SHARE

คัดลอกแล้ว

‘สวนสาธารณะ’ โครงสร้างพื้นฐานที่คนเมืองต้องการ ว่าแต่ทำไม กรุงเทพฯ ยังมีไม่มากพอ? เพราะถ้าสอบถามคนกรุงเทพฯ สิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิตในเมืองคืออะไร เชื่อว่า “สวนสาธารณะ” คงเป็นคำตอบอันดับต้นๆ อย่างแน่นอน

แต่ที่ผ่านมา พื้นที่สวนสาธารณะยังไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรกรุงเทพฯ และมีอุปสรรคในเข้าถึงด้วย การใช้ประโยชน์ก็ยังไม่เต็มที่มากนัก สวนสาธารณะใช้เป็นพื้นที่วิ่ง เดินเล่น ออกกำลังกาย ประชาชนส่วนใหญ่น่าจะคุ้นเคยกิจกรรมอยู่แค่นั้น

แต่ในความเป็นจริง สวนสาธารณะสามารถทำกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ ได้อีกมากมาย ยกตัวอย่างงานดนตรีในสวนที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พิสูจน์แล้วว่าผู้คนให้คนให้ความสนใจอย่างล้นหลาม หากขยายผลไปสวนอื่นๆ ทั่วประเทศก็คงจะดีไม่น้อย

นี่เป็นเพียงตัวอย่างกิจกรรมทีเกิดขึ้นในสวนสาธารณะ TODAY Bizview ชวนไปดูตัวอย่างเคสในต่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับนโยบายพัฒนาเมืองผ่านสวนสาธารณะ ไปดูว่าเขาทำกันอย่างไร มีอะไรน่าสนใจ และมีแนวทางไหนที่ไทยจะหยิบยกมาใช้ได้บ้าง?

พื้นที่สวนสาธารณะไทย ยังต่ำกว่ามาตรฐานโลก

ตามเกณฑ์ค่าเฉลี่ยมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดพื้นที่สีเขียวต่อหัวประชากรในเกณฑ์ที่เหมาะสมของเมือง ควรอยู่ที่ 9 ตร.ม./คน นับรวมทั้งพื้นที่สีเขียวของรัฐและเอกชน และปัจจุบันพื้นที่สีเขียวเฉลี่ยของกรุงเทพฯ ตามเกณฑ์นี้อยู่ที่ 7.30 ตร.ม./คน

แม้จะยังต่ำกว่าเกณฑ์ แต่กรุงเทพฯ ตั้งใจไว้ว่าจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวต่อให้ได้ 10 ตร.ม./คน ตามเป้าหมายโครง Green Bangkok 2030 พูดง่ายๆ อีก 8 ปี กรุงเทพฯ จะต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้อีกประมาณ 2.7 ตร.ม./คน ให้เกินมาตรฐาน WHO พอเทียบตัวเลขในตอนนี้ เป้าหมายที่ตั้งไว้ดูจะไม่ไกลเกินเอื้อมนัก

แต่ตัวเลข 7.3 ตร.ม./คน ยังไม่ใช่พื้นที่สีเขียวที่ใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด เพราะพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ (ที่เป็นสวนสาธารณะจริงๆ) มีเพียง 1.2 ตร.ม./คนเท่านั้น น้อยมากๆ ที่เหลือเป็นพื้นที่สีเขียวประเภทสนามกอล์ฟ แปลงเกษตร ที่ดินรกร้าง ฯลฯ ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะ

ส่วนเกณฑ์ของสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดพื้นที่สีเขียวเพื่อบริการสาธารณะ ไว้ที่ 4 ตร.ม./คน แต่พอมาดูภาพรวมประเทศ หลายจังหวัดมีพื้นที่สีเขียวเพื่อบริการสาธารณะต่ำกว่าเกณฑ์ถึง 19 จังหวัด และในเขตเทศบาลมีพื้นที่สีเขียวเพื่อบริการสาธารณะเพียง 2.6 ตร.ม./คน เท่านั้น

