Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

จาก ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ ถึง ‘สมุย พลัส โมเดล’ ย้อนดูความพยายามแง้มประตูประเทศไทยสู่สายตาชาวโลก และสรุปรายละเอียดทั้งหมดของมาตรการเปิดประเทศเฉพาะพื้นที่ ก่อนเดินหน้าสู่แผนเปิดประเทศใน 120 วัน

อะไรคือ Phuket Sandbox

Phuket Sandbox หรือ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เป็นหนึ่งในแผนการฟื้นฟูการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดย ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ อยู่ในระยะแรกหรือระยะที่ 1 ของแผนการเปิดประเทศใน 120 วัน

โดยกำหนดให้ภูเก็ตเป็น ‘พื้นที่นำร่อง’ หรือ ‘กระบะทรายกันเจ็บ’ ของประเทศไทย ทดลองเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถเดินทางเข้าสู่ภูเก็ตและท่องเที่ยวได้ โดยไม่ต้องกักตัว ก่อนได้รับอนุญาตให้เดินทางไปยังพื้นที่อื่นๆ ในไทยหลังครบ 14 วัน หากตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19

กว่าจะมาถึงภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

อาจจะบอกได้ว่าความจริงแล้วที่มาของ ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ ไม่ได้มาจากภาครัฐบาลแต่อย่างใด แต่เกิดจากความพยายามของ ‘เอกชน’ ภายในเกาะภูเก็ต เนื่องด้วยรายได้กว่า 94% ของจังหวัดภูเก็ตเป็นรายได้จากการท่องเที่ยว ทำให้หลังเข้าสู่ยุคโควิด-19 ภูเก็ตได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ทำให้ทั่วทั้งเกาะภูเก็ตประสบปัญหาทางด้านรายได้ โดยรายงานจากฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา คณะการบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ที่เปิดเผยออกมาตั้งแต่เดือน ก.พ. ระบุว่า ภูเก็ตกำลังเข้าสู่ ‘ภาวะวิกฤติฉับพลัน’ จากรายได้ต่อหัวที่ลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว

โดยรายได้ต่อหัวของประชากรภูเก็ตในเดือน ก.พ. – ก.ย. 2564 จะลดลงเหลือเพียง 1,984 บาทต่อเดือน หรือ “ต่ำกว่าเส้นความยากจนของประเทศ” ที่ราว 3,044 บาทต่อเดือน

ผู้ประกอบการท่องเที่ยวภูเก็ตจึงมีความพยายามอย่างหนักที่จะริเริ่มโครงการที่เรียกว่า#PhuketFirstOctober หรือโครงการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในภูเก็ตได้โดยไม่ต้องกักตัว เพื่อเสนอให้กับภาครัฐ

สุดท้ายได้กลายมาเป็น ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’

อย่างไรก็ตาม ความพยายามของเอกชนภูเก็ตไม่ได้ประสบความสำเร็จตั้งแต่แรก แต่ผ่านการนำเสนอผ่านทางหลายฝ่าย หลายช่องทาง กว่า #PhuketFirstOctober ของเอกชนท่องเที่ยวภูเก็ต จะผสานรวมเป็นหนึ่งกับ ‘แผนเปิดประเทศใน 120 วัน’ ที่ภาครัฐได้ประกาศออกมาในภายหลัง

โดย ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ กลายเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเปิดประเทศหลายระดับขั้น
– 1 ก.ค. 2564 : เปิด ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’
– 15 ก.ค. 2564 : เปิดเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี (รูปแบบ Sealed routes)
– 1 ส.ค. 2564 : เปิดเกาะพีพี ไร่เลย์ เกาะไหง จังหวัดกระบี่ // เขาหลัก – เกาะยาว จังหวัดพังงา
– 1 ต.ค. 2564 : เปิด 10 จังหวัด พังงา กระบี่ เกาะสมุย เชียงใหม่ ชลบุรี (พัทยา) กรุงเทพฯ ชะอำ หัวหิน และบุรีรัมย์

ดังนั้น ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ จึงกลายมาเป็น ‘ก้าวแรก’ สู่ความสำเร็จในการเดินหน้าเปิดประเทศของรัฐบาล โดยก่อนหน้านี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภูเก็ตได้ระดมฉีดวัคซีนอย่างหนัก
โดยในปัจจุบัน ประชากรภูเก็ตได้เร่งรับการฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 70% เพื่อให้ทันตามกำหนดการเปิด เมืองต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในวันที่ 1 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา

ปัจจุบันข้อมูล ณ วันที่ 4 ก.ค. 2564 ระบุสถานการณ์ผู้รับการฉีดวัคซีนแล้ว
– จำนวนผู้รับวัคซีนเข็มที่ 1 : 70.98%
– จำนวนผู้รับวัคซีนเข็มที่ 2 : 57.28%

