วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) จัดเวทีเสวนาระดมความคิด เรื่อง “ผนึกกำลังฝ่าวิกฤติฝุ่นพิษ PM 2.5 อยู่กับฝุ่นอย่างไร…ให้ชีวิตรอดปลอดภัย” พร้อมเสนอข้อแนะนำรัฐบาลใหม่
โดย ศ.ดร.ธเรศ ศรีสถิตย์ สมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า สาเหตุฝุ่นควันพิษในภาคเหนือแตกต่างจาก กทม. เพราะมาจากการลักลอบเผา ไฟป่า การเผาตอซังเกษตรและการเผาในที่โล่ง การเผาไหม้เชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ และฝุ่นควันจากประเทศใกล้เคียง ทั้งสภาพภูมิประเทศและความกดอากาศทำให้อากาศไม่ถ่ายเท

ศ.ดร.ธเรศ ศรีสถิตย์ สมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมไทย
ศ.ดร.ธเรศ ระบุว่า เรื่องการเผาเพื่อการเกษตร พบว่าบางส่วนก็เปลี่ยนไปใช้วิธีไถกลบเป็นปุ๋ยแทนการเผาทำลาย หรือแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแล้ว ภาครัฐควรมีกลไกลส่วนเสริมในด้าน เช่น จัดหาอุปกรณ์เครื่องจักรกลาง หรือ บริการเช่าไถกลบในราคาไม่แพง ส่งเสริมนำซังข้าวโพดมาผลิตเป็นถ่านอัดแท่ง นำมาแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ และนำเปลือกข้าวโพดมาหมักใช้เป็นอาหารสัตว์ ส่งเสริมการปลูกพืชอื่นทดแทน เป็นต้น
ส่วนการฟื้นฟูคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว เสนอว่า ควรเพิ่มอุปกรณ์ตรวจวัดอากาศ และเพิ่มพื้นที่สีเขียวในทุกจังหวัด ตัวอย่างที่ทำแล้วประสบผลสำเร็จได้แก่ประเทศจีน เร่งโครงการปลูกป่าในระยะเวลา 5 ปีนี้ ครอบคลุมพื้นที่ถึง 70,000 ตร.กม. ซึ่งมีอาณาเขตกว้างกว่าขนาดประเทศฝรั่งเศส

รศ.วงศ์พันธ์ ลิมปเสนีย์ กรรมการสาขาวิศวกรรมยานยนต์ วสท.
ส่วนปัญหาฝุ่นพิษในกรุงเทพมหานคร รศ.วงศ์พันธ์ ลิมปเสนีย์ กรรมการสาขาวิศวกรรมยานยนต์ วสท. กล่าวว่า 3 แหล่งกำเนิดฝุ่นพิษ PM 2.5 มาจาก 3 แหล่งใหญ่ ประกอบด้วย 1.เครื่องยนต์ดีเซล 2.การเผาชีวมวล 3.ปฏิกริยาทางเคมีทำให้เกิดฝุ่นมลพิษ
ซึ่งประเทศไทยมียอดจดทะเบียนรถยนต์สะสม 20 ล้านคัน และมี 10.3 ล้านคัน จดทะเบียนในกรุงเทพฯ และเป็นรถเครื่องยนต์ดีเซลถึง 2.6 ล้านคัน ซึ่งใช้มาตรฐานไอสียยูโร 1,2,3,4 หากใช้เทคโนโลยีที่ดีขึ้นเป็นยูโร 5 ก็จะช่วยลดปริมาณฝุ่นควันจากท่อไอเสียได้
เสนอว่า กระทรวงอุตสาหกรรมควรเร่งรัดความร่วมมือกับ 12 ค่ายรถยนต์โดยเร็ว เพื่อยกระดับการผลิตรถยนต์มาตรฐานยูโร 5 สำหรับรถยนต์ทุกคันภายในปี 2564 และวางแผนเตรียมยกระดับเป็นมาตรฐานยูโร 6 ภายในปี 2565 เพราะจะช่วยลดการปล่อย PM 2.5 จากรถยนต์ใหม่ลงได้ถึงร้อยละ 80 และอยากให้มีการผลิตน้ำมันยูโร 5 มาให้กับรถเก่าและรถที่ขายในปัจจุบันด้วย เพราะช่วยลดมลพิษได้ รวมถึงการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B20 ในรถยนต์ดีเซล จะทำให้การเผาไหม้ดีขึ้น ช่วยลดการปล่อยควันดำสาเหตุของฝุ่น PM 2.5 และรัฐบาลต้องเข้มงวดในการตรวจสภาพรถยนต์เก่า โดยใช้มาตรการตรวจสอบการปล่อยไอเสียอย่างจริงจังและเก็บภาษีรายปีเพิ่มขึ้นเพื่อจูงใจให้ผู้ใช้รถเปลี่ยนซื้อรถคันใหม่แทนการเสียค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาที่สูง

สนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย
ขณะที่ นายสนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ย้ำว่า ฝุ่น PM 2.5 สามารถเดินทางไกลได้หลายร้อยกิโลเมตร วงจรเวลาของฝุ่นพิษ PM 2.5 ในประเทศไทย สัมพันธ์กับพฤติกรรมของคน โดยเริ่มประมาณเดือนสิงหาคม ควันจะพัดพาฝุ่นจิ๋วจาการเผาทางการเกษตรจากเกาะสุมาตราเข้ามาทางภาคใต้ของไทย เดือนพฤศจิกายนในภาคกลางมีการเผาไร่อ้อยพัดพาฝุ่นจิ๋ว เมื่อเจอกับสภาพอากาศนิ่งจะยิ่งสร้างผลกระทบในพื้นที่ภาคกลางและกทม. ถัดมาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคมในภาคเหนือจะเริ่มมีหมอกควันฝุ่นจิ๋วจากการเผาตอซังการเกษตรและไฟป่า โดยจะเห็นว่าปัญหาฝุ่น PM 2.5 มีมานานหลายปี แต่เพิ่งจะเกิดการตื่นตัวตรวจคุณภาพอากาศกันจริงจัง รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งควรใช้โอกาสนี้ที่ประชาชนกำลังตื่นตัว กำหนดเป็นนโยบายด้านมลพิษอากาศ
จากเวทีเสวนา วสท. ได้สรุป 5 ข้อเสนอแนะการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ต่อรัฐบาลใหม่ ดังนี้
1. มาตรการด้านรถยนต์ ได้แก่การปรับเปลี่ยนมาตรฐานน้ำมันและเครื่องยนต์เป็นยูโร 5 และ 6 ภายใน 4 ปี ผลักดันให้รถขนส่งธารณะและรถยนต์พ่วงบรรทุกขนาดใหญ่ใช้ NGV หรือเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้าหรือเครื่องยนต์ยูโร 5 และเมื่อรถไฟฟ้าสร้างครบแล้วต้องจำกัดปริมาณรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน
2. มาตรการด้านโรงงานอุตสาหกรรมและกิจกรรมใช้ฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิง กำหนดค่ามาตรฐานการปล่อยฝุ่นที่ปลายปล่องใหม่ เพิ่มประเภทโรงงานเพื่อให้ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบอัตโนมัติที่ปลายปล่อง เก็บภาษีการปล่อยมลพิษทางอากาศ
3. มาตการลดการเผาในที่โล่ง กำหนดช่วงเวลาห้ามเผาขยะ ชีวมวล วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรให้ชัดเจน และกำหนดมาตรการจูงใจเพิ่มเติม สร้างเตาเผาที่มีระบบควบคุมมลพิษทางอากาศในแต่ละพื้นที่เพื่อประชาชนใช้ร่วมกันโดยมีหน่วยราชการดูแลอย่างใกล้ชิด ส่งเสริมวิธีการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำเรื่องการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนเป็นวาระสำคัญในการพิจารณาของอาเซียน และยกระดับปัญหาหมอกควันเป็นวาระแห่งชาติ
4. ผังเมืองและพื้นที่สีเขียว ได้แก่ การควบคุมการขยายตัวของอาคารสูงตามแนวรถไฟฟ้าและถนนที่ตัดขึ้นใหม่ให้มีระยะห่างช่องทางของลมพัดผ่าน การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพิ่มต้นไม้ในเมือง
5. การจัดการภัยพิบัติ ในกรณีฉุกเฉินด้านมลพิษทางอากาศให้ชัดเจน มีศูนย์บัญชาการระดับจังหวัด และให้ภาคประชาชน นักวิชาการเข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุนการดำเนินการทั้งทางตรงและทางอ้อม สร้างความรู้ความเข้าใจต่อประชาชน