สรุปได้ว่า สวนสาธารณะต่อหัวประชากรในประเทศไทยยังต่ำกว่าเกณฑ์มาก หากจะสร้างพื้นที่สีเขียวตามที่กำหนด น่าจะเป็นโจทย์ใหญ่พอสมควร เพราะอย่าลืมว่าสวนสาธารณะที่ว่านี้ ต้องเป็นพื้นที่ที่ประชาชนใช้งานได้จริง ซึ่งต้องใช้เวลาพัฒนา ในขณะที่ที่ดินผืนใหญ่ใจกลางเมืองก็หายากขึ้นด้วย และยังมีข้อจำกัดมากมายของ ‘ความเป็นราชการ’ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำได้หรือไม่?

มูลค่าทางเศรษฐกิจของสวนสาธารณะ ในสหรัฐอเมริกา

สวนสาธารณะ ไม่ได้มีฟังก์ชันแค่เป็นสถานที่ออกกำลังกายหรือพักผ่อนหย่อนใจเท่านั้น แต่เมืองที่มีสวนสาธารณะที่ดี จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ของผู้คน ช่วยสร้างสุขภาวะที่ยอดเยี่ยมให้กับคนเมือง พอคนมีสุขภาวะที่ดีก็จะก่อเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจตามมามากมาย

งานวิจัยที่หลายคนน่าจะเคยได้ยินมาก่อนหน้านี้ หากเมืองดี สวนสาธารณะดีและเพียงพอ จะช่วยแก้ปัญหา “อ้วน โสด จน” ที่คนเมืองประสบพบเจอได้ ถ้าจะให้เห็นภาพชัดขึ้น พาไปดูตัวอย่างเคสในต่างประเทศว่ามีนโยบายพัฒนาสวนอย่างไร และผลลัพธ์ที่ได้คืออะไร

สวนสาธารณะในสหรัฐอเมริกา สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มหาศาล จากรายงานการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจของสวนสาธารณะในสหรัฐอเมริกา ปี 2020 โดย National Recreation and Park Association บอกว่าสวนสาธารณะทั่วประเทศ ก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจราว 2.25 แสนล้านดอลลาร์

โดยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ GDP ประเทศ 1.09 แสนล้านดอลลาร์ สร้างรายได้แรงงาน 6.9 หมื่นล้านดอลลาร์ เกิดการจ้างงาน 1,247,017 ตำแหน่ง คำนวณจากการใช้สวนสาธารณะเพื่อกิจกรรมนันทนาการ การออกกำลังกาย การสร้างความสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างคนในครอบครัวและชุมชน

นอกจากนี้ สวนสาธารณะในท้องถิ่นอเมริกา ยังสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนในแง่สุขภาพ ความเท่าเทียม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ เช่น ทำให้ราคาอสังหาฯ ในพื้นที่สูงขึ้น, ท้องถิ่นจัดเก็บรายได้ได้เยอะขึ้น, ดึงดูดวัยเกษียณรายได้สูง, ดึงดูดให้วัยทำงานอยากทำงานและใช้ชีวิต และทำให้คนสนใจซื้อบ้านในเมืองมากขึ้นด้วย

สิงคโปร์ สู่เป้าหมาย The City Garden

สิงคโปร์ ประเทศที่ขึ้นชื่อว่าให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ในปี ค.ศ. 1976 สิงคโปร์เคยเป็นประเทศโลกที่สามที่เต็มไปด้วยพื้นที่อุตสาหกรรม ชุมชนแออัด และแหล่งน้ำเสีย ไม่มีทรัพยากรแม้กระทั่งน้ำจืด

แต่แล้ว สิงคโปร์กลับพลิกฟื้นอย่างรวดเร็ว โดยวิสัยทัศน์ก้าวไกลของผู้นำประเทศอย่าง ‘ลีกวนยู’ ผู้นำสิงคโปร์ในเวลานั้น วางแผนให้สิงคโปร์เป็น The Garden City เปลี่ยนประเทศเล็กๆ แห่งนี้ให้เป็นเมืองสีเขียว ให้ต้นไม้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพลเมือง

ลีกวนยู ได้รับแรงบันดาลใจเรื่องเมืองสีเขียวจากแนวคิดในหนังสือ The Garden City of Tomorrow ของนักผังเมืองสายสังคมนิยม Ebenezer Howard อธิบายถึงอุทยานนครหรือเมืองที่แทรกตัวอยู่ในสวน เป็นจุดเริ่มต้นที่มาของแผนพัฒนาเมืองสีเขียว

สิงคโปร์ สรรค์สร้างพื้นที่ต่างๆ เชื่อมโยงกันด้วยเส้นทางสีเขียว ออกแบบให้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน คำนึงถึงระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ลีกวนยู มองประโยชน์ของสวนมากกว่าพื้นที่ฟอกอากาศหรือแค่ไว้ออกกำลังกาย เขาเห็นว่าเมืองในสวนคือโอกาสทางเศรษฐกิจที่สำคัญ

โอกาสที่ว่านี้ คือการดึงดูดผู้คนและนักลงทุนให้มาอาศัยและทำงานในสิงคโปร์เพิ่มมากขึ้น กลายเป็นนโยบายสำคัญของประเทศ เปลี่ยน จาก Garden in The City สู่การเป็น The City Garden เริ่มกลยุทธ์ปลูกต้นไม้ในพื้นที่สำคัญ เช่น ถนนเชื่อมสนามบิน แหล่งย่านการค้าและพักผ่อน

ปรากฏว่าภายในระยะเวลา 3 ปี สามารถปลูกต้นไม้ได้ถึง 55,000 ต้น มีนโยบายต่างๆ ออกมาต่อเนื่อง เช่น กำหนดวันปลูกต้นไม้แห่งชาติ ออกพระราชบัญญัติสวนสาธารณะและนันทนาการ เพื่อปลูก ดูแล อนุรักษ์พื้นที่สีเขียวอย่างเป็นจริงเป็นจัง

ในปี 1991 จัดตั้งหน่วยงาน Parks and Recreation Department และ National Parks Board ดูแลบริหารจัดการพื้นที่สีเขียวและอนุรักษ์อย่างเป็นระบบ จนปัจจุบันสิงคโปร์ มีพื้นที่สีเขียวมากถึง 47% ของพื้นที่ทั้งหมด มีสวนสาธารณะมากกว่า 350 แห่ง ทั้ง ๆ ที่มีเนื้อที่เพียงครึ่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร

สวนสาธารณะของสิงคโปร์ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย เช่น Southern Ridges พื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะครอบคลุมตามแนวเขา ความยาว 10 กิโลเมตร มีทัศนียภาพที่สวยงาม หรือจะเป็น Singapore Botanic Gardens สวนพฤกษศาสตร์แห่งแรกในเอเชียที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

แม้แต่สวนยอดฮิตอย่าง Gardens by the Bay ที่กลายเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของเมือง มี Supertree Grove โครงสร้างต้นไม้ขนาดใหญ่ที่เป็นสวนแนวตั้ง รวมถึง Flower Dome โดมสวนดอกไม้ขนาดอลังการ ดึงดูดคนเข้าชมมากถึงปีละ 6.4 ล้านคน สร้างเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวมูลค่ามหาศาลเช่นกัน

ล่าสุดสิงคโปร์ได้ประกาศ Singapore Green Plan 2030 ตั้งเป้าเป็นประเทศพัฒนาอย่างยั่งยืน มุ่งสู่ City in Nature จัดสรรพื้นที่สวนสาธารณะและอุทยานธรรมชาติทั่วประเทศ เพิ่มขึ้นอีก 50% หรือประมาณ 1,250 ไร่นโยบายนี้จะทำให้ประชาชนทุกครัวเรือนสามารถเดินถึงสวนสาธารณะได้ภายใน 10 นาที และการที่ปลูกต้นไม้เพิ่มจำนวน 1 ล้านต้น ผลคือจะช่วยจำกัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 78,000 ตันเลยทีเดียว

