SHARE

คัดลอกแล้ว

‘ศิริกัญญา’ ทวงรัฐบาลตอบคำถามอภิปรายงบฯ 67 ยังไม่ครบ ยกวิกฤตเศรษฐกิจ-ความมั่นคง-สิ่งแวดล้อม ชี้จัดงบไม่ตอบโจทย์ แถมประเด็น ‘แลนด์บริดจ์’ ฝากนายกฯ ทำการบ้านใหม่ หลังพูดข้อมูลผิด

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล แถลงข่าวถึงประเด็นที่รัฐบาลยังชี้แจงไม่ครบถ้วน ในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ระบุว่า งบประมาณปี 2567 ไม่ได้สะท้อนการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ เป็นการตั้งงบประมาณไว้อย่างไม่ได้สัดส่วนกับความรุนแรงของปัญหา และยังมีการสอดใส้งบประมาณที่ไม่ตรงกับแผนสร้างความสามารถในการแข่งขัน ตนจึงมีคำถามที่อยากให้รัฐบาลตอบในด้านต่างๆ ประกอบด้วย

1. วิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งตนขอเรียกร้องเป็นครั้งสุดท้ายให้ รมช.คลัง (จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) ควรยอมรับว่ามีความผิดพลาด ที่นำการขยายตัวของของจีดีพีที่รวมผลของเงินเฟ้อ (nominal GDP growth) มาเป็นการประมาณการเศรษฐกิจ ซึ่งไม่มีใครใช้กัน และยังพูดอีกว่าเป็นการใช้ในการประมาณการรายได้ แต่ก็ฟังไม่ขึ้น เพราะตัวเลขนี้อยู่ในประมาณเศรษฐกิจ ที่ต้องใช้อัตราการขยายตัวของจีดีพีแบบที่ลบผลเงินเฟ้อไปแล้ว

รัฐบาลควรต้องชี้แจงในเรื่องของงบประมาณที่ตั้งไว้ผิดพลาด ไม่ว่าจะเป็นงบบำเหน็จบำนาญ ค่ารักษาพยาบาลที่ตั้งไว้อย่างไม่พอจ่ายในปี 2567 เงินเดือนข้าราชการที่ไม่ได้ตั้งเผื่อไว้สำหรับนโยบายขึ้นเงินเดือนข้าราชการ และยังไม่ได้รับคำตอบว่ารัฐบาลจะแก้ไขอย่างไร จะใช้งบกลางหรือเงินคงคลังมาเติมหรือไม่

นอกจากนี้ ยังมีการประมาณการรายได้ที่สูงเกินจริง ทั้งที่จะมีรายได้จากภาษีถึง 4 ตัวที่หายไป ทั้งภาษีขายหุ้น, การลดหย่อนภาษีกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (TESG), รายได้ที่ต้องนำส่ง กฟผ. และการลดภาษีสรรพสามิตรน้ำมันดีเซลและเบนซิน

โดยเฉพาะในเรื่องรายได้นำส่ง กฟผ. ที่ต้องพิจารณาถึงสภาพคล่อง กฟผ.ด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวหาว่าพรรคก้าวไกลใช้ข้อมูลสภาพคล่องกฟผ.เป็นเท็จนั้น ตนยืนยันได้ว่าเป็นข้อมูลจริง แต่แน่นอนว่าตัวเลขของรัฐมนตรีย่อมต้องเป็นตัวเลขที่ล่าสุดมากกว่า ซึ่งแม้จะเป็นตัวเลขล่าสุด แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ยังไม่ได้แสดงการคาดการณ์สภาพคล่องในอนาคต ที่ กฟผ. จะต้องแบกหนี้แสนกว่าล้านบาทต่อไปอยู่ดี

การที่ รมว.พลังงาน มาโจมตีกล่าวหาตัวเลขอย่างหนักหน่วงเช่นนี้ เป็นไปเพื่อหลบเลี่ยงการตอบคำถามว่าจะจัดการเรื่องหนี้ กฟผ. อย่างไรเพื่อไม่ให้ประชาชนต้องมาคอยลุ้นว่าค่าไฟจะเป็นเท่าไหร่ทุกๆ 4 เดือน อยู่กันต่อไป แต่ก็ยังมีสิ่งที่เป็นประโยชน์จากการชี้แจงของรัฐมนตรีอยู่บ้าง คือการยอมรับว่าเงินนำส่งรายได้ กฟผ. นั้นสูงเกินไป และมีแผนที่จะปรับลดลง 8 พันล้านบาท ใกล้เคียงกับที่พรรคก้าวไกลเสนอให้ทำ แต่ก็เท่ากับว่าตอนนี้เผือกร้อนได้ไปตกอยู่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่าประมาณการรายได้ปี 2567 จะลดต่ำลงไปอีกและยังคงไม่มีคำตอบว่าจะหาเงินที่ไหนมาชดเชย

นอกจากนี้ ยังมีหนี้ตาม ม.28 ที่ซุกซ่อนไว้ในแผนงานต่างๆ ที่ให้ ธกส. ออกเงินดำเนินนโยบายไปก่อน เช่น การใช้หนี้จากโครงการจำนำข้าว ที่เมื่อ สส. พรรคก้าวไกลอภิปรายถึงกรณีนี้ ก็ถูกบิดเบือนไปว่าเป็นการไม่เห็นด้วยกับโครงการจำนำข้าว ทำให้คำถามที่สำคัญแท้จริงไม่ได้ถูกพูดถึงและไม่ได้รับคำตอบที่เหมาะสม

หนี้ส่วนนี้แม้จะไม่ได้นับรวมกับหนี้สาธารณะ แต่ประชาชนก็ยังคงจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบผ่านการจ่ายผ่านภาษีอยู่ดี ตนจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลยอมรับและเปิดเผยข้อมูลหนี้ในส่วนนี้ ว่ามีอยู่เท่าไหร่ ต้องจ่ายอีกกี่ปี และจะมีวิธีแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไร

2. วิกฤตด้านความมั่นคง มีการอภิปรายถึงสัดส่วนงบประมาณกระทรวงกลาโหม ว่าเหตุใดเมื่อเกิดวิกฤตแล้ว งบประมาณกระทรวงกลาโหมกลับยังไม่ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่มีการลดงบประมาณกระทรวงกลาโหมลดลง 20% วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ลดลง 10% วิกฤตโควิดลดลง 5% แต่ปีนี้งบประมาณกระทรวงกลาโหมกลับเพิ่มขึ้น 2% แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะชี้แจงว่าเมื่อเทียบโดยงบประมาณทั้งหมดแล้วจะเห็นว่าสัดส่วนงบประมาณลดลง แต่ก็ยังน้อยกว่าเมื่อเทียบกับวิกฤตที่ผ่านมาอยู่ดี ซ้ำร้ายรัฐมนตรียังยอมรับอีกว่าไม่ได้ตั้งใจจะให้ลดลงขนาดนี้ แต่สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณมาให้เท่านี้

แผนการลดกำลังพลของกองทัพ ซึ่งเป็นแผนปี 2560 – 2570 บัดนี้ผ่านมาแล้ว 7 ปี ควรจะเห็นการลดลงของงบประมาณบุคลากรกองทัพได้แล้ว แต่ตนก็ยังคงไม่เห็นความคืบหน้าใด ที่น่าตื่นเต้นคือรมต.สุทินกล่าวว่าจะมีโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด สำหรับข้าราชการกระทรวงกลาโหม ซึ่งตนและพรรคก้าวไกลจะติดตามอย่างใกล้ชิดในงบประมาณปี 2568 ที่จะต้องมีการตั้งงบประมาณเพื่อชดเชยค่าตอบแทนสำหรับผู้เข้าร่วมโครงการด้วย

ในส่วนของงบประมาณเรือดำน้ำ เห็นได้ชัดว่ารัฐมนตรียอมรับถึงความพ่ายแพ้ โดยชี้แจงว่าประเทศไทยเองก็ผิดสัญญาที่ไม่ได้จ่ายเงินให้จีนในช่วงโควิด ซึ่งตนจำเป็นต้องโต้แย้งว่าไทยไม่เคยผิดสัญญาแม้แต่ครั้งเดียว เพราะที่ไม่ได้จ่ายเงินให้จีนก็เนื่องจากจีนไม่สามารถต่อเรือได้เสร็จตามกำหนดงวดงาน จึงไม่ถือว่าเป็นการผิดสัญญา อีกทั้งสัญญายังระบุด้วยว่าจะต้องมีการเจรจาฉันมิตรในกรณีที่มีการผิดสัญญา แต่รัฐบาลก็ได้ถอยเกินการเจรจาฉันมิตรไปแล้ว ซึ่งต้องทวงถามต่อไปว่าค่าปรับสำหรับการส่งมอบล่าช้า ล่าสุด 94 วันแล้ว รัฐบาลจะเอาอย่างไรต่อ

3. วิกฤตสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น pm 2.5 ที่นายกรัฐมนตรีก็ยอมรับเองว่าไม่ได้มีแผนชัดเจนในปี 2567 และจะใช้งบกลางในการดำเนินนโยบายนี้ คำถามคือ pm 2.5 ไม่ได้เพิ่งเกิดเมื่อเร็ว ๆ นี้ ประเทศไทยยังต้องอยู่ในการบริหารราชการแบบไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับฝุ่น pm 2.5 ไปอีกถึงเมื่อไหร่ สัญญาณที่ดีที่สุดก็มีแค่คำสัญญาจากนายกรัฐมนตรีว่าจะมีการเอาผิดกับผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มาจากการเผาเท่านั้น

น.ส.ศิริกัญญา ยังกล่าวถึงโครงการแลนด์บริดจ์ ที่มีการตั้งงบประมาณไว้สองก้อนในปี 2567 ประกอบด้วยการจ่ายงวดงานสุดท้ายของรายงานศึกษาความเป็นไปได้ 68 ล้านบาท และงบประมาณตั้งใหม่ในการจัดทำเอกสารเชิญชวนนักลงทุน 45 ล้านบาท

แต่สิ่งที่นายกรัฐมนตรีได้พูดถึงโครงการแลนด์บริดจ์มีข้อผิดพลาดอยู่ 2 ประการด้วยกัน กล่าวคือ ประการแรก การมีท่อน้ำมัน ซึ่งในรายงานศึกษาความเป็นไปได้ ไม่ได้ศึกษาโครงการในกรณีที่มีท่อน้ำมัน มีแต่เพียงการศึกษาโครงการที่มีท่าเรือสองท่า ทางรถไฟ และถนนเชื่อมต่อท่าเรือเท่านั้น แม้จะมีการเว้นที่ไว้วางท่อน้ำมัน แต่ในการศึกษาความเป็นไปได้ก็ไม่มีเรื่องท่อน้ำมันแต่อย่างใด นั่นเท่ากับว่าอาจจะต้องมีการรื้อรายงานศึกษาความเป็นไปได้ และปรับแผนในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะไม่ตรงกับสิ่งที่ได้ผ่านมติ ครม. ไปแล้ว

ประการที่สอง ช่องแคบมะละกาไม่ได้แออัด เพราะในภาคธุรกิจขนส่ง ทุกคนยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าช่องแคบมะละกาไม่ได้แออัดขนาดนั้น โดยในการประชุมกรรมาธิการแลนด์บริดจ์ที่ตนเป็นกรรมาธิการอยู่ด้วย ตัวแทนจากสภาหอการค้ายังชี้แจงเองว่าไม่ได้แออัดเช่นนั้นจริง และถ้าแออัดจริง สิงคโปร์คงไม่ลงทุนสร้างท่าเรือใหม่ที่มีความจุ 2 เท่าจากท่าเรือเดิม

ศิริกัญญา กล่าวต่อไปว่า นายกรัฐมนตรีควรทราบว่าตัวเลขความคุ้มค่าที่นำเสนอเข้า ครม. และมีมติออกมาแล้ว จนนำไปสู่การนำเสนอผ่านโรดโชว์ต่างๆ ล้วนเป็นรายงานที่ตัวเลขสวยหรูเกินจริง ประเมินรายได้สูงเกินจริง และประมาณการค่าใช้จ่ายต่ำเกินจริง เป็นเส้นทางที่ไม่มีใครจะมาใช้จริง และมีการประมาณการการประหยัดเวลาและต้นทุนที่สูงเกินจริง

ซึ่งสุดท้ายหากจะเป็นโครงการ PPP ที่เอกชนลงทุนเองเกือบ 100% จริง ถ้านักลงทุนไม่มาโครงการก็จะไม่เกิดขึ้น แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่กำลังจะถูกเวนคืนอยู่ดี จะต้องมารอลุ้นวันต่อวันว่าบ้านจะถูกเวนคืนหรือไม่ ยังไม่นับรวมถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ตนและพรรคก้าวไกล เห็นด้วยที่จะมีการพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ การมีท่าเรือยุทธศาสตร์ การมีโครงข่ายระบบรางเชื่อมต่อ การทำนิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ แต่สิ่งที่น่ากังขาคือความคุ้มค่าของโครงการแลนด์บริดจ์จะเป็นอย่างที่มีการคาดการณ์จริงหรือไม่ จึงต้องฝากนายกรัฐมนตรีดำเนินการศึกษาให้รอบคอบกว่านี้ด้วย

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า