ในยุคที่เทคโนโลยีมาแรงแซงโค้ง หลายธุรกิจเดินหน้าปรับตัวและหาช่องทางใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์และเป็นที่ต้องการของผู้คน โดยเฉพาะตู้อัตโนมัติที่เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจและตอบโจทย์คนในปัจุบันได้ดี จากความสะดวกสบายและให้บริการตลอด 24 ชม.
บมจ.โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) หรือ JSP เป็นอีกหนึ่งผู้เล่นคนสำคัญในตลาดตู้อัตโนมัติที่น่าจับตามอง กับ ‘Medis’ ตู้ยาอัตโนมัติ ที่มาในคอนเซ็ป “ตู้ยาอุ่นใจใกล้คุณ” ซึ่งทาง TODAY Bizview มีโอกาสได้พูดคุยกับทางผู้บริหาร
‘สิทธิชัย แดงประเสริฐ’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ JSP เล่าให้ฟังว่า บริษัท JSP เริ่มต้นมาจากการทำธุรกิจวิจัยและพัฒนาและต่อยอดสู่การเป็นผู้ผลิตในสินค้าเพื่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นยา เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับคนและสัตว์ ทำให้ JSP มีเป้าหมายหลักในต่อยอดธุรกิจไปสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านสุขภาพอย่างครบวงจร
โดย JSP ขับเคลื่อนกระบวนการผ่าน บริษัท ซีดีไอพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CDIP ซึ่ง JSP ถือหุ้นอยู่จำนวน 65%
ธุรกิจของ CDIP ถือเป็นธุรกิจด้านการรับจ้างวิจัยเชิงวิชาการในห้องปฏิบัติการ รับจ้าง ทดสอบและวิเคราะห์ผลทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงจัดงานฝึกอบรมและสัมมนา และส่วนงานให้คำปรึกษาการยื่นขอทุนวิจัยด้านการวิจัยและพัฒนา
[ รู้จัก ‘Medis’ ตู้ยาสามัญประจำบ้านอัตโนมัติ 24 ชม. ]
สำหรับธุรกิจตู้ยาสามัญประจำบ้าน หรือที่มีชื่อว่า ‘Medis’ มาในคอนเซ็ป “ตู้ยาอุ่นใจใกล้คุณ” มีจุดเริ่มต้นมาจากแนวคิดที่ต้องการตลาดที่จะสามารถวางสินค้าและช่วยโปรโมทสินค้าที่ผลิตออกมาได้ ทาง CDIP จึงเข้าไป M&A กับทาง Vending Machine เมื่อช่วงกลางปี 2566 ที่ผ่านและเริ่มทำ Medis ตู้ยาอัตโนมัติขึ้นมา
ตู้ Medis จำหน่ายยาสามัญประจำบ้าน ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ และผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น ๆ
ปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 44 ตู้ และวางอยู่ใต้คอนโดมิเนียมเป็นหลัก โดยเฉพาะโครงการของลุมพินี เพื่อเป็นการสำรวจตลาดและความต้องการของคนในแต่ละพื้นที่ว่าสินค้าอะไรขายดีที่สุด และเป็นช่องทางในการนำผลิตภัณฑ์ของลูกค้าไปวางเพื่อช่วยให้สินค้าเข้าถึงคนได้มากขึ้นด้วย
“ผมว่าหลาย ๆ คนอาจจะมองว่ายาสามัญประจำบ้าน เดินไปตามร้านสะดวกซื้อหรือร้านขายยาใกล้บ้านได้ไม่แตกต่างกัน แต่จริง ๆ เป้าหมายหลักของเราจะเห็นได้ว่าปัจจุบันตู้ถูกวางไว้ตามใต้คอนโดฯ ก็เพื่ออำนวยความสะดวกไม่ต้องเดินไกลและกลางคืนส่วนใหญ่ร้านยาจะปิดหมด รวมถึงการซื้อสินค้าบางอย่างที่อาจจะไม่ต้องการให้คนอื่นรู้ เช่น ถุงยางอนามัย ในตู้ก็มีวางขายเช่นกันและเป็นสินค้าที่ขายดีที่สุดในทุก ๆ ตู้”
[ เป็นมากกว่าตู้ขายยาด้วย Video Conference ปรึกษาเภสัชกร ]
นอกจากเป็นตู้ขายยาสามัญประจำบ้านแบบ 24 ชม. แล้ว ความน่าสนใจของตู้ Medis คือสามารถ Video Conference คุยกับทางเภสัชกรได้ โดยการเสียบบัตรประชาชนเข้าที่ตู้ และยังสามารถวัดความสูง วัดอุณหภูมิร่างกายได้ สิ่งเหล่านี้ตั้งใจทำไว้เพื่อปูทางรออนาคตที่จะนำไปสู่การทำ Telepharmacy หรือเภสัชกรรมทางไกล
และในปัจจุบันยาอันตรายยังคงต้องขายผ่านเภสัชกรเท่านั้น แต่กฏหมายเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น จะเห็นได้จากการที่สามารถสั่งยาผ่านแอปพลิเคชั่นจากเภสัชกรให้มาส่งที่บ้านได้ ดังนั้นข้อดีของการมี ‘เภสัชกรออนไลน์’ คือในอนาคตตู้ Medis จะสามารถจำหน่ายยาอันตราย อย่างเช่น ยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนเพศชายผ่านตู้ได้
[ ยังไม่กำไร แต่กำลังไปต่อ ปี 2567 เร่งขยายเพิ่ม 200 ตู้ ]
ผู้บริหาร พูดถึงแผนในปี 2567 ได้รับการอนุมัติให้เพิ่มจากเดิมที่มี 44 ตู้ เป็น 200 ตู้ภายในหน้า ซึ่งปัจจุบันยังต้องยอมรับว่ายังไม่ได้มีกำไรจากตู้ Medis เพราะยังมีจำนวนตู้ที่น้อยกว่าจำนวนคนในทีมที่มีประมาณ 20 คน
“ดังนั้นตอนนี้จึงเป็นเหมือนการทดลองวางตู้เป็นหลัก และพยายามที่จะค่อย ๆ ให้เป็นการขยายเเบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่เร่งรีบ”
ส่วนปีหน้าหากสามารถเพิ่มได้ตามเป้าหมายที่ 200 ตู้ มองว่ากำไรน่าจะเริ่มเสมอตัวมากขึ้น โดย 200 ตู้ที่จะเพิ่มขึ้น มีแหล่งที่ตั้งที่มองไว้อันดับแรกยังคงเป็น ‘คอนโดมิเนียม’
รองลงมาเป็น ‘เรสซิเดนซ์’ ที่มีคนพักจำนวนมาก และสุดท้ายเป็น ‘โรงงานอุตสาหกรรม’ และกระจายออกไปไม่ใช่เฉพาะในกทม.เท่านั้น จึงเริ่มมีการพูดคุยกับตัวแทนตามจังหวัดต่าง ๆ เพื่อที่จะนำตู้ไปวางมากขึ้น
[ วางแผนเข้าระดมทุนขยายตู้จากหลักร้อยสู่หลักพัน ]
ตามแผนที่วางไว้ปีหน้าจะขยายเพิ่มเป็น 200 ตู้ เป็นสิ่งที่ต้องทำให้ได้แน่นอน และหลังจากที่สามารถทำได้ตามเป้าน่าจะเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าจะสามารถไปต่อได้
JSP มีแผนในลำดับถัดไปคือการหาทุนเพิ่มด้วยการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) เป็นตลาดแรกเพื่อสร้างโอกาสและสนับสนุนการเติบโตให้มีทุนขยายเพิ่มไปสู่ 1,000 ตู้และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต รวมถึงตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) เป็นลำดับถัดไป
“กล่าวโดยสรุปคือ JSP ตั้งเป้านำ CDIP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) ภายในปี 2568 และในระยะยาวไม่เกิน 5 ปี ตั้งเป้าเข้าจดทะเบียนในตลาด Mai”
[ เกาะเทรนด์พ่อหมาแม่แมว ตู้ยาอัตโนมัติสัตว์เลี้ยง ]
อย่างไรก็ตาม ด้วยการที่เป็นองค์กรที่ทำการศึกษาและวิจัยเรื่องต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา จึงทำให้เห็นกระแสธุรกิจ อุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ และปัจจุบันคงต้องยอมรับว่าตั้งแต่หลังเกิดโควิด-19 ทำให้เกิดเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะเรื่องของสัตว์เลี้ยงที่มาแรงมาก ๆ
ดังนั้น ในอนาคตตามคอนโดมิเนียมที่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ ก็มีโอกาสที่จะเข้าไปทำตลาดตรงส่วนนี้เพิ่มเติม อาจเริ่มต้นด้วยการนำผลิตภัณฑ์ดูแลสัตว์เลี้ยงเข้าไปวางผสมในตู้เดิมก่อนเพื่อดูความต้องการ และหากมีแนวโน้มที่ดีอาจต่อยอดไปสู่การนำตู้เข้าไปตั้งและมีสินค้าภายในทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลสัตว์เลี้ยง รวมถึงยาบางชนิดที่ไม่ซับซ้อน เพราะคนกลุ่มนี้ค่อนข้างที่จะมีกำลังซื้อที่สูงพอสมควรและเป็นเทรนด์ที่กำลังมาและน่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต