เคยนับกันไหมว่าในบ้านเรามีขวดน้ำยากี่ใบ ทั้งในห้องน้ำ ห้องครัว ใต้อ่างล้างจาน หรือตามโรงรถ ขวดพลาสติกที่อายุยืนกว่าชีวิตมนุษย์แต่กลับถูกใช้เพียงไม่กี่เดือนแล้วทิ้งไป
ทำไมการใช้ขวดซ้ำถึงเป็นไปได้ยากในชีวิตจริง?
แม้การสนับสนุนขวดแบบเติม (Refill) เป็นวิธีการที่ดีที่สุดตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) แต่วิธีการนี้ก็เหมือนปัญหาโลกแตกของนักสิ่งแวดล้อม เพราะไม่สามารถเอาชนะความสะดวกสบายของมนุษย์ในเมืองได้ เมื่อการซื้อจากห้าง ใช้เสร็จ ทิ้งลงถัง ย่อมง่ายกว่าการฝ่ารถติดเอาขวดเปล่ากลับไปเติมเป็นไหน ๆ
คอนเซ็ปต์ของการรีฟิลจึงไม่สามารถใช้ราคามาแข่งขันกับความสะดวกได้ แต่การนำวิชา UX (User Experience) จูงใจให้คนนำขวดกลับมาเติมเพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์อื่นอาจเป็นทางออก
ด้วยการทำให้ขวดไม่ใช่สินค้าที่เอาไว้ขายขาดอีกต่อไป แต่เป็นโมเดลบริการในลักษณะ Packaging-as-a-service เสมือนเป็นพาหนะให้เช่าเพื่อขนน้ำยากลับไปที่บ้านเพียงเท่านั้น
ที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นแบรนด์สินค้าบางแบรนด์ หรือร้านบางแห่งเริ่มให้บริการรีฟิลน้ำยาบ้างแล้ว รวมถึงผู้ประกอบการใหม่ๆ เองก็เริ่มให้ความสนใจโมเดลนี้มากขึ้นเช่นกัน
อย่างเช่น Re สตาร์ทอัพสิ่งแวดล้อมสัญชาติอังกฤษ ที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนประสบการณ์ผู้บริโภคให้สนุกกับการได้ใช้ขวดใบเดิม ยิ่งใช้ซ้ำยิ่งได้แต้ม
โดย Re เริ่มจากการจับมือกับ Unilever และผู้ผลิตสินค้า FMCG อื่นๆ ในอังกฤษ เพื่อป้อนน้ำยาเข้าสถานีเติมให้ผู้บริโภคยังคงได้ใช้น้ำยาที่คุ้นชิน
แรกเริ่มจะมีค่ามัดจำขวดสแตนเลสในราคา 2 ปอนด์ เมื่อน้ำยาในขวดหมดก็นำขวดเปล่ามาเติมโดยจ่ายแค่ค่าน้ำยาเท่านั้น หากไม่ต้องการขวดแล้วสามารถคืนลงตู้และได้เงินกลับมา 2 ปอนด์เช่นเดิม
ที่เจ๋งกว่านั้นคือเราไม่จำเป็นต้องใช้ขวดใบใดใบหนึ่งตลอดไป สามารถเอาไปหย่อนคืนที่ตู้ไหนก็ได้ แต่หากเราเริ่มใช้ขวดใหม่ ระบบสมาชิกจะยังคงอยู่ด้วยการเก็บข้อมูลผ่านแอปและ QR code จำนวนขวดที่ใช้ซ้ำจะถูกนับแต้มต่อเนื่อง เช่น สะสมการใช้ขวดซ้ำครบ 5 รอบ ทาง Re จะปลูกต้นไม้ให้หนึ่งต้น
จุดเปลี่ยนสำคัญคือการดึงยักษ์ใหญ่มาเล่นด้วย เนื่องจากบริษัท FMCG ระดับโลกอย่าง Unilever หรือ P&G มักมีภาพลักษณ์เป็นนายทุนใหญ่ทำลายสิ่งแวดล้อมมานานหลายสิบปี โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย รวมทั้งไทย
บริษัทเหล่านี้ทำเงินมหาศาลจากการแบ่งขายน้ำยาแบบซอง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปรุง เครื่องสำอาง สบู่ แชมพู น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจานที่ต้องใช้ทุกวัน โดยคิดเป็น 95%ของปริมาณขายทั้งหมดในอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ใช้กันมากกว่า 150 ล้านถุงต่อวัน
คนรายได้น้อยเคยชินกับการซื้อทีละซองสองซองตามกำลังทรัพย์ที่มี หมดก็ทิ้งแล้วซื้อใหม่ แต่หากลองคำนวณเทียบปริมาตรแล้ว ซื้อเป็นขวดใหญ่ย่อมถูกกว่า
แม้จะมีการออกผลิตภัณฑ์ถุงแบบเติมออกมาเพื่อลดการใช้ขวด แต่หารู้ไม่ว่า ถุงเหล่านั้นทำลายสิ่งแวดล้อมยิ่งกว่าขวดพลาสติก เพราะพลาสติกแบบอ่อนไม่สามารถนำไปรีไซเคิลต่อหรือใช้ซ้ำได้
ความท้าทายถัดมา คือการสร้างสถานีเติมให้กระจายอยู่ทั่วเมือง เหมือนคนอยากใช้รถ EV แต่ไม่มีสถานีชาร์จไฟทั่วถึง ระบบนิเวศพลังงานสะอาดย่อมไม่เกิด งานนี้จึงไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ระหว่าง Re และผู้ผลิตอย่าง Unilever แต่ต้องได้รับความร่วมมือทั่วทั้งเมือง
ในปัจจุบัน สถานีเติมถูกติดตั้งทั้งในร้านขายของชำ สถานีรถไฟ มหาวิทยาลัย ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต อาทิ ASDA, Co-op, Marks & Spencer, Tesco และ Sainsbury’s
ช่วงทดลองในซูเปอร์มาร์เก็ต 19 แห่งในอังกฤษ อัตราการนำขวดมาเติมซ้ำและคืนสูงถึง 80% ซึ่งคิดเป็นการลดขวดแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้มากถึง 4 ล้านใบ ช่วยให้ขวดเหล่านี้ไม่มีจุดจบที่หลุมฝังกลบขยะ
โดย Re ตั้งเป้าว่าจะลดขวดแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 100 ล้านขวดภายใน 3 ปีข้างหน้า Re เพิ่งเอาชนะใจนักลงทุนและระดมทุนได้ 3 ล้านปอนด์ รวมทั้งยังได้เป็นเคสตัวอย่างใน World Economic Forum ด้วย
นอกจากนี้ คุณค่าที่ไม่อาจวัดได้เป็นตัวเงินแต่มีค่ามหาศาล คือความพึงพอใจของผู้บริโภค เพียงแค่การมีสถานีเติมอำนวยความสะดวกใกล้บ้านให้ได้หมุนเวียนขวดเปล่า ก็เหมือนเป็นการได้ช่วยสิ่งแวดล้อมโดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่มสักบาท
เป็นการเปลี่ยนความเชื่อในอดีตว่า การบริโภคของรักษ์โลกต้องจ่ายแพงกว่าของทั่วไป จุดนี้เองที่จะทำให้แม่บ้านใจฟู และติดใจการนำขวดกลับมาเติม ไม่ต้องมีขยะให้รกบ้าน แล้วแบบนี้ใครจะไม่อยากเป็นลูกค้าตลอดไป
อ้างอิง:
https://www.futuremarketinsights.com/reports/sachet-packaging-market