เมื่อเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา สำนักข่าวออนไลน์ workpointTODAY โดยนักข่าวสิ่งแวดล้อมรุ่นใหม่ ไฟแรง ‘พลอยธิดา เกตุแก้ว’ ได้รับทุนการผลิตสื่อเพื่อนำเสนอประเด็นการจัดการน้ำในแม่น้ำโขงอย่างมีประสิทธิภาพ จาก Earth Journalism Network (EJN) ภายใต้โครงการ Media Workshop and Story Grants to Report on Mekong Water Governance from a Gender and Social Inclusion Lens หลังเป็น 1 ใน 15 คน จาก 6 ประเทศ ที่ผ่านการคัดเลือก
โครงการในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนให้นักข่าวจากประเทศลุ่มแม่น้ำโขงทั้งสิ้น 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา จีน สปป. ลาว เมียนมาร์ ไทย และเวียดนาม ร่วมนำเสนอเรื่องราวเชิงลึกเกี่ยวกับธรรมาภิบาลในแม่น้ำโขง จากมุมมองเรื่องเพศและการรวมตัวในลักษณะต่างๆ ทางสังคม เพราะแม่น้ำโขงเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญของประชากรกว่า 300 ล้านคนจาก 6 ประเทศ แต่จากรายงานเรื่อง Gender and Water Governance ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ที่เผยแพร่โดย IUCN และ Oxfam เมื่อปี 2019 พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า “ผู้หญิง” ถูกจำกัดสิทธิการมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำ เนื่องจากความเป็นผู้นำของผู้ชาย ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับชุมชน
ดังนั้น Oxfam องค์กรไม่แสวงผลกำไร ที่ทำงานร่วมกับคนรากหญ้าในกว่า 90 ประเทศทั่วโลก เพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม จึงได้สนับสนุนทุนดังกล่าว เพื่อให้สื่อมวลชนเป็นกระบอกเสียงของผู้หญิง และประชาชนชายขอบอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากธรรมาภิบาลน้ำในแม่น้ำโขง แต่อาจไม่เคยได้รับสิทธิให้มีส่วนร่วมกับการแก้ไขปัญหา ผ่านการเวิร์คชอปลงพื้นที่สัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ และรับฟังปัญหาของประชาชนริมแม่น้ำโขง ในประเทศไทย เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา และนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาจากหลากหลายมุมมอง ผ่านสื่อต่างๆ
พลอยธิดา เกตุแก้ว ผู้สื่อข่าวสิ่งแวดล้อมจาก workpointTODAY เป็นอีกหนึ่งคนที่สนใจในประเด็นนี้ เนื่องจากประสบการณ์การทำงานกว่า 2 ปีที่ผ่านมา เธอเคยลงพื้นที่เพื่อจัดเสวนาเกี่ยวกับการยกสิทธิแม่น้ำโขงให้เป็นสถานะบุคคล และร่วมกิจกรรมสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุมชนมาแล้วหลายครั้ง จึงทราบดีว่าประชาชนที่ใช้ชีวิตอยู่ในลุ่มแม่น้ำโขงมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงอย่างไร หรือประสบปัญหาใด เมื่อแม่น้ำโขงเกิดการเปลี่ยนแปลง จากทั้งธรรมชาติและฝีมือมนุษย์ จึงตั้งใจสมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าวเพื่อช่วยสะท้อนสิ่งที่พบเจอมา และเป็นกระบอกเสียงให้คนในพื้นที่ ผ่านการนำเสนอวิถีชีวิตของ “ผู้หญิง”
“กว่า 10 ปีที่ผ่านมา มีเขื่อนเกิดขึ้นบนแม่น้ำโขงมากกว่า 20 แห่ง และกำลังจะมีอีกหลายโครงการเขื่อนเพิ่มเติมอีก ได้นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ วิถีชีวิตคนลุ่มน้ำที่เคยหากินกับแม่น้ำโขง และทำเกษตรริมน้ำถูกพรากไป ผู้คนต้องเปลี่ยนอาชีพมาเป็นแรงงาน เพื่อหาเงินแลกกับการซื้อข้าวปลาอาหาร อย่างผู้หญิงจากที่เคยเป็นแม่บ้าน อยู่บ้าน ก็ต้องออกไปรับจ้าง ผิดจากที่แต่ก่อนเคยหากินตามภูมิปัญญา ทำให้ชีวิตที่ยึดโยงกับแม่น้ำค่อยๆ จางไป เห็นได้ชัดจากการที่คนรุ่นใหม่เข้าเมืองหางาน สลัดภูมิปัญญาและทิ้งห่างจากวิถีเดิม ทุกวันนี้กลับกลายเป็นว่าแม่น้ำโขงอยู่หน้าบ้านเอง แต่เขาต้องไปหาเงินนอกบ้าน เพื่อมาซื้อกับข้าวกับรถพุ่มพวง หรือจากที่เคยกินปลาธรรมชาติ ก็ต้องมากินปลาเลี้ยง ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง ประเด็นนี้สามารถตั้งคำถามถึงนโยบายของรัฐบาลในวันที่ไม่เห็นอำนาจการต่อรองใดๆ ที่จะนำมาสู่การพัฒนาหรือรักษาทรัพยากรน้ำได้เช่นกัน และเราจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้สามารถรักษาทรัพยากรธรรมชาติต่อไปได้ ในเมื่อการอยู่กับธรรมชาติและการพึ่งพิงธรรมชาติถูกตัดตอนเช่นนี้” เธอกล่าว
ทั้งนี้ หลังจากได้รับทุน พลอยธิดาและทีมข่าว workpointTODAY จะนำเสนอเรื่องราวเป็นสารคดี 2 รูปแบบ เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของการผลักดันให้ทุกคน ทุกเพศ มีส่วนร่วมในธรรมาภิบาลแม่น้ำโขง อาทิ
1. สารคดีสั้น (Mini documentary) การเปลี่ยนของแม่น้ำโขง กับชีวิตที่ถูกพลัดพรากไป ความยาว 3-5 นาที
2. สารคดียาว (Long documentary) ติดตามชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่เปลี่ยนจากการเป็นแม่บ้าน มาสู่การทำงานในเมือง เพื่อหาเงินไปซื้ออาหาร ซึ่งสะท้อนถึงความมั่นคงทางอาหารที่ถูกทำลายไป ความยาวไม่เกิน 30 นาที
โดยจะเผยแพร่ผ่านทางช่องทางของ workpointTODAY ในเร็วๆ นี้ ด้วยความหวังว่า ความเป็นสื่อออนไลน์ที่มีผู้ติดตามหลักล้านคน จะสามารถเข้าถึงคนทุกพื้นที่ได้ ไม่เว้นแม้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และทำให้ผู้กำหนดนโยบาย ผู้มีอำนาจ รวมถึงคนรุ่นใหม่ New Generation ได้รับทราบถึงประเด็นดังกล่าว และเห็นถึงความสำคัญของการร่วมมือกันพัฒนาแม่น้ำโขงอย่างมีประสิทธิภาพ
ติดตามชมสารคดีความเป็นอยู่ของคนลุ่มน้ำโขง พร้อมตั้งคำถาม และหาแนวทางแก้ไขไปพร้อมกันได้ทาง Facebook และ Youtube ของ workpointTODAY