SHARE

คัดลอกแล้ว

ทะเล หินลาวาสีดำ ส้ม แฮนยอ…ความผูกพันของคนพื้นถิ่น ในเมืองริมหาดที่สวยงามเต็มไปด้วยวัฒนธรรม และความรักระหว่างหนุ่มสาว เป็นสิ่งที่ When Live Gives You Tangerines หรือ ยิ้มไว้ในวันที่ส้มไม่หวาน ซีรีส์เรื่องล่าสุดจาก Netflix เสิร์ฟเราอย่างเต็มที่ แต่ในอีกมุมหนึ่งชีวิตของ ‘แอซุน’ หญิงสาวลูกแฮนยอไม่มีพ่อ ที่ต้องปากกัดตีนถีบมาตั้งแต่เด็ก ก็สะท้อนให้เห็นความขมของชีวิตจริงที่ผู้หญิงเชจู รวมถึงผู้หญิงอีกหลายคนในเกาหลีได้สัมผัส

 

ชวนทุกคนไปหาคำตอบ ในรายการ Series Society ของ สำนักข่าวทูเดย์ ว่า ทำไมเกิดเป็นหญิงเชจู ทั้งที่อุ้มชูเกาะนี้มา แต่กลับต้องอยู่ใต้อำนาจปิตาธิปไตย รวมถึงวัฒนธรรมที่แฝงอยู่ ในเกาะที่ขึ้นชื่อว่าใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ ผ่านซีรีส์ When Life Gives You Tangerines ยิ้มไว้ในวันส้มไม่หวาน 

***ใครหลบสปอยล์ ยังไม่เคยดูเลย หนีไปก่อนแล้วค่อยกลับมาอ่านกันนะ แต่ถ้าดูมาบ้างแล้ว มาอ่านยาวๆ กันเลย***

[เรื่องย่อ When Live Gives You Tangerines]

สำหรับ ยิ้มไว้ในวันที่ส้มไม่หวาน เล่าเรื่องราวชีวิตของ โอแอซุน (รับบทโดย ไอยู) ลูกสาวของ จอนกวังรเย (รับบทโดย ยอมฮเยรัน) แฮนยอนักดำน้ำหาของทะเล ที่ต้องดิ้นรนเลี้ยงครอบครัว แอซุนรักการเขียนบทกวี มีความฝันที่จะเรียนสูงๆ กวังรเย รู้ดี และพยายามจะส่งลูกสาวให้ถึงฝั่งฝัน อย่างสุดความสามารถ

แต่โชคร้าย กวังรเยป่วยและเสียชีวิต เพราะโรคจากการดำน้ำรุมเร้า ทำให้แอซุนไม่เหลือใคร นอกจาก ยังกวานชิก (รับบทโดย พัคโบกอม) หนุ่มแสนดีคนซื่อ ที่คอยช่วยเหลือและรักแอซุนมาตลอด แม้ว่าแอซุนจะปฏิเสธมาเสมอ เพราะอยากหลุดพ้นไปหาโอกาสบนแผ่นดินใหญ่ในเมืองโซล แต่แล้วชีวิตที่พลิกผัน ก็เหมือนชะตาของสองคนนี้ผูกกันไว้ ท้ายสุดเธอก็เลี่ยงหนุ่มเชจูไปไม่ได้

Cr.Netflix

[แฮนยอ มาตาธิปไตยใต้อำนาจชาย] 

ถ้าความเชื่อหลักของเกาหลี คือผู้ชายหาเลี้ยงครอบครัว ผู้หญิงเป็นแม่บ้าน แต่ทำไมแฮนยออย่าง กวังรเย ถึงรับหน้าที่หลักในการหาเลี้ยงครอบครัว แล้วทำไมอาชีพดำหาอาหารทะเล โดยไม่ใช้ถังออกซิเจน ถึงกลายเป็นอาชีพของผู้หญิงไปได้

