SHARE

คัดลอกแล้ว

เบื้องหลังวันที่ 8 มิ.ย. 2564 ในการลงมติในข้อกล่าวหาตามที่ป.ป.ช.พิจารณาข้อกล่าวหากรณีที่ส.ส.ชุดที่ยี่สิบห้าจำนวนแปดคน กระทำผิดเหตุเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน โดยพบว่าส.ส.สี่คน “กระทำความผิดกฎหมาย” นั้นมีความหมายทางการเมืองใน “ยุคลุงตู่เรือเหล็ก”  อย่างไร…

ภาวะตอนนี้แม้พรรคร่วมรัฐบาลจะมีเสียงเกินครึ่งในสภาผู้แทนฯแบบชิลล์ๆ แตกต่างกับช่วงตั้งลำเรือเหล็กลงน้ำที่เสียงปริ่มน้ำยิ่ง เพราะบรรดางูเห่าสีส้ม,ส.ส.พรรคเพื่อไทยบางคนปันใจมาร่วมสังฆกรรมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม น้องเล็กในกลุ่ม3ป.ที่ คัมแบ็ก รับเก้าอี้หัวหน้ารัฐบาลสมัยที่สอง จากการลงมติของส.ส.และส.ว.โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ คุมเกมหลักเรื่องเสียงหนุนย่านเกียกกาย

ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นั้นคอยประคองจังหวะซ้อนไว้อีกชั้นบนภาวะโควิด-19 ที่มีกระแสกินแหนงแคลงใจกันของคีย์แมนพรรคร่วมเรือเหล็กด้วยนั้นใช่ว่าจะมีผลบวกสักเท่าใด…ยิ่งผู้แทนราษฎรขั้วรัฐบาลมาเจอการชี้มูลของป.ป.ช.แบบนี้ ย่อมทำให้คะแนนนิยมของ ครม.เรือเหล็กและพรรคต้นสังกัดลดลงไปด้วย

แม้คอการเมืองเชื่อว่าช่วงจากนี้ไป-กลางปีหน้า พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะประคองเกมไว้ได้ โดยกลางปีหน้านั้นน่าจะเป็นช่องทางที่ลุงตู่จะคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินตามวิถีประชาธิปไตยมากที่สุดก็ตาม เมื่อมอง 4 เสียงที่อาจจะเสียไปของ ส.ส.ฝั่งรัฐบาลในอนาคตอันใกล้ ท่ามกลางกระแสข่าวยุบสภาลือหึ่งในเวลานี้ เชื่อว่าแกนนำของแต่ละพรรควางแผนล่วงหน้าว่าตัวสำรองที่พร้อมลงสนามแทน 4 ชีวิตนี้คือใคร…เพราะ “ตัวจริงที่มีมลทินคราวนี้” อาจต้องกลืนเลือดเว้นวรรคการเมือง(ชั่วคราว-ถาวร?)เพราะแพ้ภัยตัวเองหรือไม่…สถานการณ์นี้ต้องรอผลวินิจฉัยของฝ่ายตุลาการเป็นสำคัญ…

แต่ในเวทีการเมืองนั้น คนการเมืองอ่านกันออกแล้วว่า 4 ส.ส.ฝั่งรัฐบาลรอดยาก และสิ่งสำคัญคือ “มือของใครบางคนย่านเกียกกายช่วยส.ส. 4คนนี้ลงคะแนนแทน?” ตรงนี้ต้องลุ้นว่าในการวินิจฉัยของฝ่ายตุลาการในคดีนี้นั้น “จะสาวถึงมือปืนรับจ้างลงคะแนนแทนส.ส.เหล่านี้ได้หรือไม่…” เพราะการวินิจฉัยของศาลอาจใช้เวลาระยะหนึ่ง และคงไม่มีใครทายได้ถูกว่าผลการวินิจฉัยข้อกล่าวหา 4ผู้แทนราษฎรในการเสียบบัตรแทนกันจะเกิดก่อนหรือหลังจังหวะทางการเมืองในยามนี้

หันกลับมามองไปที่ป.ป.ช.หลังตั้งข้อกล่าวหา 4 ส.ส.ไว้ในข้างต้น แม้การชี้แจงของ 4 ส.ส.นั้นให้การแนวทางสอดรับกันว่า “ไม่ได้ลาการประชุมสภาผู้แทนฯ ,ไม่ได้มอบให้ผู้ใดใช้บัตรลงคะแนนแทน, ไม่ทราบว่าผู้ใดใช้บัตรลงคะแนนแทน” แต่รายละเอียดสำคัญในการวินิจฉัยขั้นต้นของป.ป.ช.นั้นจะเป็นอย่างไร บรรทัดจากนี้มีคำตอบ

นางนาที รัชกิจประการ

นางนาที รัชกิจประการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง, นายภูมิศิษฏ์ คงมี คงมี ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท (ตามวาระการประชุมสภาผู้แทนฯวันที่ 8-11ม.ค.2563) ในความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 บัญญัติไว้ว่า “เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-20 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” โดยคดีอาญา ป.ป.ช.จะส่งให้อัยการเพื่อส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นอกจากนี้ยังมีความผิดจริยธรรมร้ายแรง ซึ่ง ป.ป.ช.จะส่งให้ศาลฎีกาโดยตรง

นางนาที ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหารับเองว่า “มีการนัดประชุมวันที่ 8-9 ม.ค. 2563 เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณ แต่ก่อนมีหนังสือนัดประชุม ตนมีนัดหมายล่วงหน้าเดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ช่วงวันที่ 11-15 ม.ค. 2563 ตนลงชื่อเข้าประชุมตั้งแต่ วันที่ 8 ม.ค.2563 และทราบว่าจะขยายเวลาประชุมไปถึงวันที่ 10 ม.ค. 2563 ในช่วงก่อนเที่ยงน่าจะเสร็จ ตนเข้าใจโดยสุจริตว่าจะเสร็จการประชุมไม่เกินวันที่ 10 ม.ค. 2563 จึงไม่ยกเลิกกำหนดการไปต่างประเทศ แต่ต่อมา วันที่ 11 ม.ค.2563 ในช่วงการประชุมสภาผู้แทนฯ ตนได้แสดงตนในตรวจสอบองค์ประชุมและลงมติจนถึงมาตรา 42 ในเวลา 13.42 น.

และเร่งรีบเดินทางจากรัฐสภาไปสนามบินสุวรรณภูมิ เดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่อารมณ์เร่งรีบ เร่งร้อนจึงไม่ได้นำบัตรลงคะแนนไปด้วย หลงลืมไว้ที่ลงคะแนน ไม่ได้ฝากบัตรลงคะแนนไว้ให้ส.ส.คนอื่นลงมติแทน การที่ตนมีชื่อลงมติในมาตรา43-49 นั้น ตนไม่ทราบได้ว่าส.ส.คนใดลงมติแทนตน”

โดยป.ป.ช.พิเคราะห์ตามพยานหลักฐานแล้วเห็นว่า “คำชี้แจงสอดรับกับข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนว่า นางนาทีไม่อยู่ในที่ประชุมตั้งแต่ วันที่ 11 ม.ค. 2563 ส่วนเวลาที่นางนาทีอ้างว่าออกจากรัฐสภาหลังมติมาตรา42 ไปแล้วนั้น วันและเวลาที่นางนาทีไม่อยู่ในที่ประชุมแต่พบว่ามีการแสดงตนลงมติในร่างกฎหมายงบประมาณ วาระที่สองและวาระที่สาม ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่านางนาทีไม่อยู่ในห้องประชุมแต่กลับมีการลงมติในบางมาตรานั้น เป็นการกระทำโดยมิชอบ”

นายฉลอง เทอดวีระพงศ์

นายฉลอง ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหารับเองว่า “วันที่ 10 ม.ค. 2563 เวลา 19.30น. ออกจากรัฐสภาไปสนามบินดอนเมือง รอบเวลาบิน 20.50น. เพื่อไปอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา วันที่ 11 ม.ค.ไปร่วมงานศพญาติและเป็นประธานจัดงานวันเด็กแห่งชาติตามที่กำหนดไว้ล่วงหน้า โดยอ้างว่าเข้าใจโดยสุจริตว่าการประชุมอย่างช้าจะเสร็จสิ้นใน วันที่ 10 ม.ค.และหลงลืมบัตรลงคะแนนไว้ที่รัฐสภาและกลับกทม.ในช่วงบ่ายวันที่13ม.ค.ปีเดียวกัน”

โดยป.ป.ช.พิเคราะห์ตามพยานหลักฐานแล้วเห็นว่า “นายฉลองชี้แจงรับว่า วันที่ 10 ม.ค.2563ไม่อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนฯ โดยเวลา 19.30น.ออกจากรัฐสภาเดินทางไปสนามบินดอนเมือง และเวลาที่แน่ชัดตามพยานหลักฐานคือเวลารอบบินเที่ยว 20.50-22.15น.จึงฟังว่านายฉลองไม่อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนฯ ตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค.2563 เวลา 20.50น. ถึงวันที่ 11 ม.ค. 2563 เวลา 17.41น. อันเป็นเวลาเลิกประชุม และกลับกทม.ช่วงบ่ายวันที่ 13 ม.ค. 2563 โดยเวลาที่ไม่อยู่ในห้องประชุม นายฉลองอยู่ที่สนามบินดอนเมือง สนามบินหาดใหญ่ และจ.พัทลุง รับฟังไม่ได้ว่า ลืมบัตรลงคะแนนไว้ในช่องเสียบบัตรเพราะรีบมางานศพญาติ-ร่วมงานวันเด็กแห่งชาติในพื้นที่ ”

