ประเด็นร้อนในช่วงเช้าวันนี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง ‘วิลล์ สมิธ’ ตบหน้าพิธีกร ‘คริส ร็อก’ อย่างแรงบนเวทีออสการ์ เนื่องจากพิธีกรชายเล่นมุกตลกเกี่ยวกับทรงผมของภรรยาของวิลล์ที่ป่วยเป็นโรคอยู่
ดราม่าดังกล่าวเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว จนชื่อ Will Smith ขึ้นเทรนด์บนทวิตเตอร์อย่างทันที
แต่ถึงอย่างนั้น นี่กลับตรงกันข้ามกับเรื่องการประกาศรางวัลออสการ์ ที่แทบจะเป็นสิ่งที่ไม่มีใครสนใจ
บางความเห็นบนโซเชียลพูดด้วยซ้ำว่า “ถ้าไม่มีดราม่าเรื่องวิลล์ สมิธ คนคงไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวันนี้มีประกาศรางวัลออสการ์”
นั่นไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะสถิติหลายที่ยืนยันชัดเจนว่า งานมอบรางวัลออสการ์นั้นมีคนดูน้อยลงเรื่อยๆ ต่อเนื่องหลายปีแล้ว
เกิดอะไรขึ้นกับงานมอบรางวัลอันทรงเกียรตินี้ TODAY Bizview จะอธิบายให้ฟัง
[ จากโด่งดังสู่คนดูน้อยลง ]
เวทีออสการ์ (Oscars) และเอ็มมี (Emmys) เป็นสองงานประกาศรางวัลแห่งวงการบันเทิงที่เก่าแก่ที่สุด โดยพิธีมอบรางวัลเริ่มออกอากาศทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรกในทศวรรษที่ 1950
และด้วยเหตุผลมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การลุ้นว่าเหล่าเซเลบริตี้จะใส่ชุดอะไรมาเดินพรมแดง, คำกล่าวสุนทรพจน์ที่น่าทึ่งของผู้ได้รางวัล และผลรางวัลที่สุดเซอร์ไพรส์
เหล่านี้ล้วนดึงดูดผู้ชมมหาศาลให้มาเฝ้าอยู่หน้าจอเพื่อรอดูงานมอบรางวัลตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงยุค 1980-2000 ที่คนดูพุ่งขึ้นต่อเนื่องไปถึงระดับสูงสุด
จนค่าโฆษณาของงานประกาศรางวัลทั้ง 2 เวที มีมูลค่ามากกว่าโฆษณาในอีเวนต์อื่นๆ ซึ่งรวมถึงการแข่งขันซูเปอร์โบวล์เสียอีก
โดยในช่วงปี 2001-2010 ราคาค่าโฆษณาความยาว 30 วินาทีของงานประกวดออสการ์ มีราคาเฉลี่ยสูงถึง 1.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 50 ล้านบาท คนดูเฉลี่ยอยู่ที่ 39.3 ล้านคน
เรียกได้ว่าในช่วง 10 ปีนั้น ออสการ์ได้เงินค่าสปอตโฆษณา 30 วินาที รวมกันแล้วมากถึง 720 ล้านเหรียญ หรือราว 2.4 หมื่นล้านบาท
มนต์ขลังของออสการ์ที่เป็นเหมือนเครื่องการันตีคุณภาพให้กับหนัง นักแสดง ผู้กำกับ และคนเบื้องหลัง ทำให้หนังที่ได้รับรางวัล มีแนวโน้มที่จะมีคนดูมากขึ้น
และเพียงได้มีชื่อเข้าชิง ก็เรียกได้ว่าสตูดิโอหนังเตรียมรับทรัพย์เพิ่มขึ้นได้เลย
ตัวอย่างคือภาพยนตร์เรื่อง 1917 มียอดขายตั๋วเพิ่มขึ้น 63%, เรื่อง The Little Women เพิ่มขึ้น 21%, หนังเกาหลีอย่าง Parasite เพิ่มขึ้น 18%
ทั้งชื่อเสียงและโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้สตูดิโอภาพยนตร์มากมายพยายามอย่างมากด้วยวิธีต่างๆ เพื่อโปรโมตในสื่อทุกช่องทางเพื่อให้ผลงานเป็นที่รู้จัก จนมีชื่อเป็นผู้เข้าชิงรางวัล
โดยงบโปรโมตดังกล่าวเรียกว่า “For Your Consideration” หรือ FYC ซึ่งมีการประมาณการว่าสตูดิโอต่างๆ ยอมควักกระเป๋าจ่ายเงินราว 300,000-10,000,000 เหรียญสหรัฐฯ เพื่อโปรโมตเลยทีเดียว
อย่าง Netflix เองก็เคยทุ่มงบ FYC กว่า 16 ล้านเหรียญไปกับภาพยนตร์เรื่อง Roma ในปี 2018 แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ชัดเจนว่าเม็ดเงินดังกล่าวช่วยเพิ่มยอดผู้ชมได้อย่างไรบ้าง
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีสิ่งเย้ายวนใจผู้ชมมากมาย แต่ที่น่าตกใจคือในระยะหลังหรือกว่า 20 ปีมานี้ งานประกาศรางวัลทั้ง 2 เวที มีผู้ชมน้อยลงเรื่อยๆ ทุกปี
โดยในปี 1998 ซึ่งเป็นที่ออสการ์มีผู้ชมมากที่สุด มีผู้ชมอยู่ประมาณ 55.2 ล้านคน แต่ในปี 2021 ลดลงเหลือเพียง 10.4 ล้านคนเท่านั้น หรือลดลงมากถึง 81.2%
ส่วนเวทีเอ็มมีก็ไม่ต่างกัน ยอดผู้ชมระหว่างปี 1986-2021 ลดลงมากถึง 80.6%
ทำไมถึงเป็นแบบนั้น?