สำหรับคนที่อาจไม่รู้จัก แฮนยอ มาก่อน พวกเธอเป็นนักดำน้ำหญิง ที่เก็บของทะเลอย่างหอย สาหร่าย โดย ‘แฮ’ แปลว่า ทะเล ‘นยอ’ แปลว่าผู้หญิง รวมกันแล้ว จึงหมายถึง ผู้หญิงแห่งท้องทะเล นั่นเอง โดยภาษาถิ่นของเชจูจะเรียกว่า จามนยอ ‘잠녀’ หรือ โจมนยอ ‘좀녀’ อันที่จริงแล้ว ในอดีตมีนักดำน้ำชายลักษณะนี้เช่นกัน แต่ใน ศตวรรษที่ 18 พอมีสงคราม ผู้ชายโดนเกณฑ์ไปรบ หรือบางคนออกทะเลไปทำงานแต่เสียชีวิต ไม่ได้กลับบ้าน ผู้หญิงก็ต้องมารับหน้าที่หาเลี้ยงครอบครัวแทน

นั่นถึงทำให้ ท่ามกลางระบอบปิตาธิปไตยที่ห้อมล้อม บ้านของแอซุน และสังคมแฮนยอ กลับเป็นภาพของครอบครัวกึ่งมาตาธิไตย ที่แม่เป็นใหญ่ในบ้าน การเติบโตมากับแม่ที่เป็นหัวหน้าครอบครัว อาจจะมีส่วนสร้างให้แอซุนเห็นว่า ผู้หญิงไม่จำเป็นจะต้องอยู่เป็น ‘คนรับใช้’ ในบ้าน เสมอไป

Cr.Netflix

เราถึงได้เห็นจังหวะที่ แอซุนเปรี้ยวถึงขั้นตบจมูกหินคุณปู่ทลฮารือบัง ค้านกับความเชื่อที่ว่า ถ้าลูบจมูกคุณปู่จะได้ลูกชายด้วย

อำนาจที่ว่านี้ ไม่เพียงถูกเก็บกักอยู่แค่ในบ้านเท่านั้น ด้วยข้อจำกัดทางสังคมและการเมืองในโลกภายนอก ผู้หญิงก็ยังไม่สามารถเข้าถึงตำแหน่งผู้นำได้ สถานะสูงสุดที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะเป็นได้ จึงจำกัดอยู่แค่ การเป็น ‘ลูกที่น่าภูมิใจ’ ‘เมียที่นำโชคนำลาภมาให้สามี’ และ ‘สะใภ้มอบลูกชายไว้สืบทอดตระกูล’ เท่านั้น จึงไม่แปลกที่ แอซุนจะต้องใช้เวลายาวนานกว่า 20 ปี ถึงจะสลัดคำว่า ‘รอง’ ออกจากข้างหน้าตำแหน่งของเธอได้

When Life Gives You Tangerines ใส่รายละเอียดของแฮนยอไว้ แม้จะสั้นๆ แต่ก็ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นระบบสังคมของแฮนยอ พวกเธอจะทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มไม่ทิ้งกัน และมีความเชื่อว่าสิ่งที่อันตรายที่สุด คือความโลภ จงเก็บเท่าที่จะกลั้นหายใจได้ก็พอ

สิ่งพิเศษอย่างหนึ่ง ที่ซีรีส์ไม่พลาดที่จะใส่เอาไว้ตั้งแต่ต้นเรื่อง คือเสียง ‘ซุมบีโซรี’ เสียงหวีดหวิวเอกลักษณ์ของแฮนยอ ที่พวกเธอจะทำกันเมื่อขึ้นจากน้ำ เพื่อปล่อยลมออกมาหลังจากที่กลั้นหายใจเอาไว้อยู่หลายนาที แต่น่าเสียดายที่เสียงซุมบีโซรี อาจจะเหลือให้ฟังเพียงแค่ในละครหรือสารคดีเท่านั้น เพราะจำนวนแฮนยอน้อยลงไปทุกที เพราะหลายคนก็อาจจะคิดเหมือนกับ กวังรเย และ แอซุน ว่าไม่อยากให้ลูกหลานต้องมาทำอาชีพที่ทั้งลำบากและเสี่ยงอันตรายนี้ แม้ว่าของทะเลที่แฮนยอจับได้จะได้ราคาดีก็ตาม

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเหตุผล ทำให้แฮนยอไม่ใช่อาชีพที่น่าดึงดูดยิ่งไปกว่าเดิม ทั้งสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้พวกเธอดำลงน้ำได้น้อยวันลง และเสี่ยงอันตรายมากขึ้น ภาวะโลกร้อนโลกรวน ทำให้จำนวนและคุณภาพของอาหารทะเลที่หาได้ลดลง ตามมาด้วยรายได้ที่ลดลงตาม สวนทางกับอายุของแฮนยอที่เพิ่มขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้ต่อให้รัฐการสนับสนุนมากขนาดไหน ก็ไม่เป็นผล

Cr.Netflix

ครั้งหนึ่งช่วงปลายปีก่อน Series Society เคยมีโอกาสไปพูดคุยกับคุณป้าแฮนยอถึงเกาะเชจู คุณป้าเล่าว่า ทางรัฐเอง มีการประกันราคาของทะเลตามอายุ ยิ่งอายุมากก็จะยิ่งได้ราคาต่อกิโลกรัมมาก รวมถึงการให้ทุนเรียนเป็นแฮนยอ นอกจากนี้ ยังมีการเผยแพร่วัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง อย่างที่เราอาจจะเคยได้เห็นในซีรีส์ Our Blues หรือ Welcome To Samdalri 

ตามรายงานจากหน่วยงานรัฐบาลของเชจู ระบุว่า ในปี 2023 จำนวนแฮนยอที่ยังทำงานอยู่เหลือเพียง 2,838 คน ลดลง 387 คน จาก ปี 2022 และยิ่งน้อยลงไปอีกเมื่อเทียบกับปี 1970 ซึ่งเกาะเชจูเคยมีแฮนยอมากกว่า 14,000 คน อย่างหมู่บ้านแฮนยอที่ Series Society มีโอกาสไปสัมผัส แฮนยอน้องเล็กที่สุดของหมู่บ้าน ก็มีอายุปาเข้าไปในวัย 60 ปีแล้ว

อย่างไรก็ดี แฮนยอ สัญลักษณ์​ของหญิงแกร่ง ท่ามกลางความเชื่อแบบปิตาธิปไตย ไม่ใช่แค่สิ่งเดียวที่กำลังหายไปจากเกาหลีใต้ ยังมีอีกสิ่ง นั่นคือความเท่าเทียมทางเพศ ที่นับวันสถานการณ์ยิ่งดูจะรุนแรงขึ้น

[ปิตาธิปไตยตั้งแต่รากยันผล] 

กลับไปที่ชีวิตแสนเศร้าของแอซุน นอกจากชะตาชีวิตจะใจร้ายกับเธอแล้ว ยังมีเหตุมาจากความเชื่อแบบเก่า การแบ่งแยกชนชั้น และปิตาธิปไตย ที่บีบเธอไว้ไม่มีสิ้นสุด เพราะน้ำตาแต่ละหยดของเธอ ล้วนมาจากความอยุติธรรมทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัวฝั่งพ่อที่ไม่ให้ปลาเธอกิน เพราะหลานสาวอย่างเธอสอบได้ที่หนึ่งแต่จงกูหลายชายได้ที่โหล่ ทำให้เธอกลายเป็นตัวแย่งโชคดีไปโดยอัตโนมัติ

ต่อด้วย เธอได้คะแนนเสียงสูงสุดแต่กลับไม่ได้เป็นหัวหน้าห้อง เพราะอีกฝั่งเป็นลูกผู้มีอิทธิพล หรือการที่เธอกับกวานชิกทำความผิดเดียวกัน แต่มีแค่เธอเท่านั้นที่โดนไล่ออก ไปจนถึง การทถูกตั้งแง่รังเกียจเพราะพ่อแม่ตาย ไม่ใช่ไม่รู้ แต่ ณ เวลานั้น ถึงผู้คนบางส่วนจะรู้ว่านี่มันอยุติธรรมเหลือเกิน แต่ก็เลือกจะเพิกเฉยด้วยความชินชา

ทำไมความเหลื่อมล้ำและอยุติธรรม จึงดูเหมือนว่าจะฝังรากลึกอยู่ในวิถีชีวิตของชาวเกาหลีกันนะ? ย้อนไปก่อนยุคโชซอน ผู้หญิงและผู้ชายดูมีความเท่าเทียมพอสมควร อย่างในราชวงศ์โครยอ (918-1392) เป็นเจ้าของทรัพย์สินได้ พ่อแม่ตายแล้วก็หารมรดกเท่าๆ กัน ถ้าสามีตายก็แต่งงานใหม่ได้ แถมยังได้รับความไว้วางใจให้ดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่า ผู้ชายส่วนใหญ่ก็เลยจะแต่งเข้าบ้านภรรยา

ลูกๆ ก็แบ่งหน้าที่ทำพิธีกรรมให้พ่อแม่ หลังจากเสียชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน ถึงแม้ว่าผู้หญิงจะไม่ได้มีบทบาททางธุรกิจหรือการเมือง แต่หากเป็นเรื่องภายในครอบครัว พวกเธอก็ดูจะมีบทบาทสำคัญ มีความเป็นอิสระ และมีเสียงในการตัดสินใจมากพอควร

มาจนถึงช่วงที่ ราชวงศ์โครยอและพุทธศาสนาเริ่มเสื่อมอำนาจ แนวคิดของลัทธิขงจื๊อใหม่ก็เริ่มเข้ามามีอิทธิพล และเมื่อผลัดแผ่นดินเข้าราชวงศ์โชซอน พระเจ้าแทโจก็เอาลัทธิขงจื๊อใหม่มาเป็นปรัชญาในการปกครอง

ขงจื๊อเป็นนักปรัชญา อาจารย์ และนักการเมือง ชาวจีน ผู้สร้างหลักคติธรรมที่กลายเป็นอัตลักษณ์ของคนจีน แต่แนวคิดแบบขงจื๊อที่เกาหลีรับมาถูกพัฒนามาทีหลังจากที่ขงจื๊อเสียชีวิตไปหลายปี โดยหนึ่งในคนสำคัญ ที่ทำให้ความเชื่อของขงจื๊อกลับมาฮิต จนแพร่อิทธิพลไปในเอเชียตะวันออกรวมถึงเกาหลี คือ จูซี นักปรัชญาลัทธิขงจื๊อที่อยู่ในสมัยราชวงศ์ซ่ง ที่ฟื้นฟูความเชื่อขึ้นมาและเขียนตำราอธิบายคำสอนของขงจื๊อไว้

บทความโดย ปรีชญา ธนยุวัฒน์ เรื่อง ส้มในมือคุณ หวานอมเปรี้ยวติดปลายขมกันไหม? When Life Gives You Tangerines เกิดเป็นหญิงเกาหลีแท้จริงแสนลำบาก ซึ่งเผยแพร่ไว้กับ สำนักข่าวทูเดย์ อธิบายไว้อย่างน่าสนใจว่า

ลัทธิขงจื๊อใหม่ในเกาหลี จะเน้นหนักไปทางด้านศีลธรรม และการปฏิบัติตัวตามจารีตและประเพณี โดยหลักความเชื่อที่เกี่ยวกับผู้หญิง เช่น หลักเชื่อฟังสาม สี่คุณธรรม (삼종사덕, 三從四德)  ก็ชี้ว่าผู้หญิงเกาหลีต้องเคารพและจงรักภักดีต่อผู้ชาย

และสามสิ่งที่ผู้หญิงต้องเชื่อฟังตลอดชีวิต คือ บิดา สามี และลูกชาย ตอนเป็นลูกสาวก็เชื่อพ่อ แต่งงานแล้วก็เชื่อฟังสามี พอสามีตายก็เชื่อฟังลูกชาย รวมถึง คุณธรรมสี่ประการที่ผู้หญิงพึงมี ยังประกอบด้วย 1) ต้องเป็นหญิงที่มีจริยธรรม จิตใจบริสุทธิ์ 2) ต้องรักษากิริยามารยาท และความเรียบร้อย 3) ต้องพูดจาสุภาพ ไม่พูดมากเกินไป  4) ต้องเป็นแม่บ้านที่ดี ดูแลบ้านเรือนและครอบครัว

Cr.Netflix

เมื่อความเชื่อเปลี่ยน จากตอนโครยอที่มีสิทธิ์พอควร กลายเป็นสิทธิ์เลยหายเกลี้ยง และการแต่งงาน ผู้หญิงก็กลายเป็นฝ่ายต้องแต่งเข้าบ้านสามี แต่ความย้อนแย้ง คือ ชื่อของเธอกลับไม่อยู่ในทะเบียนตระกูลของสามี เพียงบันทึกไว้ข้างชื่อของสามี ว่าเป็น ‘ภรรยา’ เท่านั้น แถมเมื่อสามีตายก็ไม่มีสิทธิ์รับมรดกอีก เพราะมรดกจะถูกส่งต่อให้ผู้ชายในตระกูล

ในสมัยโชซอนก็มีจริยธรรมว่าด้วยการเป็นภรรยาและลูกสะใภ้ที่ดี (열녀효부; 烈女孝婦) บอกว่า ภรรยาต้องมีความซื่อสัตย์ ภักดีต่อสามีเหมือนลูกที่กตัญญูต่อพ่อแม่ และลูกสะใภ้ต้องดูแล ปรนนิบัติพ่อแม่สามีให้ดีกว่าพ่อแม่ตัวเอง อีกทั้งผู้หญิงเกาหลีสมัยก่อน จะทำอะไรก็ต้องขออนุญาตสามีเสมอ จะคิดเองทำเองไม่ได้ ถ้าฝ่าฝืนก็เชื่อกันว่าจะทำให้ประเทศล่มจม ตระกูลพินาศ

กลับกัน สามีก็มีสิทธิ์เหนือภรรยาทุกประการ ถ้าภรรยามีลูกชายไม่ได้ ก็ถือว่าประพฤติตัวไม่ดี ขอหย่าเองได้เลย เรื่องลงไม้ลงมือก็เหมือนจะทำได้ ไม่ผิดอะไร ถึงกับมีสำนวนติดตลกว่า “ถ้าไม่ตีเมียสามวัน เธอจะกลายเป็นหมาจิ้งจอก” ซึ่งหมาจิ้งจอกตามความหมายของเกาหลี ก็ให้ความรู้สึกคล้ายๆ กับเสือสมิงบ้านเรา คือเจ้าเล่ห์มารยา แปลงเป็นสาวงามเพื่อล่อให้ผู้ชายมาหา แล้วเชือดทิ้งนั่นเอง รวมถึงวลี “ผู้หญิงกับปลาแห้งต้องตีทุกสามวันถึงจะรสดี” (여자와 북어는 삼일에 한 번씩 패야 맛이 좋아진다) ก็เป็นวลีที่ใช้กันมานาน จนเคยถูกอ้างถึงในหนังสือพิมพ์ยุค 1980

แต่งานอย่างหนึ่งที่ผู้หญิงไม่มีสิทธิ์ทำ คือ พิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ (제사; 祭祀) แม้ว่าจะต้องเตรียมอาหารบนโต๊ะเซ่นไหว้ แต่คนประกอบพิธีต้องเป็น ‘ลูกชาย’ ของบ้านเท่านั้น ถ้าลูกชายคนโตตาย ‘หลานชาย’ คนโตก็ต้องรับหน้าที่นี้ต่อแทน

วัฒนธรรมเหล่านี้ส่งต่อมาถึงด้านการศึกษา มีค่านิยมว่า “ถ้าผู้หญิงรู้หนังสือ จะไม่เชื่อฟังสามี” ถึงแม้ในเวลาต่อมาผู้หญิงจะได้รับโอกาสเรียน แต่เรื่องราวของลูกสาวที่ต้องเสียสละให้ลูกชายได้เรียนหนังสือ หรือช่วยทำงานเพื่อส่งพี่หรือน้องเรียนก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แม้ในทศวรรษ 1960 รัฐบาลจะออกข้อกำหนดให้เด็กทุกคนเข้ารับการศึกษาก็ตาม

อย่างไรก็ดี ต่อให้ได้เรียนสูงแค่ไหน ผู้หญิงก็ยังถูกคาดหวังให้แต่งงาน มีลูก ก่อนจะถูกคาดหวังให้ออกจากงาน เพื่อไปดูแลลูกอย่างเต็มที่ ทำให้หลายคนต้องละทิ้งความฝันและอาชีพของตัวเอง ความคาดหวังเหล่านี้ไล่เรียงไปไม่วันจบ แม้ When Life Gives You Tangerines จะมีฉากหลังเป็นยุคปี 1960-1990 ไม่ตรงกับยุคโชซอน แต่เราก็ยังเห็นร่องรอยของความเชื่อเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน ผ่านชีวิตของแอซุนและกึมมยอง

[ทำไมผู้ชายเกาหลียุคใหม่ แอนตี้เฟมินิสต์]

ขณะที่ กระแสส่งเสริมความเท่าเทียมกำลังมาแรงทั่วโลก และภาพของความก้าวหน้าในแนวคิดทางเพศ เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ปรากฏอยู่เต็มหน้าสื่อภาพยนตร์และซีรีส์เกาหลี ไม่ว่าจะเป็นตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศ หญิงเก่ง และผู้ชายที่แข็งแรงแต่นุ่มนวล แต่ดูเหมือนว่า ผู้ชายเกาหลีจำนวนไม่น้อย จะหันกลับไปฝันถึงระบอบปิตาธิปไตย และต่อต้านกระแสเรียกร้องสิทธิสตรี

ตัวอย่างในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีกรุงโซล เมืองหลวงของประเทศ เมื่อเดือน เมษายนปี 2021 มีผู้ชายวัย 20 ปี กว่า 72.5% ที่ลงคะแนนให้ฝ่ายอนุรักษนิยม ต่อเนื่องมาในปี 2022 ประธานาธิบดีที่หาเสียงด้วยแคมเปญต่อต้านสิทธิสตรี และเชื่อว่าประเทศเกาหลีใต้ มีความเท่าเทียมมากพอ จนไม่ต้องไปมุ่งเน้นเรื่องนี้อีกต่อไป อย่าง ยุนซอกยอล กลับเป็นผู้คว้าตำแหน่ง

แม้ว่า ยุนซอกยอล จะชนะไปด้วยคะแนนเสียงที่มากกว่าไม่ถึง 1% แต่ในการเลือกตั้งครั้งนั้น การที่ผู้ชายในช่วงอายุ 20 ปี กว่า  59%  และ ผู้ชายในช่วงอายุ 30 ปี 53% ลงคะแนนให้กับเขา ในทางหนึ่งก็อาจจะสะท้อนว่า ผู้ชายรุ่นใหม่และวัยทำงานจำนวนไม่น้อยเห็นด้วยกับแนวคิดนี้

ตอกย้ำด้วยสถานการณ์ใน ปี 2021 ที่รัฐบาลเกาหลีใต้ เผยข้อมูลว่า มีผู้หญิงอยู่ในคณะกรรมการบริษัท เพียง 5.2% และค่าจ้างต่อเดือนน้อยกว่าผู้ชายเกือบ 35%  เพราะ ในปี 2023 เงินเดือนเฉลี่ยต่อเดือน ของพนักงานชายในเกาหลีใต้อยู่ที่ประมาณ 4.26 ล้านวอน หรือราว 98,600 บาท ส่วนพนักงานหญิงได้รับเงินที่ 2.78 ล้านวอน หรือราว 64,300 บาท

นั่นทำให้ เกาหลีใต้เป็นหนึ่งประเทศที่ช่องว่างทางรายได้ ของผู้หญิงและผู้ชายมากที่สุด ในกลุ่มประเทศ OCED เลยทีเดียว

[ทำไมผู้ชายเกาหลีใต้ โดยเฉพาะผู้ชายรุ่นใหม่ ถึงเริ่มมองว่าตัวเองเป็นชนกลุ่มน้อยทางสังคม หรือแม้กระทั่ง ‘เหยื่อ’ ของพลังหญิง?]

สื่อหลายสำนัก ตอบคำถามนี้ได้สอดคล้องกันว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับแฮชแท็ก #MeToo Movement และ ขบวนการเฟมินิสต์ที่โตขึ้นในปี 2016 กระแสนี้เริ่มต้นจากเหตุฆาตกรรมในเกาหลีใต้ ที่หญิงสาวคนหนึ่งถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยมใกล้สถานีรถไฟใต้ดินในย่านกังนัม โดยคนร้ายจงใจเลือกเหยื่อเป็นผู้หญิง การเสียชีวิตของเธอ ทำให้สังคมเริ่มทบทวนทัศนคติต่อผู้หญิงในประเทศ และขยายไปสู่การรณรงค์ต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศ

รวมไปถึงการประท้วงต่อต้านกล้องแอบถ่าย ซึ่งปัญหาที่พบบ่อยในเกาหลีใต้ ผ่านแฮชแท็ก #mylifeisnotyourporn ชีวิตของฉันไม่ใช่หนังโป๊ของคุณ อย่างไรก็ตาม ขบวนการนี้ก็เผชิญกับกระแสต่อต้านจากผู้ชายบางกลุ่มที่รู้สึกว่าตนเองถูกเบียดบัง

บทความจาก CNN ระบุว่า สิ่งที่ทำให้เกิดกระแสนี้ขึ้นมา คือ ผู้ชายเริ่มรู้สึกว่าพวกเขาถูกเอาเปรียบ เพราะมองว่า ปิตาธิปไตยและการเหยียดเพศนั้นเป็นเรื่องของคนรุ่นก่อน แต่คนรุ่นใหม่ต้องมารับกรรม

นอกจากนี้พวกเขายังต้องเข้าเกณฑ์ทหาร ในขณะที่ผู้หญิง แม้จะสมัครเข้าเป็นทหารได้ แต่ก็ไม่ได้ถูกบังคับเหมือนกับผู้ชาย สองปีที่ไปรับใช้ชาติ เป็นสองปีที่ผู้หญิงสามารถพัฒนาตัวเอง ไปทำตามความฝัน และก้าวหน้าในอาชีพ

ตัวอย่าง บทความ A new variation of modern prejudice: young Korean men’s anti-feminism and male-victim ideology ของ จองฮันอุล ระบุว่า ผลสำรวจจากสำนักข่าว SisaIN พบเกือบ 60% ของผู้ชายเกาหลี ในช่วงอายุ 20 ปี เห็นด้วยอย่างยิ่งกับแนวคิดที่ว่า เฟมินิสต์คือการยกอำนาจให้ผู้หญิงเหนือผู้ชาย ไม่ใช่การเรียกร้องความเท่าเทียม

จากผลสำรวจนี้ มีข้อสรุปว่า ประมาณ 1 ในสี 4 ของชายหนุ่มในเกาหลี เป็น ‘นักรบต่อต้านเฟมินิสต์’ (anti-femme warriors) ที่ยึดแนวคิดต่อต้านเฟมินิสต์ และมองว่าตัวเองเป็นเหยื่อของระบบ พวกเขาเชื่อมั่นว่าสังคมเกาหลีปฏิบัติต่อผู้ชายอย่างไม่เป็นธรรมมาโดยตลอด และมองว่าการต่อต้านเฟมินิสต์ของพวกเขาเป็นการตอบโต้ที่ชอบธรรม ต่อข้อเรียกร้องที่ไม่เป็นธรรมจากกลุ่มเฟมินิสต์หัวรุนแรง ไม่ใช่การเลือกปฏิบัติทางเพศ หรือความเกลียดชังผู้หญิง 

ขณะที่ ความคิดเห็นจากนานาชาติที่ต่างออกไป ผลสำรวจนี้ก็ชี้ว่า เป็นเพราะไม่ได้อยู่ในบริบทของเกาหลีใต้  ผู้ชายเหล่านี้จึงมองว่าปรากฏการณ์ต่อต้านเฟมินิสต์ เป็นก้าวแรกของการออกมาเรียกร้องสิทธิ์ของชนกลุ่มน้อย พวกเขาเป็นเพียงแค่เหยื่อบริสุทธิ์ที่ถูกโบ้ยความผิดทุกอย่างให้ สังคมนี้ต่างหากที่เหยียดผู้ชาย แนวคิดแบบนี้ แผลงฤทธิ์ให้เราเห็นอยู่หลายครั้งในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นโลกของไอดอล ที่มีไอดอลสาวหลายคน ได้รับความเกลียดชังมากมายเพียงเพราะว่าเธออ่านหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ feminism หรือนักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิกที่โดนวิจารณ์ เพียงเพราะว่าเธอตัดผมสั้น

แม้แต่ในตลาดงาน ที่รายงานจากสถานีโทรทัศน์ KBS เคยระบุว่า 47% ของชายหนุ่มเกาหลีเห็นว่าการปฏิเสธใบสมัครงานเพียงเพราะผู้สมัครเป็นเฟมินิสต์นั้นเป็นเรื่องที่ยุติธรรม

ถึงตอนนี้ ดูเหมือนการปะทะกันระหว่างกระแสเรียกร้องสิทธิสตรี และกระแสต่อต้านที่ยังคงดำเนินไปในเกาหลีใต้ สะท้อนให้เห็นว่า ขณะที่ความเท่าเทียมทางเพศเป็นเรื่องธรรมดาในบางสังคม แต่ในบางวัฒนธรรม สิ่งนี้ยังคงเป็นพริวิเลจที่อยู่ไกลเกินเอื้อมจนน่าใจหาย แม้แต่การเรียกร้องนั้น ก็ยังถูกมองว่าเป็นพริวิเลจอีกชั้นหนึ่ง

แต่ก็ใช่ว่าจะไร้ทางออกของข้อขัดแย้งนี้เสียทีเดียว ยังคงมีคนบางส่วนที่สนับสนุนสิทธิสตรี และความเท่าเทียมทางเพศ ในเกาหลีใต้ เห็นได้จากซีรีส์ที่สะท้อนชีวิตของผู้หญิงมากมายในจอ ชี้ให้เห็นทั้งปัญหาและความหวัง โดยเฉพาะในโลกของธุรกิจและการเมือง บรรดาผู้มีอิทธิพลในแวดวงบันเทิง ก็พร้อมจะเดินหน้าสนับสนุนความเท่าเทียมแม้จะโดนกระแสด้านลบ เหมือนดั่ง กวานชิก ที่คอยป้องกันภัยให้ แอซุน

Cr.Netflix

อธิบายให้เห็นภาพ When Live Gives You Tangerines อาจคล้ายมาช่วยประกอบสร้างเรื่องจริง ผ่านชิ้นส่วนความสุขและความเศร้า บทเรียนและบาดแผล ของชาวเกาหลีใต้ ในศตวรรษที่ 21 ภาพผู้หญิงหรือสะใภ้เกาหลี ที่มีสิทธิ์มีเสียงมากขึ้น แต่ยังต้องเผชิญบททดสอบ ไม่ต่างกับ แอซุน หรือ กึมมยอง ที่ชีวิตไม่ได้หอมหวานเหมือนส้มสักผล หรือสวยงามดั่งโรยด้วยกลีบดอกคามิเลีย

แม้ในวันที่ชีวิตติดรสฝาด จนหาความหวานไม่เจอ แต่การอยู่ท่ามกลางผู้คนที่เข้าใจ อยู่เคียงข้าง และพร้อมจะยืนหยัดต่อสู้ไปด้วยกัน ก็อาจจะช่วยให้เรายังคงรักษารอยยิ้มไว้ได้ ไม่ว่าชีวิตจะหยิบยื่นส้มรสชาติใดมาให้ก็ตาม

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า