SHARE

คัดลอกแล้ว

‘ชา’ เป็นเครื่องดื่มที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมากว่า 5,000 ปี โดยเฉพาะในวัฒนธรรมตะวันออก ภาพลักษณ์ของชามักถูกนำไปเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาโบราณ ที่สะท้อนถึงปรัชญาอันลุ่มลึก และมีสถานภาพเป็นเครื่องดื่มระดับจิตวิญญาณ ดังจะเห็นได้จากพิธีชงชาของญี่ปุ่น ที่ได้รับการวางรากฐานโดยภิกษุนิกายเซน ส่วนในประเทศจีน นอกจากชาจะเป็นเครื่องดื่มที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของผู้คนแล้ว ยังมีภาพลักษณ์ในเชิงสุนทรียะ ที่นักปราชญ์ ศิลปิน และกวี มักนำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน

ธี – ธีรชัย ลิมป์ไพฑูรย์ ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่หลงใหลทั้งในรสชาติและวิถีแห่งชาตะวันออก จนดั้นด้นเดินทางไปดื่มชาคุณภาพถึงถิ่นที่ปลูก ตระเวนไปทั่วทั้งไร่ชาในประเทศญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน แต่ความรู้สึกกระหายก็ยังไม่สิ้นสุด ซึ่งมันไม่ใช่แค่รสชาติเท่านั้น แต่รวมถึงองค์ความรู้ต่างๆ ของชาอีกด้วย จึงเป็นแรงผลักดันให้เขาพยายามศึกษาค้นคว้า กระทั่งตัดสินใจเปิด Peace – Oriental Teahouse ร้านน้ำชาตะวันออกระดับลักซูรี่ เพื่อตอบสนองผู้ที่ต้องการดื่มชาคุณภาพอย่างแท้จริง ด้วยหลักคิดที่ว่า ‘ไม่มีทางลัดสู่ความสำเร็จ’ ทำให้เขาพยายามศึกษาเรียนรู้อย่างทุ่มเท เพื่อให้เข้าถึงและเข้าใจใน ‘แก่นแท้’ ของสิ่งที่ตนเองกระทำ และพยายามกระทำอย่าง ‘ดีที่สุด’

  • ลุ่มหลง

Peace – Oriental Teahouse เปิดสาขาแรกที่เอกมัย เมื่อ 2 ปีกว่าที่ผ่านมา (ปิดไปเเล้ว เนื่องจากหมดสัญญาเช่า) ก่อนจะเปิดร้านที่สุขุมวิท 49 กับ จีทาวเวอร์ พระรามเก้า ตามลำดับ เเละกำลังจะเปิดสาขาล่าสุดที่คิงพาวเวอร์ โดยมีคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจนว่า เป็นร้านน้ำชาตะวันออก ที่ตกแต่งอย่างร่วมสมัย ในบรรยากาศผ่อนคลาย สบายๆ

โซนที่โดดเด่นก็คือ Tea Bar สำหรับผู้ดื่มชาร้อนเซตต่างๆ และต้องการเห็นกรรมวิธีการชงสุดพิถีพิถันจากเหล่าทีมาสเตอร์ ที่ละเอียดลออตั้งแต่การเลือกใช้น้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำที่มีความกระด้างต่ำ น้ำฝน หรือน้ำแร่เเช่ถ่านไม้ไผ่ รวมถึงกำหนดอุณหภูมิการต้มให้เหมาะสมกับใบชาชนิดนั้นๆ

โดยธีได้เริ่มต้นเล่าว่า เขาเกิดในครอบครัวจีน ที่ป๊าชงชาให้คนในบ้านดื่มทุกเช้า แต่ตอนเด็กๆ เขาไม่ได้ชื่นชอบนัก ตรงกันข้ามกลับรู้สึกต่อต้านด้วยซ้ำ เพราะเหมือนตนเองถูกบังคับ ที่สำคัญมันทำให้เขาทรมานเพราะมักปวดฉี่ระหว่างนั่งเรียน จนต้องขออนุญาตคุณครูไปเข้าห้องน้ำบ่อยครั้ง