ใครบ้างที่ ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ เปิดทางให้เข้าประเทศ

ย้อนกลับมาที่ ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ ว่าเปิดให้ใครสามารถเข้าร่วมได้บ้าง

1) ต้องมาจากประเทศความเสี่ยงต่ำหรือความเสี่ยงปานกลางตามเกณฑ์ที่ สธ. และ ททท. กำหนด
ประเทศที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางสู่ ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ มีแล้วกว่า 60 ประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย เบลเยียม บรูไน กัมพูชา แคนาดา จีน เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิสราเอล อิตาลี ลาว เมียนมา เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส กาตาร์ รัสเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ยูเออี สหราชอาณาจักร สหรัฐ เวียดนาม ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน และอื่นๆ อีกมากมาย

2) ต้องมีหนังสือรับรองว่าเป็นบุคคลที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้ (Certificate of Entry-COE) ออกโดยกระทรวงการต่างประเทศ

3) ต้องได้รับวัคซีนตามกำหนดของประเทศไทยครบกำหนดตามประเภทวัคซีน อย่างน้อย 14 วันก่อนการเดินทาง และมีเอกสารรับรองการได้รับวัคซีน (Vaccine Certificate) กรณีเด็กอายุไม่เกิน 6 ปีเดินทางเข้ามาพร้อมกับผู้ปกครองได้

4) ต้องมีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ติดโควิด-19 (วิธีการ RT-PCR หรือเก็บสารคัดหลั่งทางเดินหายใจส่วนบนของผู้สงสัยติดเชื้อไวรัสโควิด-19) ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง

5) กรณีเคยติดเชื้อต้องได้รับวัคซีนตามกำหนดตามประเภทวัคซีนอย่างน้อย 14 วัน

6) ต้องมีกรมธรรม์ประกันภัยที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาล (รวมการรักษาโควิด-19) ในวงเงินไม่น้อยกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

เงื่อนไขการอยู่ใน ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’

‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ กำหนดให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าสู่ภูเก็ตต้องปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนด

1) ต้องตรวจโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR จำนวน 3 ครั้ง
– ครั้งที่ 1 ในวันที่ 0 ที่สนามบินวันเดินทาง รอผลตรวจในห้องพัก ไม่ติดเชื้อจึงออกนอกห้องพักได้
– ครั้งที่ 2 ในวันที่ 6-7 ที่โรงแรมหรือห้องปฏิบัติการ
– ครั้งที่ 3 ในวันที่ 12-13 ที่โรงแรมหรือห้องปฏิบัติการ

2) ต้องเข้าพักในโรงแรมมาตรฐาน SHA+ (SHA Plus) ในภูเก็ต 14 คืน จึงเดินทางออกนอกจังหวัดภูเก็ตเพื่อท่องเที่ยวในจังหวัดอื่นได้

3) ต้องเดินทางและเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตในสถานประกอบการมาตรฐาน SHA+ ภายใต้มาตรการ D-M-H-T-T-A (เว้นระยะห่าง ใส่แมสก์ ล้างมือ วัดอุณหภูมิ ไทยชนะ)

4) ต้องติดตั้งแอปพลิเคชัน ‘Thailand Plus’ และ ‘หมอชนะ’ พร้อมยินยอมให้ระบบติดตามพิกัดทางภูมิศาสตร์หรือ GPS ผ่านแอปฯ ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในภูเก็ต

ปัญหาสารพัดของ ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’

การเดินหน้าสู่ ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ นั้นประสบกับปัญหาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายในช่วงรอยต่อการทำงานระหว่างกลุ่มคนทำงานและกลุ่มผู้มีอำนาจตัดสินใจ
อย่างเช่นปัญหาปรับเปลี่ยนระยะเวลาบังคับอยู่ในภูเก็ตเพิ่มจาก 7 วันเป็น 14 วัน ที่ทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากไม่พอใจและตัดใจจากโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ จนกระทั่งอีกไม่กี่วันจะเปิดการเดินทางจริงก็ยังพบว่ามีหลากหลายปัญหาที่ยังซุกอยู่ใต้พรม

ปัญหาหลักมาจากกระทรวงการต่างประเทศไม่สามารถออกใบรับรองว่าเป็นบุคคลที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้ (Certificate of Entry-COE) ให้นักท่องเที่ยวที่ยื่นขอเข้ามาได้ เพราะจำเป็นจะต้องรอให้กฎหมายที่เกี่ยวข้องถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษาเสียก่อน

ปัญหาดังกล่าวทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากจำต้องยกเลิกเที่ยวบินที่จองเอาไว้แล้ว โดยในวันแรกมีนักท่องเที่ยวที่ต้องยกเลิกเที่ยวบินกว่า 200 ราย จากจำนวน 500-600 ราย เหลือนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสู่ภูเก็ตเพียง 360 กว่ารายเท่านั้น

โดยแม้สุดท้ายก็ประกาศออกมาในวันที่ 29 มิ.ย. 2564 แต่ก็มีเวลาให้กระทรวงการต่างประเทศทำงานเพียง 2 วันเท่านั้น

นอกจากนั้น ก็ยังพบว่าในช่วงเดียวกับปัญหาการออก COE ก็ยังมีปัญหา ‘ระบบการตรวจสอบการได้รับวัคซีน’ หรือ Vaccine Validation ที่จำเป็นจะต้องใช้ในการเดินทางร่วมกับ COE ว่า มีปัญหาการออกล่าช้าเช่นกัน หลายคนจึงคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าสู่ภูเก็ตช่วงแรกคงไม่มากนัก

รวมถึงด้วยความกังวลของแพทย์ว่าอาจจะเกิดการระบาดระลอกใหม่ของเชื้อโควิดสายพันธ์ุที่รุนแรงกว่าอย่างพันธุ์เดลต้า ทำให้ภูเก็ตถูกควบคุมด้วย “หลักเกณฑ์การยกเลิก” ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ถ้าหากสถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้

5 เงื่อนไขยกเลิกภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์
  • จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 90 รายต่อสัปดาห์
  • ลักษณะการกระจายโรคในจังหวัดทั้ง 3 อำเภอและมากกว่า 6 ตำบล
  • มีการระบาดเกิน 3 คลัสเตอร์หรือมีการระบาดในวงกว้าง หาสาเหตุหรือความเชื่อมโยงไม่ได้
  • ความพร้อมในการรองรับผู้ป่วย มีผู้ติดเชื้อครองเตียง ตั้งแต่ 80% ของศักยภาพจังหวัด
  • มีการพบการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์แบบวงกว้างควบคุมไม่ได้
กำหนด 4 ระดับมาตรการควบคุม
  • ปรับลดกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่
  • ควบคุมเส้นทางการเดินทาง (sealed route)
  • ออกมาตรการกักตัวในโรงแรม (Hotel Quarantine)
  • สุดท้าย คือ ทบทวนยุติภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์
เริ่มแล้ว 7 วันแรกของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

แม้จะมีปัญหามากมาย แต่สุดท้ายใน วันที่ 1 ก.ค. 2564 เวลา 11.09 น. เที่ยวบิน EY430 ของสายการบินเอทิฮัด แอร์เวย์ก็ได้นำนักท่องเที่ยว 25 คนจากกรุงอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นนักท่องเที่ยวล็อตแรกเข้ามาสู่ ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ ได้สำเร็จ โดยสรุปวันแรกมีต่างชาติเดินทาง 4 เที่ยวบิน รวมทั้งสิ้น 366 คน

ในวันแรก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมภูเก็ตตลอดทั้งวัน รวมถึงเดินทางสู่สนามบินภูเก็ตต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยตัวเอง พร้อมเผยผ่านเพจส่วนตัวโดยมีใจความสำคัญว่า ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ ไม่ใช่แค่เรื่องของคนภูเก็ต แต่เป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ และแม้มีความเสี่ยงก็จำเป็นต้องลอง เพื่อเปิดโอกาสให้การใช้ชีวิตและการทำมาหากินของคนไทยกลับคืนมาได้อีกครั้ง

โดยจนมาถึงวันที่ 6 ของการเปิดเมืองภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวสะสม 2,113 ราย ในขณะระบบ SHABA (SHA Plus Booking Authenticator) ระบบจัดการและตรวจสอบเพื่อยืนยันการจองที่พักที่ได้รับมาตรฐาน SHA Plus มียอดจองห้องพักทั้งหมด 118,685 คืนพัก

หมุดหมายต่อไปสู่ ‘สมุยพลัสโมเดล’ 15 ก.ค. นี้

ล่าสุดหลังเฟสแรกอย่าง ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ เปิดตัวสำเร็จ นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษก ศบศ. ก็ได้เปิดเผยว่า รัฐบาลเตรียมเดินหน้า ‘สมุยพลัสโมเดล’
เบื้องต้นรายงานจาก ‘ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี’ ยืนยันว่า ประชากร 3 เกาะ รวมประชาชน ชาวต่างชาติ และกลุ่มแรงงานต่างชาติ 3 สัญชาติ : เมียนมา ลาว กัมพูชา ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 89,000 คน จากประชากรทั้งหมดราว 125,000 คน หรือคิดเป็น 71.4% ของประชากร ทำให้พื้นที่มีภูมิคุ้มกันหมู่ตามข้อกำหนดกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

ทำให้ ‘สมุยพลัสโมเดล’ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว โดยรายละเอียดเบื้องต้นจะเปิด 3 เกาะ ได้แก่ เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ภายในวันที่ 15 ก.ค.นี้

โดย ‘ยุทธศักดิ์ สุภสร’ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) อธิบายว่า รูปแบบการเปิดเกาะสมุยจะแตกต่างจาก ‘ภูเก็ต’ ที่ ‘นักท่องเที่ยวไม่ต้องกักตัว’ เพียงแค่ต้องอยู่ในเกาะภูเก็ต เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางลงสมุยจะต้องกักตัวบางช่วง โดยแบ่งเป็น 3 ช่วงในระยะเวลา 14 วัน

  • วันที่ 1-3 นักท่องเที่ยวจะต้องกักตัวอยู่ในโรงแรม
  • วันที่ 4-7 นักท่องเที่ยวสามารถออกจากโรงแรมได้ แต่ต้องอยู่ในเกาะสมุย
  • วันที่ 8-14 นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปท่องเที่ยว ณ เกาะพะงันและเกาะเต่า (วันเดย์ทริป)

โดยนักท่องเที่ยวต้องเดินทางเข้าเกาะสมุย ‘ทางอากาศ’ เท่านั้น และสามารถบินจากต่างประเทศมาเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิได้ ด้วย ‘สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส’ ที่จะให้บริการเที่ยวบินพิเศษ เส้นทางกรุงเทพฯ-สมุยวันละ 3 เที่ยวบินสำหรับผู้โดยสารของสมุยพลัสโมเดลโดยเฉพาะ

ด้านการตรวจหาเชื้อจะมีการตรวจด้วยวิธี RT -PCR ทั้งหมด 3 ครั้ง

  • ครั้งที่หนึ่ง ในวันที่ 1
  • ครั้งที่สอง ในวันที่ 6 -7
  • ครั้งที่สาม ในวันที่ 12 -13

ปัจจุบัน สถานประกอบการได้รับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวและสุขอนามัย (SHA Plus) แล้ว 44 แห่ง แบ่งเป็นโรงแรม 41 แห่ง ร้านอาหาร 1 แห่ง บริการรถขนส่ง 1 แห่ง และศูนย์การค้า 1 แห่ง
ททท. วางกลุ่มประเทศเป้าหมายเป็นยุโรป ฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง พร้อมคาดว่าการใช้จ่ายจะเพิ่มมากขึ้นเป็น 100,000 บาทต่อคนต่อทริป จากเดิมประมาณ 50,000 บาทต่อคนต่อทริป

พร้อมประมาณการณ์ว่า การเปิดเกาะสมุยช่วงแรกจะมีนักท่องเที่ยวราว 1,000 คน สร้างรายได้ประมาณ 100 ล้านบาทในหนึ่งเดือนแรก

อย่างไรก็ตาม แม้มีกำหนดเปิดในวันที่ 15 ก.ค.นี้แล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายขั้นตอนการดำเนินงานที่ยังไม่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นระบบการจองโรงแรมที่พักยังไม่ชัดเจน ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถจองโรงแรม และกระทรวงการต่างประเทศที่ต้องใช้หลักฐานการจองโรงแรมจะไม่สามารถออกหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย (Certificate of Entry / COE) ได้

รวมถึงระบบตัวกลางตรวจสอบสถานการณ์และความปลอดภัยของโรงแรมในสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า แผนเผชิญเหตุหากพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่หรือเกิดการระบาดซ้ำ และแผนคัดกรองการเข้า-ออกพื้นที่ก็ยังไม่แล้วเสร็จดี

จึงไม่แน่ชัดว่าสมุยจะสามารถเปิดพื้นที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวได้ทันเวลาที่กำหนดไว้หรือไม่

คำถามสำคัญในห้วงเวลานี้ คือ ในเส้นทางสู่การเปิดประเทศใน 120 วันที่ขลุกขลักล้มลุกคลุกคลานมาตลอดในช่วงแรกนี้ จะนำประเทศไทยไปสู่จุดมุ่งหมายในการกลับมาเก็บรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมหาศาลอีกครั้งได้หรือไม่ และจะระหว่างนี้คนท่องเที่ยวไทยจะเอาชีวิตรอดอย่างไรในวิกฤตต่อเนื่องที่ดำเนินมาเกินกว่าหนึ่งปี

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า