นายภูมิศิษฏ์ คงมี คงมี

นายภูมิศิษฏ์ ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหารับเองว่า “ทราบล่วงหน้าเจ็ดวันเรื่องวาระการประชุมสภาผู้แทนฯ จะมีขึ้นวันที่8-9ม.ค.2563 ตนจึงมีการวางกำหนดการในพื้นที่ล่วงหน้า โดยระบุว่าเข้าใจโดยสุจริตว่าการประชุมจะเสร็จสิ้นอย่างช้าในวันที่ 10 ม.ค.2563 และจองตั๋วล่วงหน้าไว้แล้ว และช่วงที่มาประชุมทราบว่าอาจขยายเวลาไปถึงวันที่ 10ม.ค.2563 ก่อนเวลา12.00น.การประชุมน่าจะเสร็จสิ้นวันที่ 10ม.ค.2563 ไปสนาม นดอนเมือง รอบเวลาบิน 20.50น. เพื่อไปอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยจองเที่ยวบินสุดท้าย แต่กังวลใจว่าจะกลับพื้นที่ไปงานวันเด็กแห่งชาติหรือไม่เพราะยังมีการประชุมสภาฯต่อเนื่องและรับข่าวมาว่าประธานสภาผู้แทนราษฎรจะเลื่อนประชุมเพื่อให้ส.ส.ลงพื้นที่ไปร่วมงานวันเด็กแห่งชาติ ทีมงานแจ้งว่านายฉลองเดินทางไปสนามบินก่อนแล้วเพื่อกลับจ.พัทลุง ตนจึงเดินทางออกจากรัฐสภาในช่วงค่ำวันที่10ม.ค. และได้เจอนายฉลองที่สนามบินดอนเมือง และเมื่อเข้าถึงที่พักทราบข่าวว่าประธานสภาผู้แทนฯไม่เลื่อนการประชุม ทำให้ไม่สบายใจ จึงตัดสินใจไม่ไปร่วมงานวันเด็กแห่งชาติ เวลา05.00น.วันที่ 11 ม.ค.2563 ออกจากที่พักไปขึ้นเครื่องบินเที่ยวเช้าสุดที่สนามบินหาดใหญ่เตรียมกลับกทม. แต่ได้เที่ยวบิน09.25น. เมื่อถึงสนามบินดอนเมือง รีบเดินทางไปร่วมประชุมที่รัฐสภา เกียกกายทันที

โดยวันที่ 10 ม.ค. 2563 หลงลืมบัตรลงคะแนนไว้ในช่องเสียบบัตรลงคะแนนใดไม่แน่ชัด และการประชุมใช้เวลายาวนาน ทำให้พักผ่อนน้อยประกอบกับอาการป่วยซึ่งไม่รู้มาก่อนและไม่ได้ตรวจ แต่รู้สึกร่างกายไม่แข็งแรงตั้งแต่ช่วงต้นปี2563และมีอาการมาตลอด จึงไปรักษาตัวที่รพ.พัทลุง ในช่วงวันที่2-10พ.ค.2563 พบว่า เป็นโรคเบาหวาน น้ำตาลในเลือดสูง ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาท หอบหืด และรักษาตัวต่อเนื่องที่รพ.กรุงเทพ โดยการวินิจฉัยโรควันที่4มิ.ย.2563ระบุว่า เป็นเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง เส้นเลือดสมองตีบ(อาการทางสมอง อาจเกิดอาการหลงลืมได้) หอบหืด”

โดยป.ป.ช.พิเคราะห์ตามพยานหลักฐานแล้วเห็นว่า “นายภูมิศิษฏ์ ไม่อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนฯตั้งแต่ วันที่10ม.ค.2563 เวลา 20.50น. จนถึงเวลา12.00น.วันที่11ม.ค.2563 โดยเวลาที่ไม่อยู่ในห้องประชุม ไปอยู่ที่สนามบินหาดใหญ่ จ.สงขลาและจ.พัทลุง รับฟังไม่ได้ว่าลืมบัตรลงคะแนนไว้ในช่องเสียบบัตร ส่วนอาการป่วยนั้นเกิดขึ้นหลังเกิดเหตุห้าเดือนจึงไม่อาจกล่าวอ้างได้”