ข้างต้นก็คือความทรงจำที่ไม่ค่อยสู้ดีนักของเขาเกี่ยวกับน้ำชา ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะสำหรับเด็กๆ จะรู้สึกว่าชาจีนมีรสขมจางๆ ยิ่งถ้าให้ดื่มตอนร้อนๆ นี่ เหมือนถูกบังคับให้ทานยาเลยเชียว กระทั่งเติบโตขึ้นมา ความรู้สึกของเขาก็เปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อได้มีโอกาสดื่มชาคุณภาพเยี่ยมหลายๆ ครั้งเข้า ประกอบกับความชื่นชอบท่องเที่ยวตามชนบทในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะไร่ชาของญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน ซึ่งไม่เพียงทำให้เขาได้ดื่มชารสเลิศเท่านั้น แต่ยังได้เห็นขั้นตอนการปลูก การดูแล การเก็บเกี่ยว ได้พูดคุยกับเหล่ากูรูด้านชามากมาย ทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างชากับวัฒนธรรมตะวันออก ที่มีอิทธิพลต่อความคิดและการดำเนินชีวิต จึงกระตุ้นให้เขาอยากเรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้มากขึ้นไปอีก โดยธีได้อธิบายถึงความรู้สึกลุ่มหลงของเขาว่า

“มันเหมือนหลับตาเดินงงๆ ตามหาบางอย่างที่เราอยากรู้ไปเรื่อยๆ แต่ไม่ได้สนใจว่าจะรู้ไปทำไม ไม่เคยคิดด้วยซ้ำว่ารู้ไปเพื่ออะไร มันแค่อยากรู้ แล้วผมก็ตระเวนไปทุกร้านในเยาวราช แต่ก็รู้สึกยังไม่อิ่ม ผมก็ไปจีน ไปไต้หวัน ไปญี่ปุ่น…

“เมื่อเราชอบอะไรจริงๆ เราจะรู้สึกอยากทำมัน และทำมันมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนว่าเราถูกดึงเข้าไป ถูกมันเลือกเข้าไป รู้ตัวอีกทีความรู้ก็เต็มไปหมดเลย เพราะว่าความสนุกของเราอยู่ที่การศึกษาใน youtube เข้าไปอ่านใน google บินไปที่ไร่ชา ได้รู้จักผู้มีความรู้ด้านนี้ แล้วผมค่อยๆ ทำมันไป พอทำอย่างหนึ่ง ผมก็รู้เพิ่มอย่างหนึ่ง พอทำสองอย่าง ผมก็รู้เพิ่มขึ้นสองอย่าง วันหนึ่งผมก็ถามตัวเองว่ายังเหลืออะไร แล้วก็ได้คำตอบว่า เหลือแค่เปิดร้านเท่านั้น”

  • ต้องดีที่สุด

เมื่อรู้สึกว่าร้านน้ำชานี่แหละ คือสิ่งที่เขาต้องการทำมากที่สุด Peace – Oriental Teahouse ก็เกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่นานนัก โดยมีเป้าหมายว่า จะต้องเป็นร้านน้ำชาที่ดีที่สุด ที่ทำให้ลูกค้าสัมผัสแก่นแท้แห่งชาตะวันออกได้อย่างลึกซึ้ง ฉะนั้นใบชาที่เขานำเข้าจากญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน จึงต้องดีที่สุดเช่นกัน

และแน่นอนแหละว่า ด้วยคุณภาพวัตถุดิบระดับนี้ ต้นทุนย่อมสูงตามไปด้วย โดยชาร้อนเซตหนึ่งของ Peace – Oriental Teahouse ราคาอยู่ที่สองร้อยกว่าขึ้นไป หรือชาร้อนในแก้วขนาดพอเหมาะ ก็ตกแก้วละกว่าร้อยซึ่งสำหรับคนที่ไม่ใช่คอชา อาจจะรู้สึกว่ามันเป็นราคาที่ค่อนข้างสูง ซึ่งธีได้อธิบายถึงวิธีคิดของเขาในเรื่องนี้ว่า

“แนวคิดของผมก็คือ ใช้สิ่ง (วัตถุดิบ) ที่ดีที่สุดที่เราจะหาได้ในชีวิตนี้ และเอามาทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แล้วก็ขายในราคาที่ต่ำที่สุด เท่าที่เราจะอยู่ได้ เพราะผมเชื่อว่าด้วยตรรกะนี้ถ้ามีคนเก่งกว่าผม ก็ทำได้แค่ขายได้ในราคาที่ถูกว่าผมเท่านั้น แต่ทำให้มีคุณภาพดีกว่าผมไม่ได้ เพราะว่าดีกว่านี้มันไม่มี

“ถ้าเขามีกำลังทุนที่สูงกว่า แล้วไปเหมาซื้อวัตถุดิบเยอะๆ ทำให้ซื้อได้ในราคาที่ต่ำกว่า เพราะเขาเก่งกว่าเราในเรื่องการลดต้นทุน ซึ่งถ้าแค่ถูกกว่า ผมก็คิดว่าไม่เป็นไร แต่เขาทำให้ดีกว่าผมไม่ได้แน่นอน” ธีกล่าวอย่างมั่นใจ ก่อนอธิบายต่อว่า

“อย่างชาที่ดีที่สุดในโลก ที่ชนะการประกวดหลายปีซ้อน มาจากทีมาสเตอร์ชาวญี่ปุ่นที่สอบได้ 100 คะแนนเต็มในทุกหัวข้อ ซึ่งเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่ทำได้ ผมก็เอาตัวนั้นมาขาย แล้วก็พยายามขายในราคาที่ต่ำที่สุด เทาที่ผมจะขายได้”

“…ผมว่าขายของห่วยราคาถูก ใครก็ทำได้ ขายของดีราคาแพง ใครก็ทำได้ แต่ว่าขายของดีในราคาที่คนส่วนใหญ่พอจ่ายได้  ยากมาก”

  • เปิดโลกชาตะวันออก

ด้วยคุณภาพของวัตถุดิบ ราคาที่กำหนด และรูปเเบบการตกแต่งร้านระดับลักซูรี่ ทำให้หลายๆ คนเข้าใจว่า กลุ่มเป้าหมายที่เขาเล็งไว้คือคอชาขนานแท้ แต่ธีกลับบอกว่า เขาต้องการทำให้วัฒนธรรมการดื่มชาตะวันออกได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วไป  Peace – Oriental Teahouse จึงมีชาในรูปแบบต่างๆ ให้เลือกมากมาย

“สะพานของผมที่ใช้ก็คือ ร้านสวยๆ แบรนด์ที่ดูดี ของอร่อยอื่นๆ ก็มีบ้าง เช่นไอศกรีม เพื่อเปิดใจผู้คนทั่วไปให้เข้ามาในโลกของชาตะวันออก โดยชาที่ผมใช้เป็นสะพานจะเป็นชาที่เข้าใจง่าย เป็นชาแท้ ชาตะวันออกนี่แหละ แต่จะไม่ใช่ตัวที่สุดยอดที่สุด เพราะชาสุดยอดนี่ เข้าใจยาก มันไม่ใช่ใครดื่มแล้วจะเก็ต แต่ถ้าเริ่มต้นจากชาที่เข้าใจง่าย ต่อไปเขาก็จะอยากลองสเต็ปที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ”

โดยธีได้จัดชาให้ผู้เขียนลิ้มลองจำนวน 5 เซตด้วยกัน และทำหน้าที่ทีมาสเตอร์ด้วยตัวเอง เซตแรกที่เขาภูมิใจนำเสนอ ก็คือ gyokuro ชาเขียวญี่ปุ่น (ราคาเซตละ 450 บาท) ธีตักใบชาใส่กาดินเผา แล้วหยิบเหยือกน้ำไปวางบนเตาต้มพร้อมกล่าวว่า สำหรับชาประเภทนี้ และในอุณหภูมิห้อง 25 องศาเซสเซียส เขาเลือกใช้น้ำที่มีความกระด้างต่ำ ส่วนอุณหภูมิของน้ำ ก็แค่ให้ร้อนพอเหมาะ ไม่ถึงขั้นเดือดจัด ประมาณ 88 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมในการเปิดใบชา ใช้เวลาประมาณ 1 นาที เพื่อให้ใบชาพองได้ที่ แล้วเขาก็ยกการินน้ำชาใส่ถ้วยใบจิ๋วที่อยู่ข้างหน้า 2 ใบ สลับกันไปมาอย่างรวดเร็ว ก่อนทิ้งทวนด้วยการสะบัดข้อมือ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีน้ำตกค้างในกา ซึ่งจะส่งผลกับการชงครั้งต่อไป

ระหว่างที่ยกถ้วยชาขึ้นจิบ ธีก็บอกว่า รสชาติที่กำลังนัวๆ ในปากเรียกว่า “อูมามิ” ซึ่งหากให้ผู้เขียนอธิบาย ก็ขอบอกตามตรงว่า ยากจะบรรยายให้เข้าใจได้โดยง่ายจริงๆ

1 เซต จะประกอบด้วยการรินชา 3 ครั้ง โดยธีกล่าวว่า “คนจีนบอก ชาถ้วยแรกให้ศัตรู ถ้วยที่ 2 ให้ภรรยา ถ้วยที่ 3 ให้ตัวเอง เพราะในถ้วยที่ 3 รสชาติจะบาลานซ์ที่สุด (กลมกล่อม) น้ำแรกจะมีแต่รสอูมามิ น้ำสองจะเริ่มมีความขมเข้ามาแล้ว น้ำ 3 มีทั้งความขมและอูมามิ ที่กำลังดี”

ชาเซตต่อมาที่ธีเลือกให้ลิ้มลอง ก็คือ jinxuan ชาอู่หลงไต้หวัน (ราคาเซตละ 220 บาท) โดยธีเล่าว่า คนจีนฮกเกี้ยนไปใช้ชีวิตในไต้หวัน ได้ปลูกชา 30 กว่าสายพันธุ์แล้วตายหมด ต่อมาจึงทดลองนำพันธุ์ชาจากจีนไปผสมกับชาป่าในไต้หวัน ซึ่งก็คือชาที่ผู้เขียนกำลังจิบอยู่นี้

และระหว่างที่จิบชาเซตที่ 3 roasted tie guanyin ชาอู่หลงจีน (ราคาเซตละ 220 บาท)  ธีก็กล่าวว่า ชาตะวันออกมี 6 ชนิด ได้แก่ 1.ชาเขียว 2. ชาเหลือง 3.ชาแดง (หรือชาดำ) 4.ชาขาว 5. ชาอู่หลง 6.ชาผู่เอ๋อ แล้วยังแบ่งย่อยเป็นชาหมัก ชาไม่หมัก และชากึ่งหมัก โดยชาหมักก็เช่น ชาอู่หลง จะมีสรรพคุณช่วยลดไขมัน ชาแดง (ชาดำ) ก็ช่วยเรื่องระบบการขับถ่าย ส่วนชาที่ไม่หมัก อย่างชาเขียว จะมีคาเฟอีนสูง ช่วยให้สดชื่น กระปรี่กระเปร่า

“การชงชา ตะวันออกจะต่างจากทางตะวันตก เราใส่ใบชาจำนวนมากอัดแน่นเต็มกา แล้วเทน้ำที่ใช่ เราไม่แช่ใบชา ตะวันตกเขาจะใช้ใบชาน้อย ใช้กาขนาดใหญ่ ใส่น้ำเยอะๆ แล้วแช่ไว้นานๆ” ธีกล่าว

หลังจากจัดหนัก 3 เซตแรกด้วยชาตะวันออกขนานแท้ไปแล้ว เมนูต่อมาก็คือ pasel matcha มัจฉะชงกับนมในถ้วยกระเบื้องเคลือบแช่เย็น (ราคา 140 บาท) หากให้พูดตรงๆ สำหรับผู้เขียนที่ไม่ใช่คอชา ก็ขอบอกว่าอร่อยมากๆ ก่อนตบท้ายด้วย koicha cream (ราคา 285 บาท) ไอศกรีมที่ต้องใช้ตะเกียบคีบพอดีคำ แล้วนำไปจุ่มโคอิฉะ (ชาเขียวข้น) ทานแกล้มกับข้าวเหนียวดำ ซึ่งเป็นเมนูยอดนิยมที่ธีคิดค้นขึ้นมา จึงสะท้อนให้เห็นว่า เมื่อเข้าถึงและเข้าใจในสิ่งที่ทำอย่างถ่องแท้ ก็จะก่อให้การประยุกต์สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นได้ อย่างไม่สูญเสียแก่น

