มองเรื่องธุรกิจ-สิ่งแวดล้อมแบบฉบับฝรั่งเศส ในวันที่กรุงเทพมหานคร เมืองท่องเที่ยวยอดฮิตติดอันดับโลกกำลังเผชิญสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 อย่างหนัก
คุณนภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการบริหารสำนักข่าว TODAY คุยเรื่องนี้กับ คุณอาร์โนด์ เบียเลคกิ ประธานบริหาร บริษัท โซเด็กซ์โซ่ ประเทศไทย นักธุรกิจฝรั่งเศสที่ทำงานอยู่ในไทยมา 20 กว่าปี ที่พร้อมสนับสนุนให้ไทยเป็นเมืองสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน น่าท่องเที่ยวและน่าลงทุนในสายตาทั่วโลก เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการจะทำธุรกิจให้เติบโต ต้องทำควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
บทสนทนาเริ่มต้นที่คุณอาร์โนด์ เล่าให้เห็นภาพในมุมมองเกี่ยวกับการทำธุรกิจของนักธุรกิจฝรั่งเศสว่า ประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ดูจากหลักฐานอย่างเช่น ตัวเลขนักลงทุนฝรั่งเศสที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยก็มีจำนวนมาก ถือเป็นโอกาสดีที่จะหามองหาแนวทางที่ช่วยส่งเสริมให้บริษัทธุรกิจของฝรั่งเศสในประเทศไทยเติบโต ซึ่งหนึ่งในสิ่งสำคัญที่สุดคือต้องเข้าใจก่อนว่าธุรกิจแบบไหนที่ลงทุนแล้วน่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทย
ย้อนกลับไปตอนประชุมเอเปค 2022 ที่จัดขึ้นในประเทศไทย ประธานาธิบดีแอมานุแอล มาครอง ได้เดินทางไปเยี่ยมชมมวยที่เวทีมวยราชดำเนินเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2565 คุณอาร์โนด์ มองว่าการไปเยี่ยมสนามมวยของมาครองเป็นสัญลักษณ์ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่สำคัญสำหรับนักธุรกิจของฝรั่งเศส และทุกวันนี้มีบริษัทฝรั่งเศสที่มาตั้งรกรากจำนวนมากในเมืองไทยกว่า 300 กว่าบริษัท รวมถึงมีการจ้างงานกลุ่มคนไทย 60,000 กว่าคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เยอะพอสมควรและมีโอกาสที่จะเติบโตไปมากกว่านี้ด้วย
“โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับธุรกิจที่เป็นอนาคตของฝรั่งเศสที่มีเทคโนโลยีต่างๆ มากมาย คนไทยเมื่อนึกถึงฝรั่งเศสอาจจะนึกถึงแค่จุดท่องเที่ยวหรือแฟชั่น แต่ที่จริงเรามีมากกว่านั้น เรามีเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์กับความต้องการของประเทศไทย” คุณอาร์โนด์ กล่าว
คุณอาร์โนด์ บอกอีกว่า ที่ผ่านมา ได้เห็นภาพที่ประเทศไทยพยายามส่งเสริมให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนใน EEC (โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) มากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจประเภท EV หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการลดคาร์บอน ลดมลพิษในโลก นี่เป็นสัญญาณว่าตอนนี้ประเทศไทยมีความต้องการให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในบางกลุ่ม ซึ่งฝรั่งเศสเองก็มีบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำร่วมกัน
แต่หนึ่งในสัญญาณที่สำคัญที่สุดในปีที่ผ่านมาคือ รัฐบาลไทยกับรัฐบาลฝรั่งเศสเซ็น MOU เพื่อที่จะพัฒนาธุรกิจด้านการขนส่ง เช่น รถไฟ เครื่องบิน โดยตั้งแต่มีการเซ็น MOU บริษัทไทยและฝรั่งเศสที่เกี่ยวข้องก็มีหลายๆ โครงการที่ทำงานด้วยกัน
