SHARE

คัดลอกแล้ว

พ.ร.บ.ล้างมลทินเป็นที่รู้จักกันในช่วงสองสามวันมานี้พร้อมกับคำถามว่า การผ่านพ.ร.บ.ล้างมลทินฯ จะส่งผลต่อการดำรงตำแหน่งใดๆ ในภาครัฐและเอกชนหรือไม่

ทีมข่าวเวิร์คพอยท์สืบค้นคำพิพากษาศาลฎีกา และศาลปกครองสูงสุด พบว่าที่ผ่านมามีคำพิพากษาไปในทางเดียวกัน โดยชี้ว่าแม้พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ จะลบล้างโทษได้ แต่ก็ไม่อาจล้างการกระทำผิดได้ โดยเคยมีคำตัดสินของศาลในเรื่องนี้มาแล้วอย่างน้อย 4 กรณี

2 คดี ศาลปกครองสูงสุดตัดสินตรงกัน แม้มีพ.ร.บ.ล้างมลทินฯ ก็หยิบมาอ้างเพื่อรับตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านไม่ได้

จากการสืบค้นพบว่า ศาลปกครองสูงสุดวางแนวคำพิพากษาเกี่ยวกับการนำพ.ร.บ.ล้างมลทินฯ มาพิจารณาเรื่องความเหมาะสมต่อการรับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านตรงกันอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยตัดสินว่าแม้จะได้รับการล้างมลทินจาก พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ ผู้มีอำนาจก็อาจวินิจฉัยว่าการที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นแล้ว ก็ทำให้เข้าลักษณะต้องห้ามของการเป็นผู้ใหญ่บ้านได้อยู่ และหน่วยงานที่มีอำนาจสามารถสั่งเพิกถอนประกาศแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

กรณีแรกเกิดขึ้นในการเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านบ้านชายเคือง หมู่ที่ 7 ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคม จังหวัดฉะเชิงเทรา วันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 มีผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมด 3 ราย ได้รับการตรวจสอบคุณสมบัติจากคณะกรรมการตรวจสบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม เชื่อว่าผู้สมัครทุกคนมีคุณสมบัติครบถ้วน ไม่มีลักษณะต้องห้าม

แต่หลังการเลือกตั้ง ผู้ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 2 ยื่นหนังสือร้องเรียนว่า ผู้ชนะตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านมีลักษณะต้องห้าม เพราะเคยทำผิดพ.ร.บ.อาวุธปืนฯ และ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ มีการสอบสวนจนพบว่าว่าที่ผู้ใหญ่บ้านเคยถูกพิพากษาจริง เป็นผลให้ถูกเพิกถอนคำสั่งการแต่งตั้ง หลุดออกจากตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน

ต่อมา ผู้ชนะการเลือกตั้งต่อสู้ว่าตนได้รับการล้างมลทินตามพ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550 แล้ว

คดีนี้ถูกนำไปพิจารณาถึงชั้นศาลปกครองสูงสุด ซึ่งก็ได้ตัดสินว่า “การล้างมลทินตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นการบัญญัติขึ้นเพื่อให้มีการล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิเคยถูกลงโทษ แต่มิได้มีผลเป็นการลบล้างคำพิพากษาของศาลที่ได้วินิจฉัยว่ามีการกระทำความผิดอันเป็นเหตุที่ทำให้ถูกลงโทษนั้นด้วย”

และตัดสินว่า ผู้ชนะเลือกตั้งผู้นั้นจะ เอาพ.ร.บ.ล้างมลทินฯ ขึ้นมากล่าวอ้างไม่ได้ เพราะพ.ร.บ.ล้างมลทินล้างเพียงโทษ ถือว่าการกระทำผิดยังเกิดขึ้นจริง และถือว่าผู้ชนะเลือกตั้งคนดังกล่าวยังคงเป็นผู้มีลักษณะต้องห้าม เป็นผู้ใหญ่บ้านไม่ได้อยู่ดี

อ่านรายละเอียดได้ที่ คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ. 762/2556 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1685/2559

ส่วนกรณีที่สอง แม้ไม่มีการอ้างอิงเลขที่คดีแน่ชัด แต่ปรากฎในอุทาหรณ์จากคดีปกครอง ซึ่งได้เผยแพร่ในเว็บไซต์ศาลปกครอง กล่าวถึงกรณีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่ง เคยต้องโทษคดีเป็นเจ้ามือจำหน่ายสลากกินรวบโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย

ต่อมาได้รับการล้างมลทินตามพ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550 เมื่อได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้านในวันที่ 22 กรกฎาคม 2553 แต่มีการตรวจพบว่ามีลักษณะต้องห้ามข้างต้น จึงถูกถอดให้พ้นจากตำแหน่ง

กรณีนี้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านคนดังกล่าวก็ได้โต้แย้งว่าได้รับการล้างมลทินตามพ.ร.บ.ล้างมลทิน ฯ แต่ศาลปกครองสูงสุดก็ได้วินิจฉัยว่า “ผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการพนัน หรือกฎหมายอื่น ๆ ตามมาตรา 12 (11) แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 จึงไม่ได้รับประโยชน์จากการล้างมลทินตามพระราชบัญญัติล้างมลทินฯ ในอันที่จะอ้างสิทธิในการสมัครรับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านได้”

โดยชี้ว่าการล้างมลทินเป็นผลให้ “ถือว่ามิเคยถูกลงโทษจำคุกเท่านั้น แต่พฤติกรรมหรือการกระทำผิดซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาว่าผู้ฟ้องคดีได้กระทำความผิดฐานความผิดเป็นเจ้ามือสลากกินรวบ พนันเอาทรัพย์สินกันโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ยังคงอยู่”

เป็นช่างรังวัด-สมาชิกเนติบัณฑิตยสภา ก็ไม่ได้

นอกจากกรณีของผู้ใหญ่บ้านแล้ว ทีมข่าวเวิร์คพอยท์สืบค้นพบอีก 2 กรณีที่ศาลฎีกา และ ศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่าไม่อาจนำพ.ร.บ.ล้างมลทินฯ มายกเป็นประโยชน์ได้

ปี 2525 ช่างรังวัดสังกัดกรมที่ดินคนหนึ่งถูกปลดออกจากราชการฐานไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์ที่มิควรได้เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ รายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา ต่อมาอดีตช่างรังวัดคนดังกล่าวได้ขอรับใบอนุญาตเป็นช่างรังวัดเอกชนต่อคณะกรรมการช่างรังวัดเอกชนและได้ถูกปฏิเสธเนื่องจากเห็นว่ามีความประพฤติที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 19(7) แห่งพระราชบัญญัติช่างรังวัดเอกชน พ.ศ. 2535 คือเป็นผู้ที่มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี

อดีตช่างรังวัดต่อสู้ด้วยข้อเท็จจริงว่าเขาได้รับการล้างมลทินตามพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระชนมพรรษา 60 พรรษาพ.ศ. 2530 แล้ว

เรื่องไปถึงศาลฎีกา ซึ่งได้พิพากษาว่าพ.ร.บ.ที่เขาหยิบขึ้นมาต่อสู้นั้นส่งผลให้ถือว่าเขาไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยให้ปลดออกจากราชการเท่านั้น “แต่การกระทำหรือความประพฤติของโจทก์ที่ไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่หรืออื่น ๆ ไม่ได้ถูกลบล้างไปด้วย”

“พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระชนมพรรษา 60 พรรษาพ.ศ. 2530 มาตรา 5 ตอนท้ายที่ระบุว่า โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัยในกรณีนั้น ๆ ย่อมหมายความเพียงว่า ผู้ที่ถูกลงโทษทางวินัยไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยเท่านั้นหาได้หมายความว่าความประพฤติหรือการกระทำที่เป็นเหตุให้บุคคลนั้นถูกลงโทษทางวินัยถูกลบล้างไปด้วยไม่ เพราะเรื่องความประพฤติหรือการกระทำที่เกิดขึ้นแล้วไม่อาจล้างมลทินให้หมดไปได้”