  • สุขกับสิ่งที่ทำ

ธีกล่าวว่า เขาไม่ได้หลงใหลชาตะวันออกเท่านั้น แต่เขาหลงใหลวัฒนธรรมตะวันออกโดยองค์รวม ในมุมมองของเขา สิ่งที่เป็นแก่นแท้ของวัฒนธรรมตะวันออกก็คือ พุทธศาสนา ซึ่งเป็นหลักคิดที่ธีนำมาใช้ทั้งในการดำเนินชีวิตและธุรกิจ

“เฟรมเวิร์กของผมเวลาทำอะไรก็จะเป็นไปตามหลักอิทธิบาท 4 คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา , ฉันทะ คือความชอบในสิ่งที่ทำ วิริยะ คือ ความฝักใฝ่ ขยัน , จิตตะ คือ ความใส่ใจ แล้วสิ่งสุดท้ายที่ขาดไม่ได้ก็คือ วิมังสา การหมั่นตรวจสอบอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เราหลงทาง”

ส่วนคำแนะนำในเรื่องการประกอบธุรกิจ ธีให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า ผลที่แท้คือเหตุที่สมบูรณ์ หากเราตั้งเป้าหมายว่า ธุรกิจต้องประสบความสำเร็จ แต่เอาเข้าจริง พอถึงจุดที่เราสำเร็จแล้ว เราก็อยากได้ต่อไปอีก ถ้าเป็นเช่นนี้ความสุขมันไม่มีทางอยู่ในปัจจุบันได้ มันจะเป็นความสุขในอนาคตเสมอ

แต่ถ้าเราเอาเป้าหมายเป็นที่ความสมบูรณ์ของเหตุ เราก็จะปล่อยวางในผลไปเลย เพราะถ้าเรามุ่งไปในทางที่ถูกต้อง ทำเหตุให้สมบูรณ์แล้ว เราก็ประสบสำเร็จได้ทุกวัน

“ที่นี้ถ้าจะให้คำแนะนำ ในเมื่อความสุขที่แท้อยู่ที่การสร้างเหตุให้สมบูรณ์ ดังนั้นเป้าหมายของคุณไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของธุรกิจก็ได้ ผมว่าคนรุ่นใหม่ถูกล้างสมองว่า ความสำเร็จคือการเป็นเจ้าของธุรกิจ เป้าหมายสูงสุดของหลายๆ คนจึงอยากมีกิจการเป็นของตัวเอง

“โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า การทำธุรกิจไม่ใช่สำหรับทุกคน มันมีบางคนเกิดมาเป็นผักชี บางคนเกิดมาเป็นตัวหอม บางคนเกิดมาเป็นหัวไชเท้า อย่างผมเองอาจเกิดมาเป็นผักชี ผมจึงทำสิ่งที่ผักชีทำได้ดี แต่ถ้าคุณเป็นต้นหอม หรือหัวไชเท้า คุณจะมาทำแบบผักชีทำไม

“และถ้าให้พูดถึงคนที่เป็นผักชีอย่างผม ผมว่าสิ่งที่สำคัญในการทำธุรกิจมี 2 ข้อ ข้อแรกก็คือ ความสามารถในการมีความสุขกับสิ่งที่ทำ เพราะว่าความสุขเป็นกำลังของใจ ถ้าเราไม่มีความสุข เราก็จะไม่มีกำลัง พอไม่มีกำลัง ก็ทำอะไรไม่ได้”

โดยธีได้ขยายความว่า ‘ความสามารถในการมีความสุขกับสิ่งที่ทำ’ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง ‘ทำในสิ่งที่รัก’ แต่หมายถึงถ้าเลือกทำในสิ่งใดก็ตาม ต้องสามารถมีความสุขกับมันได้ ซึ่งถ้ายึดสิ่งที่รักเป็นหลัก มันไม่มีความแน่นอน เพราะคนเราเปลี่ยนใจได้เรื่อยๆ อย่างแฟนตอนแรกก็รักมาก แต่ต่อมาทำไมเลิกล่ะ ก็เพราะมันเป็นธรรมชาติของใจคน