น.ส.ธนิกานต์ พรพงษาโรจน์

ส่วนร่างพ.ร.บ.เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่10 ของ น.ส.ธนิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ โดยมีมติชี้มูลในความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 บัญญัติไว้ว่า “เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-20 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” โดยคดีอาญา ป.ป.ช.จะส่งให้อัยการเพื่อส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นอกจากนี้ ยังมีความผิดจริยธรรมร้ายแรง ซึ่ง ป.ป.ช.จะส่งให้ศาลฎีกาโดยตรง

น.ส.ธนิกานต์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐคนนี้ให้การใจความหลักว่า “ขอปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งสิ้น ป.ป.ช.ไม่มีหลักฐานว่าตนฝากบัตรไว้กับส.ส.คนอื่น ตนไม่เคยยินยอมให้มีการลงคะแนนแทนกัน เหตุที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากปัจจัยอื่นที่เหนือการควบคุมของตน เช่น ตอนนั้นระบบลงคะแนนของห้องประชุมจันทรา (เป็นห้องประชุมส.ว.) มีปัญหาและช่องลงคะแนนมีไม่พอจนส.ส.หลายคนแจ้งประธานในที่ประชุมว่าคะแนนที่ออกมาไม่ใช่คะแนนที่ส.ส.คนนั้นลงมติ ,ร่างกฎหมายฉบับนี้ มีความสำคัญเพราะสมควรที่จะให้มีเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่10นี้ สำหรับพระราชทานเป็นเครื่องหมายแห่งพระกรุณาธิคุณ…..ดังนั้นจึงเป็นกฎหมายที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับประเทศ จะเห็นได้จากคะแนนที่ลงมติร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นเอกฉันท์ ตนจึงไม่มีมูลเหตุใดๆในการทุจริตออกเสียงแทนกัน”

โดยป.ป.ช.พิเคราะห์ตามพยานหลักฐานแล้วเห็นว่า “วันที่ 8 ส.ค.2562 มีการประชุมสภาผู้แทนฯ โดยส.ส.พลังประชารัฐคนนี้ลงชื่อร่วมประชุม แม้ ส.ส.บางคนบอกว่าคะแนนของตนไม่ตรงตามที่ลงมติ แต่มีการยืนยันให้บันทึกการลงมติด้วยวาจาให้แก้มติ เหตุนี้เป็นข้อขัดข้องทางเทคนิคของคนใช้บัตรลงคะแนน ไม่เกี่ยวกับคนที่ไม่อยู่ในห้องประชุม แต่ส.ส.คนนี้มีชื่อลงมตินั้น สอดรับคำให้การเจ้าหน้าที่รัฐสภายันยืนระบบลงคะแนนไม่มีปัญหาในช่วงการประชุม และมีการตรวจสอบช่วงก่อนและหลังลงคะแนน เพราะเป็นการประชุมระดับชาติ แต่สมาชิกรัฐสภาอาจมีปัญหาการใช้งานบ้างด้านการแสดงผลของสมาชิกในห้องประชุมในการใช้เครื่องลงคะแนน ข้อกล่าวอ้างของผู้ถูกกล่าวหาจึงเลื่อนลอย เลือกต่อสู้เฉพาะช่วงที่ตนไม่อยู่ในห้องประชุม เพราะก่อนและหลังการลงมติร่างกฎหมายฉบับนี้ มีการลงมติร่างกฎหมายเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่10 และร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ผู้ถูกกล่าวหามีชื่ออยู่ในการลงมติและไม่ยกมา กล่าวอ้างว่าเป็นข้อผิดพลาดของอุปกรณ์ แต่เลือกต่อสู้ช่วงที่ตนไม่อยู่ในการลงมติร่างกฎหมายเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่10 แต่มีชื่อลงมติด้วย

เวลา 13.41 น. และ 14.01 น. ของวันที่ 8 ส.ค. 2562 ส.ส.คนนี้ไม่อยู่ในห้องประชุมจันทรา แต่มีการลงมติของส.ส.คนนี้สองครั้งในช่วงที่มีการลงมติร่างกฎหมายเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่10 และพบว่ามีภาพและข่าวว่า ส.ส.คนนี้ไปร่วมงานเสวนาแบ่งปันความรู้บทบาทแม่ยุคดิจิทัล ที่สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ โดยพยานที่ร่วมงานยืนยันว่าส.ส.คนนี้เป็นผู้จัดงานและร่วมงานเสวนาในเวลา13.30-15.00น. และยังพบความขัดแย้งกันเองในการให้การของผู้ถูกกล่าวหาที่ระบุว่าร่างกฎหมายเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่10มีความสำคัญ จำเป็นต้องมีชื่อในใบประมวลผลว่าตนลงมติด้วย และสภาผู้แทนฯมีมติเอกฉันท์ในร่างกฎหมายฉบับนี้ เชื่อว่า ผู้ถูกกล่าวหาต้องฝากบัตรให้เพื่อนสมาชิกลงคะแนนแทนตนเอง”

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า