[ ขาดมาตรฐาน ]
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนสนใจงานประกาศรางวัลน้อยลง มาจากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงมาตรฐานการให้รางวัล
อย่างในปี 2015 ก็เกิดกระแส Oscars So White ซึ่งเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเวทีนี้เมินการให้รางวัลแก่คนผิวสี และให้ความสนใจคนขาวมากกว่า
นอกจากนี้ บางปีเหล่างานประกาศรางวัลก็ยังถูกวิจารณ์ในประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ บางปีก็โดนเรื่องขาดจริยธรรมสื่อในกระบวนการคัดสรรผู้เข้าชิง
[ คนดูทีวีน้อยลงอยู่แล้ว ]
นอกจากเรื่องมาตรฐานของการตัดสินแล้ว อีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนดูพิธีมอบรางวัลน้อยลง เป็นเพราะจำนวน ‘คนดูทีวี’ น้อยลงด้วย
โดยสถิติในปี 2021 พบว่า คนอเมริกันวัยผู้ใหญ่จำนวนมากถึง 44% ไม่รับทีวีผ่านเคเบิลหรือดาวเทียม และรับชมความบันเทิงผ่านบริการสตรีมมิ่งแทน
ซึ่งในจำนวนคนที่ไม่ดูทีวีนั้นเป็นคนอายุ 18-29 ปี สัดส่วนสูงถึง 61% และคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ยังบอกอีกว่า รายการส่วนใหญ่ที่พวกเขาอยากดูนั้นสามารถหาดูได้บนออนไลน์
เรียกได้ว่าคนรุ่นใหม่ไม่ดูทีวีกันแล้ว ยิ่งสร้างความท้าทายให้งานประกาศรางวัลขึ้นไปอีก
ความเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนให้เห็นในเรตติ้งที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดของออสการ์
โดยสถิติพบว่า เรตติ้งในผู้ชมอายุ 18-49 ปี ซึ่งเป็นผู้ชมกลุ่มเป้าหมายของออสการ์ ในปี 2021 มีเรตติ้งเพียง 2.2 ลดลงจากปี 2020 ถึง 60%
[ วัยรุ่นหันมาดูบนออนไลน์ ]
แต่ถึงอย่างนั้น Nielsen ระบุว่าการวัดความสนใจของออสการ์จาก ‘เรตติ้งทีวี’ ก็อาจเป็นเรื่องเก่าไปนิดนึงแล้ว
เนื่องจากงานมอบรางวัลได้รับความสนใจมากขึ้นในโลกดิจิทัลจากผู้ชมบนโซเชียลมีเดีย โดยบนยูทูบและทวิตเตอร์ มีคนเข้ามาดู (คลิปที่สำนักข่าวลง) และมีอินเตอร์แอกชั่นกับงานมอบรางวัลเป็นจำนวนมหาศาล
ซึ่ง Nielsen คาดว่าวัยรุ่นที่หายไปจากทีวีแบบเก่านั้นย้ายมาอยู่บนโลกออนไลน์แทนนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม เพื่อที่จะสู้กับจำนวนผู้ชมวัยรุ่นที่หายไป ในปี 2009 ออสการ์เลยเพิ่มประเภทของภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก 5 เป็น 10 ประเภท เพื่อให้ได้รับความสนใจจากผู้ชมกลุ่มที่กว้างขึ้น
จนในปี 2019 ก็มีการเพิ่มประเภทรางวัลเข้ามาอีก คือ ภาพยนตร์ยอดนิยม ซึ่งเป็นสิ่งที่ออสการ์ไม่เคยทำมาก่อน
[ รูปแบบงานไม่เคยมีอะไรใหม่ ]
Matt Donnelly ผู้สื่อข่าวบันเทิงอาวุโสของ CNBC บอกว่า เขาคิดว่างานประกาศรางวัลนั้นกำลังเผชิญกับปัญหามากมายหลายด้าน
และหนึ่งในนั้นมาจากการที่ไม่มีอะไรใหม่ และรูปแบบของงานแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยมาตลอด 50 ปีด้วย
แต่ทั้งออสการ์และเอ็มมีก็พยายามปรับโฉมการจัดงานอันแสนคร่ำครึของตัวเองให้แปลกใหม่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
-ในปี 2020 ทั้งสองเวทีได้ประกาศเกณฑ์ใหม่สำหรับภาพยนตร์และทีวีโชว์ที่จะได้เป็นผู้เข้าชิง
-ปีนี้กลับมามีพิธีกรดำเนินรายการอีกครั้ง และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ออสการ์มีพิธีกรหญิงถึง 3 คน
-ปี 2021 ออสการ์เปิดให้มีการโหวตรางวัล Fan Favorite ในทวิตเตอร์
แม้จะใส่ความพยายามลงไปมากมาย แต่ถึงอย่างนั้น ปีนี้ออสการ์กลับตัดการประกาศรางวัล 8 อันออกไปจากการถ่ายทอดสด สร้างความไม่พอใจให้กับแฟนๆ เป็นจำนวนมาก
เรียกได้ว่าปรับตัวก็ปรับไม่สุด ยังคงให้ความสำคัญกับยอดรับชมบนทีวีมากกว่า แถมยังสร้างแผลใหม่ให้ตัวเอง
ดังนั้นท้ายที่สุด คงต้องติดตามต่อไปว่าบรรดาพิธีประกาศรางวัลจะหากลยุทธ์ไหนมาใช้ จะปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอดต่อไปและเป็นที่สนใจของผู้คน แม้จะไม่มีเรื่องดราม่าเกิดขึ้นก็ตาม
อ้างอิง: