SHARE

คัดลอกแล้ว

“พาราไซต์” ทำให้เราได้เห็นว่า หนังภาษาต่างประเทศสามารถกลายเป็นหนึ่งเดียวได้กับการประกาศผลรางวัลในระดับโลก ความสำเร็จของหนังคือเครื่องพิสูจน์ในสิ่งที่บองจุนโฮ เคยกล่าวไว้ในระหว่างการรับรางวัลลูกโลกทองคำว่า “เมื่อพวกคุณสามารถก้าวข้ามอุปสรรคที่มีความสูงเพียง 1 นิ้วอย่างซับไตเติลมาได้ พวกคุณก็จะได้พบกับภาพยนตร์ที่น่าทึ่งอีกมาก”

หนังออกฉายท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงมากมายในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ทั้งการเติบโตของบริการสตรีมมิ่ง และความพยายามร่วมกันของหลายฝ่ายในการสนับสนุนความหลากหลาย ความสำเร็จของพาราไซต์ อาจถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญสำหรับภาพยนตร์ต่างประเทศ โดยเฉพาะสำหรับหนังจากเอเชีย

เจเน็ต หยาง ผู้อำนวยการสร้างที่คร่ำหวอดในฮอลลีวู้ดมานาน บอกว่า นี่ถือเป็นการทลายกำแพงทางจิตวิทยาครั้งใหญ่ เพราะกำแพงเหล่านี้คือสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา ทำให้หนังที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษถูกจำกัดอยู่ในวงแคบๆ และไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้

แต่ความสำเร็จของพาราไซต์ ยังเกิดขึ้นจากสถานการณ์ต่างๆ ที่มีความเฉพาะเจาะจงมาก ซึ่งอาจไม่สามารถเกิดขึ้นซ้ำอีกได้ง่ายๆ และในเกาหลีและประเทศอื่นๆ บรรดานักสร้างหนังหน้าใหม่ต่างกำลังทำงานกันอย่างหนัก เพื่อให้แน่ใจว่า พาราไซต์จะไม่เป็นเพียงช่วงเวลาของความสำเร็จที่เกิดขึ้นเพียงสั้นๆ แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นของยุคแห่งหนังโลกยุคใหม่

การเฉลิมฉลองของพาราไซต์ เกิดขึ้นหลังจากคณะกรรมการออสการ์ เริ่มหันหลังให้กับแนวทางการตัดสินแบบอนุรักษ์นิยมในอดีต หลังจากเมื่อปีที่แล้ว ผลรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่ตกเป็นของ “กรีน บุ๊ก” (Green Book) ได้ก่อให้เกิดกระแสสะท้อนกลับในเชิงลบ ที่แม้กระทั่งผู้กำกับผิวสีชื่อดังอย่าง “สไปค์ ลี” ถึงกับแสดงท่าทีเอือมระอา และเดินออกจากสถานที่ประกาศรางวัล แม้ “กรีน บุ๊ก” จะได้รับเสียงชื่นชมว่า เป็นหนังฟีลกู๊ดที่พูดถึงความสัมพันธ์ในเชิงบวกของคนที่ดูไม่น่าจะเกิดขึ้นได้  แต่หนังก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า “ถอยหลังเข้าคลอง”และ “ดื้อหัวชนฝา”

การกีดกันหนังต่างประเทศ

เจเน็ต หยาง บอกว่า ในช่วงยุค 1980 สถานการณ์ของหนังต่างประเทศ โดยเฉพาะหนังจากเอเชีย แทบไม่มีความเป็นไปได้ที่จะถูกนำไปฉายในวงกว้าง หนังเหล่านั้นจะถูกนำไปทำการตลาดโดยเจาะกลุ่มชาวเอเชียเท่านั้น หรือฉายตามเทศกาล และเนื่องจากหนังเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นหนังต้นทุนต่ำ ทำให้แทบไม่มีโอกาสที่กลายเป็นหนังทำเงินในบ็อกซ์ออฟฟิศ และแทบไม่อยู่ในสายตาของรางวัลออสการ์ 

