SHARE

คัดลอกแล้ว

‘เลขาฯป.ป.ช.’ แจง ตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาฯ ไม่ใช่ขวางนโยบายแจกเงินดิจิทัล เชื่อ ‘นายกฯ-รัฐบาล’ ไม่มีใครอยากเดินซ้ำรอยจำนำข้าว ระบุตั้ง ‘สุภา’ มือปราบจำนำข้าว เป็นประธานกรรมการศึกษาฯ เพราะมีองค์ความรู้

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (เลขาธิการ ป.ป.ช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้า การตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตว่า ขณะนี้ทางประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง แต่อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ศึกษา ให้ข้อเสนอแนะไม่ได้ไประงับยับยั้งโครงการ เพราะเป็นนโยบายที่ทางรัฐบาลหาเสียงไว้ และรัฐบาลมีอำนาจที่จะบริหารจัดการเรื่องนี้ได้ แต่ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา เพราะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า มันอาจจะมีการส่อไปทางทุจริต จึงตั้งคณะกรรมการศึกษาขึ้นมา เพื่อวางแนวทางป้องกันไว้ก่อน ซึ่งอาจจะไม่มีการทุจริตก็ได้ โดยในการขับเคลื่อนนั้นหากไม่มีการทุจริตก็แล้วไป แต่หากมีก็ต้องมาดูว่าเกิดจากช่องทางไหน

อย่างไรก็ตาม วันนี้เท่าที่ทราบคือตัวนโยบาย แต่ในการขับเคลื่อนนโยบายทราบว่า เขายังไม่ตกผลึกว่าจะแจกให้แก่ใครบ้าง เม็ดเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการเท่าไร จะนำงบประมาณมาจากไหนก็ยังไม่ทราบ ซึ่งหากประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาฯ วันเดียวกันนี้ ก็อาจจะมีการนัดประชุมคณะกรรมการใน 1-2 สัปดาห์ เพื่อวางกรอบการดำเนินการแค่นั้นเอง เพราะยังไม่มีรายละเอียดให้พิจารณาศึกษา คงจะต้องขอเอกสารและรายละเอียดเข้ามาดูก่อน

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลักในการพิจารณาตัวคณะกรรมการศึกษาฯ นายนิวัติไชย กล่าวว่า มีผู้เชี่ยวชาญหลากหลาย บางคนเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ประจำอยู่ ป.ป.ช. แต่ส่วนใหญ่จะเป็นหัวหน้าหน่วยหรือผู้แทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายนิวัติไชย กล่าวว่า ป.ป.ช.ไม่ได้ศึกษาเฉพาะเรื่องนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตอย่างเดียว แต่ที่ผ่านมาได้ศึกษาโครงการของรัฐบาลมาหลายโครงการแล้วและมีข้อเสนอแนะไปให้รัฐบาล ซึ่งรัฐบาลก็รับทราบและปฏิบัติตาม มีแค่ไม่กี่โครงการที่รัฐบาลรับทราบแต่ยังมีการขับเคลื่อนไป แต่ในการขับเคลื่อนมันมีช่องโหว่ช่องว่างที่ไปเอื้อประโยชน์ให้ภาคธุรกิจหรือเอกชนบางราย เลยกลายเป็นประเด็นย้อนกลับมาว่า ป.ป.ช. ได้ให้ข้อเสนอแนะไปให้ระมัดระวัง แต่กลับยังไม่มีการระมัดระวังเท่าที่ควร ท่านจะเกี่ยวข้องหรือไม่ อันนี้ไม่มีพยานหลักฐาน แต่การที่ไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. มันก่อให้เกิดความเสียหาย จึงเป็นการปฏิบัติโดยมิชอบ

เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตอาจจะซ้ำรอยกับโครงการรับจำนำข้าว นายนิวัติไชย กล่าวว่า ป.ป.ช.จะศึกษามาตรการตามแนวทางที่เคยปฏิบัติ และตนคิดว่าในส่วนของรัฐบาลคงไม่มีใครอยากจะเดินซ้ำรอย เพราะรู้อยู่แล้ว และยิ่งมีคนจับจ้องอย่างนี้ ถ้าตนเป็นนายกฯก็คงไม่อยากจะเข้าไป โดยเฉพาะนายกฯเป็นนักธุรกิจ มีตัวอย่างเยอะแยะไปหมดแล้ว ตนว่าเจตนานายกฯต้องการจะขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะที่เคยประกาศหาเสียงไว้มากกว่า ซึ่งถ้าดีก็สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพียงแต่ช่วยระมัดระวังนิดนึง มันอาจจะมีรอยรั่วหรืออะไรต่างๆ รับฟังกระแสและเสียงวิพากษ์วิจารณ์นิดนึง แต่การตัดสินใจเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกฯโดยตรง

เมื่อถามย้ำว่า คือรัฐบาลทำได้ แต่อย่าให้พลาด นายนิวัติไชย กล่าวว่า ไม่ใช่อย่างนั้น อย่าไปคิดว่าจะเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวจะกลายเป็นว่า ป.ป.ช.ไปจับจ้อง แต่ถ้าเราช่วยกันและเสนอแนะไป ถ้าท่านปฏิบัติตามก็โอเค แต่ถ้าไม่ปฏิบัติตามแล้วมีความเห็นที่ดีกว่าและเกิดประโยชน์ดีกว่าก็ไม่จำเป็นต้องรับฟังข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. หรือสามารถรับฟังแล้วเอาไปพิจารณาอีกที ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามก็ได้ แต่ต้องมีเหตุผลว่าการไม่ปฏิบัติตามมีเหตุผลอะไร มีอะไรที่ดีกว่า ทำได้หมดทุกประตูของท่าน เพราะมันเป็นอำนาจการบริหารของท่าน ประชาชนเลือกท่านมาแล้ว ป.ป.ช.ไม่ได้ไประงับยับยั้ง หรือจะไปจับจ้อง หรือจะไปเล่นงาน ยืนยันได้

เมื่อถามว่า ป.ป.ช. ตั้งคณะกรรมการศึกษาฯ ก็มีประชาชนบางส่วนมองว่า ป.ป.ช.จะออกมาขวางนโยบายนี้ ทำให้รัฐบาลกังวล ไม่กล้าขยับอะไรมาก นายนิวัติไชย กล่าวว่า มันเป็นหน้าที่โดยตรงตามที่กฎหมายกำหนดที่หากมีโครงการหรือนโยบายอะไรที่อาจจะส่อไปในทางทุจริต หรือจะก่อให้เกิดอะไร กฎหมายให้ ป.ป.ช.เข้าไป จะให้ ป.ป.ช.อยู่เฉยมันก็ไม่ได้ ฉะนั้น เราใช้อำนาจตามกฎหมาย ป.ป.ช. แต่ไม่ได้เข้าไปจ้องจับผิด

เมื่อถามถึงหลักในการเลือกกรรมการศึกษาฯ และกรณีมีชื่อ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. อดีตประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าว สมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาเป็นประธานกรรมการศึกษาฯ นายนิวัติไชย กล่าวว่า เนื่องจากเห็น น.ส.สุภา เคยมีองค์ความรู้ในเรื่องนี้ที่ผ่านมา เคยทำสำนวนในเรื่องพวกนี้ อาจจะมีมุมมองที่ดีกว่า จึงให้มาเป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้

เมื่อถามย้ำว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า น.ส.สุภา ใกล้จะหมดวาระดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว แต่กลับจงใจให้ น.ส.สุภา เป็นประธานหรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า ตนว่าไม่ถึงขนาดนั้น เพราะเรายังไม่รู้ว่าการศึกษาจะเสร็จเมื่อไหร่ แต่วันนี้เมื่อน.ส.สุภายังอยู่ก็ต้องทำงาน ไม่เช่นนั้นคราวหน้าจะตั้งคนที่ใกล้จะหมดวาระไม่ได้ และคนที่ขับเคลื่อนจริงๆ คือคณะกรรมการศึกษาฯ ถ้า น.ส.สุภาหมดวาระ ก็ให้ นางสุวณา สุวรรณจูฑะ กรรมการ ป.ป.ช. ขึ้นมาเป็นประธานแทน

เมื่อถามว่า สังคมมองว่า น.ส.สุภาเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล นายนิวัติไชย กล่าวว่า เราห้ามไม่ได้ว่าใครจะมีมุมมองอย่างไร

ภาพจาก สำนักงาน ป.ป.ช.

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า