สรุปให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ต้องรักในสิ่งที่ทำ มองหาคุณค่าในสิ่งที่ทำ ไม่ใช่เอาแต่เป้าหมาย เพราะถ้ามองแต่เป้าหมาย เมื่อยังไปไม่ถึง เราก็จะรู้สึกว่าไม่สำเร็จอะไรซะอย่าง ถ้าคิดแบบนี้มันจะสุขแป๊บเดียว สุขตอนได้ ก่อนได้ก็ทุกข์ กำลังจะได้ก็ทุกข์ พอได้ก็สุขแป๊บเดียว แล้วอยากได้สิ่งใหม่อีก แล้วก็ทุกข์อีก

ส่วนข้อที่ 2 สิ่งที่สำคัญมากๆ ในการประกอบธุรกิจในมุมมองของธีก็คือ ความอดทน โดยเขาให้เหตุผลว่า “เพราะในการทำธุรกิจ จะมีปัญหาเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อน แบบท้องก็จุก น้ำตาก็ไหล โดนต่อยปากอีก โดนทุบเข้ามา เดี๋ยวน้องคนนี้ก็จะออก เดี๋ยวคนนี้ก็ป่วย เดี๋ยวลูกค้าก็โวยวาย ฯลฯ

“อย่างผมเองก็มีช่วงที่เกือบแย่ เพราะตอนเปิดสาขา 2  ผมทุ่มเงินเข้าไปเยอะมาก ผมใส่ไอเดียที่ดีที่สุดกับกำลังทั้งหมดลงไป คือทุ่มเงินเข้าไปจนเหลือ 0 บาท แต่ร้านก็มีเหตุต้องเลื่อนกำหนดเปิดออกไป 5 เดือน เพราะช่างทิ้งงาน 2-3 รอบ เพราะฝนตกทำงานก่อสร้างไม่ได้ เพราะติดสงกรานต์ ช่างกลับบ้าน มันดีเลย์ไปเรื่อยๆ แล้วก็มีปัญหากับผู้รับเหมาด้วย

“ตอนนั้นผมจ้างพนักงานเพิ่มเข้ามาเพื่อเตรียมไปสาขาใหม่แล้ว เงินก็ร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ ผมก็ต้องอดทน อะไรประหยัดได้ก็ประหยัด และทำทุกวิถีทาง ไปคุยกับแลนด์ลอร์ด ปีนี้ขอไม่จ่ายทั้งปี แล้วไปบวกกับปีหน้า พยายามหาวิธีที่จะรอดจนสามารถเปิดสาขาที่ 2 ได้ ซึ่งผมก็เพิ่งเข้าใจคำว่าปากกัดตีนถีบ เมื่อทำธุรกิจนี่แหละ (หัวเราะ) เพราะมันเป็นอย่างนี้จริงๆ”

แม้ธีจะบอกว่า ตอนนี้ธุรกิจของเขายังอยู่ห่างไกลจากคำว่าประสบสำเร็จ แต่ภายในระยะเวลาไม่ถึง 3 ปี กับร้านน้ำชา 2 สาขา เเละกำลังจะเปิดสาขาล่าสุดในเร็วๆ นี้ ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ก็ต้องถือว่า Peace – Oriental Teahouse เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เติบโตอย่างสวนกระแส ด้วยชาญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน ระดับคุณภาพ ที่ถูกอกถูกใจคอชาขนานเเท้ เเม้จะมีการต่อยอดขยายฐานด้วยเมนูที่สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เเต่ไม่สูญเสียเอกลักษณ์ของร้าน อันเนื่องมาจากการเข้าใจเเละเข้าถึงสิ่งที่ตัวเองกระทำ จนสามารถพลิกเเพลงได้อย่างหลากหลาย

เป็นการพัฒนาจากอดีตสู่ปัจจุบัน เพื่อส่งต่อมนตราเเห่งชาตะวันออกนี้…สู่อนาคตต่อไป 

ถ่ายภาพ : บรรหาร ปรางเทศ

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า