SHARE

คัดลอกแล้ว

อาหารแปรรูปจากพืชกำลังมาแรงในหมู่คนรักสุขภาพ แต่งานวิจัยล่าสุดเตือนว่า ไม่ใช่อาหารแปรรูปจากพืชจะดีต่อสุขภาพเสมอไป 

การรับประทานอาหารแปรรูปจากพืช หรือว่า Plant-based แทนการประทานเนื้อสัตว์ กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มคนรุ่นใหม่รักษ์โลก ด้วยความเชื่อที่ว่า การรับประทานอาหารจากพืชให้มากขึ้น รับประทานเนื้อสัตว์น้อยลง จะส่งผลดีต่อทั้งสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของตัวเอง 

แต่งานวิจัยล่าสุดของนักโภชนาการจากแอสตัน เมดิคอล สคูล (Aston Medical School) ในเบอร์มิงแฮม สหราชอาณาจักร ชี้ว่า ไม่ใช่อาหารแปรรูปจากพืชทุกชนิด จะช่วยลดความเสี่ยงจากโรค หรือทำให้ชีวิตยืนยาวมากกว่าคนที่รับประทานเนื้อสัตว์เป็นประจำ 

งานวิจัยชิ้นนี้ ซึ่งถูกตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet Regional Health – Europe มาจากการศึกษาระยะยาว ซึ่งทำการรวบรวมข้อมูลจากชาวอังกฤษ สกอตแลนด์ และเวลส์ ที่มีอายุระหว่าง 40-69 ปี มากกว่า 118,000 คน ที่มาร่วมตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการควบคุมอาหาร และนำไปเชื่อมโยงกับบันทึกของโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดและหัวใจ 

ผลวิจัยพบว่า การบริโภคอาหารแปรรูปพิเศษที่ทำจากพืช ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น 5% และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากขึ้น 13% 

โดย ดวน เมลเลอร์ หนึ่งในผู้ที่ร่วมทำการวิจัย อธิบายว่า “นี่แสดงให้เห็นว่า เรายังไม่สามารถสรุปได้ว่า การรับประทานพืชเป็นหลัก จะดีต่อสุขภาพเสมอไป” พร้อมกับขยายความว่า บางคนอาจจะคิดว่า สามารถรับประทานอาหารที่ไม่ได้ทำมาจากเนื้อสัตว์ อย่างเช่น บิสกิต มันฝรั่งทอด ขนมหวาน หรือเครื่องดื่ม ได้ เพราะในทางเทคนิคแล้ว อาหารเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นอาหารที่มาจากพืชเหมือนกัน แม้ว่าจะไม่ได้ถูกตีความว่าเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ 

ในความเป็นจริง นักวิจัยบอกว่า “การรับประทานอาหารขยะที่ทำมาจากพืชเหล่านี้ จะยิ่งเพิ่มระดับคอเลสเตอรอล และไขมันเลว ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูงที่อาจนำไปสู่การเป็นโรคหัวใจ อันเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร”

ที่เป็นแบบนี้ เพราะอาหารแปรรูปสูง (ultra-processed food) ต้องผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรมหลายขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็น การใช้ความร้อน การทำให้โปรตีนหรือสารอาหารแตกตัว รวมไปถึงการขึ้นรูป บีบอัด และเติมสารเคมีต่างๆ เพื่อแต่งเติมรสชาติ สี กลิ่น เพื่อเพิ่มความน่ารับประทาน ทำให้ง่ายต่อการปรุง หรือแม้แต่ทำให้ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์จริงๆ มากที่สุด อย่างผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทดแทนที่ทำมาจากพืช เช่น ไส้กรอก นักเก็ต หรือเนื้อเบอร์เกอร์ ซึ่งโดยปกติจะต้องผ่านกระบวนการพิเศษเพื่อให้มีรสสัมผัสเหมือนกับเนื้อสัตว์

เฟอร์นันดา เราเบอร์ ผู้ร่วมวิจัยอีกคนหนึ่ง อธิบายเรื่องนี้ว่า “วัตถุเจือปนอาหาร และสารปนเปื้อนทางอุตสาหกรรมที่มีอยู่ในอาหารเหล่านี้ อาจทำให้เกิดภาวะเครียดออกซิเดชัน  (oxidative stress) ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดความเสียหายต่อเซลล์ในร่างกาย” 

โดยนักวิจัยแนะนำว่า ทางออกสำหรับผู้ที่ต้องการลดความเสี่ยงจากอาการเจ็บป่วยที่ไม่พึงประสงค์ คือให้เลือกรับประทาน ผักสด ผักแช่แข็ง หรือว่าผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการแปรรูปน้อยที่สุดแทน

อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า แม้งานวิจัยฉบับนี้จะพบข้อบ่งชี้ถึงความเสี่ยงในการเพิ่มโอกาสเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด จากการบริโภคผลิตภัณฑ์แปรรูปจากพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการระบุถึง ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทดแทนที่ทำมาจากพืช

แต่ผลการวิจัยก็ยังคงมีข้อโต้แย้ง โดย ปีเตอร์ สการ์โบโรห์ ศาสตราจารย์ด้านสุขภาพประชากร จากมหาวิทยาออกซ์ฟอร์ด (Oxford University) ในสหราชอาณาจักร ได้ออกมาแย้งว่า ยังคงเป็นเรื่องยากที่จะระบุว่า ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทดแทนที่ทำมาจากพืชมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน 

โดยศาสตราจารย์สการ์โบโรห์ให้เหตุผลว่า เนื้อสัตว์ทดแทนที่ถูกนำมาอ้างถึงในงานวิจัย คิดเป็นเพียง 0.5% ของผลิตภัณฑ์แปรรูปจากพืชทั้งหมดที่ถูกนำมาศึกษาในงานวิจัยฉบับนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ประเภทขนมปังบรรจุห่อ ขนมอบ ขนมปัง ขนมเค้ก และคุกกี้ 

อย่างไรก็ตาม แม้เรื่องนี้จะยังเป็นข้อถกเถียงอยู่ แต่ ทอม แซนเดอร์ส ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านโภชนาการและการควบคุมอาหาร จาก คิงส์ คอลเลจ ลอนดอน (King’s College London) ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิจัยฉบับนี้ ให้ความเห็นว่า อาหารที่มีส่วนประกอบของพืชเป็นหลัก และมีความสมดุลกับหลักการรับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ ยังคงเป็๋นที่ยอมรับว่า ดีต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด 

แต่ที่ควรหลีกเลี่ยงคือ อาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ อย่างเช่น ขนมกรุบกรอบ เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมาก ขนมเค้ก บิสกิต และขนมหวาน ซึ่งก็เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า อาหารเหล่านี้จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่แปรรูปจากอุตสาหกรรม หรือแม้แต่ทำเองก็ตาม 

 

ที่มา 

https://www.thelancet.com/journals/lanepe/article/PIIS2666-7762(24)00115-7/fulltext

https://edition.cnn.com/2024/06/10/health/plant-based-junk-food-study-wellness/index.html

https://www.heartandstroke.ca/articles/what-is-ultra-processed-food

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า