Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ผมโชคดีที่เกิดมาในครอบครัวที่มีทรัพยากรพร้อมและมีการศึกษา แต่ต้องอย่าลืมว่าอภิสิทธิ์ทุกอย่างที่ได้มานั้น ได้มาเพราะมีคนอื่นๆ ในระบบที่อาจจะไม่ได้มีอภิสิทธิ์หรือมีสิทธิ์มีเสียงเท่าเรา แต่เขาเป็นฟันเฟืองให้ระบบไปต่อได้

วรินท์ แพททริค แม็คเบลน จากกลุ่มคณะราษฎรอินเตอร์แนชั่นแนล ย้ำถึงประเด็นที่ทำให้เขาตัดสินใจเปิดหน้าลงถนนเพื่อเป็นกระบอกเสียงของคนอีกกลุ่มในสังคมโดยหวังให้เกิดการเมืองที่ดีกว่า

สัปดาห์ที่ผ่านมา ชื่อของ วรินทร์ แพททริค แม็คเบลน ปรากฏในข่าวในฐานะของหนึ่งในสามแกนนำที่ยื่นเอกสารต่อเอคอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม แต่หากย้อนไปเมื่อสิบกว่าปีก่อนหน้า หลายคนจะคุ้นเคยกับชื่อนี้ในฐานะพิธีกรรายการสอนภาษาอังกฤษ English Breakfast ที่เขาทำอยู่หลายปีก่อนห่างหายไปเรียนในระดับมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จนเรียนจบปริญญาตรีระดับเกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากคณะวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยมหิดล

แม้จะทุ่มเทกับการศึกษา แต่ที่ผ่านมาเขาคือคนหนึ่งที่สนใจการเมืองไทยและสังเกตเห็นความไม่ปกติปรากฎอยู่เสมอ

“ผมติดตามการเมืองไทยมาสักพักแล้วตั้งแต่ขึ้นมอปลาย ช่วงนั้นมีเหตุการณ์การเมืองเยอะแยะ มีการชุมนุม กปปส. ไปจนถึงการรัฐประหารของคณะ รสช. ผมได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนที่เป็นคอการเมืองด้วยกันและติดตามเหตุการณ์บ้านเมืองเสมอ”

ความมีอภิสิทธิ์ที่ติดค้าง

“ผมรู้สึกว่าการเมืองอยู่รอบตัวเรา บางคนอาจจะไม่สนใจ ไม่อยากสนใจ เพราะรู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก ๆ แต่จริง ๆ แล้วการเมืองมีผลกระทบกับเรา” แพททริคเริ่มเล่าก่อนเข้าสู่ประเด็นปัญหาที่เกริ่นไว้

“คนที่ไม่รับรู้ถึงผลกระทบตรงนี้อาจเป็นเพราะคุณมีอภิสิทธิ์บางอย่างที่มากกว่าคนอื่นในสังคม ทำให้คุณซื้อเวลาระบบการเมืองนี้ต่อไปได้ แต่เมื่อไหน่ที่ระบบการเมืองแย่ แล้วคุณใช้โควตาอภิสิทธิ์ของคุณจนหมด สุดท้ายคุณก็ได้ผลกระทบทางใดก็ทางหนึ่ง”

การที่เติบโตมากับการเห็นความเหลื่อมล้ำในสังคมของคนรอบตัว เขายอมรับว่าตัวเอง ติดค้าง กลุ่มคนที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงซึ่งเป็นฟันเฟืองในสังคม

“ยกตัวอย่างเช่น ผมเรียนที่คณะ ถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดเข้ามาทำความสะอาด ถามว่าผมเรียนได้ไหม ก็คงไม่ได้ เพราะถึงจุดหนึ่งห้องน้ำก็คงตัน ห้องน้ำมีปัญหา เราก็ต้องขอความช่วยเหลือจากช่างประปา พูดง่าย ๆ ว่าฟันเฟืองของระบบถูกรันจากคนที่ในสังคมไม่ได้มีสิทธิ์มีเสียง เรารู้สึกว่า เราติดค้างกลุ่มคนเหล่านี้ ทุกคนที่มีอภิสิทธิ์ย่อมติดค้างกับบุคคลเหล่านี้ทั้งสิ้น เราควรต้องใช้อภิสิทธิ์ที่ตัวเองมี เพื่อมาเรียกร้องให้การเมืองดีขึ้น” เขาเน้นย้ำ

กระบอกเสียงสู่สากล

ครั้งนี้แพททริคตัดสินใจออกมาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการชุมนุมทางการเมือง โดยเริ่มจากการเข้าไปช่วยงานกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งต่อมาเขาได้ใช้ความสามารถด้านภาษาอังกฤษในการแปลคำร้องผ่านเว็บไซต์ change.org และเมื่อเห็นผลว่ามีคนจำนวนมากมาร่วมลงชื่อในครั้งนั้น จึงมีการจัดตั้ง “กลุ่มคณะราษฎรอินเตอร์เนชั่นแนล”เพื่อผลักดันการทำงานนี้ไปพร้อมกับการสนับสนุนงานของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ

“กลุ่มของเราจะเป็นกระบอกเสียงที่พูดถึงข้อมูลนี้สื่อสารออกไปในระดับนานาชาติ ในขณะเดียวกันกลุ่มของเราก็มีวาระของเราเองคือ การผลักเรื่องคำร้องนี้ไปยังระดับสากลด้วย เพราะเรารู้สึกว่าพื้นที่สื่ออย่างเป็นทางการยังมีไม่เยอะพอ จึงอยากมาช่วยตรงนี้”

วรินท์ แพททริค แม็คเบลน

วิทยาศาสตร์ในสภาพการเมืองที่ไม่ปกติ

แพททริคออกมาขับเคลื่อนการชุมนุมด้วยเหตุผลหลายอย่าง ในมิติหนึ่งเกิดจากที่เขาสังเกตเห็นความบิดเบี้ยวของการเมืองที่สะท้อนผ่านการเรียนวิทยาศาสตร์ของเขาอย่างชัดเจน และเขาก็เป็นนักศึกษาสายวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ เพราะแม้เรียนจบด้วยเกรดเฉลี่ยสูงถึง 3.7  แต่กลับเข้าถึงโอกาสหรือได้รับการสนับสนุนให้ทำงานในแวดวงวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยได้อย่างยากยิ่ง

“ความตลกสำหรับเด็กที่เรียนจบวิทยาศาสตร์คือ เราต้องไปเรียนต่อที่ต่างประเทศเสียเยอะ เพื่อไปหาโอกาสลู่ทางในการพัฒนาตนเองและหาลู่ทางทำวิจัยต่อกันเอง”

จากประสบการณ์ที่ได้ไปฝึกงานในต่างประเทศ เขาจึงได้เห็นความแตกต่างชัดเจนว่า ในประเทศที่มีการเมืองที่ดีกว่าจะให้ความสำคัญกับอาชีพทางสายวิทยาศาสตร์ รวมถึงอาชีพอื่น ๆ อย่างเท่าเทียม

“ผมขอเล่าถึงตอนเรียนมหาวิทยาลัย ที่ผมมีโอกาสได้รับคัดเลือกไปฝึกงานที่องค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป หรือ CERN การไปฝึกงานครั้งนั้นทำให้เราพบว่าองค์กรนี้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์มาก เขามีการฝึกครูจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อให้ครูมีสื่อการสอนเพื่อที่เอากลับไปสอนในประเทศของตัวเอง

“ผมไปในฐานะเด็กฝึกงาน ซึ่งเหมือนไปทำงานวิจัยระยะสั้นสามเดือน ก็ได้เงินเดือนเดือนละเกือบแสนบาท ทั้ง ๆ ที่เป็นแค่เด็กฝึกงาน แต่เขากล้าที่จะทุ่มทรัพยากรตรงนี้ให้กับเด็กที่แทบไม่ได้มีอะไรมารับประกันด้วยซ้ำว่าจบการฝึกงานนี้ เด็กทำงานในสายงานวิทยาศาสตร์ต่อหรือไม่ หรือจะเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นเลย เพราะว่าก็มีคนที่เปลี่ยนไปทำอย่างอื่นเหมือนกัน

“เรารู้สึกว่าในบรรยากาศของประเทศที่มีการเมืองดี คนจะเห็นความสำคัญของนักวิทยาศาสตร์ นักฟิสิกส์ และรวมถึงอาชีพอื่น ๆ ที่ปัจจุบันคนเราจะมองว่าไม่มีเกียรติ เช่น สายอาชีพ อาชีวะด้วย เมื่อมองกลับมาที่บ้านเราผมรู้สึกว่ามันมีอะไรบางอย่างที่ผิดไป”

หลังจากการวิเคราะห์จนตกผลึก วันหนึ่งเขาก็ได้เห็นหลักฐานตอกย้ำถึงรากฐานปัญหานี้ อันมีที่มาจากการมีรัฐบาลและผู้นำที่ไม่เข้าใจและไม่ให้ความสำคัญกับอาชีพในแวดวงวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยกว่าอาชีพอื่น ๆ