ในขณะที่ฮอลลีวู้ดมักคิดว่า ตนเองคือจุดศูนย์กลางของโลกภาพยนตร์ ดังนั้น รายชื่อผู้เข้าชิงตลอด 92 ปีของออสการ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับคำพูดของบองจุนโฮที่ว่า “ออสการ์คือฮอลลีวู้ด” เนื่องจากมีภาพยนตร์ต่างประเทศเพียง 12 เรื่องที่เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และหนังส่วนใหญ่มักบอกเล่าเรื่องราวหรือบุคคลทางประวัติศาสตร์ เช่นหนังเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่าง “ไลฟ์ อีส บิวตี้ฟูล” (Life is Beautiful) หนังสงครามโลกครั้งที่ 2 “เล็ตเตอร์ส ฟรอม อิโว จิมะ” (Letters from Iwo Jima) และเกี่ยวกับกวีคนสำคัญอย่าง “ปาโบล เนรูดา” ในเรื่อง “อิล โปสติโน่” (Il Postino)

เมื่อปี 2000 หนังเรื่อง “เคราชิ่ง ไทเกอร์, ฮิดเดน ดรากอน” (Crouching Tiger, Hidden Dragon) ของ “อังลี” ผู้กำกับชาวไต้หวัน ทำเงินเฉพาะในอเมริกาเหนือไปกว่า 128 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็นหนังภาษาต่างประเทศที่ทำเงินสูงสุดในบ็อกซ์ออฟฟิศสหรัฐฯ โดยหนังเอเชียที่เข้าชิงออสการ์เป็นเรื่องแรกเรื่องนี้ ทำให้เราเห็นว่า ผู้ชมยินดีที่จะอ่านซับไตเติล แต่ก็ถือเป็นการสนับสนุนแนวคิดที่ว่า หนังต่างประเทศที่ควรได้รับความสนใจ ควรเป็นหนังที่มีความ “เอ็กซอติก” หรือหนังที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ แม้ในอีกไม่กี่ปีต่อมา หนังอย่าง “ฮีโร่” (Hero) ของ “จาง อี้โหมว” และ “กังฟู  ฮัสเซิล” (Kung Fu Hustle) จะสามารถตามรอยความสำเร็จของ “เคราชิ่ง ไทเกอร์” ได้ แต่มันก็ไม่ได้ช่วยขยายขอบเขตของหนังต่างประเทศในอเมริกามากนัก

ยุคของนักสร้างหนังจากเกาหลี

ในขณะที่อังลี กำลังประสบความสำเร็จกับหนังของเขา ผู้กำกับรุ่นใหม่จากเกาหลีใต้ก็กำลังสร้างรากฐานที่มีความเข้มแข็งเช่นกัน เช่น บองจุนโฮ, คิมจีวุน และ ปักชานวุก กับหนังในยุค 1990 เช่น “เดอะ ไควเอ็ต แฟมิลี่” (The Quiet Family), “จอยต์ เซเคียวริตี้ แอเรีย” (Joint Security Area)  และ “บาร์คกิ้ง ด็อกส์ เนเวอร์ ไบต์” (Barking Dogs Never Bite) โดยเมื่อปี 2004 หนังเรื่อง “โอลด์ บอย” (Oldboy) ของปักชานวุก กลายเป็นหนังเกาหลีเรื่องแรก ที่ชนะรางวัลกรังปรีซ์ที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์

แต่กลับกลายเป็นว่า คนที่ไปได้ไกลในระดับโลกได้เร็วที่สุดคือบองจุนโฮ เมื่อปี 2013 หนังเรื่อง “สโนว์เพียร์สเซอร์” (Snowpiercer) ซึ่งเป็นหนังพูดภาษาอังกฤษเรื่องแรกของเขา ได้ข้ามพรมแดนไปถึงฮอลลีวู้ด และเมื่อปี 2017 “อ็อกจา” (Okja) หนังพูด 2 ภาษาของเขา ได้สร้างประเด็นการถกเถียงอย่างดุเดือดที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ เมื่อเทศกาลปฏิเสธไม่ให้หนังเข้าสายประกวดในเทศกาล เนื่องจากหนังเข้าฉายทางบริการสตรีมมิ่งของเน็ตฟลิกซ์ แต่ไม่ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วไป

นี่กลับยิ่งกลายเป็นข่าวดีสำหรับบอง เพราะมีแต่คนพูดถึงเขา และรู้จักเขามากขึ้น และการที่เขามีเพื่อนและบุคคลที่ชื่นชมผลงานของเขาอย่าง “ทิลด้า สวินตัน” และ “เควนติน ทารันทิโน” นั่นยิ่งเป็นสิ่งการันตีว่า หากเขากลับไปทำหนังที่เกาหลีใต้ โลกก็ยังคงให้ความสนใจเขา

บริการสตรีมมิ่ง-สื่อสังคมออนไลน์ พลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมหนัง

ในขณะเดียวกัน ผู้ชมชาวอเมริกันได้เริ่มเห็นความหลากหลายของหนังบนจอ โดยในช่วงปี 2015-2016 ได้เกิดกระแส #ออสการ์โซไวท์ ทางทวิตเตอร์ หลังจากในช่วงปีนั้น ไม่มีนักแสดงผิวสีเข้าชิงรางวัลใดๆ เลยในออสการ์ ทำให้ออสการ์ประกาศนโยบายในการเพิ่มจำนวนสมาชิกที่เป็นผู้หญิงและคนผิวสี ภายในปี 2020 ส่วนในปี 2018 และ 2019 หลังการปลุกกระแสทางสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้หนังอย่าง “แบล็ก แพนเธอร์” และ “เครซี่ ริช เอเชียนส์” ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในบ็อกซ์ออฟฟิศ หรือแม้แต่ “โรม่า” และ “เดอะ แฟร์เวล” ก็ประสบความสำเร็จเกิดคาด

และในช่วงนี้เองที่บริษัทผู้จัดจำหน่ายอย่าง “นีออน” (Neon) เริ่มหันมาลงทุนกับหนังทั้งหนังที่พูดภาษาอังกฤษและหนังต่างประเทศ โดยเมื่อปีที่แล้ว บริษัทได้ฉายหนังต่างประเทศ 4 เรื่อง ซึ่งล้วนแต่ได้รับเสียงตอบรับในทางบวก เช่น พาราไซต์, ฮันนี่แลนด์ (Honeyland) และ “พอร์เทรต ออฟ อะ เลดี้ ออน ไฟร์” (Portrait of a Lady on Fire)

เมื่อปี 2016 เน็ตฟลิกซ์แสดงความสนใจที่จะเข้าไปยังตลาดเกาหลีใต้ ด้วยการร่วมผลิตซีรีส์หนังซอมบี้ย้อนยุค “คิงดอม” (Kingdom) และหนังรักวัยรุ่นอย่าง “เลิฟ อลาร์ม” (Love Alarm) นอกจากนั้น ในเว็บไซต์ของเน็ตฟลิกซ์ ได้จัดให้ “อ็อกจา” อยู่ในกลุ่มหนังเดียวกับซีรีส์เรื่องดังจากสหรัฐฯ อย่าง “แมด เม็น” (Mad Men) นั่นหมายความว่า ผู้ชมที่ไม่คุ้นเคยกับหนังต่างประเทศ จะสามารถรับชมได้อย่างสนุกสนานได้

บอง จุน-โฮ กับสี่รางวัลออสการ์ที่เขามีบทบาทสำคัญในหนัง Parasite

 การก้าวสู่ระดับโลกของ “พาราไซต์” และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างออสการ์

เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว หลังการฉายรอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์จบลง “พาราไซต์” ได้รับการ “สแดนดิ้ง โอเวชั่น” นานกว่า 8 นาที และเมื่อเดือนตุลาคม หนังได้เข้าฉายในสหรัฐ และจากผลตอบรับในทางบวกของนักวิจารณ์ และกระแสการบอกต่อแบบปากต่อปาก ที่รวมถึงการโปรโมทอย่างหนักของ “โกลด์ เฮาส์” องค์กรในสหรัฐฯ ที่สนับสนุนธุรกิจของชาวเอเชียน-อเมริกัน ทำให้พาราไซต์ กลายเป็นหนังต่างประเทศที่เปิดตัวในสหรัฐฯ ด้วยรายได้เฉลี่ยต่อโรงสูงสุดตลอดกาล

หลังจากที่หนังถูกเสนอชื่อชิงออสการ์ถึง 6 รางวัล “นีออน” ได้เพิ่มโรงฉายในอเมริกาเป็นกว่า 843 โรง ตลอดช่วงฤดูกาลการมอบรางวัลด้านภาพยนตร์ในสหรัฐ ในขณะที่ออสการ์เอง ก็ตระหนักถึงการสร้างความหลากหลายของผู้มีสิทธิลงคะแนน นิวยอร์กไทมส์ชี้ว่านับตั้งแต่ปี 2015 สัดส่วนของผู้ลงคะแนนที่เป็นหญิง เพิ่มขึ้นจาก 25 เป็น 32 เปอร์เซนต์ จากเดิมที่ผู้ลงคะแนนส่วนใหญ่เป็นผู้ชายและเป็นคนผิวขาว ขณะที่จำนวนผู้ลงคะแนนที่ไม่ใช่คนอเมริกัน เพิ่มขึ้นจาก 8 เป็น 16 เปอร์เซนต์ รวมถึงมีสมาชิกที่เป็นคนผิวสีถึง 29 เปอร์เซนต์ โดยเมื่อปีที่แล้ว ออสการ์ได้เชิญให้ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์กว่า 842 คน เข้ามาเป็นสมาชิก และในปีนี้ ผู้ลงคะแนนมาจากกว่า 59 ประเทศทั่วโลก

นอกเหนือจากตัวหนังแล้ว บุคลิกภาพและความฉลาดของบองจุนโฮ ก็มีส่วนสำคัญอย่างมาก เขามักตกเป็นที่สนใจของคนทั่วไปตามงานมอบรางวัลต่างๆ และคำพูดของเขาก็มักกลายเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง

เมื่อเดือนมกราคม พาราไซต์กลายเป็นภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ ที่คว้ารางวัลนักแสดงนำกลุ่ม ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุด ในการประกาศผลของรางวัลสมาคมนักแสดงแห่งอเมริกา หรือ “แซ็ก อวอร์ดส” (SAG Award) “ชอยวูชิก” หนึ่งในนักแสดง บอกว่า “นอกเหนือจากพวกเราแล้ว ในประเทศต่างๆ ยังคงมีนักแสดงที่มีฝีมืออีกมาก ผมหวังว่า หลังจากช่วงเวลานี้ หรืออาจจะเป็นปีหน้า เราอาจได้เห็นหนังต่างประเทศและหนังเอเชียมากขึ้น”

หลักชัยและแรงบันดาลใจ

ชัยชนะของพาราไซต์บนเวทีออสการ์ อาจไม่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเกาหลีใต้มากนัก หลังจากเริ่มเข้าสู่ภาวะการหยุดชะงัก และมีหนังเข้าฉายในโรงลดลง ขณะที่หนังบล็อกบัสเตอร์ทุนสร้างมหาศาล กวาดพื้นที่โรงฉายจนแทบไม่เหลือให้หนังเรื่องอื่นๆ โดยผลการศึกษาของสมาคมภาพยนตร์เกาหลี ชี้ว่า เมื่อปีที่แล้ว 67.5% ของโรงหนังทั้งหมดในเกาหลี ถูกยึดโดยหนังที่มีโรงฉายมากที่สุด 3 เรื่อง 

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนทำหนังของเกาหลีบางราย เริ่มได้รับผลในเชิงบวกจากความสำเร็จของพาราไซต์แล้ว ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติรอตเตอร์ดาม “คิมยองฮุน” เจ้าของรางวัล “สเปเชียล จูรี่ อวอร์ด” จากหนังเรื่อง “บีสต์ คลอว์อิ้ง แอต สตรอว์” สังเกตว่าผู้คนมองหนังของเขาเปลี่ยนไป และเริ่มได้รับความสนใจจากทั่วโลก ทั้งจากเทศกาลต่างๆ “ผู้ชม คนเหล่านี้เริ่มมองเห็นว่า มีนักทำหนังดีๆ มากมายหลายในเกาหลี”

สำหรับคนที่กำลังมองหา “พาราไซต์” ในเรื่องต่อไป อาจไม่ต้องรอนานอีกแล้ว เพราะในเดือนมีนาคมนี้ ภาพยนตร์เรื่อง “เดอะ ทรูธ” (The Truth) หนังพูดภาษาอังกฤษเรื่องแรกจาก “ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ” ผู้กำกับเจ้าของรางวัลปาล์มทองชาวญี่ปุ่น ซึ่งนำแสดงโดยดาราชื่อดังอย่าง “แคเธอรีน เดอเนิฟ” และ “จูเลียต บินอช” จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ส่วนภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายชื่อดังอย่าง “ปาจิงโกะ” (Pachinko) ของ “มินจินลี” นักเขียนชาวเกาหลี กำลังอยู่ระหว่างการผลิต และเตรียมฉายในบริการสตรีมมิ่ง “แอปเปิล ทีวี” ในเร็วๆ นี้

“คิมยองฮุน” บอกว่า พาราไซต์นอกจากจะเป็นหลักไมล์สำคัญแล้ว ในขณะเดียวกันหนังยังเป็นแรงบันดาลให้แก่นักสร้างหนังรุ่นใหม่ และนี่คือโอกาสครั้งสำคัญ

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า