน 7 ราย ในขณะที่ประเทศออสเตรเลีย ก็ประกาศมาตรการ ห้ามชาวต่างชาติ ที่เดินทางจากประเทศจีน เข้าประเทศเช่นเดียวกัน รวมทั้งอีกหลายประเทศก็เริ่มประกาศมาตรการที่เข้มงวดนี้ เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายอย่างเด็ดขาด

สำหรับประเทศไทย ยังไม่มีการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณะสุข และยังไม่มีมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าออกประเทศแต่อย่างใด อีกทั้งการอพยพชาวไทยในอู่ฮั่นก็จะดำเนินการในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ซึ่งล่าช้ากว่าหลายประเทศ รวมทั้งประเทศอินเดีย ที่อพยพคนกว่า สามร้อยคนกลับประเทศไปแล้วเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์

ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของความไม่พอใจของประชาชนต่อรัฐบาล ในการบริหารจัดการภาวะวิกฤตินี้ ทั้งในด้านของการป้องกัน การควบคุม การแก้ไข และการสื่อสาร !

การสื่อสารในภาวะวิกฤต ตามแนวทางของ Timmothy Combs นั้นรัฐบาล ต้องตระหนักเป็นประการแรกว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็น “ภาวะวิกฤติ” จึงจะดำเนินการแก้ไข ได้ตามความสำคัญของปัญหา เพราะเมื่อมองว่า ปัญหานี้มีความสำคัญส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อประชาชน รัฐบาลก็จะระดมสรรพกำลัง ทรัพยากรทั้งมวลมาจัดการ ไม่ปล่อยให้กระทรวงใดกระทรวงหนึ่งทำหน้าที่ตามลำพัง แต่ต้องเป็นการบูรณาการร่วมกันทั้งองคาพยพ

รัฐบาลควรเริ่มต้นจากการตั้งศูนย์เฉพาะกิจ เพื่อจัดการปัญหาไวรัสโคโรนา โดยเฉพาะ มีคณะทำงานประกอบด้วย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา ตัวแทนจากสาธารณสุข คมนาคม ท่องเที่ยว และพาณิชย์ ทำหน้าที่วางแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหา มีรัฐบาลเป็นเจ้าภาพ (ไม่ใช่เฉพาะกระทรวงสาธารณสุข) และนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

ศูนย์เฉพาะกิจนี้ ทำหน้าที่สื่อสารกับประชาชนถึงแผนการ การดำเนินการ และการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยรายงานข่าวสารอย่างรวดเร็ว ทันสถานการณ์ ต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะต้องรายงานทุกชั่วโมง ( มิใช่วันละ 1 ครั้ง อย่างที่ทำอยู่ ) ผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆทุกแพลตฟอร์ม เนื่องจากในภาวะวิกฤตินั้น ประชาชนต้องการข้อมูลข่าวสาร เพื่อประกอบการตัดสินใจในการดำเนินชีวิต หากรัฐบาลไม่ให้ข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอ ประชาชนก็ย่อมแสวงหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆด้วยตนเอง จึงเป็นที่มาของข่าวลือ ข่าวปล่อย ข่าวปิด ข่าวลวง ข่าวหลอก ( fake news ) แทนที่รัฐบาลจะ พยายามปิดข่าวลือ ดำเนินคดีกับคนแชร์ข่าว รัฐบาลควรแก้ปัญหาที่สาเหตุ คือการให้ข้อมูลข่าวสาร ที่ครบถ้วน ชัดเจน ทันเวลา และเพียงพอ ก็จะลดการแพร่กระจายของ fake news ลงได้ แต่การที่รัฐบาล ไม่ให้ข้อมูลทั้งหมด เพราะเกรงว่าประชาชนจะตื่นตระหนก เป็นวิธีคิดที่มองว่าประชาชนขาดวิจารณญาณ ไม่สามารถตัดสินใจด้วยเหตุผลได้ ยิ่งทำให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยในการบริหารของรัฐบาล และออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบมากขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลต่อการขาดศรัทธา ไม่ไว้วางใจ และไม่ให้ความร่วมมือต่อมาตรการของรัฐบาลในที่สุด

ในภาวะวิกฤติ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสื่อสาร “ยิ่งวิกฤติ ยิ่งต้องสื่อสาร” ดังนั้น การสื่อสารทางการเมืองของรัฐบาล จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารภาวะวิกฤติ หากรัฐบาลสื่อสารอย่างชัดเจน ตรงประเด็น ครบถ้วน ทันเวลา เท่าทันสถานการณ์ และเชื่อในวิจารณญาณ ของประชาชน รัฐบาลก็จะสามารถนำพาประชาชนผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ด้วยกัน

บทความโดย โดย รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า