เมื่อ ‘ปารีส’ เอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
คุณนภพัฒน์จักษ์ ชวนคุยต่อเรื่องวิธีรับมือกับปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ และปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวอย่าง ‘ปารีส’ ที่เอาจริงเอาจังกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก เช่น การห้ามรถวิ่งผ่านถนนที่อยู่ติดริมแม่น้ำ และเปลี่ยนมาเป็นเส้นทางให้คนเดิน รวมถึงนโยบายคาร์ฟรีเดย์ ที่ประชากรส่วนมากให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี มีจำนวนคนใช้รถน้อยลง
คุณอาร์โนด์ บอกว่า เช่นเดียวกับกรุงเทพฯ ที่มีปัญหาเรื่อง PM 2.5 เมื่อก่อนฝรั่งเศสก็เจอปัญหานี้ไม่ต่างกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงพิจารณาว่าการดำเนินนโยบายในลักษณะไหนถึงจะช่วยลดจำนวนรถยนต์ในปารีส ซึ่งส่งผลต่อจำนวนฝุ่น PM 2.5 โดยตรง ซึ่งจุดนี้เป็นส่วนที่น่าชวนศึกษาต่อว่าวิธีการลดมลพิษแบบไหนของฝรั่งเศส ที่สามารถนำมาปรับใช้กับกรุงเทพฯ หรือเมืองอื่นๆ ในไทยได้
ก่อนหน้านี้ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสเป็นสื่อกลางพาบริษัทฝรั่งเศสมาพบกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เพื่อหารือกับทาง กทม. และดูว่าบริษัทฝรั่งเศสจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหามลพิษส่วนใดได้บ้าง รวมถึงมีเทคโนโลยีใดที่จะช่วยการจราจร ลด PM 2.5 ไปจนถึงถึงปัญหาเรื้อรังอย่างเรื่องขยะ ซึ่งหากได้ข้อสรุปร่วมกันทางฝรั่งเศสยินดีจะร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายในการแก้ปัญหาที่ตั้งไว้ได้
เมืองท่องเที่ยวที่อากาศดี ทำให้นักท่องเที่ยวอยากอยู่ต่อ
คุณนภพัฒน์จักษ์ ชวนคุยต่อถึงประเด็นที่ปารีสหันมาให้ความสำคัญต่อเรื่องสิ่งแวดล้อม แม้ว่าที่ก่อนหน้านี้จะเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวมหาศาลมาเยือน โดยไม่ต้องอาศัยภาพลักษณ์เรื่องสิ่งแวดล้อม
คุณอาร์โนด์ ตอบว่า ยิ่งเป็นเมืองท่องเที่ยว ยิ่งต้องให้ความสนใจกับเรื่องนี้ หากนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนแล้วเจอประสบการณ์ไม่ดี รถติด ฝุ่นเยอะ คุณภาพอากาศไม่ดี ก็จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทศวรรษที่การสื่อสารเป็นเรื่องง่ายดายผ่านการใช้โซเชียลมีเดีย
เพราะฉะนั้น ให้คิดว่าเวลามีนักท่องเที่ยวที่มาปารีส อยากให้เขามีประสบการณ์ที่ดี ไม่ใช่แค่เกับสถานที่ หรือพิพิธภัณฑ์ แต่อยากให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสอากาศดี เมื่อจากไปแล้วก็อยากจะกลับมาเยือนอีก เช่นเดียวกับกรุงเทพฯ ซึ่งถูกจัดเป็นเมืองน่าเที่ยวอันดับ 1 ของโลก จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือน แต่หากพิจารณาจากความน่าอยู่ กรุงเทพฯ ถูกจัดไว้ลำดับที่ 98
ฉะนั้นคุณภาพของอากาศหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วอยู่ยาว ไม่ใช่มา 2-3 วันแล้วไม่อยากจะอยู่อีก ซึ่งบริษัทของนักธุรกิจฝรั่งเศสก็อยากจะแชร์ประสบการณ์การแก้ปัญหากับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับทาง กทม.
‘อากาศ’ แม้เราจะ ‘มองไม่เห็น’ แต่สำคัญกับชีวิต
คุณอาร์โนด์ เล่าว่า มีคนฝรั่งเศสอยู่ในเมืองไทยเยอะพอสมควร เกือบจะ 4 หมื่นคน คนที่ทำธุรกิจหรืออยู่ที่นี่นานๆ ก็จะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะฉะนั้นสิ่งไหนที่เราทำได้เพื่อช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีที่จะช่วย กทม. ได้ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทางบริษัทฝรั่งเศสก็ยินดีช่วยเต็มที่
แชร์ประสบการณ์ ความยากของการเริ่มต้นแก้ปัญหา
คุณนภพัฒน์จักษ์ ตั้งประเด็นว่า การที่จะทำให้ทุกคนมาช่วยและร่วมมือในนโยบายนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งคนฝรั่งเศส ความภาคภูมิใจในเสรีภาพสำคัญมาก การที่จะบอกว่าคาร์ฟรีเดย์ หยุดใช้รถก็ต้องมีคนที่ไม่พอใจเหมือนกัน ตรงนี้แก้ปัญหาอย่างไรและสื่อสารอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจ เพราะในอนาคต กรุงเทพฯ น่าจะเจอปัญหาคล้ายๆ กัน
คุณอาร์โนด์ บอกว่า แน่นอนว่าในช่วงแรกๆ ปารีสก็พยายามลดจำนวนรถที่อยู่ในถนน คนอาจจะรู้สึกอึดอัดว่าทำไมเราใช้รถไม่ได้ แต่ในเวลาเดียวกัน เราต้องพยายามเติมเต็มประชาชนในส่วนอื่นๆ เช่น ส่งเสริมให้มีรถสาธารณะที่ดี คนจะได้รู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องใช้รถส่วนตัว นโยบายประเภทนี้จำเป็นต้องทำคู่กันไป หากเราอยากให้คนใช้รถน้อยลง เราต้องมีระบบรถสาธารณะที่ดีขึ้น
นี่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่บริษัทฝรั่งเศสจะสามารถแชร์ประสบการณ์ ว่าเราสามารถใช้รถสาธารณะแล้วสามารถที่จะทำให้คุณภาพของอากาศ คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้นสะดวกสบาย และคุณภาพอากาศก็ดีขึ้นใน กทม.
มุมมองเกี่ยวกับประเทศไทย การทำงานของคนไทย ในสายตาภาคธุรกิจฝรั่งเศส
คุณอาร์โนด์ บอกว่า “สิ่งที่ผมชอบที่นี่คือ อากาศ บางคนบอกว่าอากาศร้อนเกินไป แต่ผมว่าโอเค เราอยู่ที่นี่มีความสุข และเรื่องคุณภาพชีวิตทั่วไป มีสิ่งที่ทำให้นักธุรกิจที่ทำงานในประเทศไทยรู้สึกว่าดีที่สุด”
แน่นอนว่าอาจมีประเทศอื่นที่มีเทคโนโลยีที่ดี หรือค่าครองชีพอาจถูกกว่าเมืองไทย แต่ว่าโดยรวมถือว่าคุณภาพชีวิตที่นี่ดีกว่าที่อื่นมาก จึงมีคนที่อยู่ที่นี่นานๆ ตนเองก็อยู่ที่นี่มา 27 ปี ถือว่าคุณภาพชีวิตก็ยังดีแต่ว่าถ้าเราสามารถที่จะปรับปรุงเรื่องของอากาศให้มีฝุ่นน้อยลง เราก็ยินดีที่จะช่วยเช่นเดียวกัน
คุณอาร์โนด์ ยังบอกอีกว่ามีสิ่งหนึ่งที่อยากทุกคนคือคนไทยเป็นคนคุยง่าย ทำงานด้วยกันง่าย ไม่ใช่ไม่มีความขัดแย้ง แต่คนไทยสามารถที่จะคุยกันได้ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับลูกน้องในที่ทำงานก็ง่ายขึ้น ส่วนประเด็นเรื่องคนฝรั่งเศสกับคนไทยอาจจะตรงข้ามกันมากคือคนไทยจะอ้อมๆ ไม่ค่อยกล้าพูดตรงๆ แต่คนฝรั่งเศสกล้าที่จะถกตลอด เมื่อถึงเวลาทำงานจริงๆ
ความแตกต่างตรงนี้สามารถปรับเข้าหากันได้ ถ้ามีคนที่ตรงไปตรงมาเยอะเกินไปก็ไม่ดี ทำให้เกิดความขัดแย้งในการทำงาน แต่ถ้ามีคนที่อ้อมมากก็ไม่ค่อยรู้ความจริง เพราะฉะนั้นเราต้องหาความสมดุล เวลาเราอยากจะรู้ว่าคนไทยคิดอย่างไร บางทีเวลาประชุมกับลูกน้อง ถ้าตนเองพูดก่อนลูกน้องจะไม่ค่อยกล้าพูดจึงต้องใช้วิธีถามก่อนว่าเขาคิดอย่างไรหรือแนะนำอย่างไร เขาถึงจะพูด ใช้วิธีแบบนี้ ทำให้คนที่เงียบๆ หรือคนที่ไม่ค่อยพูดมีส่วนร่วม
แต่เช่นเดียวกัน ถ้าเราไม่ตรงไปตรงมาก็จะไปไม่ถึงเป้าหมาย บางทีเราอาจจะต้องหาจุดสมดุลทำให้คนพูดแสดงความคิดเห็น สุดท้ายเราใช้มุมฝรั่งเศสในการผลักดันให้ไทยไปถึงเป้าหมายร่วมกัน