“รัฐบาลให้ความสำคัญไม่เพียงพอ และคนไม่ค่อยเห็นภาพว่าวิทยาศาสตร์สามารถเอาไปทำอะไรได้ ผมเจอคำ Quote ของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อเนก เหล่าธรรมทัศน์) เขาพูดประมาณว่า เวลาทำอะไรให้เลือกทำสิ่งที่มันเป็นไปได้เท่านั้น อย่าทำอะไรในสิ่งที่เราคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ ซึ่งมันขัดกับหลักวิทยาศาสตร์อย่างแรงเลย”

“มันกลับหัวกลับหางไปหมดเลย มันขัดแย้งกับการศึกษาวิทยาศาสตร์ทั้งหมด เวลาเราทำวิจัย เราทำเพื่อขยายพรมแดนของความรู้มนุษย์ออกไป การที่ทำอย่างนั้นได้คุณก็ต้องไปที่พรมแดนตรงจุดที่คนอาจจะคิดว่าเป็นไปไม่ได้มาก่อน มันจำเป็นต้องทำกับสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพื่อให้ได้รู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้จริงหรือเปล่า หรือมันมีความเป็นไปได้อะไรบางอย่าง เพราะฉะนั้น รัฐก็ต้องให้ความสนใจตรงนี้ แต่รัฐชอบงานวิจัยที่สามารถเอาไปต่อยอดได้ แต่ว่าจริง ๆ แล้วการที่จะเอางานวิทยาศาสตร์ไปต่อยอดได้ บางอย่างอาจต้องใช้เวลานาน

“ผมจำได้ว่าผมเห็นคำพูดนั้นแล้วโมโหมาก คุณเป็นรัฐมนตรีที่รับผิดชอบเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ แต่คุณไม่มีความคิด ความเข้าใจในสายงานตรงนี้เลย

“และถ้าการเมืองบ้านเราดี จะมีองค์กรวิทยาศาสตร์มากมายเข้ามารับผิดชอบตรงนี้ เราจะสามารถสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนที่ทำงานวิทยาศาสตร์โดยตรง รวมถึงคนที่ทำงานสายอาชีพอื่น ๆ อีกมากมายด้วย”

ถ้าการเมืองดีทุกคนต้องเท่าเทียม

ถึงตรงนี้ เขาขยายนิยามของคำว่า “การเมืองที่ดี” ที่เขาอยากให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยอย่างชัดเจนว่า

“การเมืองดีในความหมายของผมคือ การเมืองที่มีการรับประกันสิทธิพื้นฐานของคนทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศอะไร คุณจะมีฐานะแบบไหน คุณต้องได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกัน ต้องได้รับการศึกษาจากภาครัฐจนกระทั่งระดับปริญญาตรี หรือหากต้องการไปสายอาชีวะ คุณก็ไปได้ แต่รัฐต้องรับประกันว่าต้องมีการศึกษา ต้องรับประกันว่าคุณจะมีสุขภาพที่ดี ต้องมีระบบประกันสุขภาพที่เข้มแข็ง รัฐต้องประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของคน สิทธิในการแสดงออก freedom of speech ถ้ารัฐสามารถที่จะการันตีได้ว่าคนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ผมคิดว่าตรงนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้การเมืองพัฒนาดีขึ้นได้”

หากมีคำถามว่าตอนนี้สภาพความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมในสังคมมีมากแค่ไหน แพททริคได้ยกตัวอย่างจากการระบาดของโควิด 19 ซึ่งเป็นเงาสะท้อนของปัญหาต่าง ๆ ถูกปกปิดไว้ใต้พรมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

“ผมเชื่อว่าประเทศไทยมีรายได้สูง แต่มีการกระจายรายได้ได้ไม่ดี มีช่องว่างของความมั่งคั่งที่ค่อนข้างกว้าง คนที่รวยรวยไปเลย คนที่จนในประเทศนี้จนไปเลย เหตุการณ์โควิดที่ระบาดมันเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นได้ชัดเจนเลยว่า คนที่รวย คุณก็กักตัวอยู่ในบ้าน คุณก็มีอะไรทำ คุณก็มีเงินสั่งข้าวมากิน แต่คนในระดับล่าง ๆ ในสังคม เขาไม่สามารถอยู่ได้ เขาต้องออกไปทำมาหากิน การที่เขาต้องอยู่ในบ้าน มันตัดโอกาสทำมาหากินของเขาไปเลย

