SHARE

คัดลอกแล้ว
#explainer เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำกลุ่มราษฎร ไม่ได้รับการประกันตัวจากศาลอาญาเป็นครั้งที่ 9 ในคดีการเมือง โดยสภาพร่างกายของเจ้าตัวอ่อนล้าอย่างรุนแรง จากการอดอาหารยาวนานมากกว่า 50 วันติดต่อกัน
 
เรื่องราวเป็นอย่างไร ทำไมพริษฐ์ถึงโดนขัง และทำไมศาลยุติธรรมไทยถึงถูกโจมตีที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ workpointTODAY จะสรุปสถานการณ์ให้เข้าใจใน 22 ข้อ
 
1) เพนกวิน-พริษฐ์ ชีวารักษ์ เติบโตมาที่จังหวัดลำปาง จากนั้นในสมัยมัธยมปลาย สอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้สำเร็จ เพนกวินเป็นเด็กเรียนดี ชอบเรียนภาษาขอม เคยแข่งขันได้รางวัลเพชรยอดมงกุฎประวัติศาสตร์ และเริ่มกิจกรรมเรื่องประชาธิปไตยตั้งแต่ ม.4 จากส่วนเล็กๆ เช่น สิทธิชุมชนที่ป้อมมหากาฬ เป็นต้น ก่อนที่จะสอบเข้าคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้สำเร็จ และดำเนินกิจกรรมในด้านประชาธิปไตยต่อ
 
2) ไฮไลท์ที่ทำให้คนจดจำเพนกวินได้ คือในวันที่ 6 กันยายน 2558 สมัยที่เขายังเรียนอยู่ ม.5 ในงานวันต่อต้านคอร์รัปชั่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มากล่าวปาฐกถาในงาน เมื่อพล.อ.ประยุทธ์พูดเสร็จได้ถามคนฟังว่า มีใครมีคำถามไหม เพนกวินยกมือ แล้วชูป้ายถามว่า ทำไมต้องบังคับให้เด็กท่องค่านิยม 12 ประการ สุดท้ายเพนกวินโดนหิ้วไปคุมตัวไว้ที่โรงพักครึ่งวัน ก่อนโดนปล่อยตัวออกมา
 
3) เมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย กิจกรรมของเพนกวินเรื่องการเรียกร้องประชาธิปไตยเริ่มจริงจังมากขึ้น เขาตั้งพรรคชื่อ “โดมปฏิวัติ” ขึ้น โดยพรรคนี้ไม่ใช่แค่เสนอนโยบายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น แต่มีการวิจารณ์รัฐบาลอย่างรุนแรงด้วย ขณะที่คำหยาบคายถูกหยิบมาใช้โดยปกติ และตัวเพนกวินเองก็โดนวิจารณ์ว่า ใช้คำ “ก้าวร้าว” และมี “Hate Speech” เป็นระยะ จนมีช่วงหนึ่งผุด #ไม่เอาเพนกวิ้นปราศรัย ทะยานขึ้นติดเทรนทวิตเตอร์
 
4) ในปี 2563 บรรยากาศการเมืองของประเทศไทย เริ่มมีการชุมนุมจากกลุ่มเยาวชน เพนกวิน ได้กลายเป็นหนึ่งในแกนนำของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โดยมีข้อเรียกร้องสำคัญคือ “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” และถือเป็นผู้ชุมนุมกลุ่มแรกๆ ที่จุดประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาด้วย
 
5) วันที่ 19 กันยายน 2563 พริษฐ์ เป็นแกนนำในการจัดการชุมนุมชื่อ #19กันยาคืนอำนาจราษฎรที่สนามหลวง มีการปักหลักค้าง 1 คืน และมีการ “ฝังหมุดคณะราษฎร” ที่บริเวณสนามหลวง หรือที่กลุ่มผู้ชุมนุมชักชวนกันเรียกว่าสนามราษฎร ซึ่งจากวันนั้น ตำรวจแจ้งความเพนกวิน 3 คดี คือ 1-จัดชุมนุมเพื่อยุยงปลุกปั่น 2-ปักหมุดในที่ต้องห้าม ผิด พรบ.โบราณสถาน ต่อมาจึงแจ้งคดีที่ 3-ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ เพิ่มเติม
 
6) เพนกวิน เข้าคุกรอบแรกในวันที่ 15 ตุลาคม 2563 โดยเป็นการฝากขัง จากคดี ม.116 (จัดชุมนุมเพื่อยุยงปลุกปั่น) แต่เข้าคุก 15 วัน ศาลให้ประกันตัวออกมา ด้วยเงื่อนไขห้ามทำแบบเดิมอีก
 
