SHARE

คัดลอกแล้ว

‘พิธา’ อภิปรายครั้งแรก หลังคืนสภาฯ เสนอ 5 ข้อ หนุนตั้ง กมธ.วิสามัญ จัดการขยะ-แนะเพิ่มงบฯ 20 เท่า

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดพิเศษ วันนี้ (26 ม.ค. 67) โดยมีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม พิจารณาญัตติเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะชุมชน ที่เสนอโดย นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล รวมกับญัตติทำนองเดียวกันอีก 4 ฉบับ

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อและประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นอภิปรายครั้งแรก หลังได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ สส. โดยเขาเกริ่นว่า “ผมกลับมาแล้วครับท่านประธาน อาจจะเป็นเวลานานถึง 6 เดือน ที่ผมไม่ได้มีโอกาสเข้ามาอภิปรายปัญหาของพี่น้องประชาชนในสภาฯ แห่งนี้ จนกระทั่งบัตรเสียบก็ยังไม่ได้ทำ แต่โชคดีที่ยังมีบัตรสำรอง ให้มีโอกาสได้มาพูดถึงปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน”

จากนายพิธา ได้อภิปรายเข้าสู่เนื้อหาว่า วันนี้ต้องการพูดถึงปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน คือญัตติการบริหารจัดการขยะชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และพื้นที่เมืองท่องเที่ยว ในช่วงยุติการปฏิบัติหน้าที่ สส. เมื่อเดือนตุลาคม 2566 ตนได้ลงพื้นที่บ่อขยะแพรกษาใหม่ จ.สมุทรปราการ และบ่อขยะเทศบาลนคร จ.ภูเก็ต ทั้ง 2 เป็นพื้นที่ที่แตกต่างกันพอสมควร สมุทรปราการเป็นเมืองอุตสาหกรรม มีโรงงานและแรงงานเยอะ ส่วนภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก

สำหรับกองขยะที่สมุทรปราการ ความสูงอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าตึก 5 ชั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือปริมาณขยะรายวันที่ 2,830 ตันต่อวัน สามารถจัดการขยะได้ถูกต้องตามสุขลักษณะตามมาตรฐานเพียง 300 ตัน ที่เหลือกว่า 2 พันตันถูกจัดการอย่างไม่ถูกต้อง สร้างผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องสมุทรปราการ เพราะข้างๆ บ่อขยะคือโรงเรียนที่มีเด็กเล็ก เสี่ยงเกิดอันตราย เสี่ยงอัคคีภัย เหมือนที่เคยเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้กองขยะที่พิษณุโลกเมื่อ 26 ม.ค. ที่ผ่านมา แต่เมื่อดูงบประมาณ จ.สมุทรปราการ มีจีดีพี (GDP) 660,685 ล้านบาท งบอยู่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 49 แห่งเพียง 1,654 ล้านบาท คิดเป็น 0.25%

ส่วนสถานการณ์ที่ จ.ภูเก็ต ขยะในปัจจุบันอยู่ในระดับวิกฤติ จากที่ตนลงพื้นที่เห็นว่า สักวันหนึ่งขยะก็จะลงไปในทะเล ต่างชาติจะเรียกภูเก็ตว่า Garbage Paradise หรือสรวงสวรรค์ที่เต็มไปด้วยขยะ โดยปริมาณขยะรายวันสูงสุดอยู่ที่ 871 ตันต่อวัน ความสามารถในการเผาขยะอยู่ที่ 700 ตัน ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของภูเก็ตอย่างชัดเจน เมื่อดูงบประมาณ จีดีพีของภูเก็ต 202,555 ล้านบาท แต่มีงบให้ อปท. ทั้งจังหวัดเพียง 633 ล้านบาท คิดเป็น 0.31%

“นี่คือภาพในระดับระดับจุลภาค เห็นได้ในท้องถิ่น ที่ทำให้ผมกลับมาแล้วสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษว่า ถ้าเป็นในระดับชาติ ถ้ามีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ ควรจับประเด็นในระดับประเทศอย่างไร” นายพิธา กล่าว

นายพิธา กล่าวต่อว่า เรื่องการจัดการขยะมองเป็นจุดๆ ไม่ได้ ต้องมองเป็นห่วงโซ่มูลค่า ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ถ้าเราลดขยะต้นทางไม่ได้ ก็เลิกคิดเรื่องกลางทางและปลายทาง สำหรับต้นทาง จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 2562-2565 ขยะในประเทศไทยมีทั้งหมด 63 ล้านตัน แต่หลังจากผ่านวิกฤติโควิด เมื่อเศรษฐกิจต้องถูกกระตุ้น เมื่อมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น จำนวนขยะก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อดูกลางทาง 88% คือขยะที่ได้รับการจัดการ แปลว่าอีก 12% ไม่ได้รับการจัดการ และเมื่อลงในรายละเอียด ใน 88% นั้นก็ไม่รู้ว่าได้รับการจัดการแบบได้มาตรฐานหรือไม่ ต่อไปปลายทาง ประเทศไทยมีหลุมขยะ 1,941 หลุม ได้มาตรฐานเพียง 72 หลุม จำนวนเตาเผา 105 เตา มีระบบบำบัดเพียง 11 เตา

นายพิธา กล่าวว่า ตนมี 5 ข้อเสนอในการวางกรอบการทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญ แบ่งเป็นต้นทาง กลางทาง ปลายทาง สามารถนำไปเป็นวาระการประชุมได้เลย สำหรับ “ต้นทาง” ข้อ 1 คือการลดขยะต้นทางด้วยการส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งพรรคก้าวไกลพร้อมสนับสนุนกลุ่มทุนใหญ่ที่ลงทุนเรื่องนี้ แต่เราต้องคิดด้วยว่าจะทำอย่างไรให้ระบบนิเวศของเศรษฐกิจ ทำให้ SMEs และประชาชนสามารถเข้าถึงได้

ข้อ 2 คือการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการขยะและการหมุนเวียนทรัพยากร จะทำให้ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบกับขยะที่เกิดขึ้นจากการผลิตและการใช้ซ้ำด้วย เป็นกฎหมายที่พรรคก้าวไกลพยายามนำเสนอ

ต่อมา “กลางทาง” ข้อ 3 คือการโอนอำนาจให้หน่วยงานส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการขยะ ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่กระทรวงมหาดไทยหรือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ แต่เพียงอย่างเดียว

และสุดท้าย “ปลายทาง” ข้อ 4 เพิ่มเติมงบประมาณสำหรับการดำเนินการบริหารจัดการขยะ เมื่อคำนวณว่ามีหลุมขยะประมาณ 2,000 หลุม ถ้าใช้งบประมาณ 20 ล้านต่อหลุมตามที่ สส.พูนศักดิ์อภิปราย เท่ากับงบ 40,000 ล้านบาท แต่ตนไปดูงบประมาณปีนี้ เรื่องการจัดการขยะและ Circular Economy รวมกันแค่ 1,800 ล้านบาทเท่านั้น ต้องเพิ่มอีกอย่างน้อย 20 เท่าถึงจะแก้ปัญหาขยะในประเทศไทยได้ และข้อ 5 คือการออกมาตรการด้านกองทุนฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนและสำหรับผู้รับบำบัดกำจัดขยะ

“ถ้าเราวางแผนได้แบบนี้ จะสามารถลดจำนวนขยะ ป้องกันก่อนเกิดปัญหา บริหารจัดการตอนที่ปัญหาเกิดแล้ว และสามารถบริหารจัดการผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาการจัดการขยะที่ไม่ได้ประสิทธิภาพในประเทศไทย” นายพิธาทิ้งท้าย

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า