“การระบาดของโควิด 19 ได้เผยให้เห็นความไม่เป็นธรรมตรงนี้ในสังคมของเราที่มีมาตลอด แต่เราแค่ทำเป็นลืม คิดว่าประเทศไทยรายได้น้อย จริง ๆ ไม่ใช่ ผมเชื่อว่าถ้าเรามีการจัดสรรทรัพยากรที่ดีพอ ผมเชื่อว่าประเทศไทยก็สามารถทัดเทียมกับนอร์เวย์ สวีเดนได้ แต่เราต้องมีการจัดการทรัพยากรที่ดี นี่คือความเชื่อของผม”

แพททริค แม็คเบลน ในรายการ workpointTODAY

พร้อมแลกหากได้การเมืองที่ดี

แพททริครู้ดีว่าการออกมาทำงานขับเคลื่อนเต็มตัวเช่นนี้ ย่อมมีราคาที่เขาต้องแลก ซึ่งเขายินดีและยินยอมจ่าย

“ถ้ามันต้องแลกมาด้วยการเมืองที่ดี ผมยินยอมที่จะจ่าย เพราะถ้าเรายังคงอยู่ในการเมืองแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ทรัพยากรที่จะเสียไปคือเวลา ยิ่งเราปล่อยให้เวลาผ่านไป ระบบการเมืองก็แย่ลงเรื่อย ๆ เศรษฐกิจก็แย่ลงเรื่อย ๆ ถ้าเราไม่ทำอะไร ณ ตอนนี้ ก็เราก็เสียโอกาสไป”

และความคุ้มค่าของราคาอันแสนแพงที่เขายอมแลก คือการที่ทุกคนในสังคมจะมีทางรอดไปด้วยกัน

“ในโลกสังคมยังมีคนอื่น ๆ อีกเยอะ ถ้าเราเอาตัวเองรอดคนเดียว มันก็จะพัง มันเหมือนกับว่า คุณมีคฤหาสน์ แต่รอบบ้านเป็นพื้นที่ของคนจนเหมดเลย ถ้าคุณไม่กระจายทรัพยากรให้คนจนเหล่านี้ คุณเก็บไว้ในบ้านอย่างเดียว รวยคนเดียวเป็นเศรษฐีคนเดียว สุดท้ายคนรอบ ๆ ก็จะทนไม่ไหว แล้วก็เกิดเหตุการณ์ปล้นฆ่าได้

“ตรงนี้เป็นความเข้าใจง่าย ๆ ถ้าเราจะประกันสิทธิ์ขั้นพื้นฐานได้ให้กับคนทุกคน ไม่ว่าจะมีฐานะ เพศอะไรก็ตาม ทุกคนต้องมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ถ้าทำได้ก็ลดปัญหาทางสังคมตรงนี้ได้”

สุดท้าย แพททริคในวัย 23 ปี ที่มีทั้งความพร้อมในชีวิตและมีอนาคตอีกยาวไกล เน้นย้ำถึงการออกมาแสดงตัวเพื่อการชุมนุมครั้งนี้อย่างชัดเจน

“ผมรู้สึกว่า เมื่อถึงจุดที่เกมในสภาไม่สามารถตอบโจทย์ประชาชนได้อีกต่อไป เมื่อนั้นประชาชนจะไม่มีทางเลือก แล้วเขาจะลงถนน ตราบใดที่นักการเมือง ตราบใดที่สถาบัน ไม่ยอมฟังเสียงประชาชน เสียงของคนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นคนที่ต้องถืออำนาจประชาธิปไตยที่แท้จริง เมื่อนั้นประชาชนก็ไม่มีทางเลือกและต้องออก และผมเชื่อว่า ถ้านักการเมืองยังคงไม่ฟังเสียง ประชาชนต่อไป ผมเชื่อว่าการชุมนุมนี้จะมีการยกระดับมากขึ้น ๆ เรื่อย

และผมรู้ดีว่าการออกมาแบบเปิดหน้าครั้งนี้มันมีราคาที่ต้องจ่าย และผมยินยอมที่จะจ่ายตรงนี้ เพราะรู้ดีว่าการไม่ออกมาชุมนุม ไม่ออกมาแสดงความคิดเห็น มีราคาที่ต้องจ่ายแพงกว่าที่การที่ออกมามากมายนัก

THE WRONG GENERATION – Don’t Mess With the Wrong Generation คือซีรี่ส์ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการเคลื่อนไหว ‘ให้มันจบที่รุ่นเรา’ เป็นการนำประเด็นที่มีการพูดคุยมาสานต่อเพื่อหาบริบท แสวงหาทางออกจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า