7) จากนั้นในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ เพนกวินต้องเข้าเรือนจำอีกเป็นครั้งที่ 2 แต่คราวนี้ มาจากคดี ม.112 (ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์) โดยนอกจากเพนกวินแล้ว แกนนำคนอื่นที่ขึ้นปราศรัยใน #19กันยาคืนอำนาจราษฎร ก็ถูกขังทั้งหมด ทั้งอานนท์ นำภา, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, หมอลำแบงค์-ปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม, รุ้ง-ปนัสยา, ไมค์-ภาณุพงศ์ และ ไผ่ดาวดิน จำเลยจากคดี ม.112 ก็ถูกส่งเข้าห้องขังตามกันไป
 
ตามปกติคนทำผิดกฎหมายในข้อหาโทษจำคุกเกิน 10 ปี ถ้าตำรวจจับกุมแล้ว สามารถขังตัวไว้ได้สูงสุด 84 วัน จนกว่าอัยการจะสั่งฟ้อง แต่กับกรณีของเพนกวินนั้น เป็นกรณีต่างออกไป เรียกว่า “ขังระหว่างพิจารณาคดี” กล่าวคือ ขังตัวไว้หลังอัยการสั่งฟ้อง นี่คือการขังตัวที่ยาวนานไม่มีกำหนด ตราบใดที่ศาลไม่ให้ประกันตัว ก็จะถูกขังไปเรื่อยๆ จนกว่าคดีจะจบ หรือได้รับการยกฟ้อง
 
9) ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ผ่านไป 1 เดือน ศาลไม่ให้เพนกวินประกันตัว ทั้งๆที่ยังไม่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิด นั่นทำให้ วันที่ 15 มีนาคม 2564 เกิดการเคลื่อนไหวสำคัญ ที่ห้องพิจารณาคดี 701 ศาลอาญารัชดา เป็นวันพิจารณคดี #19กันยาทวงอำนาจให้ราษฎร ในการพิจารณาคดีช่วงแรก ศาลให้จำเลย ม.112 คน พูดความรู้สึกได้ โดยเพนกวินได้พูดเป็นคนสุดท้าย
 
เมื่อเพนกวินพูด เขาใช้คำที่ร้อนแรง จนผู้พิพากษาไม่อนุญาตให้พูดต่อ แต่เพนกวินไม่หยุด เขาลุกขึ้นพูดบนเก้าอี้ห้องพิจารณคดี พร้อมกับพูดกับผู้พิพากษาว่า “ท่านจะกลัวอะไรกับความจริง” จนเพื่อนๆ และญาติฝั่งจำเลย ชูสามนิ้วกันทั่วทั้งห้องพิจารณาคดี ก่อนเพนกวินจะกล่าวปิดท้ายว่า เขาจะอดอาหารเพื่อประท้วงจนกว่าจะได้สิทธิการประกันตัว
 
10) วันที่ 15 มีนาคม 2564 นั่นคือวันแรกที่เพนกวิน เริ่มต้นอดอาหาร และจำเลยคนอื่น เช่นรุ้ง-ปนัสยา ก็อดอาหารตามไปด้วยในเวลาต่อมา รวมถึงฟ้า-พรหมศร ผู้โดนคดี ม.112 อีกคน ก็อดอาหารด้วยเช่นกัน โดยกระแสการอดอาหารของ เพนกวินและเพื่อนๆ ในเรือนจำ ได้ขยายมาสู่บุคคลอื่นด้วย เช่น “บาส” เด็กหนุ่มที่เดินทางมาจากเชียงราย เพื่ออดอาหารหน้าศาลอาญา แต่พออดได้ 3 วัน ก็ถูกตั้งข้อหา ม.112 จากที่เคยโพสต์ เฟซบุ๊กในอดีต รวมถึงมีกลุ่มรณรงค์ชื่อ #ยืนหยุดขัง ที่จะยืนนิ่งๆวันละ 112 นาที หน้าศาลกีฏา ก่อนจะค่อยๆ ขยายไปยังจุดต่างๆทั่วประเทศ
 
11) มีการพยายามขอประกันตัวให้เพนกวินออกมาสู้คดีหลายครั้ง ในวันที่ 9 เมษายน ศาลมีคำสั่งให้ผู้ต้องหาคนเดียวคือ “หมอลำแบงค์” ได้ประกันตัว โดยศาลให้เหตุผลว่าน่าเชื่อว่าจำเลย จะไม่ไปก่อนเหตุอันตรายประการอื่นได้อีก จึงมีคำถามตามมาว่า ทำไมเพนกวิน และนักโทษการเมืองคนอื่นจึงไม่ได้สิทธิ์นั้นด้วย ทุกอย่างขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้พิพากษาอย่างเดียวหรือไม่
 
12) จุดสำคัญที่สร้างความประหลาดใจให้ทุกคนก็คือ ถ้าอ้างอิงตามกฎเกณฑ์ของกฎหมายระหว่างประเทศ บุคคลใดก็ตาม ถ้าโดนคดีอาญาต้องมีสิทธิ์ได้ประกันตัวเสมอ และในมาตรา 107 ในกฎหมายวิธีการพิจารณาของไทย ระบุว่า “ผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคน พึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว” ยกเว้นแต่จำเลยมีทีที่จะหลบหนี ไปยุ่งกับพยานหลักฐาน หรือจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น หลักประกันไม่น่าเชื่อถือ หรือถ้าปล่อยไปจะเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งในมุมของเพนกวิน ที่ไม่คิดจะหลบหนีไปไหน จึงมีคำถามว่า ทำไมศาลจึงไม่ให้ประกันตัวกันแน่
 
13) ผศ.ดร.ปริญญา เทวนฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ว่า “#คำถามที่น่าสงสัยอย่างยิ่ง คือทำไมผู้พิพากษาในคดีนี้ ท่านจึงไม่ยึดถือมาตรา 107 และมาตรา 108/1 ในการพิจารณาเรื่องนี้? อีกทั้งคำสั่งไม่ปล่อยตัวชั่วคราว ก็เขียนเป็น #ลายมือ หรือพิมพ์ลงในคำร้อง ทั้งๆ ที่มาตรา 108/1 วรรคสอง กำหนดไว้ว่า หากศาลมีคำสั่งไม่ปล่อยชั่วคราว จะต้องแจ้งเหตุที่ไม่ปล่อยชั่วคราวให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยทราบเป็น #หนังสือ ทำไมจึงเกิดการไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างชัดเจนเช่นนี้?”
 
14) แต่สำนักงานศาลยุติธรรมก็ได้ออกมาแถลงการณ์ในมุมตรงข้าม โดยระบุว่า จะให้ประกันหรือไม่ อยู่ที่ดุลยพินิจของศาล โดยต้องชั่งน้ำหนักระหว่างสิทธิของจำเลยกับความสงบเรียบร้อยของชุมชนและสังคมด้วย นอกจากนี้ยังยกตัวอย่างกฎหมายของต่างประเทศว่าในความผิดบางประเภทกฎหมายสหราชอาณาจักรและออสเตรเลียก็ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในบางคดีจากเหตุเกรงจะไปทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งอีกระหว่างปล่อยตัว
 
ทั้งนี้ มีนักกฎหมายออกมาแย้งแถลงการณ์ของศาลหลายจุด เช่น กรณีศาลยกตัวอย่างกฎหมายสหราชอาณาจักรที่มีการเขียนไว้ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในคดีบางประเภทจริง แต่กฎหมายสหราชอาณาจักรก็ระบุเจาะจงว่าชัดเจนเป็นคดีประเภทคดีที่มีความผิดต่อชีวิตหรือเพศจึงจะไม่ให้ประกันตัว
 
15) วันที่ 23 เมษายน 2564 ก็มีการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาอีก 2 คน คือสมยศ พฤกษาเกษมสุข และ จตุภัทร บุญภัทรรักษา ศาลระบุว่า “ไม่มีเหตุให้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี” แต่เพนกวินและคนอื่น ๆ ยังอยู่ที่คุกเหมือนเดิม
 
16) เพนกวินยังอดอาหารต่อไป แต่มีภาพหลุดมาจากอินเตอร์เนตระบุว่าเป็น “ออเดอร์” ที่เขาสั่งเข้าไปในห้องขัง ประกอบด้วย นมโฟร์โมสต์, แบรนด์รังนก, นมไทยเดนมาร์ก, นมเปรี้ยว, น้ำผลไม้รวม ฯลฯ นั่นทำให้ โดนกลุ่มซัพพอร์ทรัฐบาล ตั้งคำถามว่า อดอาหารจริงหรอ ทำไมสั่งของจากข้างนอกเข้าไปกินเยอะขนาดนี้
 
ในเรื่องนี้ แหล่งข่าวระบุกับทีม workpointTODAY ว่าตัวเพนกวินอาจไม่ได้เป็นคนสั่งสินค้าเอง เนื่องจากตามกฎของเรือนจำนั้น คนที่อยู่ข้างนอก สามารถซื้อของจากร้านค้าสวัสดิการส่งเข้าไปให้นักโทษโดยตรงได้เลยเหมือนเป็นของขวัญ ที่ผ่านมา ไม่มีใครเคยเห็นว่าเพนกวินได้กินของที่คนข้างนอกส่งไปให้หรือไม่
 
17) วันที่ 28 เมษายน 2564 เพนกวินอดอาหารเป็นวันที่ 44 ทำให้ สุรีย์รัตน์ ชีวารักษ์ คุณแม่ของเพนกวิน รวมตัวกับคุณแม่ของจำเลยคนอื่นในคดี ม.112 ร่วมกับแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ว่าเพนกวินถ่ายเป็นลิ่มเลือด เรื่องนี้ทำให้สังคมตกใจ และเกิดแฮชแท็ก #saveเพนกวิน ขึ้นมา พุ่งเป็นอันดับ 1 ในเทรนด์ทวิตเตอร์ สังคมมีแรงกดดันให้ศาลประกันตัวเพนกวินเสียที เพราะอยู่ในเรือนจำมานานเกิน 2 เดือนแล้ว
 
18) วันที่ 29 เมษายน 2564 ผู้สนับสนุนเพนกวิน ไปรอที่ศาลอาญารัชดาตั้งแต่ช่วงเช้าเพื่อรอฟังคำสั่ง ว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่ มีการตะโกนเรียกชื่อ “ชนาธิป เหมือนพะวงศ์” หนึ่งในผู้พิพากษาที่มีอำนาจเซ็นชื่อให้ประกันตัวได้ด้วยเสียงดังกึกก้อง ด้วยแรงกดดันทำให้ศาลประกาศว่าจะเลื่อนอ่านคำสั่งเป็นวันรุ่งขึ้นแทน แต่กลุ่มผู้สนับสนุนเพนกวินและคุณแม่สุรีย์รัตน์ไม่ยอม ประกาศปักหลักจนกว่าจะได้คำตอบ สุดท้ายเวลา 18.00 น. ศาลจึงประกาศว่า “ไม่ให้ประกันตัว” ตามเดิม
 
19) การไม่ให้ประกันตัวอีกครั้ง และอีกครั้ง ทำให้สังคมเริ่มมีฟีดแบ็กที่รุนแรงกับศาล กลุ่ม REDEM โพสต์ข้อมูลส่วนตัวของผู้พิพากษาและครอบครัว ขณะที่คณะกรรมการนิสิต-นักศึกษา ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โพสต์แถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาล บรรยากาศนี้นำมาสู่การจัดการชุมนุม ที่หน้าศาลอาญาเพื่อปาไข่และปามะเขือเทศใส่ป้ายศาลอาญา ซึ่งศาลได้แถลงในวันต่อมาว่า ใครที่จะขว้างปาสิ่งของ จะถูกเก็บหลักฐานและดำเนินคดี
 
20) วันที่ 30 เมษายน 2564 คุณแม่สุรีย์รัตน์ ปรากฎตัวหน้าศาลฎีกาอีกครั้งและตัดสินใจ “โกนผม” เพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว และเดินขึ้นศาลขอยื่นประกันตัวเพนกวินและรุ้ง-ปนัสยาอีกครั้ง รอบนี้ศาลไม่ได้มีคำสั่งทันทีแต่นัดไต่สวนวันที่ 6 พฤษภาคม 2564
 
21) สำหรับอาการของเพนกวินนั้น โฆษกกรมราชทัณฑ์กล่าวว่า น้ำหนักตัวของเพนกวินลดลงจาก 107 กิโลกรัม ปัจจุบันเหลือ 94.5 กิโลกรัมเท่านั้น ร่างกายอ่อนแอไม่สามารถฟื้นฟูตัวเองได้ แพทย์จึงมีความเห็นว่า ถ้าปล่อยไว้ อาจเกิดภาวะช็อก จึงเห็นว่าควรส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนอกเรือนจำ เพื่อรับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทาง นั่นคือเหตุผลที่เพนกวิน ต้องเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี และเมื่ออาการดีขึ้นแล้ว จะเข้ารับรักษาในโรงพยาบาลของเรือนจำต่อไป
 
22) นี่คือภาพรวม ของเรื่องราวตลอด 3 เดือนที่เกิดขึ้น การไม่ให้ประกันตัว 9 ครั้ง กับเพนกวิน-พริษฐ์ นำมาสู่คำถามว่า “ทำไม” และนำมาสู่การตั้งคำถามต่อศาลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า