สุดท้ายศาลฎีกาตัดสินว่าคณะกรรมการช่างรังวัดเอกชนเห็นว่าการกระทำของโจทก์ดังกล่าวไม่ได้รับการล้างมลทินและเป็นการกระทำที่ขาดคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติช่างรังวัดเอกชน พ.ศ. 2535 มาตรา 19(7) และไม่มอบใบอนุญาตเป็นช่างรังวัดเอกชนให้นั้นถูกต้องแล้ว

อ่านเต็ม ๆ ได้ที่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 694/2539

อีกคดีหนึ่งเกิดขึ้นระหว่างจ่าสิบตำรวจท่านหนึ่ง กับ เนติบัณฑิตสภา

คณะกรรมการเนติบัณฑิตสภามีมติไม่รับจ่าสิบตำรวจเข้าเป็นสมาชิกเนติบัณฑิตสภา เนื่องจากจ่าสิบตำรวจท่านนี้เคยถูกลงโทษทางวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ขัดกับข้อบังคับของเนติบัณฑิตสภาฯ ที่ต้องการรับบุคคลที่มีคุณธรรม มีความประพฤติเรียบร้อยและไม่เป็นบุคคลที่ควรรังเกียจแก่สังคม

จ่าสิบตำรวจฟ้องเนติบัณฑิตสภา ฐานกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยต่อสู้ว่าตนได้ผ่านพ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 มาแล้ว

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่าบทบัญญัติของพ.ร.บ.ล้างมลทินลบล้างแค่โทษทางวินัยที่เคยได้รับเท่านั้น ไม่มีผลเป็นการลบล้างการกระทำความผิดทางวินัยตามความเป็นจริงแต่อย่างใด

“ผลแห่งบทบัญญัติดังกล่าวจึงมีผลเพียงให้ลบล้างโทษทางวินัยที่ลงแก่ผู้ฟ้องคดีมาก่อนว่าเป็นผู้กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เป็นว่าผู้ฟ้องคดีไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยในกรณีดังกล่าวมาก่อนเท่านั้น หาได้มีผลเป็นการลบล้างการกระทำผิดวินัยตามความเป็นจริงที่ผู้ฟ้องคดีได้กระทำขึ้นจริงให้หมดสิ้นไปด้วยไม่” คำพิพากษาของศาลระบุ และได้ตัดสินว่าการที่เนติบัณฑิตสภามีสิทธิไม่รับจ่าสิบตำรวจท่านดังกล่าวเข้าเป็นสมาชิกนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้ว่าตัวจ่าสิบตำรวจจะได้รับการล้างมลทินแล้วก็ตาม

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.7/2546 คดีหมายเลขดำที่ อ.70/2545

พ.ร.บ. ล้างมลทินฯ ไม่เหมือนนิรโทษกรรม

ข้อมูลจากสถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า การล้างมลทินของประเทศไทย มีแนวคิดมาจากการให้อภัยทานในโอกาสมงคลต่าง ๆ เพื่อเป็นกุศล และเพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลที่ได้ถูกลงโทษไปแล้วมีสิทธิสมบูรณ์เหมือนพลเมืองทั่วไป ต่างจากแนวคิดของนิรโทษกรรมซึ่งเป็นการยกเลิกให้การกระทำที่เคยถูกกำหนดให้เป็นความผิด ไม่ใช่ความผิดอีกต่อไปอันเนื่องจากพัฒนาการของสังคม

พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ มีผลใช้บังคับต่อผู้กระทำผิดทุกคนที่เข้าเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ มีผลทำให้ผู้กระทำผิดกลับมาอยู่ในสภาพเหมือนไม่เคยต้องโทษมาก่อน และทะเบียนประวัติอาชญากรของผู้กระทำผิดถูกลบล้างไป

ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการออกกฎหมายล้างมลทินมาแล้ว 8 ฉบับ โดยออกในปีพ.ศ. 2475, 2489, 2499, 2502, 2526, 2530, 2539 และ 2550

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า