
ทีมงานฝั่งกรมป่าไม้
วันที่ 11 ธ.ค. ที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) นายธวัชชัย ลัดกรูด ผู้ตรวจราชการกรมป่าไม้ ฐานะประธานคณะทำงานตรวจสอบที่ดิน น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส. ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ประชุมร่วมกับฝ่ายกฎหมายของ ส.ป.ก. เพื่อหาแนวทางว่าหน่วยงานใดจะเป็นผู้ดำเนินคดีกับที่ดินในส่วน ส.ป.ก. 682 ไร่
ที่ประชุมมีมติให้ ส.ป.ก. เร่งทำหนังสือตีกลับไปให้ น.ส.ปารีณา ส่งคืนที่ดินโดยไม่ต้องไม่มีการระบุเงื่อนไขใดใด ภายใน 7 วัน จากเดิมที่ น.ส.ปารีณา ขอสงวนการใช้สิทธิ์เป็นลำดับแรกในกระบวนการปฏิรูปที่ดินใหม่ จากนั้นกรมป่าไม้จึงจะมาหารืออำนาจการจัดการตามกฎหมายอีกครั้ง ส่วนเรื่องรายละเอียดข้อกฎหมายและระเบียบยังไม่ได้ข้อยุติ แต่ยืนยันว่ากรมป่าไม้จะดำเนินการตามมาตรฐานด้วยความรอบคอบ แต่ทั้งนี้ต้องรอความชัดเจนจากทาง ส.ป.ก. ด้วยเช่นกัน

ทีมงานฝั่ง ส.ป.ก.
สำหรับการเทียบเคียงกับคำพิพากษาศาลฎีกาจังหวัดนครพนมที่พิพากษาให้ชาวบ้านจำคุก 6 เดือน จากการเข้าไปครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.ซึ่งคำพิพากษาระบุว่าแม้ที่ดินเป็นเขตปฏิรูปแต่เป็นเพียงแค่การกำหนดขอบเขตที่ดินไม่ได้มีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติ กรมป่าไม้ต้องมีอำนาจในการดำเนินคดีอยู่ นายธวัชชัย กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องขอไปดูรายละเอียดของแต่ละกรณี ไม่สามารถนำมาเทียบเคียงกับกรณี น.ส.ปารีณาได้

ธวัชชัย ลัดกรูด ผู้ตรวจราชการกรมป่าไม้
ทั้งนี้นายธวัชชัย ยืนยันว่าทั้งหมดดำเนินไปด้วยมาตรฐานเดียวกัน ไม่ได้ 2 มาตรฐาน ใช้กฎหมายตัวเดียวกัน ขอให้มั่นใจการทำงานของกรมป่าไม้ ซึ่งไม่มีการเลือกปฏิบัติ ในส่วนที่ดินที่อยู่ในอำนาจของกรมป่าไม้ได้แจ้งความร้องทุกข์ไปแล้วกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ บก.ปทส. แต่ที่ยังไม่สามารถส่งฟ้องได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้นายวีระ สมความคิด ได้แจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจภูธรจอมบึงไว้ก่อน ตำรวจ ปทส. มีความจำเป็นต้องทำความเห็นไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้พิจารณาอำนาจว่าใครจะเป็นคนทำคดีดังกล่าว

จุมพฎ ชอบธรรม ผู้อำนวยการสำนักงานกฎหมายกรมป่าไม้
ด้านนายจุมพฎ ชอบธรรม ผู้อำนวยการสำนักงานกฎหมายกรมป่าไม้ กล่าวในแง่ของข้อกฎหมายว่า ลักษณะของที่ฟาร์มไก่ของนางสาวปารีณา ทั้ง 682 ไร่ ในเขต ส.ป.ก. คล้ายกับคดีการบุกรุกพื้นที่ ส.ป.ก.ในอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ปี 2558 ที่ตำรวจดำเนินคดีข้อหาบุกรุกพื้นที่ ส.ป.ก. ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตความรับผิดชอบของใครผู้นั้นต้องเป็นคนแจ้งความร้องทุกข์ ไม่สามารถดำเนินการก้าวล่วงอำนาจของแต่ละหน่วยงานได้ พร้อมเปรียบเทียบกับที่ดินท้องสนามหลวงหากมีการเข้าไปบุกรุกตักดิน หรือดำเนินการใดใด ต้องเป็นอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ของกรุงเทพมหานครแม้ว่าก่อนหน้านี้สภาพท้องสนามหลวงจะเป็นป่าก็ตาม

วีระ สมความคิด
ส่วนกรณีที่นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน ได้ยื่นฟ้อง มาตรา 157 ข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่กับทั้งกรมป่าไม้และ ส.ป.ก.ไปแล้ว คดีนี้จะเป็นข้อพิสูจน์ว่าใครกันแน่ที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตของส.ป.ก. แม้ ส.ป.กจะอ้างว่า ไม่มีอำนาจ แต่สามารถร้องขอให้กรมป่าไม้ไปดำเนินการได้ ซึ่งในเรื่องนี้ ส.ป.ก.ยังไม่มีความชัดเจน
กรณีเปรียบเทียบการดำเนินคดีนางสาวปารีณา กับชาวบ้านหมู่บ้านซับหวาย บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง นายจุมพฎ กล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ และมีที่ดินป่าสงวนแห่งชาติทับซ้อนกับที่ดินอุทยานฯ ซึ่งตามกฎหมายแล้วที่ดินอุทยานไม่สามารถเข้าไปบุกรุกได้เลย แต่ที่ดินของนางสาวปารีณา เป็นที่ ส.ป.ก. จึงทำให้การดำเนินการทางกฎหมายแตกต่างกัน