สภาฯ มติเอกฉันท์ รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ประมง ‘พิธา’ ซัด พ.ร.ก.ประมง ปี 58 กระทบอุตสาหกรรม ชาวบ้านทำได้แค่จับปลาโดนบีบจนไม่มีทางเลือก ด้าน ‘ธรรมนัส’ ขอ สส. ร่วมทำบุญผ่านร่างกฎหมาย
เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 67 การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 พ.ศ. …. ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)เป็นผู้เสนอ และมีร่างในทำนองเดียวกันอีก 7 ฉบับ มีสมาชิกร่วมอภิปรายอย่างกว้างขวาง อาทิ
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อและประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ร่าง พ.ร.บ. ประมงนี้ นำเข้าสภาฯ ตั้งแต่ วันที่ 21 เม.ย. 58 จนถึงวันนี้ แสดงให้เห็นถึงแรงเฉื่อยของสภาฯ ในการแก้ปัญหา
ในปี 2558 ที่เราผ่านกฎหมายประมงผิดกฎหมายและไร้การควบคุม หรือ IUU ที่ระบุชัดว่า เราจะต้องปฏิบัติตามหลักการใช้เขตอำนาจรัฐนอกดินแดน และหากประเทศไทยไม่ปฏิบัติตาม ก็จะไม่สามารถส่งสินค้าประมงไปขายสหภาพยุโรปได้ จึงขอเตือนสติอีกครั้งว่า ประเทศไทยส่งออกประมง 2 แสนล้านบาท ส่งออกไปยุโรปเพียงแค่ 6.7% เท่านั้น แต่คนที่ต้องรับกรรม คือ ประชาชนที่ไม่ได้ส่งออกไปยุโรป คนส่งออกไม่ได้รับโทษ คนที่รับโทษไม่ได้ส่งออก นี่คือความอยุติธรรมตลอด 10 ปี ที่ผ่านมา ที่ประชาชนน้ำตาไหลแล้ว น้ำตาไหลเล่า วันนี้เป็นวันที่ เราจะร่วมนิมิตหมาย ทุกคน ทุกพรรคผ่านกฎหมายนี้ แล้วตั้งคณะกรรมาธิการ และผ่านกฎหมายโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
“ผลกระทบของอุตสาหกรรมประมง ตั้งแต่ปี 2560-2566 การส่งออกลดลง 11% อย่าลืมว่าการส่งออกไม่ใช่อยู่แค่การจับปลา แต่ยังมีเรื่องท่าเรือ สะพานปลา และการขนส่งที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปพบประชาชนเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2566 และไปสัญญากับนายกสมาคมประมงเอาไว้ว่าจะแก้ไขให้ชาวประมงได้เร็วที่สุด อย่างน้อยกฎหมายลูกต้องแก้ให้ได้ภายใน 90 วัน แต่ตัวเลขอุตสาหกรรมท่าเรือ สะพานปลา และการขนส่งหายไป25% นี่คือความใหญ่ ความหนัก และความยาวานกว่า 10 ปีที่ชาวประมงโดนกฎหมายอำนาจนิยมกดขี่พวกเขาไว้ โดนบีบจนไม่มีทางเลือก ชาวประมงที่กลายเป็นผู้ต้องหาคดี 4,632 คน โทษปรับและจำคุกหนัก เล่นกันจนบีบให้ต้องขายเรือมากมาย ซึ่งชาวบ้านบอกว่าการที่ต้องปรับตัวไปตาม IUU ไม่ได้ว่าอะไร แต่ต้องให้โอกาสเขาปรับตัว ไม่ใช่ปรับจนเขาล้มละลาย ถ้ามีระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน มีกองทุนประมง เรื่องกฎหมายต้องทำให้ถูกต้องและศักดิ์สิทธิ์” นายพิธา กล่าว
ด้าน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ตัวแทนคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชี้่แจงว่า อยากให้หลับตาและนึกถึงพี่น้องชาวประมงทั้ง 22 จังหวัดว่า 10 ปีที่ผ่านมา นึกสภาพสมัยก่อนที่ไม่มีกฎหมายมาบังคับ ประมงไทยถือเป็นเจ้าสมุทร ทำรายได้มหาศาล แต่ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา อุปสรรคกฎหมายมาบังคับไม่ให้ชาวประมงอยู่รอดได้ มีหนี้สินและคดีความติดตัว ยืนยันว่ากฎหมายที่รัฐบาลร่างมาในวันนี้ เป็นตัวแทนของพี่น้องชาวประมง ตนในฐานะ ครม. ขอให้เพื่อนสมาชิกมาร่วมทำบุญกัน ทำบุญให้กับพี่น้องคนไทย โดยเฉพาะครอบครัวชาวประมงทั้ง 22 จังหวัด
ในที่สุด ที่ประชุมสภาฯ ได้ลงมติรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ประมงฯ ทั้ง 8 ฉบับ จากจำนวนผู้ลงมติ 416 คน ด้วยมติเห็นด้วย 416 คน ไม่เห็นด้วย ไม่มี และตั้งคณะกรรมาธิการ 37 คน โดยใช้ร่างของครม. เป็นร่างหลักในการพิจารณา