เกาหลีใต้ ทำเมืองสร้างสวน แล้วให้สวนสร้างเมือง

ใครเคยไปเที่ยวประเทศเกาหลีใต้ จะพบว่ามีสถานที่ท่องเที่ยวจำนวนมากที่เป็นสวนสาธารณะหรือสวนพฤกษศาสตร์ เฉพาะแค่ในกรุงโซลก็มีสวนสาธารณะที่มีชื่อเสียงอยู่ไม่น้อย อย่างเช่น Seoul Forest Park, Yeouido Hangang Park และสวนอื่น ๆ อีกมากมาย

สวนสาธารณะเหล่านี้กลายเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจให้ผู้คนได้คลายความเหนื่อยล้าจากการทำงาน ด้วยกิจกรรมนันทนาการ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น ดังนั้นสวนสาธารณะในเกาหลีใต้จึงมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ สวนใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ช่วยทำให้ห้างร้าน ธุรกิจในบริเวณใกล้เคียงกลับมาคึกคักมากขึ้น

ยกตัวอย่าง พื้นที่วนอุทยาน Gyeongui Line Forest Park ทางรถไฟที่สร้างขึ้นเมื่อปี 1966 เคยเชื่อมต่อกับทางตอนเหนือของประเทศเกาหลีเหนือ หลังจากการแบ่งแยกประเทศ ทางรถไฟสายนี้ก็ถูกลดบทบาทลง จนแทบไม่ได้ใช้งาน

จนถึงปี 2000 ทางรถไฟนี้ ได้รับการปรับปรุงให้เป็นวนอุทยาน พบว่าธุรกิจขนาดเล็กโดยรอบถูกฟื้นฟู กลายเป็นสวนสาธารณะกลางชุมชนย่านยอนนัมดงที่มีชีวิตชีวา การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้รับรู้ได้จากการเติบโตทางเศรษฐกิจในท้องถิ่น เทียบจากก่อนและหลังเปิดสวนสาธารณะ ข้อมูลจากการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและปริมาณเงินสดสะพัดภายในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ สาธารณะในเกาหลีใต้ยังทำให้เกิดพื้นที่แสดงงานศิลปะ สร้างความบันเทิงเริงใจในท้องถิ่นด้วย ยิ่งได้รับแรงสนับสนุนจากภาครัฐจัดเทศกาลดนตรี ยิ่งดึงดูดผู้คนในประเทศและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก  เศรษฐกิจระดับท้องถิ่นขยายตัวตาม นับว่าเป็นไอเดียที่ดีและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพใหญ่ไปพร้อมๆ กัน

ญี่ปุ่น สร้างสวนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเรียนรู้

อีกหนึ่งประเทศที่ต้องพูดถึงความโดดเด่นในเรื่องการพัฒนาสวนสาธารณะสำหรับชุมชน คือประเทศญี่ปุ่น  ยกระดับสวนสาธารณะเป็นศูนย์วัฒนธรรมและศูนย์การศึกษาระดับประเทศ ในแต่ละเมืองจะมีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ รองรับให้ผู้คนเข้ามาใช้งานและเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย

ยกตัวอย่างสวนอุเอะโนะ สวนสาธารณะที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงโตเกียว นักท่องเที่ยวน่าจะรู้จักกันดี ภายในสวนแห่งนี้เป็นจุดชมซากุระยอดนิยม และสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ เช่น เดินเล่น ปั่นจักรยาน ออกกำลังกาย นั่งปิกนิกในสวน เช่าเรือถีบ เป็นต้น

ที่สำคัญยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นสวนสัตว์, สวนพฤกษศาสตร์, พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์ รวมถึงพิพิธภัณฑ์ศิลปะ

แต่เดิมสวนอุเอะโนะเป็นสวนสาธารณะที่กว้างขวาง ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นไม่สามารถดูแลได้ดีพอ จึงเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินงาน สร้างประโยชน์ให้กับผู้ที่อยู่อาศัยใกล้สวน ผู้ที่มาใช้บริการ รวมถึงภาคเอกชนที่ประกอบกิจการในบริเวณใกล้เคียง

จากการร่วมมือกันของรัฐบาลท้องถิ่นและหน่วยงานเอกชน ช่วยกันดูแลและพัฒนาสวนอุเอะโนะ ทำให้สวนแห่งนี้เป็นแหล่งรวมตัวของผู้คนแทบทุกวัย ช่วยเยียวยาจิตใจและร่างกายผ่านกิจกรรมในสวน สร้างปฏิสัมพันธ์ของชุมชนเมืองได้อย่างน่าสนใจ

สวนสาธารณะในเมือง ความหวังสีเขียวเยียวยาชีวิต

พูดถึงสวนสาธารณะต่างประเทศแล้ว กลับมามองดูสวนสาธารณะในบ้านเรา แม้สวนสาธารณะในไทยจะยังมีไม่มากนัก บางคนมองว่าไม่เพียงพอและต้องใช้เวลาพัฒนากันต่อไป

แต่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เสียงดนตรีดังขึ้นในหลายๆ สวนสาธารณะของกรุงเทพฯ เราเริ่มเห็นกิจกรรมดนตรีในสวน ภายใต้การนำของผู้ว่ากทม. คนใหม่ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ รวมถึงเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และยังมีวงดนตรีของกองทัพด้วย

เชื่อว่าอีกไม่นานต่อจากนี้ เสียงดนตรีคงจะดังขึ้นในสวนสาธารณะอีกหลายแห่งทั่วประเทศ และยังมีกิจกรรม ที่น่าสนใจอื่นๆ เกิดขึ้นด้วย เช่น เทศกาลภาพยนตร์ “กรุงเทพฯ กลางแปลง” ฉายหนังกลางแปลงในสวน รวมถึงงาน “หนังสือในสวน” ที่กำลังจะจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้

นี่คือจุดเริ่มต้นที่ดีและเป็นเพียงตัวอย่างของกิจกรรม ที่สร้างชีวิตชีวาให้กับคนเมืองผ่านสวนสาธารณะ ก็พอทำให้ใจชื้นขึ้นมาบ้างและเริ่มมีหวังว่าสวนสาธารณะจะขับเคลื่อนชีวิต เป็นแหล่งความคิดสร้างสรรค์และสร้างชุมชนขนาดย่อมๆ ได้

อีกด้านคือช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในอนาคตอาจดึงดูดผู้คนและการลงทุนได้เหมือนประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดนิทรรศการ จัดงานอีเว้นท์ สร้างศูนย์การเรียนรู้ สวนพฤกษศาสตร์ ดึงภาคเอกชนและประชาสังคมมาช่วยกันพัฒนา สนับสนุนผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจน้อยใหญ่ ก็คงจะยิ้มได้มากขึ้น

สวนสาธารณะ นอกจากจะดีต่อกาย ดีต่อใจแล้ว ยังช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและมูลค่าของความรื่นรมย์ให้กับเมืองอีกด้วย เช่นในหลายประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลก ล้วนให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มานาน และได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สวนสาธารณะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้จริงๆ

 

ที่มา :

https://www.euro.who.int/__data/assets/pdf_file/0004/114448/E93987.pdf

http://203.155.220.118/green-parks-admin/index.php

http://thaigreenurban.onep.go.th/index.aspx

https://www.nrpa.org/publications-research/research-papers/the-economic-impact-of-local-parks/?fbclid=IwAR00p8ep1ONU5n00NNB6svhe5gc6EoZWkA0duSV2TuymOxbU-rBwg0o0CjY

https://www.brec.org/assets/General_Info/Why_R_Parks_Important/Papers/Parks-for-Economic-Development.pdf

https://thaibizsingapore.com/singapore/green-plan/ https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0169204618310570

https://panorama.solutions/en/solution/financing-urban-park-management-private-sector-participation

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า